สรุปปฐมบทเรื่องวุ่นๆ ของ Huawei เมื่อเกมการเมืองกระทบเกมธุรกิจ

  • 245
  •  
  •  
  •  
  •  

เรื่องวุ่นๆ ของ Huawei ที่เล่นเอาผู้ใช้สมาร์ทโฟน Huawei ทั่วโลก ใจเต้นตุ๊มๆ ต่อมๆ ไปตามๆ กัน กับการออกมาประกาศหยุดให้บริการแอปฯ ของ Google ที่หลายคนมองว่า ระบบปฏิบัติการ Android เป็นสิ่งที่ Google พัฒนา ตามมาด้วยการออกมาของ Supplier หลายค่าย ซึ่งสาเหตุเกิดจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ

Huawei

แม้จะเป็นวันหยุดชดเชยวันวิสาขบูชาของไทย แต่ทั่วโลกไม่ได้หยุดไปพร้อมกับไทย เพราะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาดูเหมือนสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ จะกลับมาปะทุอีกครั้ง อันเป็นผลมาจากที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลับมาประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการเจรจาจนชะลดมาตรการดังกล่าวออกไป ซึ่งทันทีที่สหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน ฝั่งจีนเองก็โต้กลับด้วยการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เช่นกัน

นั่นจึงทำให้เกิดนโยบายกีดกันสินค้าจีน โดยรัฐบาลสหรัฐฯ มีคำสั่งห้ามบริษัทของสหรัฐฯ ทำการค้ากับทางจีนโดยเด็ดขาด และอย่างที่ทราบมาตลอดว่า Huawei ถูกขึ้นบัญชีดำอันดับต้นๆ ด้วยภาพลักษณ์ของการเป็นบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน ทั่งที่ก่อนหน้านี้ นายเหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง Huawei ย้ำว่า Huawei ไม่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน

 

Google เลี่ยงไม่ได้ตัดสัมพันธ์ทันที

Google แทบจะเป็นบริษัทจากสหรัฐฯ แรกๆ ที่ออกมาแสดงความชัดเจน โดยเฉพาะการออกมาระงับการให้บริการต่างๆ ของ Google ซึ่งหลายคนมองถึงระบบปฏิบัติการ Android ที่ Google พัฒนา ซึ่งจะกระทบต่อผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน Huawei ทั่วโลกหลายล้านคน นั่นจึงทำให้ Google ต้องออกมาแสดงว่าชัดเจนว่า จะหยุดให้บริการสำหรับสมาร์ทโฟนรุ่นต่อๆ ไปที่ไม่ใช่รุ่นที่จำหน่ายในปัจจุบัน

รวมไปถึงการชี้แจงเพิ่มเติมว่า Google จะหยุดให้บริการของ Google อย่าง App Store, Google Map, Google Play, Gmail, Youtube, Google Chrome เป็นต้น ยกเว้นในส่วนที่เป็น Android Open Source Project (AOSP) ที่ถือเป็นระบบสาธารณะทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน และไม่สามารถอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของได้

 

Supplier ตบเท้าหันหลังให้ Huawei

นอกจาก Google ที่รีบขานรับนโยบายไม่คบค้ากับจีนแล้ว ยังมีกลุ่ม Supplier ด้านเทคโนโลยีที่พร้อมใจกันตบเท้าหันหลังให้ Huawei อาทิ Intel Corp., Qualcomm Inc., Xilinx Inc., Broadcom Inc. ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็น Supplier ชิ้นส่วนอิเลตทรอนิกส์ให้กับ Huawei รวมไปถึง Infineon Technologies AG ของเยอรมนีที่ยุติการส่งมอบสินค้า พร้อมรอดูท่าทีในอนาคต

 

เรียกว่าเป็นวิกฤติที่ใกล้เคียงภาษาอังกฤษว่า “Excommunicado” (ตามแบบภาพยนตร์เรื่อง John Wick 3) นั่นอาจจะเป็นวิกฤติที่ยิ่งใหญ่สำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องประสบ แต่ใช้ไม่ได้กับองค์กรที่มีฐานเศรษฐกิจถึง 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกรองรับอยู่ และยิ่งใช้ไม่ได้ผลกับบริษัทที่มีนโยบาย “พึ่งพาตัวเอง” นั่นจึงทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าการออกมาตบเท้าของบริษัทต่างจะสร้างผลกระทบให้ Huawei

 

Huawei ไม่สน เดี๋ยวรู้ใครอยู่ใครไป?

สำหรับแฟน Huawei จะรู้ดีว่า สมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงของ Huawei ใช้ชิปเซ็ต Kirin ที่ Huawei พัฒนาขึ้นมาเอง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี AI มาอยู่ในชิปเซ็ตเหล่านั้น นี่คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ Huawei กล้าการันตีว่า สมาร์ทโฟน Huawei ฉลาดกว่าสมาร์ทโฟนค่ายอื่น โดยเฉพาะเรื่องของกล้องที่แทบจะเรียกได้ว่า ไฮเทคกว่าค่ายอื่นๆ ระบบปฎิบัติการที่ Huawei ซุ่มทำในชื่อ HongMeng OS (ชื่ออย่างไม่เป็นทางการ)

ในขณะที่ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์อื่นๆ แม้ยังไม่มีรายงานว่า Huawei มีการผลิตออกมา แต่ถ้าใครที่ติดตามนโยบายการต่างประเทศของจีน จะเห็นว่าจีนกำลังแผ่อิทธิพลไปยังภูมิภาคแอฟริกาผ่านรูปแบบความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและการร่วมทุน เมื่อลองพิจารณาจะเห็นว่าอุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์หลายอย่างมีวัถุดิบหลักมาจากภูมิภาคแอฟิกา เช่น Silica Gold

อีกค่ายที่ต้องจับตาอย่าง Leica เทคโนโลยีเลนส์กล้องที่ทำให้ Huawei สามารถแซงหน้าคู่แข่งได้อย่างชัดเจน จะเล่นเกมนี้ด้วยหรือไม่???

 

ชวนวิเคราะห์ทิศทาง Huawei ต่อจากนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า Huawei คงเลิกสนตลาดสหรัฐฯ (ระยะหนึ่ง) เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลง โดย Huawei น่าจะเน้นไปที่ตลาดเอเชียและแอฟริกา แต่นั่นต้องหมายความว่าระบบปฏิบัติการใหม่ที่จะมาใช้ต้องดีจริงๆ คาดว่าอนาคตอันใกล้ Huawei อาจจะผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์หลายชิ้นเพื่อทดแทนหรืออาจจะหา Supplier ที่มีคุณภาพใกล้เคียงจากประเทศอื่น (แอบคิดว่าไทยอาจจะอยู่ในสายตาของ Huawei)

แน่นอนว่าเหล่า Supplier ที่หันหลังให้ Huawei ต้องสูญเสียรายได้จำนวนมาก แต่เพราะเป็นนโยบายภาครัฐไม่ทำตามก็ไม่ได้ ยิ่งเมื่อมาดูยอดขายของสมาร์ทโฟน Top 3 ของโลกจะเห็นว่า Apple บริษัทสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ มียอดขายในอัตราที่ลดลง นั่นจึงทำให้ Huawei แทบจะไม่ต้องกังวล หากแต่ใครกันแน่จะที่จะต้องคิดให้รอบคอบ

ล่าสุด…มีการออกใบอนุญาตชั่วคราวให้กับ Huawei เพื่อลดผลกระทบด้าน Supply Chain เป็นเวลา 90 วัน

อย่างไรก็ตาม นายเหริน เจิ้งเฟย ซีอีโอของ Huawei ได้ออกมาให้ข่าวว่า การจะต่อหรือไม่ต่ออายุ 90 วันของสหรัฐฯ  นั้น ไม่ได้มีความหมายกับบริษัทเท่าไรนัก เพราะ Huawei ได้เตรียมพร้อมสำหรับการณ์นี้ไว้แล้ว

©MarketingOops!


  • 245
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา