รู้จัก Green Finance อาวุธหนักของโลกการเงิน ช่วยโลกสู้ Climate Change กับทิศทาง “การเงินสีเขียว” ในไทย

  • 2.8K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

คงเป็นเรื่องที่ไม่ต้องอธิบายกันแล้วถึงความรุนแรงของภาวะโลกรวน (Climate Change) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในเวลานี้ เพราะปรากฏการณ์ธรรมชาติที่แปรปรวนรุนแรงเกิดขึ้นให้เราได้เห็นกับตาและรู้สึกได้กับตัวอย่างชัดเจน จึงเป็นเหตุผลให้ “ทั่วโลก” ต้องร่วมมือกันประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050 ตาม “ข้อตกลงปารีส” ที่ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่ “จะต้องทำ” แต่ต้อง “ทำทันที” เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะการล่มสลายของมนุษยชาติที่กำลังคืบคลานเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ใช่ภาครัฐของแต่ละประเทศเท่านั้นที่ต้องเข้ามาขับเคลื่อนภารกิจกอบกู้โลก แต่ “ภาคเอกชน” เองก็หันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้นก่อให้เกิด “เมกะเทรนด์” เพื่อโลกสีเขียวตามมาเช่น ESG  ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance  แนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสังคม และมีธรรมาภิบาล และยังกลายเป็นดัชนีชี้วัดสำหรับนักลงทุนซึ่งถูกนำไปใช้แล้วทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพลังงานสะอาด หรือ Green Energy รวมถึงพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable Energy ที่แพร่หลายออกไป แต่อีกหนึ่งเรื่องที่กำลังมาแรงและภาคธุรกิจและบริษัทต่างๆหันมาให้ความสำคัญก็คือเรื่องของ “Green Finance” เครื่องมือของ “โลกการเงิน” ที่สามารถใช้กอบกู้โลกจากวิกฤต Climate Change ได้เช่นกัน

 

Green Finance คืออะไร?

การเงินสีเขียว หรือ Green Finance เป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลกเนื่องจากเป็นแนวทางที่จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจในโลกทุนนิยม ที่เคยถูกมองว่าเป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด Climate Change สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืนพร้อมกับตอบสนองความต้องการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมๆ กันได้

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ให้ความหมายของ Green Finance เอาไว้ว่า เป็นการเพิ่มกระแสการเงินไม่ว่าจะจากธนาคาร การให้สินเชื่อ การประกันภัยและการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนให้ไหลไปสู่กิจกรรมของโลกธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยจุดสำคัญอยู่ที่การบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ดีขึ้น คว้าโอกาสในการ “ให้ผลตอบแทน” และ “ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม” ไปพร้อมๆ กัน นำไปสู่การดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น

 

 

Green Finance ในเวทีโลกกำลังโตก้าวกระโดด

คุณกฤษดา แพทย์เจริญ ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ระบุในการเสวนาในหัวข้อ Green Recovery: How Sustainable Finance Shape The Future of Business ในงาน GC Circular Living Symposium 2022: Together to Net Zero ที่สยามพารากอน ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 25-26 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่าตลาด Green Finance ในระดับโลกนั้นกำลัง “เติบโตอย่างก้าวกระโดด” เนื่องจากผลกระทบจาก Climate Change กำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น นักลงทุน กองทุน ธนาคารขนาดใหญ่ในยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือในตะวันออกกลางนั้น จะให้ความสำคัญกับเรื่องความความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เช่นเดียวกับ เอชเอสบีซี เองที่ก็เริ่มนำการประเมินความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามาเริ่มพิจารณาปล่อยสินเชื่อด้วยแล้ว

“ในปี 2021 ตลาดตราสารหนี้สีเขียวและตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Green and Sustainable Bond) เติบโตเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว ส่วนตลาดเงินกู้เพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainable Loan ก็เกิน 700,000 ล้านดอลลาร์ไปแล้ว และจะเห็นได้ว่าตลาดเติบโตขึ้นมาโดยตลอดแม้ว่าจะเป็นช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ตาม” คุณกฤษดาระบุ

 

ทิศทางของ Green Finance ในไทย

ในประเทศไทยกระแสการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และ Green Finance ก็กำลังก้าวไปข้างหน้า ด้วยแรงขับเคลื่อนจากทุกฝ่ายทั้งภาคเอกชน ตลาดเงิน ตลาดทุน รวมไปถึงส่วนสำคัญก็คือหน่วยงานผู้กำกับดูแลอย่าง “ธนาคารแห่งประเทศไทย” โดย คุณรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย มองว่าเรื่องของการวางทิศทาง Green Finance นั้นเป็นเรื่องสำคัญที่จะตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม และปัจจุบันประเทศไทยได้กำหนดทิศทางการพัฒนาในด้านการเงินเพื่อความยั่งยั่งยืนเอาไว้ 5 ขั้นตอนก็คือ

  1. ต้องมีผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจ
  2. ต้องมีมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
  3. จะต้องมีฐานข้อมูลที่เป็นระบบเข้าถึงได้
  4. ต้องสร้างแรงจูงใจส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม
  5. ต้องมีองค์ความรู้และทักษะของบุคลากรในภาคการเงิน

 

ตลาดทุนไทยขับเคลื่อนสู่ Green Finance

นอกจากตลาดการเงินแล้ว “ตลาดทุน” อย่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีบทบาทสำคัญในการผลักดันในเรื่อง Green Finance ด้วยเช่นกัน ในฐานะสะพานเชื่อมระหว่าง “บริษัทจดทะเบียน” และ “นักลงทุน” ซึ่ง ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่ามีการผลักดันในเรื่องนี้ทั้งฝั่ง “ผู้ระดมทุน” หรือบริษัทจดทะเบียนต่างๆให้หันมาใช้แนวคิด ESG และฝั่งของ “นักลงทุน” ทางตลาดหลักทรัพย์ก็มีการให้ข้อมูลสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในบริษัทที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย

ในส่วนของนักลงทุน ดร.ศรพล ระบุว่า โจทย์ก็คือทำอย่างไรให้นักลงทุนอยากลงทุนกับบริษัทที่นำ ESG มาใช้ ซึ่งเดิมแรงจูงใจสำหรับนักลงทุนอาจมีเพียง “ผลตอบแทน” เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Invest to Express หรือการลงทุนเพื่อแสดงออกถึงตัวตนของตัวเองเช่น ในกลุ่ม Gen Z ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และความโปร่งใสมากขึ้น และการที่นักลงทุนกลุ่มนี้จะลงทุนในสิ่งที่สนใจได้สิ่งที่สำคัญก็คือเรื่องของ “ข้อมูล” ที่จะต้องชัดเจน

ในส่วนของบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบริการสนับสนุนการต่อยอด ESG สำหรับบริษัททุกระดับ ตั้งแต่ระดับบริษัทจดทะเบียนใหม่ หรือเพิ่งเริ่มพัฒนาด้านความยั่งยืน บริษัทที่จะเข้าสู่มาตรฐาน ESG ในไทย ไล่ไปจนถึงระดับที่สามารถเป็นตัวอย่างให้กับบริษัทอื่นๆ และสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ และยังสามารถใช้บริษัทที่ประสบความสำเร็จเป็น Role Model ต่างๆมาเป็น Coach ให้กับบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นเพื่อนำ ESG มาใช้และได้รับประโยชน์จาก Green Finance ต่อไป

 

GC กับ Green Finance บนเส้นทางสู่ Net Zero

 

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เป็นบริษัทชั้นนำของไทยที่สามารถเป็นตัวอย่างในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนอย่างมุ่งมั่น โดยก่อนหน้านี้ GC ประกาศให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี 2050 ไปแล้ว นอกจากนี้ GC ยังมีโครงการต่างๆที่ประสบความสำเร็จมากมายในด้านสิ่งแวดล้อมและพร้อมที่จะมีส่วนร่วมกับ Green Finance อย่างแข็งแกร่ง

ภัทรลดา สง่าแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เล่าถึงธุรกิจผู้ผลิตสินค้าปิโตรเคมีของ GC ที่สามารถตอบโจทย์ทั้งผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดหวัง และยังตอบโจทย์ในอนาคตไปพร้อมกันด้วย โดยปัจจุบันธุรกิจของ GC เติบโตมากขึ้น เป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่ 14 ล้านตันนอกจากจะมีโรงงานในไทย 40 แห่งแล้ว ยังมีโรงงานอยู่ทั่วโลกถึง 42 แห่ง มี Supplier มากถึง 200 บริษัท ดังนั้น GC จึงอยากที่จะเป็นตัวอย่างในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

 

 

คุณภัทรลดา เล่าว่า GC มีแนวทางการเดินหน้าสู่ Net Zero 3 เส้นทางด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Efficiency-Driven การปรับปรุงประสิทธิภาพ คือการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า เพราะทุกทรัพยากรมีมูลค่า ใช้พลังงานให้น้อยลง เอาสินค้าที่ใช้แล้วมาผลิตซ้ำ ส่วนที่สองคือเรื่อง Portfolio-Driven หรือการปรับพอร์ตด้านการลงทุน เช่นการซื้อกิจการซึ่งเป็นธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำเช่นการเข้าซื้อกิจการ allnex ผู้นำด้านธุรกิจ Coating Resin มูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจุดนี้ก็ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากธนาคาร ผู้ถือหุ้น และผู้ลงทุนหุ้นกู้ อย่างล้นหลาม สิ่งนี้นับเป็น Success case ได้เช่นกันว่า ตัวธุรกิจเองที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้ โดยคุณภัทรลดาเปิดเผยด้วยว่า GC เตรียมที่จะออก Green Loan จากการทำรีไฟแนนซ์ธุรกิจที่ซื้อเข้ามาและจะกลายเป็นตัวอย่างแรกของ Green Finance ในปีนี้ด้วย

สำหรับส่วนที่ 3 นั้น GC ยังดำเนินการเรื่อง Compensation-Driven เป็นการมองระยะยาวในแผนที่จะต้องไปลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ และนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป แม้ว่าเทคโนโลยีนี้ยังแพงอยู่ ซึ่งส่วนนี้สามารถใช้เงินทุนด้าน Green Finance มาสนับสนุนได้เช่นกัน

คุณภัทรลดา ระบุว่า โครงการต่างๆในด้านความยั่งยืนของ GC นั้นเริ่มพัฒนามาแล้วนับ 10 ปี เดิมทีโครงการเหล่านี้อาจเป็นต้นทุนของบริษัทแต่เวลานี้หลายโครงการพลิกกลับมาทำกำไรได้แล้วเช่นโครงการ “Bioplastic” ที่พร้อมขยายงานในเมืองไทยต่อไป เป็นสิ่งยืนยันว่า GC สามารถเป็น case study ที่พร้อมจะใช้เครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่า Green Financing เข้ามาสนับสนุนมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ได้ในอีก 32 ปีข้างหน้าต่อไป

 

 

ธนาคารพาณิชย์กับ Green Finance

ในส่วนของตลาดการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์เองก็ได้รับแรงผลักดันเกี่ยวกับการทำ Green Finance ทั้งในระดับโลก และจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องการให้ทุกธุรกิจที่เชื่อมโยงกับธนาคารมีความใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นธนาคารจึงมีนโยบายในการผลักดันให้ลูกค้าหันมาใช้บริการทางการเงินเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งก็มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารเอชเอสบีซี ที่เริ่มปล่อยออกมาสู่ตลาดแล้ว

คุณประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้า ธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่าธนาคารมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ Green Finance ออกมาแล้ว เช่น ตราสารหนี้หรือสินเชื่อเพื่อโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือซึ่งล่าสุดมีการออกตราสารหนี้สีเขียวหรือ Green Bond เป็นบริการให้กับลูกค้าอย่าง ซึ่งล่าสุดก็มีการออก ตราสารหนี้สีเขียวระดมทุนมูลค่า 2,000 ล้านบาทให้กับลูกค้าเพื่อนำไปปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วย

ธนาคารกรุงศรีฯ ยังมีผลิตภัณฑ์อย่าง ตราสารหนี้หรือสินเชื่อเพื่อสังคม (Social Bond/Loan) อย่างเช่นตราสารหนี้เพื่อผู้หญิงหรือ (Women bond) ระดมทุนมาแล้วปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ SME ที่มีผู้หญิงเป็นผู้นำ หรือมีพนักงานผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่เป็นต้น นอกจากนี้ธนาคาร ยังมีตราสารหนี้/สินเชื่อเพื่อพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน (Sustainability bond/loan) และตราสารหนี้/สินเชื่อส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability linked bond/loan) สำหรับธุรกิจที่ไม่มีโครงการด้านสิ่งแวดล้อมหรือสังคมโดยตรง ก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้เช่นกัน

ด้านคุณกฤษดา ระบุว่าในส่วนของ HSBC เป็นธนาคารแรกในไทยที่มี Green Deposit ซึ่งเป็น “บัญชีเงินฝาก” ที่จะนำเงินไปใช้ในการลงทุนในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ในการออก Sustainable Bond หรือ ตราสารหนี้เพื่อปลูกป่าเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงมีการออก Sustainable Linked Bond ให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งไปแล้วมูลค่าถึง 10,000 ล้านบาท ที่นับเป็น Sustainable Bond ที่ใหญ่ที่สุดในตลาด และ HSBC ยังช่วยนักลงทุนรายใหญ่ในไทยนำเงินไปลงทุนใน ESG Fund ในต่างประเทศซึ่งเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่เงินทุนไทยไหลไปลงทุนในกองทุน Green Finance ในระดับนานาชาติด้วย

 

 

เห็นได้ชัดเจนว่า Green Finance แม้จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เรื่องนี้เป็นเทรนด์ในระดับโลกที่เดินหน้ามาอย่างยาวนานแล้วในต่างประเทศ และแสดงให้เห็นว่า “โลกการเงิน” ที่เป็นเสาหลักของทุนนิยมเองก็สามารถกลายมาเป็นส่วนสำคัญในการช่วยโลกแก้ไขปัญหา Climate Change ที่อาจทำให้อารยธรรมมนุษย์สูญสิ้นได้ ขณะที่ประเทศไทยเองก็ต้องสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล ตลาดเงิน ตลาดทุน รวมไปถึงภาคเอกชนที่ต้องจับมือสร้างมาตรฐานร่วมกัน ขับเคลื่อนไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ หรือ Net Zeroให้ได้ในปี 2050 โดยใช้ Green Finance เป็นเครื่องมือสำคัญ

 

 

 


  • 2.8K
  •  
  •  
  •  
  •