‘อินเดีย’ ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีหลายเมืองเสียงดังที่สุดในโลก แต่เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวโด่งดังไปทั่วว่า Nitin Gadkari รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำลังศึกษาโซลูชั่นใหม่ เกี่ยวกับการเปลี่ยนเสียงแตรรถให้เป็นเสียงดนตรี หรือเสียงเครื่องดนตรีเพื่อลดปัญหามลพิษทางเสียง ซึ่งปัจจุบันในหลายๆเมือง เช่น มุมไบ เมืองเศรษฐกิจของอินเดีย ติดโผล่เป็นเมืองที่เสียงดังที่สุดเมืองหนึ่งมาหลายปีซ้อน
Nitin Gadkari ได้แชร์ประสบการณ์ของตัวเองว่า เขาเคยอาศัยอยู่ใน Nagpur เป็นตึกสูง 11 ชั้น ซึ่งเขาได้ยินเสียงแตรรถดังทุกๆ ชั่วโมง ตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงดึกสงัด ทั้งที่มันควรเป็นช่วงเวลาที่เงียบสงบเหมาะกับการเข้านอน
“ปัญหานี้กวนใจมานานหลายปี ทำให้ผมคิดไอเดียว่าเราควรเปลี่ยนเสียงแตรให้เป็นเสียงเครื่องดนตรี มันน่าจะสร้างความบันเทิงได้ สมมุติว่าเป็นเสียงไวโอลิน, กีตาร์, แตรเดี่ยว, เสียงขลุ่ย คนในอินเดียคงบรรเทาความเครียดไปได้เยอะขึ้น”
ไม่มีใครทำตามกฎห้ามบีบแตร (No honking rule)
นอกจากนี้ เขาได้พูดถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ หรือแม้แต่ธุรกิจเกี่ยวกับแตรรถในอินเดียว่า ส่วนใหญ่พวกเขาละเมิดกฎไม่ทำตามบรรทัดฐาน คือ ความดังสูงสุดต้องไม่เกิน 112 เดซิเบล
ขณะที่เสียงแตรรถส่วนใหญ่ในอินเดียมีเสียงดังเกิน 130-150 เดซิเบล ซึ่งเป็นคลื่นเสียงที่ดังมาก จนสามารถทำให้เกิดความเครียด และมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้
แม้แต่บางพื้นที่ที่มีป้าย ‘No honking’ (ห้ามบีบแตร) แต่คนอินเดียกลับไม่มีใครปฏิบัติตาม ดังนั้น การบีบแตรในสังคมอินเดียจึงกลายเป็นเรื่องปกติ กลายเป็นวัฒนธรรมสำหรับมุมมองคนต่างชาติ กลายเป็นสัญลักษณ์ของอินเดียทั้งที่ไม่ควรจะเป็น
มีตัวอย่างจากแบรนด์รถ Audi สัญชาติเยอรมนี ที่ Michael Perschke, CEO ของ Audi เคยพูดไว้หลายปีว่า รถแต่ละรุ่นที่ผลิตสำหรับตลาดอินเดีย จำเป็นต้องพัฒนาแตรรุ่นพิเศษโดยเฉพาะ เพราะคนอินเดียใช้แตรในการขับขี่มากเป็นพิเศษ ถ้าเทียบกันแล้วแตรรถที่ใช้ในยุโรปหากนำมาใช้ในอินเดีย คงพังตั้งแต่ 2 อาทิตย์แรก ทั้งยังเปรียบให้เห็นด้วยว่า “ในแต่ละวันที่คนในมุมไบบีบแตร น่าจะพอๆ กับคนยุโรปบีบแตรทั้งปี”
ธุรกิจแตรรถในตลาดอินเดีย
ด้วยความที่อินเดียเป็นประเทศที่มีการเติบโตของรถยนต์สูงเป็นอันดับ 2 ตามหลังประเทศจีน จากดีมานด์จำนวนประชากรที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น ‘แตรรถ’ จึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจน่าสนใจและสร้างรายได้ได้ดีในอินเดีย
Kenneth Rapoza ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการลงทุนในประเทศเกิดใหม่ ได้พูดว่า ถึงแม้ว่าผู้ผลิตรถในอินเดียทั้งแบรนด์ท้องถิ่นและต่างประเทศจะพัฒนาแตรรถโดยเฉพาะ เพื่อรองรับการใช้งานอยู่แล้ว อย่าง TATA ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถรายใหญ่ที่สุดในอินเดีย ก็ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้
แต่รู้หรือไม่ว่า กิจการที่เกี่ยวกับแตรรถ เช่น การผลิต, ร้านประดับยนต์ หรือรับตกแต่งอุปกรณ์รถต่างๆ ในอินเดีย จัดว่าเป็นกลุ่มที่ทำเงินได้ดีมาตลอด พูดง่ายๆ คือ แทบจะไม่มีช่วงที่ขายไม่ดี หรือธุรกิจทำเงินลดลงอะไรแบบนั้นเลย
เหตุผลที่เป็นแบบนั้นเพราะว่า คนอินเดียโดยเฉพาะคนที่ใช้รถบรรทุก นิยมเพิ่มเสียงแตร แม้ว่ารถที่ใช้ก็มีเสียงแตรอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะว่า ต้องขับรถระยะไกลและใช้รถเพื่อขนส่งของข้ามเมือง ซึ่งบางเส้นทางไม่มีไฟถนน, ถนนไม่ดีบ้าง และรถติด ซึ่งแตร ก็เหมือนเป็นสัญลักษณ์ในการส่งสัญญาณระหว่างขับขี่ของพวกเขา
Kenneth Rapoza ยังให้ข้อมูลด้วยว่า จากที่ศึกษาพฤติกรรมผู้ขับขี่ในอินเดีย คนบางส่วนในเมืองใหญ่ๆ ที่การจราจรติดขัด จะไม่ชอบมองกระจกรถด้านข้าง แต่ใช้เสียงบีบแตรเป็นการบอกว่าขับรถใกล้เกินไปแล้ว หรือ ส่งสัญญาณว่ากำลังจะเลี้ยวซ้าย/ขวาข้างหน้า ให้รถอีกคันระวัง เป็นต้น
มีตัวอย่างจากคนอินเดียวัย 40 ปีที่ทำอาชีพส่งของ เขาบอกว่าสัญญาณในกลุ่มคนที่ขับรถบรรทุกด้วยกันจะรู้ว่า ถ้าบีบแตรดังขึ้นมาหมายถึง “เรากำลังขอแซงรถคันข้างหน้า” และคนขับยังพูดด้วยว่า “การมองกระจกด้านข้างมันเสียเวลากว่าการใช้แตร แค่บีบแตรก็เป็นที่เข้าใจกันแล้ว และทุกคนก็เคารพกฎบีบแตรด้วย”
ทั้งนี้ เขามองว่าอนาคตสำหรับธุรกิจแตรรถในอินเดีย ก็คงต้องปรับเปลี่ยนไปบ้างตามกฎใหม่ จากเดิมที่เป็นเสียงดังน่ารำคาญก็จะกลายเป็นเสียงเครื่องดนตรีแทน ซึ่งไอเดียนี้น่าจะสร้างเม็ดเงินให้กับธุรกิจนี้มากขึ้นอีก เพราะหากเสียงแตรเปลี่ยนไป นั้นหมายถึงกฎห้ามบีบแตรก็จะไม่มีแล้ว ดังนั้น ในอนาคตยังไงธุรกิจนี้ก็ยังรุ่งเรืองในอินเดียเพราะพฤติกรรมคนคุ้นชินกับการใช้แตรไปแล้ว
ปัจจุบันในเมืองมุมไบ (บางเส้นทาง) ยังใช้กฎจราจรเพื่อควบคุมเสียงแตรรถไม่ให้ดังเกินไป ด้วยแคมเปญ Honk More Wait More ซึ่งทดลองใช้ในปี 2020 โดยกำหนดขนาดความดังระดับเดซิเบลไว้ที่ข้างทาง หากคนอินเดียยิ่งบีบแตรดังเท่าไหร่ พวกเขาจะต้องรอไฟจราจรนานเท่านั้น
ปรากฎว่าผลลัพธ์ดีขึ้นชัดเจน คนเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการสื่อสารอะไร เดาว่าในอนาคตเราอาจจะเห็นแคมเปญนี้ทั่วทั้งประเทศก็ได้ ในระหว่างที่รอโซลูชั่นเสียงแตรดนตรีประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
ที่มา: forbes, economictimes, cartoq, apnews