“GET” มีดีอะไร ?! มาทีหลัง ถึงไม่กลัว “Grab-LINE Man” นำร่องเรียกวินมอ’ไซค์-ส่งอาหาร-พัสดุ

  • 326
  •  
  •  
  •  
  •  

GET

อีกไม่นาน….เมืองไทยกำลังจะมีผู้เล่นในธุรกิจ “On Demand Platform” รายใหญ่ เข้ามาร่วมแจม ในชื่อ “GET” ก่อตั้งโดยคนไทย และได้เงินลงทุนจาก “Go-Jek” Tech Startup มาแรงจากอินโดนีเซีย ตั้งขึ้นโดย “Nadiem Makarim” ที่ปัจจุบันกลายเป็นสตาร์ทอัพระดับ Unicorn (มูลค่าการระดมทุนมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ)

ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนขยายธุรกิจของ “Go-Jek” ในไทย โดยใช้จุดแข็งของสตาร์ทอัพระดับ Unicorn รายนี้ มาผลักดันแพลตฟอร์ม GET ให้แจ้งเกิดในไทย และสามารถแข่งขันได้กับอีก 2 รายยักษ์ใหญ่ “Grab – LINE Man” ที่บุกตลาดมาก่อนหน้า

“Go-Jek” On Demand Platform รายใหญ่อินโดนีเซีย

“Go-Jek” ถือเป็นสตาร์ทอัพพัฒนา “On Demand Platform” รายใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียก็ว่า โดยปัจจุบันมี 25 บริการบนแอปพลิเคชัน ที่ครอบคลุมสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น บริการเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง, เรียกรถยนต์, จัดส่งอาหาร, จัดส่งพัสดุ, จองตั๋วหนัง, ซื้อผลิตภัณฑ์ยา และอาหารเสริมสุขภาพจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาต, บริการ e-Payment ไปจนถึงบริการนวดถึงสถานที่ที่ลูกค้าสะดวก, บริการจ้างแม่บ้านทำความสะอาด, บริการซ่อมรถ-ดูแลรถ, บริการด้านความสวยความงามถึงบ้าน

บริการที่คนอินโดนีเซียใช้มากที่สุด คือ บริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง, จัดส่งอาหาร, e-Payment และบริการขนส่งพัสดุ

Resize Go-Jek (Facebook GO-JEK)
Photo Credit : Facebook GO-JEK

หลังจากประสบความสำเร็จในอินโดนีเซียแล้ว แน่นอนว่าสเต็ปของสตาร์ทอัพ Unicorn รายนี้ ต้องขยายฐานธุรกิจไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยเมื่อไม่นานนี้ “Go-Jek” ได้แถลงงบลงทุนรวมกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือราว 16,000 ล้านบาท) เพื่อขยายธุรกิจเข้าสู่ประเทศเวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย

การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ “Go-Jek” ได้ทำการเพิ่มทุน โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทชั้นนำต่างๆ อาทิ Google, Warburg Pincus, KKR, Tencent และ Meituan-Dianping (เหม่ยถวน-เตี้ยนผิง)

Go-Jek (Facebook GO-JEK)_02
Photo Credit : Facebook GO-JEK

 

“Go-Jek” มั่นใจก้าวแรกในไทย ไม่ได้เริ่มต้นจาก “ศูนย์”

ขณะที่ธุรกิจ On Demand Platform ในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยมี 2 รายใหญ่ คือ “Grab” จากสิงคโปร์ ที่เริ่มต้นด้วยธุรกิจเรียกรถแท็กซี่ จากนั้นต่อยอดไปสู่บริการต่างๆ และ “LINE Man” ใช้ความได้เปรียบของการมีฐานผู้ใช้ LINE กว่า 40 ล้านคน มาสร้าง Business Ecosystem ให้แข็งแรง ขณะเดียวกันก็มีผู้พัฒนาแพลตฟอร์มลักษณะนี้ แต่เป็นรายขนาดกลาง – เล็ก

เพราะฉะนั้น การเข้าตลาดไทย “Go-Jek” ใช้โมเดลสนับสนุนด้านเงินลงทุน – เทคโนโลยี – องค์ความรู้ ทั้งด้านการจัดเก็บ Data และนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้ใช้งาน รวมทั้งด้านการขยายธุรกิจ ให้กับ “GET”

“รูปแบบธุรกิจของ Go-Jek เป็นที่ยอมรับว่าประสบความสำเร็จในอินโดนีเซีย เพราะเราให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค และพาร์ทเนอร์คนขับ เราเชื่อว่ารูปแบบธุรกิจนี้จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเทศอื่นๆ ได้จริงเช่นกัน ดังนั้นในประเทศไทย เราให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ให้คำปรึกษาทั้งในด้านการพัฒนา และการขยายธุรกิจให้กับ “GET” สามารถเติบโตได้เร็ว” Nadiem Makarim ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Go-Jek เล่าถึงการสนับสนุนตลาดไทย

Resize GET_Photo_TH

ทางด้าน คุณก่อลาภ สุวัชรังกูร ผู้ร่วมก่อตั้ง และ Chief Marketing Officer, GET เผยว่า “ถึงเรามาทีหลัง แต่ทั้ง Go-Jek และ GET ดำเนินธุรกิจบน 3 คุณค่าหลักที่จะทำให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดประเทศไทย คือ 1. Hyper Localization ทั้งการศึกษากฎระเบียบ-กฎหมายของไทย พร้อมทั้งเข้าไปพูดคุยกับทางภาครัฐ และทำงานร่วมกับวินมอเตอร์ไซค์ เพื่อบอกว่า “GET” มาอย่างถูกกฎหมาย

2. GET ได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี และองค์ความรู้จาก Go-Jek เช่น การเก็บ-วิเคราะห์ Big Data ที่อินโดนีเซีย และไทย นิยมใช้รถมอเตอร์ไซค์เหมือนกัน แต่ที่อินโดนีเซีย ไม่ได้มีระบบขนส่งมวลชนที่หลากหลายแบบไทย คนที่นั่นจึงใช้รถมอเตอร์ไซค์จากจุดหนึ่ง ไปถึงจุดหมายปลายทาง แต่สำหรับในไทย คนใช้บริการรถมอเตอร์ไซค์ จากจุดหนึ่ง ไปยัง Transportation อื่นๆ

เพราะฉะนั้นการเข้าตลาดไทย ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ แต่ในการแข่งขัน เราต้อง Match ทั้งฝั่งซัพพลาย และดีมานด์ให้สอดคล้องกัน เพื่อทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ดีที่สุด และคนขับสามารถได้มีรายได้เพิ่มขึ้น

3. GET พัฒนาขึ้นด้วยแนวคิด On Demand Platform เช่นเดียวกับ Go-Jek เพราะต้องการให้ผู้ใช้งานเข้ามาที่แอปพลิเคชันเดียว สามารถเลือกใช้ได้หลากหลายบริการ นี่คือ จุดมุ่งหมายในอนาคตของเรา แตกต่างจากแพลตฟอร์มทั่วไปที่มีบริการโดดเด่นเพียงด้านเดียว เพราะฉะนั้นภายใน 1 ปีนี้ จะทยอยแนะนำนำเสนอบริการอื่นๆ”

Resize GET_Phot_2_TH

 

เริ่มด้วย “เรียกพี่วินมอเตอร์ไซค์” ก่อนต่อยอดสู่ “จัดส่งอาหาร-พัสดุ”

แผนธุรกิจในไทย “GET” นำร่องด้วยบริการ “เรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง” (GET Win) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีกว่า 50 เขต แบ่งเป็น 8 โซน (ไม่รวมปริมณฑล) เนื่องจาก “ปัญหารถติด” เป็น Pain Point ใหญ่ของคนกรุงเทพฯ จึงมองว่าการให้บริการส่วนนี้มี Demand มหาศาล และสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคได้โดนใจคนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง

ประกอบกับยังมีช่องว่างตลาดอีกมาก เพราะทุกวันนี้คนที่อาศัยในมหานครนี้ และใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์เป็นประจำ ยังมีอีกมากที่เรียกวินมอเตอร์ไซค์ด้วยวิธีการแบบเดิมๆ เช่น ต่อแถว หรือเดินไปหน้าปากซอย ดังนั้น “GET” ต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมในรูปแบบออฟไลน์ ย้ายไปอยู่บนออนไลน์ ด้วยการเรียกผ่านแอปพลิเคชัน

Resize MOO_1534

“เราคาดว่าในเดือนตุลาคม จะเปิดตัว Beta ให้ผู้บริโภคได้ทดลองใช้บริการ โดยในช่วงแรกทยอยเปิดทีละโซน และขยายไปเรื่อยๆ จนครบ 8 โซนครอบคลุมกว่า 50 เขตในกรุงเทพฯ ขณะที่ค่าบริการ กำหนดตามเกณฑ์มาตรฐาน และปรับเปลี่ยนไปตามกลไกลตลาด ทั้ง Demand – Supply และ Promotion ของตลาด ถ้าช่วงไหน Demand ลดลง เราเอา Promotion มากระตุ้น แต่ถ้า Demand ช่วงไหนเพียงพอ เราลดการทำ Promotion

และเราจะพยายามเพิ่มบริการใหม่ให้ได้ 3 – 5 บริการภายใน 1 ปี ซึ่งด้วยความที่ “GET” เป็นแพลตฟอร์ม ดังนั้นปกติคนขับขี่วินมอเตอร์ไซค์ จะวิ่งหนักๆ ในช่วงเช้า และช่วงเย็น เพราะฉะนั้นระหว่างวัน เราจะมีจ็อบส์อื่นๆ ให้กับพี่วินมอเตอร์ไซค์

เช่น ส่งของ-ส่งเอกสาร (GET Delivery) ส่งอาหาร (GET Food) และบริการอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต ทำให้พี่วินมอเตอร์ไซค์มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากการรับ-ส่งผู้โดยสาร และแน่นอนว่าคนกรุงเทพฯ ชอบความสะดวกสบาย ชอบเดินทางด้วยรถยนต์ เพราะฉะนั้นอนาคตเราจะมีบริการเรียกรถยนต์ มาให้บริการแก่คนไทย” คุณก่อลาภ ขยายความเพิ่มเติม

Resize GET_Photo_1

การบุกของ “GET” ที่มี “Go-Jek” สนับสนุนรอบด้านเช่นนี้ ยิ่งทำให้การแข่งขันของธุรกิจ “On Demand Platform” ในไทย รุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะสงครามโปรโมชั่นที่แต่ละฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น GET, Grab LINE Man ต่างต้องอัดฉีดงบในส่วนนี้ เพื่อสร้างฐานลูกค้าให้อยู่ในแอปพลิเคชันของตนเองให้ได้มากที่สุด และแข่งกันเพิ่มบริการใหม่ ที่ตอบโจทย์ “ชีวิตประจำวัน” ให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อต้องการเป็นแพลตฟอร์มหลักที่ผู้บริโภคใช้ทุกวัน และดึงให้ผู้ใช้งานอยู่ใน Business Ecosystem ของตนเอง 

เพราะนั่นเท่ากับว่าใครที่มีฐานลูกค้ามาก ย่อมตามมาด้วย “Big Data” ขณะเดียวกันเมื่อมีฐานผู้ใช้มากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย จากที่เคยเรียกใช้บริการในรูปแบบเดิมๆ บนโลกออฟไลน์ ให้ย้ายไปอยู่บนออนไลน์ ผ่านสมาร์ทโฟนมากขึ้น

Resize GET_06


  • 326
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ