3 เหตุผล “โคคา-โคลา” ทุ่ม 5.1 พันล้านเหรียญฯ ซื้อ “Costa Coffee” ร่วมวงแข่งธุรกิจเชนร้านกาแฟ?!

  • 96
  •  
  •  
  •  
  •  

 

costa coffee_cover
Photo Credit : Facebook Costa Coffee

ดูเหมือนว่าเวลานี้ธุรกิจเครื่องดื่ม “กาแฟ” ไม่ว่าจะในรูปแบบร้านค้า หรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกาแฟ กำลังเนื้อหอม และเป็นที่หมายปองของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ต่างทยอยทุ่มเงินมหาศาลเข้าซื้อกิจการ หรือถือหุ้นใหญ่ในเชนร้านกาแฟชื่อดัง อย่างปีทีแล้ว “เนสท์เล่” (Nestle) เข้าถือหุ้นใหญ่ใน “Blue Bottle Coffee” ซึ่งเป็นเชนร้านกาแฟแนว “Specialty Coffee” ชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา

รวมถึงการต่อยอดไปสู่การเข้าตลาดผลิตภัณฑ์กาแฟรูปแบบต่างๆ อย่างเมื่อกลางปีที่ผ่านมา “เนสท์เล่” (Nestle) ได้ซื้อลิขสิทธิ์มูลค่า 7,150 ล้านเหรียญสหรัฐ ในการพัฒนาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กาแฟ และอื่นๆ ภายใต้แบรนด์ “สตาร์บัคส์” (Starbucks) ผ่านช่องทางค้าปลีกที่นอกเหนือจากร้านกาแฟ

ขณะที่ล่าสุดยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตเครื่องดื่มของโลก “โคคา-โคลา” (Coca-Cola) ได้บรรลุข้อตกลงกับ “Whitbread Plc” ในการซื้อกิจการ “Costa Coffee” เชนร้านกาแฟชื่อดังจากอังกฤษ ที่ปัจจุบันมี 3,800 สาขาใน 32 ประเทศทั่วโลกด้วยมูลค่า 5,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (165,750 ล้านบาท) หรือประมาณ 3,900 ล้านปอนด์

ในแถลงการณ์ระบุว่า การซื้อกิจการครั้งนี้ จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับ “Coca-Cola” ในธุรกิจเครื่องดื่มกลุ่มกาแฟ ในการทำตลาดทั้งในยุโรป, เอเชีย-แปซิฟิค, ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

นอกจากการเปิดให้บริการในรูปแบบสาขาใหญ่แล้ว ยังมีฟอร์แมตเล็ก on-the-go เรียกว่า Costa Express อีกทั้งมี Costa Roastery และกลุ่มผลิตภัณฑ์กาแฟสำหรับทำเองที่บ้าน

“กลุ่มเครื่องดื่มร้อน เป็นเซ็กเมนต์ที่ Coca-Cola ยังไม่มีแบรนด์ระดับโลก ดังนั้นการได้แบรนด์ Costa Coffee ในครั้งนี้ ช่วยเติมเต็ม Brand Portfolio ที่จะทำให้ Coca-Cola เป็นบริษัทเครื่องดื่มครบวงจร” James Quincey ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Coca-Cola กล่าว

ปัจจุบัน “โคคา-โคลา” จำหน่ายผลิตภัณฑ์กาแฟ ภายใต้แบรนด์ “Georgia” ในญี่ปุ่น และมีแบรนด์ท้องถิ่น เจาะตลาดแต่ละประเทศ

Resize costa coffee_03
Photo Credit : Facebook Costa Coffee

เหตุผลสำคัญที่ทำให้ “โคคา-โคลา” ตัดสินใจซื้อกิจการ “Costa Coffee” ประกอบด้วย

1. ยุทธศาสตร์ธุรกิจของ “โคคา-โคลา” ทั่วโลก คือ การเพิ่ม Brand – Product Portfolio ในกลุ่มเครื่องดื่มไม่อัดลม เพื่อสร้างการเติบโตให้เป็นมากกว่าการเป็นบริษัทผลิตเครื่องดื่มอัดลม ถึงแม้การซื้อ “Costa Coffee” เท่ากับว่า “โคคา-โคลา” ต้องแข่งขันโดยตรงกับ “สตาร์บัคส์” รวมถึงเชนร้านกาแฟใหญ่อีกหลายเชน

2. “โคคา-โคลา” มองถึงศักยภาพเครือข่ายสาขาของ “Costa Coffee” ในการเป็น Network เข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งจะทำให้ได้ฐานข้อมูลลูกค้า (Big Data) และได้ Know How กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มกาแฟ ที่จะ backward สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มกาแฟ ชา รวมถึงเครื่องดื่มไม่อัดลมต่างๆ

3. กาแฟ เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่มีคนทั่วโลกดื่มมากที่สุด ซึ่งกลยุทธ์การลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ จะเข้าไปในตลาดที่มี Market Size และมีฐานผู้บริโภคมหาศาล แม้ตลาดนั้นๆ จะแข่งขันรุนแรงเพียงใดก็ตาม แต่เชื่อว่าโคคา-โคลามองว่าคุ้มต่อการลงทุน เพราะด้วยความที่แบรนด์ Costa Coffee อยู่ในธุรกิจกาแฟที่ครอบคลุมทั้งการเปิดสาขา รวมทั้งการสร้างพันธมิตรธุรกิจนำเครื่องกาแฟ Costa Express เข้าไปในบริษัท หรืออาคารสำนักงานต่างๆ และผลิตภัณฑ์กาแฟที่บริโภคภายในบ้าน  (Home consumption) อีกทั้งมีโอกาสความเป็นไปได้สูงที่จะต่อยอดในรูปแบบ Ready to Drink

ทั้งนี้ “Costa Coffee” ชื่อนี้อาจเป็นที่คุ้นหูสำหรับคอกาแฟในบ้านเรา เพราะเมื่อปี 2556 เริ่มต้นเปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน นำเข้ามาโดย “บริษัท เอ็กซ์เพรส ฟู้ด กรุ๊ป (ประเทศไทย)” ผู้ได้สิทธิ์แฟรนไชส์ Costa Coffee ในไทย และกัมพูชา จากนั้นมาได้ขยายสาขาในย่านทำงาน แต่ด้วยการแข่งขันธุรกิจเชนร้านกาแฟที่รุนแรง ทำให้ต้องปิดกิจการในไทย

คงต้องลุ้นกันต่อไปว่า หลังจาก “Costa Coffee” เข้ามาอยู่ภายใต้ชายคา “โคคา-โคลา” จะนำกลับมาเปิดในไทยหรือไม่ และถ้าหวนคืนตลาดไทย จะกลับมาในรูปแบบไหน ?!? เพราะปัจจุบันตลาดกาแฟในไทยมีมูลค่าหลายหมื่่นล้านบาท และคนไทย well educate การดื่มกาแฟแล้ว 

Resize Costa Express
Photo Credit : Facebook Costa Coffee

 

 

Source : Bloomberg  , CNN Money 


  • 96
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ