ถอดสูตร “เติบโตอย่างยั่งยืน” สร้างโอกาสให้องค์กร “กระโดดสู่ความสำเร็จ” ผ่านเวที EARTH JUMP 2023

  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

“แค่เดินไม่พอแล้ว ถึงวิ่งก็ไม่ทันแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ต้องกระโดดและจับมือไปพร้อมๆกัน” คุณกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBank) บอกเอาไว้ในงาน EARTH JUMP 2023 งานใหญ่ที่ KBank จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ “ความยั่งยืน” ที่ภาคธุรกิจต้องทำเพื่อความอยู่รอดและสร้างความเติบโตก้าวกระโดดไปสู่ความสำเร็จในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

 

 

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้งาน EARTH JUMP 2023 เกิดขึ้นโดย KBank รวบรวมเอาผู้บริหารชั้นนำระดับโลก ภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 30 รายมาให้มุมมองและพาธุรกิจไทยก้าวกระโดดสู่โอกาสการแข่งขัน เปิดมุมมองและเป็นตัวอย่างให้องค์กรหรือแบรนด์ของคุณสามารถเดินหน้าตอบโจทย์ความยั่งยืนที่นอกจากเป็นประโยชน์กับโลกกับสังคมแล้ว ยังเป็นประโยชน์กับองค์กรของคุณเองด้วย

 

 

ทำไมเรื่องความยั่งยืนจึงสำคัญ?

ปัจจุบันแม้ “ผลกำไร” ของภาคธุรกิจยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะยืนยันความอยู่รอดได้ แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือเรื่องของ Brand Purpose หรือเจตจำนงขององค์กรที่จะต้องตอบโจทย์กับผู้บริโภค คู่ค้า พันธมิตรธุรกิจ พนักงานและสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกกับผู้บริโภค ต่อสังคมหรือกับโลกใบนี้ การเป็นเหตุผลให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้านอกเหนือไปจากการตอบโจทย์ด้าน functional need สิ่งที่องค์กรจะต้องมีในการตอบโจทย์ของการเป็นคู่ค้าที่เหมาะสม หรือแม้กระทั่งตอบโจทย์ว่าทำไมคนทำงานจะต้องสมัครงานกับบริษัทหรือแบรนด์เหล่านั้นด้วย

สิ่งที่จะตอบโจทย์เหล่านี้ได้ก็คือการดำเนินธุรกิจให้ “เติบโตอย่างยั่งยืน” รวมไปถึงแนวคิดเรื่อง ESG (Environment, Social, Governance) ที่ต้องทำทันทีเพื่อความอยู่รอด และสร้างโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกที่หมุนเร็วและกำลังเกิดหายนะทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นหากองค์กรละเลยที่จะใส่ใจเรื่อง “ความยั่งยืน” ในยุคนี้ก็ยากที่จะทำให้องค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จได้

องค์กรภาคธุรกิจจะสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมได้นั้นต้องมีองค์ประกอบในระบบนิเวศน์ที่ส่งเสริมกันทั้งตลาดทุน หน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชนทั้งเล็กและใหญ่รวมไปถึงภาคการเงินการธนาคารซึ่ง ในงาน EARTH JUMP 2023 ก็จัดให้มีเวทีเสวนาในหัวข้อ Unleash the Business of Sustainability ที่ทำให้เห็นบทบาทของแต่ละภาคส่วนในการเดินหน้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆกันได้อย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ตัวแทนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ตัวแทนภาคเอกชนอย่าง บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง, บริษัทปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมไปถึงสถาบันการเงินอย่าง KBank เอง

 

ความยั่งยืน ช่วยให้อยู่รอดจาก Disruption “เพิ่มมูลค่า” ให้องค์กร

ในฐานะที่ตลาดทุนเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งเดินหน้าไปบนเส้นทางของความยั่งยืนและประสบความสำเร็จในโลกยุคนี้ได้ ดังนั้นตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่าง “บริษัทจดทะเบียน” และ “นักลงทุน” ที่ส่งคุณภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มาเป็นตัวแทนก็ให้มุมมองว่าการพัฒนาความยั่งยืนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องของ nice to have อีกต่อไปแต่เป็น must have แล้วในเวลานี้

โดย “ความยั่งยืน” นั้นเป็นเรื่องของการบริหารความเสี่ยง ที่ทำให้องค์กรสามารถหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนหรือการ Disruption ในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับตัวบริษัทได้ด้วย ดังนั้นสิ่งสำคัญสำหรับตลาดทุนก็คือการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเพื่อให้นักลงทุนสามารถนำข้อมูลของบริษัทนำไปวิเคราะห์ต่อได้ซึ่งปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ก็มีเรื่องของ One Report ที่เป็นมาตรฐานที่บริษัทต่างๆ จะต้องปรับตัวในการให้ข้อมูล เพื่อได้ประโยชน์จากการ “สร้างคุณค่า” ด้วยเรื่องความยั่งยืนในองค์กรเพื่อดึงดูดนักลงทุนที่ปัจจุบันให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันมากขึ้น

 

ปตท.กับ “ความยั่งยืน” สู่น่านน้ำใหม่ทางธุรกิจ 

อุตสาหกรรมพลังงานเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่ถูกมองว่าต้องดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนลดผลกระทบที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และบริษัทปตท. ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นถึงการปรับตัวที่ไม่เฉพาะจะสร้างการยอมรับให้มากขึ้น แต่ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย

คุณมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม แสดงตัวอย่างถึงแผนการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นผ่านนโยบาย ESG เพื่อทำให้บริษัท “เป็นที่ยอมรับ” ให้ได้โดยปตท.นั้นมีสองส่วนก็คือการ “กักเก็บ” และ “ชดเชย”

ในเรื่องการ “กักเก็บ” นั้นปตท.มีแผนนำร่องเทคโนโลยีที่เรียกว่า Carbon Capture Storage (CCS) หรือการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) ที่เป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกนั้นลงสู่ชั้นหินใต้ทะเลซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 2 โครงการหนึ่งคือโครงการ ARTHIT Upstream CCS Project งบลงทุน 300-700 ล้านบาทที่บริเวณอ่าวไทยตอนล่าง นำ Co2 ส่วนเกินจากกระบวนการผลิตนำมากักเก็บเอาไว้ใต้ชั้นหินในทะเลโดยคาดว่าจะเก็บได้ 1 ล้านตันต่อปีจากปริมาณการปล่อย Co2 ทั้งประเทศที่ 300 ล้านตันต่อปี

อีกโครงการหนึ่งที่มีความเป็นไปได้คือความร่วมมือที่เรียกว่า Thailand Eastern CCS Hub ที่เป็น “โอกาสของภาคธุรกิจ” ที่ต้องอาศัยความร่วมมือในอุตสาหกรรมโดยจะนำ Co2 จากอุตสาหกรรม โรงงานย่านมาบตาพุดมาเก็บในชั้นหินใต้อ่าวไทยตอนบน และโครงการนี้ก็นับเป็นอีกโอกาสทางธุรกิจที่ในต่างประเทศเกิดขึ้นแล้ว

ในเรื่องของการ “ชดเชย” ปตท.มีบริษัทลูกที่มีชื่อว่า AI and Robotics Ventures (ARV) ที่เกิดจากชมรมหุ่นยนต์ในบริษัทที่เวลานี้กลายเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Carbon Farming เรื่องการวัดการปลูกป่าและการลดคาร์บอน มีการใช้เทคโนโลยีทั้งโดรน, เซ็นเซอร์ และแพลทฟอร์มต่างๆที่กำลังพัฒนา และมีบางหน่วยงานที่สนใจทำกับ ARV ในการทำสตาร์ทอัพด้วย ซึ่งทั้งสองโครงการในการ  “กักเก็บ” และ “ชดเชย” นั้นนับเป็นการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับปตท.ได้นั่นเอง

 

เอสซีจี แพคเกจจิ้งทำ ESG ก้าวผ่านวิกฤต

บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างขององค์กรที่ใช้การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน มาช่วยให้ธุรกิจก้าวข้ามวิกฤตต่างๆมาได้หลายยุคหลายสมัย โดยคุณ คุณวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง เองก็มี Case Study ที่น่าสนในเกี่ยวกับการทำ ESG ให้ประสบความสำเร็จสามารถสร้าง Innovation ใหม่ๆที่พาองค์กรผ่านพ้นวิกฤตต่างๆมาได้จนถึงปัจจุบัน

ตัวอย่างการทำ ESG ให้ประสบความสำเร็จของเอสซีจี แพคเกจจิ้ง มีทั้ง 3 ด้านของ ESG หนึ่งคือเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” โดยที่ เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ใช้ Green Bond มาช่วยทำเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนให้สำเร็จซึ่งบริษัทเองก็จะได้ประโยชน์เรื่องการลดดอกเบี้ยซึ่งสามารถนำไปสร้างโอกาสต่อยอดให้กับองค์กรต่อไปได้

นอกจากนี้ยังมีการนำ Innovation มาใช้ช่วยให้องค์กรรอดพ้นจากแรงกดดันทางสังคมและการ disruption มาได้จนกระทั่งปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวมาใช้วัสดุ recycle ได้ 100% แล้ว การบำบัดน้ำเสีย การนำของเสียมาผลิตเป็น Bio Gas เป็นพลังงานหมุนเวียน ในส่วนขยะเหลือใช้ก็สามารถนำไปผลิตเป็นพลังงานใช้ต่อได้ตามหลักการ zero waste

ขณะที่ในเรื่องของ “สังคม” โดยเฉพาะในประเทศไทย คุณวิชาญ ระบุว่า เอสซีจี แพคเกจจิ้ง เป็นผลิตภัณฑ์ที่เน้นเรื่องของ Bio Base และเรื่องของการ Recycle ดังนั้นการคัดแยกขยะ ระบบการกำจัดขยะ จึงมีความสำคัญมากซึ่งในประเทศไทย ความรู้เรื่องนี้ยังมีจำกัด สิ่งที่ทำได้ก็คือการ “ให้ความรู้”กับสังคมเพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกให้มากขึ้นต่อไป

การดำเนินธุรกิจบนหลักการ ESG ทำให้เอสซีจี แพ็คเกจจิ้ง เติบโตและผ่านพ้นวิกฤตต่างๆมีสิ่งสำคัญที่สุดก็คือเรื่องของ Innovation โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้างบ Innovation เอาไว้ถึง 800 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 500 ล้านบาทในปีก่อน และจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น nano fiber รวมถึง นวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่าพลาสติก Bio PET ที่ผลิตจากไม้ยูคาลิปตัส ที่นอกจากจะเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ของบริษัทแล้วยังเป็นผลดีกับสิ่งแวดล้อม และสังคม สร้างรายได้ให้กับผู้ปลูกยูคาลิปตัส ขณะที่ยูคาลิปตัสเองก็เป็นทรัพยากรที่ช่วยลดคาร์บอน เปลือกไม้สามารถนำไปผลิตพลังงาน และสามารถปลูกทดแทนได้

 

Green Finance ช่วยผลักดันองค์กรสู่ความยั่งยืน

ในส่วนของสถาบันการเงินอย่าง KBank เองก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันเรื่อง “ความยั่งยืน” ให้เกิดขึ้นกับองค์กรต่างๆ เช่นกัน โดย KBank เองมีแผนทำให้เกิด Net Zero ในการดำเนินธุรกิจภายในปี 2030 ซึ่งทำได้ไม่ยากนักเนื่องจากการประกอบการของธนาคารส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมไม่มาก แต่สิ่งที่ยากสำหรับ KBank ก็คือเป้าหมายใน Scope ที่ 3 นั่นก็คือเรื่องของ Green Finance หรือ Sustainable Finance ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นมากกว่าเป็นร้อยๆ เท่า เนื่องจากธนาคารมี Portfolio ขนาดใหญ่ถึง 2 ล้านล้านบาท โดยแผนนี้ในระยะสั้นหรือภายในปี 2030 จะลงทุนเป็นมูลค่า 1-2 แสนล้าน หรือปีละ 2-3 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว

สำหรับการปล่อยสินเชื่อใน port ของ KBank ในเรื่องของการลดคาร์บอนมีอยู่ 4 Stage โดยจะเน้นไปที่อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศมากที่สุดอย่างอุตสาหกรรมพลังงานก่อน ซึ่งแผนนี้เป็นสิ่งที่ KBank โฟกัสมาตั้งแต่ปีที่แล้วและเดินหน้าต่อในปีนี้ ส่วนของปีนี้จะเพิ่มเติมอุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามา เช่นเหล็กและโลหะ อลูมิเนียม การเกษตร คมนาคม และจะขยายไปสู่อุตสาหกรรมต่างๆจนครอบคลุมสัดส่วนการปล่อยก๊าซในประเทศทั้ง 100% ต่อไป

คุณกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย พูดถึงเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์เอาไว้ว่าจะทำได้หรือไม่ เป็นโจทย์ของประเทศ และเป็นสิ่งที่ธนาคารพูดเองทำเองไม่ได้แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากลูกค้า ธนาคารต้องสามารถสร้าง Incentive เพื่อดึงดูดให้เกิดการเปลี่ยนผ่านส่วนรัฐเองก็ต้องมีกลไกที่จะโน้มน้าวให้เกิดการมีส่วนร่วมให้มากที่สุด พร้อมๆ ไปกับการมีข้อบังคับที่ชัดเจนและบทลงโทษต่างๆที่จะเกิดขึ้นอย่างตัวบทกฎหมายด้วย

 

 

“ความยั่งยืน” บนพื้นฐานของ “ความสมดุล”

คุณกฤษณ์ปิดท้ายว่า การเดินหน้าไปสู่ Net Zero นั้นจะเร็วหรือช้านั้นจะต้องคำนึงถึง “ความสมดุล”เช่นการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ก็ต้องคำนึงความมั่นคงด้านพลังงาน การเปลี่ยนผ่านเรื่องวัตถุดิบก็ต้องคำนึงถึงการขาดแคลนวัตถุดิบที่อาจเกิดขึ้น ทำอย่างไรที่จะบริหารจัดการต้นทุนที่ต้องมองเรื่องเป็นเรื่องของโอกาส สร้างสมดุลไปสู่ supply chain คนตัวเล็กรวมถึงผู้บริโภค และทำอย่างไรที่จะหลีกเลี่ยง Green Washing ที่จะเป็นประเด็นมากขึ้นนับจากนี้ และแน่นอนที่สุด KBank ก็ต้องพิจารณาสินเชื่อโดยคำนึงถึงความเสี่ยงและความสามารถของการจ่ายเงินคืนสร้างสมดุลควบคู่ไปกับการเดินหน้าสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซด้วยเช่นกัน

 

 

เวที EARTH JUMP 2023 ที่ KBank จัดขึ้นในครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญที่จะทำให้ทุกๆองค์กรเห็นถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าไม่ใช่เรื่องของ “ภาระ” อีกต่อไป แต่ “ความยั่งยืน” ไม่เพียงแต่จะช่วยให้องค์กรอยู่รอดจากวิกฤต ไม่ได้เป็นเพียงการสร้าง Brand Purpose ให้เกิดขึ้นในใจผู้บริโภค คู่ค้า พันธมิตรธุรกิจ และคนในองค์กรเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆที่จะพาให้องค์กร “ก้าวกระโดด” สู่ความสำเร็จได้ด้วยนั่นเอง

 


  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE