เตรียมรับมือค่าไฟฟ้าพุ่งปรี๊ดแล้วหรือยัง เมื่อภูมิภาคเอเชียกำลังเผชิญความหนาวเหน็บ

  • 7
  •  
  •  
  •  
  •  

ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนคงมีความสุขกับการได้สัมผัสอากาศหนาวแบบถึงใจแบบไม่ต้องขึ้นเหนือขึ้นดอย แม้จะไม่ถึงขั้นเกิดน้ำค้างแข็ง แต่ก็ทำให้คนกรุงเทพฯ และหลายจังหวัดมีโอกาสได้สัมผัสความหนาว ได้สลัดฝุ่นเสื้อหนาวที่เก็บไว้นาน ได้รับรู้รสชาติความอร่อยของซุปร้อนๆ ตอนเช้า และทำให้หลายคนอยากตื่นเช้าๆ มารับอากาศหนาวมากขึ้น

แต่หากติดข่าวสารจะพบว่า ความหนาวเย็นครั้งนี้ที่คนกรุงเทพฯ และหลายจังหวัดได้เผชิญ คือความแปรปรวนทางธรรมชาติขั้นรุนแรง ส่งผลให้หลายประเทศเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ลาวเกิดหิมะตก ญี่ปุ่นหิมะตกหนักในรอบ 59 ปี เป็นต้น ส่งผลให้หลายประเทศที่ประสบปัญหา เริ่มดำเนินการกักตุนพลังงานเพื่อใช้สร้างความอบอุ่น

โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG – Liquefied Natural Gas) ที่มีการนำเข้าในหลายประเทศจำนวนมาก อย่างจีนที่มีความต้องการนำเข้า LNG ปริมาณมหาศาลเพื่อใช้สร้างความอบอุ่นให้คนทั้งประเทศ และญี่ปุ่นที่เริ่มนำเข้า LNG ในปริมาณมหาศาล นอกจากการใช้เพื่อสร้างความอบอุ่นแล้ว ยังนำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากนโยบายยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หลังเกิดโศกนาฏกรรมที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ เมื่อหลายปีก่อน

ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่ดันราคาเพิ่มขึ้นคือการนำเข้า LNG ของ 2 ชาติมหาอำนาจ จีนและญี่ปุ่นเนื่องจากความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตกระแสไฟฟ้าและใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับความหนาวที่เป็นระดับภัยพิบัติ ยิ่งส่งผลให้ความต้องการก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างมาก

นักวิเคราะห์ชี้ว่า วิกฤตการณ์ด้านพลังงานทุกครั้งจะมีองค์ประกอบหลัก 4 ด้าน ได้แก่ ด้านความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนแผนการเตรียมความพร้อมด้านปริมาณสำรองและกำลังการผลิตไม่สามารถรองรับได้, การเตรียมแผนรับมือความเสี่ยงที่ไม่ครอบคลุมถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นที่นอกเหนือการคาดการณ์, ปัจจัยกระตุ้นระยะสั้น เช่น สภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนพลังงานกระทันหัน และความตื่นตระหนกเกินไป ซึ่งเป็นผลทางจิตวิทยาจนกลัวเกิดภาวะการขาดแคลน

 

ทำไมต้องสนใจเรื่องนี้!!! เพราะประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าก๊าซ LNG นั่นเพราะก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยข้อมูลการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในปี 2563 ที่ผ่านมา มีการใช้ก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าถึง 58.95% ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้นำเข้า LNG ทั้งสิ้น 5 ราย ประกอบด้วย ปตท., การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด (BGRIM), บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และ บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด

โดยในปี 2564 นี้ กฟผ.มีแผนนำเข้า LNG ไม่เกิน 1.9 ล้านตันต่อปี ขณะที่ BGRIM นำเข้า LNG ในปริมาณ 2.5 แสนตันต่อปี ส่วน บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จำนวน 3 แสนตันต่อปี และบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) จำนวน 1.4 ล้านตันต่อปี

หมายความว่า หากความต้องการ LNG ในภูมิภาคนี้เพิ่มสูงขึ้น ราคา LNG ก็จะปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน นั่นหมายถึงกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าอย่างแน่นอนในฐานะต้นทุนพลังงาน โดยเฉพาะค่า Ft ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Regulator) หรือ กกพ. ชี้ว่าราคานำเข้า LNG คือต้นทุนพลังงานที่อยู่ในค่าไฟฟ้าฐานในสูตรการคำนวนค่า Ft ซึ่งแปลว่าค่าไฟฟ้าเตรียมปรับตัวสูงขึ้นจากราคา LNG ที่จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน

 

Source: Reuters, Japan Today


  • 7
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา