เจาะเทรนด์เทคโนโลยีในภาคธุรกิจ ต้องใช้เทคโนโลยีผสมผสานเพื่อตอบโจทย์

  • 30
  •  
  •  
  •  
  •  

เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการทำธุรกิจ แต่ก้มักจะมีคำถามเกิดขึ้นเสมอว่า แล้วจะเลือกใช้เทคโนโลยีอะไรเพื่อช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจ SME ที่มีการหันมาใช้เทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเทรนด์การใช้เทคโนโลยีในอนาคตที่ไม่สามารถใช้แค่เทคโนโลยีเดียวเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค แต่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีหลายๆ ตัวเข้ามาผสานการทำงานร่วมกัน

 

ย้อนรอยเมกะเทรนด์สู่เทคโนโลยีที่ต้องรู้

เมื่อพูดถึงเมกกะเทรนด์ที่จะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ รวมไปถึงธุรกิจในปีนี้จนถึงปีหน้า สามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน

  • เศรษฐกิจระดับมหภาคและการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกระแสการร่วมกลุ่มประเทศในภูมิภาคมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงอำนาจทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์
  • ผู้คน ทั้งในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ที่จะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุมากขึ้น การเข้าสู่สังคมเมือง รวมไปถึงความใส่ใจในสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
  • สภาพแวดล้อมภายนอก โดยปัจจัยแรกคือเรื่องเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงปัจจัยกระแสความตื่นตัวด้าน ESG ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยเป็นเทรนด์ที่สำคัญ

เมื่อเจาะลึกลงไปที่เทรนด์ด้านเทคโนโลยีจะพบว่า ในอนาคตสิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ เรื่องของการผสมผสานเทคโนโลยี ไม่ใช่เรื่องของการใช้ AI หรือ Cloud Computing เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการหยิบเทคโนโลยีหลายๆ ตัวมาทำงานร่วมกันแล้วเกิดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับลูกค้า อย่างเช่น AI ในองค์กรใหญ่ที่ถูกนำไปใช้ในการพยากรณ์ (Predictive) ล่วงหน้าด้วยพฤติกรรมความสนใจ

หรือในธุรกิจการเงิน AI ก็ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์ผ่านสถิติต่างๆ หรืออย่างเทคโนโลยี Cloud Computing ช่วยให้สามารถทำงานได้บนข้อมูลจำนวนมหาศาล ทั้งนี้ก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูลด้วย ซึ่งจะมาโฟกัสกันที่ 3 เทคโนโลยีหลักทั้ง AI, Automation และ IoT

 

Generative AI จุดเปลี่ยนเทคโนโลยี

สำหรับเทคโนโลยี AI บางคนอาจจะรู้สึกว่าไม่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี อาจจะกลัวเมื่อพูดถึง AI ซึ่งจริงๆ แล้ว เราใช้ชีวิตอยู่กับ AI มานานหลาย 10 ปีโดยที่อาจไม่รู้ตัว ยกตัวอย่างเช่น วีดีโอเกมในอดีตจนถึงปัจจุบัน บางเกมจะมีฟังก์ชั่นที่ผู้เล่นสามารถสู้กับคอมได้ ซึ่งคอมในเกมก็คือ AI รูปแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า จริงๆ แล้ว AI อยู่กับเรามานานมากจนถึงปัจจุบันที่เข้าสู่ยุคของ Generative AI

โดยเฉพาะการมาถึงของ ChatGPT ที่เรียกได้ว่าเป็นก้าวแรกของการพลิกโฉม Generative AI ยกตัวอย่าง การแต่งเนื้อเพลงในสไตล์ Taylor Swift ด้วย ChatGPT โดยกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาประมวลผลประมาณ 3 วินาที

อีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้ AI ที่ได้ผลลัพธ์น่าประหลาดใจ อย่างการที่ Krungsri Research มีรายการ Podcast อยู่ใน Spotify ซึ่งจำเป็นต้องมีดนตรีจิงเกิลประกอบ Podcast และการหาดนตรีจิงเกิลประกอบไม่ใช่เรื่องง่าย จะเล่นดนตรีเองก็อาจทำให้รายการเสียหาย การใช้ AI ช่วยแต่งดนตรีจิงเกิลประกอบอย่าง SoundRaw ที่ช่วยให้สามารถสร้างดนตรีได้ตามความต้องการกเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

 

ใช้งาน Generative AI ไม่ใช่เรื่องยาก

ความโดดเด่นของ Generative AI คือสามารถพูดภาษาเดียวกับคนเรา ซึ่ง AI ในอดีตจะต้องใช้ภาษาคอมพิวเตอร์เท่านั้นเพื่อสั่งงาน AI ด้วยความสามารถที่เข้าใจภาษามนุษย์ ทำให้มูลค่าของ Generative AI เพิ่มสูงขึ้น ในอดีตคาดการณ์ว่ามูลค่าการตลาดของ AI ในปี 2021 จะมีมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ในปี 2031 คาดการณ์ว่ามูลค่าจะสูงขึ้นไปแตะไปหลักแสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงปีละ 32%

ด้วยความสามารถของ Generative AI ในปัจจุบันที่สามารถกวาดข้อมูลทั่วทั้งอินเตอร์เน็ต มาใช้ในการประมวลผลเพื่อสร้างผลลัพธ์ใหม่ เป็นสิ่งที่แตกต่างจาก AI ในอดีตที่มีการกำหนดข้อมูลให้ออกมาได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ช่วยให้ Generative AI สามารถสร้างผลลัพธ์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นภาพ เสียงหรือตัวหนังสือ รวมถึงการสร้างโค้ดคอมพิวเตอร์

ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่อย่าง Microsoft, Facebook หรือ Meta, Google มีการลงทุนใน AI ค่อนข้างสูง โดยธุรกิจมองว่า AI สามารถช่วยพัฒนา Customer Experience นอกจากนี้ธุรกิจยังสามารถใช้ ChatGPT ในการสร้างคอนเทนต์เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภค โดยมีการประมาณการณ์ว่า 5-6 ปีข้างหน้า คอนเทนต์บน Social Media ประมาณ 1 ใน 3 จะถูกเขียนขึ้นโดย AI

 

การปรับตัวระหว่างคนและเทคโนโลยี

การเข้ามาของ AI ในภาคธุรกิจช่วยให้พนักงานให้ความสำคัญกับงานด้านอื่นๆ ที่ยังคงต้องใช้ความสามารถของมนุษย์ โดยธุรกิจควรจะต้องมองว่า AI คือเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ส่งผลให้หลายคนต้องปรับตัวในการทำงานร่วมกับ AI

ดังนั้นทักษะของคนที่ธุรกิจต้องการ คือ คนที่มีความเข้าใจในเทคโนโลยีแล้วสามารถอธิบายให้ AI เข้าใจ เช่น สมมุติต้องการทำ Mobile Application ไม่จำเป็นต้องหา Developer มาเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ แต่ควรต้องหาคนที่เข้าใจ Customer Experience และออกแบบหน้าจอที่เหมาะสม ซึ่งเทคโนโลยีทำให้วิธีการทำงานเปลี่ยนไป ทักษะที่ต้องมีก็เปลี่ยนไป เนื่องจากคอมพิวเตอร์ไม่เข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ หากสามารถอธิบายให้ AI เข้าใจได้ จะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจ

ในส่วนของ SME สามารถนำ AI มาใช้งานในด้านการสื่อสารผ่านช่องทาง Social Media โดยสามารถใช้ AI ในการคิดแคปชันสำหรับโพสต์ลงบน Social Media ไม่ว่าจะเป็น Instagram หรือ Facebook โดยเฉพาะ ChatGPT ที่แค่ใส่คุณสมบัติของสินค้าแล้วให้ AI คิดแคปชันเก๋ๆ ออกมา

 

อีก 2 เทคโนโลยีที่ธุรกิจต้องจับตา

หลังจากที่รู้จัก AI มากขึ้นในฐานะเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยธุรกิจในยุคดิจิทัล แต่ไม่ได้มีแค่ AI ที่เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญ อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่น่าสนใจคือ IoT หรือ Internet of Thing โดยคาดว่าภายในเวลาไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีเครื่องมือที่สามารถเชื่อมต่อการใช้งาน IoT ทั่วโลกประมาณ 75 ล้านอุปกรณ์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านั้นจะสื่อสารคุยกันเองผ่านเครือข่าย 5G

ช่วยให้เกิด Application มากมายในหลากหลายอุจตสาหกรรม ไม่ว่าจะอยู่ในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรอย่าง Smart Farming ที่มีเซ็นเซอร์วัดความชื้น วัดปริมาณฝน วัดปริมาณแร่ธาตุในดิน ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอย่าง Smart Factory ไปจนถึงรถยนต์ขับเคลื่อนไร้คนขับและ Smart Supply Chain

ขณะที่ระบบ Automotion ก็เป็นอีกเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ยกตัวอย่าง RPA ระบบที่ช่วยทำงานในรูปแบบซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นระบบที่มีการใช้งานในภาคธุรกิจมาระยะหนึ่งแล้ว แต่หลังจากนี้คาดว่าน่าจะมีการใช้งานที่มากขึ้นกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการ SME ที่จะต้องกรอกข้อมูลจำนวนมากมายในทุกๆ วัน ทั้งเอกสาร Invoice เอกสารจาก Supplier ซึ่งระบบ RPA จะช่วยกรอกข้อมูลเหล่านั้นลงไปในแบบฟอร์มที่กำหนดไว้ โดยโอกาสเกิดความผิดพลาดมีน้อยกว่าการใช้พนักงานกรอกข้อมูล

 

ผสานการทำงานจากหลายเทคโนโลยี

เทรนด์การใช้เทคโนโลยีในอนาคตจะไม่ใช่การใช้เทคโนโลยีชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่จะเป็นการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาผสานการทำงานร่วมกันจนเกิดเป็นโซลูชันทางธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น การนำเทคโนโลยี AI ผสานการทำงานกับ IoT อย่างบริษัท Waymo ที่ให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับในเมืองซานฟรานซิสโกและเมืองฟีนิกซ์ ระบบดังกล่าวช่วยให้รถมองเห็นรอบตัวรถผ่านเซ็นเซอร์จำนวนมากออกไปถึงประมาณ 300 เมตร ช่วยให้สามารถเก็บข้อมูลเหล่านั้นมาให้ AI ประมวลผลว่าจะต้องหลบอย่างไรหรือต้องวิ่งอย่างไร

ธุรกิจสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาผสานการทำงานร่วมกัน แล้วประยุกต์และปรับใช้กับทุกๆ การทำงานของธุรกิจ อีกหนึ่งตัวอย่างก็คือ Tianjin Smart Port ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าเรือบรรทุกสินค้าที่มีขนาดใหญ่ของเมืองเทียนจิน ที่มีการเทคโนโลยี Cloud Computing, AI, Robot มาผสมผสานการทำงาน ช่วยให้ท่าเรือดังกล่าวแทบจะไม่มีมนุษย์ทำงาน

ดังนั้นเทรนด์เทคโนโลยีของธุรกิจในอนาคต คือ การนำเทคโนโลยีหลายๆ อย่างมาทำงานผสานร่วมกันเพื่อให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่หรือเกิดเป็นอีกเทคโนโลยี รวมถึงช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้น ให้กับธุรกิจ พนักงานและลูกค้า

 

สิ่งที่ธุรกิจต้องเตรียมตัวรับมือ

สำหรับผู้ประกอบการ เรื่องเทคโนโลยีถือเป็นความท้าทายอย่างมากของธุรกิจ เนื่องจากเป็นต้นทุนที่ต้องลงทุนและเป้นสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวัง สิ่งแรกที่ธุรกิจต้องเตรียมตัว คือ ต้องเปิดใจก่อน หากตั้งกำแพงไม่ต้องการใช้เทคโนโลยี แต่จะยึดวิถีการทำธุรกิจแบบดั้งเดิม อาจจะถูกคู่แข่งที่สามารถประยุกต์เทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจแย่งชิงส่วนแบ่งทางธุรกิจได้

ต่อมาธุรกิจต้องเรียนรู้ว่า เทคโนโลยีสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้อย่างไรบ้าง และสุดท้ายก็ต้องหันกลับมาดูความต้องการของธุรกิจ ไม่ใช่ว่าจะต้องเลือกใช้ AI ทั้งหมด แต่ผู้ประกอบการต้องหันมาดูว่าความต้องการของธุรกิจจริงๆ คืออะไร ต้องการส่งมอบอะไรให้กับลูกค้า แล้วค่อยกลับมาดูว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันมีอะไรบ้างที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้

นี่คือหัวใจสำคัญของการเลือกใช้เทคโนโลยี ที่ธุรกิจต้องยึดความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก โดยในความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจอาจจะใช้เทคโนโลยีง่ายๆ อย่าง Excel หรือแค่มีพนักงานเข้าไปคุยกับลูกค้า เพื่อตอบสนองความต้องการและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าก็ได้ ซึ่งเทคโนโลยีเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การทำธุรกิจง่ายขึ้นและได้เปรียบคู่แข่ง

 

ขอบคุณข้อมูล: Krungsri TechDay 2023


  • 30
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา