เมื่อธุรกิจธนาคารต้องสร้างการเติบโตบนยุทธศาสตร์ ESG – KBank วางกลยุทธ์ เน้นวัดผล พร้อมปรับเปลี่ยน มุ่งสู่ผู้นำในระดับภูมิภาค

  • 2.4K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ย้อนกลับไปหลายปีก่อน เรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ กลายเป็นวาระสำคัญระดับโลก แม้จะไม่มีข้อบังคับหรือข้อกำหนดตายตัว แต่ก็เป็นเรื่องที่ทั่วโลกต่างพร้อมใจรับไปปฏิบัติ ประเทศไทยเองก็เช่นกันถึงขั้นที่มองว่าการขาย Carbon Credit จะกลายเป็นการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจและจะเป็น Incentive ที่ช่วยให้ธุรกิจหันมาใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทว่าในเวลาต่อมาเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ รวมถึง KBank เองซึ่งได้มีการพัฒนาและปรับตัวอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อเป้าหมายสู่การเป็นธนาคารแห่งความยั่งยืน (Bank of Sustainability)

 

“CSR – Corporate Social Responsibility”

หลายคนอาจคุ้นหู้กับคำว่า CSR ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ ทั้งเรื่องของความช่วยเหลือชุมชนไม่ว่าจะเป็นทุนการศึกษาหรือการพัฒนาชุมชน นอกจากนี้เรื่องของสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกหนึ่งที่ธุรกิจมักจะดำเนินการภายใต้การทำ CSR ด้วยเช่นกัน แต่ก็มักจะมีคำถามเกิดขึ้นมาว่า

 

CSR ช่วยสร้าง Sustainability ให้กับธุรกิจหรือเปล่า???

นั่นเพราะโครงการ CSR ส่วนใหญ่ล้วนแต่ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่กลับได้มาแค่ในแง่ของภาพลักษณ์องค์กร ซึ่งยังไม่เข้าใกล้ความยั่งยืนทางธุรกิจ ขณะที่เรื่องของสิ่งแวดล้อมกลายเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค หรืออีกมุมหนึ่งในเรื่องกฎระเบียบที่กำลังจะมีการบังคับใช้ทั่วโลกอย่าง CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) หรือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผลให้ผลิตภัณฑ์ใดที่ไม่มีมาตรการลดคาร์บอนก็จะถูกกีดกันด้วยกำแพงภาษี และมาตรการในรูปแบบนี้มีแนวโน้มเกิดขึ้นทุกภูมิภาคทั่วโลกโดยเฉพาะในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก หรือการประชุม APEC ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ มีวาระที่สำคัญคือเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ยิ่งเป็นเครื่องตอกย้ำถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมของทั้งภาครัฐและเอกชน

 

ESG ยุทธศาสตร์ธุรกิจแห่งอนาคต

นั่นจึงเป็นที่มาของกลยุทธ์ ESG (Environment Society Governance) ที่ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นแต่มีมาสักพักใหญ่แล้ว ถ้าจะสรุปกลยุทธ์ ESG แบบง่ายๆ คือการทำธุรกิจให้เติบโตทั้งในด้านรายได้ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชุมชนและสังคมให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ESG จึงเป็นการนำเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมมาเป็นปัจจัยในการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ

ซึ่งหนึ่งในธุรกิจที่มีการใช้กลยุทธ์ ESG อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมากที่สุด ต้องยกให้ KBank หรือธนาคารกสิกรไทย ที่ตั้งเป้าสู่การเป็นธนาคารชั้นนำด้าน ESG ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการนำพาธุรกิจรวมถึงลูกค้าเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero

 

KBank เดินหน้าสู่ผู้นำ ESG ในภูมิภาค

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คือเรื่องของมาตรการตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น รวมไปถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่นำเรื่องของความยั่งยืนทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้ามาประกอบการตัดสินใจ โดยเฉพาะการที่นักลงทุนหันมาสอบถามประเด็นด้าน ESG มากขึ้นเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต คุณกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย มาช่วยอธิบายเพิ่ม

 

 

จากเหตุผลที่กล่าวมาทั้งเรื่องของการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค นักลงทุนที่หันมาเน้นในด้าน ESG ควบคู่กับผลประกอบการ และการที่ทั่วโลกเริ่มใช้มาตราการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หากธุรกิจปรับตัวไม่ทันจะส่งผลให้ต้นทุนของธุรกิจปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่มีการวางแผนธุรกิจในด้าน ESG  และอาจส่งผลต่อการเข้าสู่ตลาดใหม่ในอนาคตได้

นั่นจึงทำให้ ธนาคารกสิกรไทยประกาศ KBank ESG Strategy 2566 ภายใต้ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการ  ธนาคารแห่งความยั่งยืนโดยกำหนดกลยุทธ์การทำงานที่เป็นระบบ เน้นการวัดผล และพัฒนาการดำเนินงานตามหลักการและมาตรฐานสากล ด้วยเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำด้าน ESG ของกลุ่มธนาคารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นำพาลูกค้าและธุรกิจไทยสู่ระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน

 

เดินหน้าปล่อยสินเชื่อนำทุกธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม

โดยแบ่งออกเป็น E – Environment ยุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ที่วางเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero Commitment) โดย KBank มีการปรับกระบวนการทำงานของธนาคาร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 และขอบเขตที่ 2 เช่น ทยอยเปลี่ยนรถยนต์เป็น EV, ทยอยติดตั้ง Solar Roof บนอาคารสำนักงานและสาขาที่ธนาคารเป็นเจ้าของพื้นที่ โดยในครึ่งปีแรกของปี 2565 ธนาคารได้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 13.52% (เทียบปี 2563) และตั้งเป้าหมายสู่ Net Zero จากการดำเนินกิจการของธนาคารภายในปี 2573

ขณะที่ในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร (Scope 3) ได้มีการเริ่มประเมินก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มสินเชื่อของธนาคารและจัดทำกลยุทธ์การลดก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม (Sector Decarbonization Strategy) จำนวน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และกลุ่มเหมืองถ่านหิน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 27% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร (Portfolio Emission) โดยจะขยายขอบเขตการประเมินให้ครอบคลุมอีก 2 กลุ่ม เมื่อรวมกับปีนี้แล้วจะคิดเป็นสัดส่วนรวมประมาณ 40% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในพอร์ตโฟลิโอของธนาคาร  นอกจากนี้ในปี 2565 ทางธนาคารได้มีการเข้าไปวางแผนร่วมกันกับลูกค้าในกลุ่มนี้ทั้งหมดแล้วในการที่จะเปลี่ยนผ่านไปด้วยกัน

 

 

การสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing (Loan) and Investment) โดยใน 9 เดือนแรกของปี 2565  ธนาคารได้สนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน กว่า 16,000 ล้านบาท รวมถึงเตรียมจัดสรรเงินทุนเพื่อความยั่งยืนรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวอย่างต่อเนื่องรวม 200,000 ล้านบาท ภายในปี 2573

คิดค้นนวัตกรรมที่มากกว่าบริการทางการเงิน Beyond Financial Solutions ผสานเทคโนโลยีและความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงไลฟ์สไตล์กรีนได้ง่ายยิ่งขึ้นและกระจายสู่วงกว้างได้มากขึ้น อย่างโครงการ SolarPlus ที่ติดตั้ง Solar Rooftop ให้ประชาชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และโครงการส่งเสริมการให้เช่ารถมอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า EV Bike ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม Rider สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยจะยังคงเดินหน้าขยายโซลูชั่นอย่างต่อเนื่อง

โดยการสนับสนุนสินเชื่อและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน การร่วมมือกับพันธมิตรรวมถึงลูกค้าต่างๆ และการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานภายในของ KBank เอง เช่น การทยอยเปลี่ยนมาใช้รถ EV และการทยอยติด Solar ทั้งที่สำนักงานและสาขาของธนาคาร เพื่อผลักดันให้ธนาคารสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งระดับพอร์ตโฟลิโอของธนาคารและช่วยให้ KBank เข้าใกล้เป้าหมาย Net Zero มากยิ่งขึ้น

 

 

สร้างโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อและความรู้

ด้าน S – Society ยุทธศาสตร์ด้านสังคม โดยธนาคารเน้นการเข้าถึงบริการทางการเงินและการให้ความรู้ทางการเงินและไซเบอร์ (Financial Inclusion and Financial/Cyber Literacy) ด้วยการปรับปรุงกระบวนการพิจารณาสินเชื่อ โดยใช้ข้อมูลประกอบการพิจารณาความเสี่ยง การประเมินความสามารถในการชำระเงิน การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และความรวดเร็วในการติดตามการชำระคืนหนี้และการฟื้นฟู รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินและภัยทางไซเบอร์ให้กับลูกค้าและประชาชนทั่วไปผ่านช่องทางต่าง ๆ ของธนาคาร การทำงานด้วยการร่วมมือกับพันธมิตร และประสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งมอบบริการสินเชื่อควบคู่การให้ความรู้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของลูกค้าสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

 

 

ส่งผลให้ KBank ตั้งเป้า สร้างการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion)  โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้ารายเล็ก (Small-pocket Customers) ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้าบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งอาจไม่มีบัญชีเงินเดือน, ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ โดยธนาคารจะพิจารณาอนุมัติจากข้อมูลอื่นๆ ประกอบ รวมถึงลูกค้าธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาทต่อปี โดยในปี 2565 (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน) ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้ารายเล็กเป็นจำนวนกว่า 5 แสนราย มูลค่าสินเชื่อกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้าหมายปี 2568 จำนวน 1.9 ล้านราย

การให้ความรู้ทางการเงินและความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Financial and Cyber Literacy) ภายใต้แคมเปญที่จะสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ทางการเงิน โดยตั้งเป้าเข้าถึงลูกค้าได้ 10 ล้านรายในปี 2566 และการสร้างความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้า ปกป้องทรัพย์สินของลูกค้า การให้บริการที่ปลอดภัย และดูแลอย่างทันท่วงที ด้วยการส่งมอบบริการที่มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการความเสี่ยง และการกำกับดูแลมาตรฐานการให้บริการอย่างครอบคลุม

 

 

สร้างโอกาสเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ

และด้าน G – Governance ยุทธศาสตร์ด้านธรรมาภิบาล โดยธนาคารจะให้ความสำคัญเรื่องเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อตามหลัก ESG เพื่อป้องกันไม่ให้สินเชื่อสร้างผลกระทบเชิงลบแก่เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยกำหนดให้ทุกสินเชื่อโครงการและเครดิตเชิงพาณิชย์ของลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางขึ้น จะต้องเข้าสู่กระบวนการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG 100% โดยในปี 2565 (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน) มีสินเชื่อที่ผ่านกระบวนประเมินนี้แล้วกว่า 3.4 แสนล้านบาท

ตลอดระยะเวลาที่ธนาคารนำหลักการ ESG เข้าไปอยู่ในทุกกระบวนการ พบว่า มีความท้าทายสำคัญในประเด็นการจัดการที่ต้องพิจารณาจากมิติที่หลากหลาย ดังนั้น หัวใจของการขับเคลื่อนธุรกิจบนหลักการธนาคารแห่งความยั่งยืน คือ ต้องรักษาสมดุลการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง และต้องมีแผนสำรองอยู่เสมอ เพื่อพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

 

 

อย่างที่ทราบกันว่า ธุรกิจธนาคารเป็นต้นน้ำของการดำเนินชีวิตและขับเคลื่อนธุรกิจต่าง ๆ ดังนั้นการดำเนินงานของธนาคารจึงมีส่วนสร้างส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยุทธศาสตร์ด้าน ESG จึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่ธนาคารจะต้องพัฒนาต่อไปให้มากขึ้นด้วยมาตรฐานที่สูงขึ้น และต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น ซึ่งคุณกฤษณ์ย้ำว่า เรื่องของ ESG ไม่ใช่เทรนด์ แต่เป็นเรื่องที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญ เพราะความยั่งยืนจะกลายเป็นกลยุทธ์หลักทางธุรกิจในอนาคต และยังเป็นงานที่ไม่มีวันสิ้นสุด ทำคนเดียวก็ไม่ได้

KBank จึงต้องสร้างความร่วมมือในการสร้าง Ecosystem ร่วมกันทุกภาคส่วน เพราะหากต้องทำเพียงลำพังอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ ทุกคนทั้งสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ และประชาชนจึงต้องร่วมมือกันผลักดันให้ถึงเป้าหมาย เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างและยั่งยืนอย่างแท้จริง


  • 2.4K
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE