“ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว 4.0” ตามรอยเซเว่นฯ เปิดหมื่นสาขา พร้อมแตกแบรนด์พรีเมียม-เสริมเทคโนโลยี

  • 2.4K
  •  
  •  
  •  
  •  

ชายสี่

“เราอยากเดินตามรอยช้าง คือ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ที่ปัจจุบันมีเป็นหมื่นสาขา และสินค้าที่จำหน่ายในนั้น เป็นสินค้าบริโภคเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อเซเว่น อีเลฟเว่น ขยายสาขาเป็นหมื่นสาขาได้ ทำไมชายสี่บะหมี่เกี๊ยว จะทำไม่ได้ เพราะวิธีคิดของผม คือ “คิด ดีกว่าไม่คิด – ฝัน ดีกว่าไม่ฝัน

เพราะฉะนั้นเรามั่นใจว่าภายใน 3 – 5 ปี จะสามารถขยายสาขาจาก 4,300 สาขา เพิ่มเป็นกว่า 8,000 – 10,000 สาขา ยิ่งปีนี้กำลังเซ็นสัญญากับพาร์ทเนอร์ใหญ่ คือ ผู้ให้บริการสถานีบริการน้ำมัน ทั้ง ปตท. บางจาก พีที เพื่อเอาร้านในเครือชายสี่เข้าไปตั้ง”

นั่นคือ คำกล่าวของ คุณพันธ์รบ กำลา ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว จำกัด ที่วางเป้าหมายเติบโตด้านสาขาได้เช่นเดียวกับ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ในประเทศไทย
เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้จัก “ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว” แฟรนไชส์ร้านรถเข็นขายบะหมี่-เกี๊ยวที่แจ้งเกิดเมื่อ 24 ปีที่แล้ว ถึงวันนี้ได้แตกแบรนด์ใหม่ และขยาย sub-brand ภายใต้ชื่อ “ชายสี่” ขยายไปยังแฟรนไชส์อาหารประเภทอื่นๆ ได้แก่ พันปี หมี่เป็ดย่าง / ชายสี่ เตี๋ยวไก่ ข้าวมันไก่ / ชายสี่ โจ๊ก ต้มเลือดหมู / ชายสี่ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ / อาลี หมี่ฮาลาล รวมทุกแบรนด์มี 4,300 สาขา

แต่ก่อนที่จะไปถึงแผนยุทธศาสตร์สเต็ปนับจากนี้ เราอยากชวนคุณผู้อ่านมาดูว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว” กลายเป็นแฟรนไชส์รายใหญ่ของไทย ที่ขยายสาขาได้ทั่วประเทศ

Resize Chysee-founder

 

“4 เบื้องหลัง” ทำไม “ชายสี่ฯ” ขยายแฟรนไชส์ได้เร็ว!

 

1. ใช้โมเดล “แฟรนไชส์” ในราคา 74,000 บาท จากนั้นเมื่อปี 2561 – 2562 ได้ลดค่าแฟรนไชส์เหลือ 42,000 บาท โดยจ่ายครั้งเดียว ไม่ได้เก็บ royalty fee ซึ่งเป็นราคาที่รวมรถเข็น และค่าอุปกรณ์ต่างๆ ทำให้ “แฟรนไชส์ซี” (Franchisee) สามารถค้าขายได้เลย หลังจากนั้นแฟรนไชส์ซีจะซื้อวัตถุดิบต่างๆ จากบริษัท เช่น เส้นบะหมี่ ซึ่งโดยเฉลี่ยยอดซื้อของแฟรนไชส์ซี ประมาณ 700 บาทต่อสาขาต่อวัน

2. ทำรูปแบบ “รถเข็น” จึงสามารถกระจายเข้าไปได้ทุกตรอก ซอกซอย เข้าถึง Mass Target และสอดคล้องกับสังคมไทยที่ธุรกิจอาหารใหญ่สุด คือ “สตรีทฟู้ด” (Street Food) และประเภทอาหารข้างทางที่ได้รับความนิยมมากสุดคือ “ก๋วยเตี๋ยว” จึงเป็นสิ่งที่คุ้นเคยสำหรับคนไทยอยู่แล้ว อีกทั้งเมื่อแตก sub-brand เน้นประเภทอาหารเมนูพื้นฐานที่คนไทยบริโภคเป็นประจำ

3. ควบคุมทั้ง Supply Chain ตั้งแต่มีโรงงานผลิตวัตถุดิบ ซึ่งปัจจุบันมีฐานการผลิต 7 แห่ง กระจายทุกภูมิภาคของไทย คือ คลอง 6 ปทุมธานี, ชลบุรี, พิษณุโลก, ลำปาง, อุดรธานี, มหาสารคาม, สุราษฎร์ธานี และระบบกระจายสินค้าบะหมี่ครอบคลุมทั่วประเทศไทยเป็นใยแมงมุม ที่มีจำนวนสายส่งกว่า 100 สายส่ง ทำหน้าที่จัดส่งสินค้าเข้าแฟรนไชส์ซี

4. ใช้ความได้เปรียบตั้งหน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น สร้างการรับรู้ และเห็นเด่นชัด ด้วยความที่เซเว่น อีเลฟเว่นตั้งอยู่ในทำเลดีของย่านนั้นๆ หรือพื้นที่นั้นๆ เพราะฉะนั้นเมื่อแฟรนไชส์ซี มองหาทำเลทองเพื่อเปิดร้านชายสี่บะหมี่เกี๊ยว จึงได้ติดต่อขอตั้งหน้าร้านเซเว่นฯ กลายเป็นว่าเอื้อประโยชน์ต่อกัน เนื่องจากคนที่ตั้งใจมาซื้อบะหมี่-เกี๊ยว เมื่อซื้อเสร็จ ก็แวะเข้าเซเว่นฯ หรือคนที่ตั้งใจมาซื้อของที่เซเว่นฯ เมื่อเดินออกมาเจอร้านชายสี่บะหมี่เกี๊ยวอยู่ด้านหน้า ก็ซื้อติดกลับบ้านไปด้วย ซึ่งปัจจุบันในจำนวนแฟรนไชส์ซี 4,300 สาขา มี 400 – 500 สาขาที่ตั้งอยู่หน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น

Resize SCB x Chy See x Visa (6)

 

“4 เหตุผล” “เข้าตลาดหลักทรัพย์” ยกระดับจาก “ธุรกิจครอบครัว” สู่ “บริษัทมหาชน”

 

ธุรกิจ SME เมื่อเติบโตมาถึงจุดหนึ่งแล้ว การจะทะยานไปข้างหน้าให้ได้มากกว่าเดิม โมเดลส่วนใหญ่เลือกเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อยกระดับสู่การเป็น “บริษัทมหาชน” สำหรับ “ชายสี่” ได้เตรียมตัวจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เช่นกันในปี 2564 เพื่อยกระดับจาก “ธุรกิจครอบครัว” ไปสู่การเป็น “องค์กรมืออาชีพ” โดย คุณพันธ์รบ ให้เหตุผลถึงการเข้าตลาดหลักทรัพย์ว่า

1. เพื่อระดมเงินทุน สำหรับขยาย และพัฒนาธุรกิจให้เติบโตมากขึ้น

2. อยากให้คนไทยทุกคน สามารถเป็นร่วมเป็นเจ้าของแบรนด์ชายสี่ได้

3. ป้องกันการเกิดศึกสายเลือด เหมือนเช่นที่เคยปรากฏให้เห็นในธุรกิจครอบครัวที่แบ่งผลประโยชน์ไม่ลงตัว

4. ดึงมืออาชีพเข้ามาร่วมงาน

“เมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว เราคาดว่าจะมีรายได้ต่อปี ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท”  คุณพันธ์รบ ให้สัมภาษณ์ถึงเป้าหมายด้านรายได้ที่ต้องการไปให้ถึง

Chysee_09

 

“4 วิสัยทัศน์” ยกระดับเป็นมากกว่า “สตรีทฟู้ดรถเข็น”

 

ไม่เพียงแต่เตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น ผู้ก่อตั้งชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ยังได้กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ เพื่อรองรับอนาคตของธุรกิจใน 4 ด้านสำคัญ

1. “เจ้าแห่งเส้น” หมายความว่าทุกเส้นที่อยู่บนโลกนี้ จะพยายามทำ ไม่ว่าจะผลิตเอง หรือจ้างคนอื่นผลิตให้ (OEM)

2. “รถเข็นสากล” ที่ผ่านมาเวลามีต่างประเทศ ไม่ว่าจะยุโปร หรืออเมริกา ติดต่อเข้ามาขอสิทธิ์ไปเปิดร้านที่อเมริกา , อังกฤษ สนใจเอารถเข็นไปด้วย เพราะมองว่าเป็นเอกลักษณ์ของสตรีทฟู้ดไทย และแบรนด์ชายสี่ ซึ่งต่อไปจะพัฒนา “รถเข็น” ให้มีระบบและเทคโนโลยีที่สามารถบริหารจัดการข้อมูลได้

3. “ครัวของทุกบ้าน” ปัจจุบัน Business Extension ของชายสี่ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะธุรกิจก๋วยเตี๋ยวเท่านั้น แต่ยังได้ขยายไปสู่ “ธุรกิจเครื่องปรุง” และ “อาหารพร้อมรับประทาน” เช่น ผงซุป ซองปรุงรส บะหมี่พร้อมรับประทาน โดยที่ผ่านมาจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกดั้งเดิม และกำลังมีแผนขยายเข้า Modern Trade

4. “อาหารของทุกคน” ต้องการเป็นแบรนด์อาหารของทุกเพศ ทุกวัย

Chysee_10

 

“24 ปี” ได้เวลายกระดับแบรนด์สู่เวอร์ชั่น “พรีเมียม” เจาะตลาดกลาง-บน

 

ที่ผ่านมาภาพลักษณ์ของแบรนด์ “ชายสี่” ผูกอยู่กับการเป็น “สตรีทฟู้ดรถเข็น” มานาน และความเป็นเมนู “ก๋วยเตี๋ยว” แต่เมื่อไม่นานนี้ ได้พัฒนารูปแบบใหม่ ในชื่อ “ชายสี่แฟคทอรี่” (Chysee Factory) เปิดสาขาแรกที่รังสิต คลอง 6 หน้าบริษัทชายสี่ เพื่อยกระดับแบรนด์ขึ้นมาจับตลาดกลาง – บน

ชายสี่ เวอร์ชั่นพรีเมียมดังกล่าว จะต่างจากชายสี่เดิม ตรงที่รูปแบบสาขา ไม่ได้ขยายรูปแบบรถเข็น แต่เป็น “ร้านอาหาร” โดยสาขาแรกเป็นแบบ Stand Alone และนำเสนอเมนู – Topping หลากหลายมากขึ้น ในราคาเริ่มต้น 49 บาท ไปจนถึง 200 บาท ขณะที่รูปแบบรถเข็น ราคาเริ่มต้น 35 – 40 บาท

“ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว ทำธุรกิจมา 24 ปีแล้ว ถ้าเรายังอยู่แบบเดิม เท่ากับเราไม่มีการเปลี่ยนแปลง และผมไม่อยากให้ธุรกิจหยุดนิ่ง จึงต้องทำสิ่งใหม่ๆ ออกมา ขณะเดียวกันเราต้องยอมรับความจริงว่าชายสี่ เป็นบะหมี่ Mass ของคนที่มีรายได้จำกัด ที่สามารถหาซื้อรับประทานได้ตามข้างทางทั่วไป แต่เราพบว่าคนที่มีกำลังซื้อขึ้นมา ขับรถมา เขาอยากกิน แต่เขาก็มีความรู้สึกว่าไม่สะดวก จะสะอาดเหรอ?! ดังนั้นแบรนด์ใหม่นี้ จะตอบโจทย์ผู้บริโภคระดับกลาง – บน

นอกจากนี้ ร้านชายสี่ แฟคทอรี่ (Chysee Factory) จะเป็นร้านต้นแบบสำหรับการบริหารจัดการข้อมูล รวมทั้งเป็นแฟรนไชส์ ในรูปแบบเก็บค่า Rayalty Fee และปรับปรุง-พัฒนาเมนูใหม่ต่อเนื่อง”

Chysee_03 Chysee_04

 

ไม่ใช่แค่ “อาหาร” แต่ยังมองโอกาส “ธุรกิจเครื่องดื่ม” นำร่อง “ชานมไข่มุก”

 

นอกจากขยายสินค้า-แบรนด์อยู่ในกลุ่มธุรกิจอาหารแล้ว “ชายสี่” ยังได้ขยายไปยังธุรกิจเชื่อมโยงกันอย่าง “ธุรกิจเครื่องดื่ม” เพราะมองว่าเป็นธุรกิจเกื้อหนุนกัน และ Margin ธุรกิจเครื่องดื่มสูง โดยเริ่มต้นด้วยการจับเทรนด์ “ชานมไข่มุก” วางแผนเปิด “ร้านชานมไข่มุก” โดยขณะนี้กำลังพิจารณา 3 ชื่อ คือ แบรนด์ชายสี่, ทรีชา, ชายัง โดยปัจจุบันทดลองเปิดแบรนด์ “ชายัง” 1 สาขาที่ลำปาง ยอดขายกว่า 200 แก้วต่อวัน โดยยังคงยืนอยู่บนจุดแข็ง นั่นคือ การเจาะตลาดแมส ด้วยการวางราคาเข้าถึงง่าย 19 บาทต่อแก้ว พร้อมทั้งตั้งเป้าเปิด 100 สาขาในปีนี้ โดยใช้โมเดลแฟรนไชส์ขยายสาขา ทั้งในรูปแบบคีออส, รถเข็น และ Stand Alone

 

 

“ชายสี่ 4.0” เสริมเทคโนโลยี อัพเกรดธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล

 

ความเคลื่อนไหวล่าสุด ได้จับมือกับ “ไทยพาณิชย์” (SCB) เป็นพันธมิตรในฐานะ “Total Business Solution” บริการด้านการบริหารเงินครบวงจร สำหรับเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ และผู้ซื้อแฟรนไชส์ เช่น บริการรับชำระเงินด้วย QR Payment Platform สำหรับผู้ซื้อแฟรนไชส์ในการซื้ออุปกรณ์ และวัตถุดิบจากชายสี่บะหมี่เกี๊ยวโดยไม่ต้องใช้เงินสด รวมถึงระบบการจัดการข้อมูลต่างๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาและช่วยให้การบริหารจัดการร้านมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังนำเสนอสินเชื่อหมุนเวียนสำหรับร้านค้าเพื่อช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ

พร้อมจับมือกับ “วีซ่า” เพื่อให้บริการระบบ Scan to Pay ชำระเงินค่าอาหารที่ร้านชายสี่บะหมี่เกี๊ยวด้วยการสแกน QR Code และเลือกชำระเงินผ่าน Virtual Credit Card ซึ่งเป็นบริการรับชำระเงินผ่านบัตรเครดิตด้วย Ticket size ขนาดเล็กเป็นครั้งแรก จับกลุ่มลูกค้าระดับ Micro Merchant เพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าร้านชายสี่บะหมี่เกี๊ยวไม่ต้องพกเงินสดอีกต่อไป

Resize SCB x Chy See x Visa (5)

 

ลุยขยายฐานตลาด “ลาว – กัมพูชา – เมียนมาร์”

 

นอกจากตลาดหลักในไทยแล้ว เมื่อปี 2552 ได้ขยายตลาดเข้าไปใน สปป. ลาว ถึงวันนี้มี 70 สาขาแล้ว และปีนี้จะเพิ่มเป็น 140 สาขา พร้อมทั้งมีแผนสร้างโรงงานผลิตที่นั่น รวมทั้งเตรียมเปิดที่กัมพูชาในปีนี้เช่นกัน โดยลงทุนซื้อที่ 6 ไร่ สำหรับสร้างเป็นโรงงานผลิต คาดว่าจะมี 100 – 300 สาขา และด้วยศักยภาพตลาด มองว่าจะสามารถขยายเป็น 500 สาขา ซึ่งเหตุผลที่ต้องตั้งโรงงานผลิตในประเทศที่เข้าไปทำตลาด เพราะด้วยความที่บะหมี่ เป็นสินค้าอาหารสด ดังนั้นการผลิตจากในไทย และขนส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาจทำให้คุณภาพลดลง จึงใช้วิธีตั้งโรงงานผลิตที่นั่น เพื่อป้อนให้กับร้านค้าสาขาต่างๆ ส่วนเมียนมาร์ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่อยู่ในแผนธุรกิจ

 


  • 2.4K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ