ถึงยุคศูนย์การค้า ต้องเป็น “ศูนย์รวมการใช้ชีวิต” ที่ตอบโจทย์คนทุกเพศ ทุกวัย

  • 1.4K
  •  
  •  
  •  
  •  

Future_Park_1

ในวันที่คุณใช้เวลาไม่ถึง 10 นาทีเพื่อซื้อสินค้าออนไลน์ และรอไม่กี่วันก็มีสินค้ามาส่งถึงบ้าน ทุกอย่างเต็มไปด้วยความสะดวกสบาย แต่ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้คุณห่างไกลจากศูนย์การค้ามากขึ้น ความท้าทายของธุรกิจค้าปลีกในยุคนี้คือ การปรับตัวให้ทันกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค เปลี่ยนศูนย์การค้าที่เน้นขายสินค้า เป็นศูนย์รวมการใช้ชีวิตของทุกคน

การจะเป็นศูนย์รวมการใช้ชีวิตของทุกคนนั้น จำเป็นต้องมี Magnet หลายตัวเพื่อดึงดูดผู้คน เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคไม่ได้มาศูนย์การค้าเพื่อซื้อสินค้าอย่างเดียว พวกเขามาเพื่อทำกิจกรรมที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ความชอบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นทานอาหารอร่อยๆ มาทำสปา มาออกกำลังกาย หรือพาลูกมาเรียนพิเศษ เป็นต้น

“ฟิวเจอร์พาร์ค” ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ย่านรังสิต ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการปรับตัวให้ทันไลฟ์สไตล์ผู้คนมาตลอด 20 ปี ด้วยศักยภาพของระบบขนส่งของเมือง ประกอบกับการมีที่ดินถึง 650 ไร่ ทำให้ บริษัท รังสิตพลาซ่า เดินหน้าพัฒนาโปรเจค “ฟิวเจอร์ ซิตี้” ภายใต้แนวคิด Center of Premium lifestyle and activity : ศูนย์รวมการใช้ชีวิตอย่างมีระดับ” ที่ประกอบไปด้วยศูนย์รวมเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้าน, ศูนย์ออกกำลังกายขนาดใหญ่, ซูเปอร์ริจินัลมอลล์โรงพยาบาลเปาโล, โรงแรม และสปอร์ตฮับ โดยเปิดกว้างการลงทุนในลักษณะพันธมิตรทางธุรกิจ เป็นการลงทุนระยะยาวด้วยงบ 100,000 ล้านบาท สำหรับใช้ไปจนถึงปี 2567

Future_Park_2

คุณรัตนา อนันทนุพงศ์ ผู้อำนวยการด้านการตลาด บริษัท รังสิตพลาซ่า เล่าว่า หลังจากที่โซนรังสิตหรือกรุงเทพฯ ตอนเหนือเงียบมานาน ตอนนี้เริ่มคึกคักแล้ว เพราะมีปัจจัยมาจากการขยายตัวของเมืองทั้งรถไฟฟ้าและอสังหาฯ ส่งผลให้โซนรังสิตดึงดูดนักลงทุนจำนวนมาก ฟิวเจอร์พาร์คเริ่มโครงการฟิวเจอร์ซิตี้มาตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว และพัฒนาไปที่ดินแล้ว 300 ไร่ โดยบริการที่จะเปิดตัวในเร็วๆ นี้มี 2 ส่วนคือ สปอร์ตฮับ และโรงแรม

สปอร์ตฮับ เป็นศูนย์รวมการออกกำลังกายขนาดใหญ่ ประกอบด้วย ฟิวเจอร์ อารีน่า มีเนื้อที่ 20 ไร่ แบ่งเป็นสนามฟุตบอล 6 สนาม สนามแบดมินตัน 18 คอร์ด คลับเฮาส์-ร้านอาหาร นอกจากนี้ยังมี Sport magnet, Sport Activity ได้แก่ สกี, ไอซ์สเก็ต, ฟิตเนส, โยคะ, โรงเรียนฝึกสอนมวยไทย, โรงเรียนเทควันโด, Trampoline Jump  และร้านสปอร์ตรีเทลชั้นนำ เพื่อสร้างความเป็นสปอร์ตฮับอย่างแท้จริงและสมบูรณ์แบบ ทั้งนี้ ในแต่ละส่วนไม่ได้รวมอยู่ในที่เดียวกัน แต่กระจายออกไปตามส่วนต่างๆ ของศูนย์การค้า ในอนาคตฟิวเจอร์ซิตี้ มีแผนเพิ่มสระว่ายน้ำ และ Wellness Center เพื่อรองรับกลุ่มผู้สูงอายุ โดยใช้งบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ตอนนี้ใช้ไป 30 ล้านบาท

แม้ศูนย์การค้าจะมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ด้วยการแข่งขันที่สูง การมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งร่วมเดินทางไปด้วยกันจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง และนำมาสู่การพัฒนาโรงแรมใหม่ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจโรงแรม 2 โครงการ ใช้งบลงทุนกว่า 300 ล้านบาท แห่งแรก โรงแรม 4 ดาว ตั้งอยู่ใกล้กับ Home Pro สูง 11 ชั้น 227 ห้อง มีห้องประชุม-สัมมนา สระว่ายน้ำ เน้นเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวและต่างชาติเป็นหลัก มี Shuttle Bus รับ-ส่งจากสนามบินดอนเมือง แห่งที่สอง โรงแรม 2 ดาว สูง 7 ชั้น รวม 79 ห้อง เป็นโรงแรมราคาประหยัด ตั้งอยู่ใกล้กับเมเจอร์รังสิต เน้นรองรับคนในประเทศหรือคนที่มาจากต่างจังหวัด เป็นการ Drop-Off ก่อนเข้าเมือง ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการปรับหน้าดิน คาดว่าทั้งสองแห่งจะเสร็จในไตรมาสที่ 4 ของปี 2563

ก้าวสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว

เมื่อทุกคนมีสมาร์ทโฟนเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกก็หลีกเลี่ยงการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ไม่ได้ ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ บริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้คนเข้ามาเสริมความแกร่ง เช่น ร่วมกับทีโอที อัปสปีด Free WiFi เป็น 50 Mbps ทุกพื้นที่, จับมือ 8 พันธมิตรกลุ่มธนาคาร เพิ่มช่องทางการชำระเงินด้วย QR Code ในช่วงแรกตั้งเป้าร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการไว้ที่ 60% จากจำนวนร้านค้าทั้งหมดที่มีประมาณ 1,000 ร้านภายในเดือนกันยายนนี้

นอกจากนี้ยังมี iBox ตู้ไปรษณีย์อัจฉริยะ ที่ร่วมกับไปรษณีย์ไทย อำนวยความสะดวกให้นักช้อปออนไลน์ที่ไม่สะดวกรับพัสดุที่บ้าน iBox ทำหน้าที่เป็นตู้ล็อกเกอร์ในการนำจ่ายพัสดุให้ผู้รับ โดยมีระบบตรวจสอบความถูกต้องด้วยรหัสผ่าน OTP หรือ One time password

โค้งสุดท้ายของปี ฟิวเจอร์พาร์คสเปลล์ มีแผนอย่างไร

Future_Park_3

ปัจจุบันฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์ มีลูกค้าวันธรรมดาอยู่ที่ 160,000 – 170,000 คน และวันหยุด 200,000 คนต่อวัน หลังจากเปิดตัวสเปลล์มา 3 ปี มีลูกค้ากลุ่ม A เพิ่มขึ้น 20% (รายได้ครัวเรือน 85,000 บาทขึ้นไป ค่าใช้จ่ายต่อบิล 2,200 บาท มาศูนย์การค้าเฉลี่ย 5 ครั้งต่อเดือน และ 80% เป็นลูกค้าประจำที่มาต่อเนื่อง 5 ปี) โดยลูกค้าส่วนใหญ่ 40% อยู่ในกลุ่มคนทำงาน, 30% นักศึกษา, กลุ่ม New Family 20% และผู้สูงอายุ 10% คุณรัตนา เล่าว่า บริษัทฯ มีแผนจัดแคมเปญและกิจกรรมทุกสัปดาห์ เช่น Food Fever และ Star on Stage เพื่อเพิ่มทราฟฟิกลูกค้าให้ได้ 10%

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า บ้านเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์จึงมีแผนปรับปรุงเล้าจ์ Senior Society ให้รองรับไลฟ์สไตล์กลุ่มวัยเก๋าที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้านี้ทางศูนย์การค้าได้สร้างคอมมูนิตี้ให้ลูกค้าสูงวัยได้ทำกิจกรรมร่วมกันมาตลอด ทั้งการทำงานประดิษฐ์ ออกกำลังกาย และฟังเพลงย้อนยุค ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมาก

Future_Park_4

ปีนี้บริษัทฯ วางงบการตลาดไว้ 300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการปรับกลยุทธ์การสื่อสารออนไลน์ทุกช่องทางให้มีความทันสมัยขึ้น เพื่อสร้าง Engagement รวมถึงพัฒนา Mobile Application ให้ลูกค้ามีส่วนร่วมใน Big Event รับข้อมูลข่าวสารและนำเสนอโปรโมชั่นใหม่ๆ แน่นอนว่าเมื่อมีแอปฯ ก็ต่อยอดไปถึงการทำ Big Data เพื่อวิเคราะพฤติกรรมลูกค้าให้สมบูรณ์แบบ และพัฒนาไปสู่การส่งข้อมูลที่มีความเป็น Personalization ยิ่งขึ้น

“นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ ฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์มีรายได้รวมอยู่ที่ 791 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 3% โดยตั้งเป้าสิ้นปีไว้ที่ 1,000 ล้านบาท ส่วนกลยุทธ์ที่จะทำให้ถึงเป้าที่ตั้งไว้ ในโค้งสุดท้ายของปีฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์เตรียมบิ๊กอีเวนท์และแคมเปญไว้กระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค เช่น แคมเปญปีใหม่, เคาท์ดาวน์ และกิจกรรมย่อยๆ อีกกว่า 10 งาน คาดว่าจะเพิ่มทราฟฟิกลูกค้าต่อวันได้ตามเป้าที่ตั้งไว้” คุณรัตนา กล่าว

ทั้งหมดนี้เป็นกลยุทธ์ที่ฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์ แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวทางธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล และการหมั่นเติม Magnet ให้ศูนย์การค้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้ฟิวเจอร์พาร์คและสเปลล์ ไม่ใช่แค่ศูนย์การค้าสำหรับซื้อสินค้าอย่างเดียว แต่เป็น Lifestyle Center ที่คนทุกวัยมาใช้ชีวิตได้ทุกวัน


  • 1.4K
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE