อะไรๆ เดี๋ยวนี้ก็สะดวก แค่ใช้มือถือยิง ปี๊บ… ก็จ่ายนู่นนี่นั่นได้ง่ายกว่าควักเงินสดออกมาจ่าย เหล่ามิจฉาชีพเองก็ปรับวิธีการหลอกเหยื่อไปตามไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ จะเห็นได้จากข่าวที่มีการหลอกเหยื่อให้กดลิงก์ปลอมที่แนบมาทาง SMS หรือหลอกให้ลงแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์มือถือ ซึ่งไม่ใช่เพียงกลโกงรูปแบบนี้ พวกมิจฉาชีพยังมีกลโกงมาหลอกเราอีกนับไม่ถ้วน และมีการปรับกลเม็ดมุกใหม่ที่มาแบบแปลกๆ จนบางครั้งไม่รู้แล้วว่า อันไหนจริง? อันไหนหลอก?
หลายเคสที่เล่นง่ายๆ แค่บอกถูกรางวัลแล้วให้กดลิงก์ที่แนบมา เพื่อติดต่อรับรางวัลจากเจ้าหน้าที่ปลอม ที่จะชวนคุยอ้างนู่นนี่ให้ดูน่าเชื่อถือ สุดท้ายเหยื่อโอนเงินออกไปให้มิจฉาชีพเองโดยไม่รู้ตัว หรือเคสคลาสสิกที่ชอบอ้างว่าโทรมาจากหน่วยงานรัฐ ทั้งขอตรวจสอบ ทั้งแจ้งว่าเราทำผิดกฎหมายสารพัดอย่าง แต่สุดท้ายก็จะจบลงตรงที่ต้องโอนเงินไปให้ตรวจสอบ แม้หลายคนจะรู้แต่ก็มีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ทราบ นั่นจึงทำให้เราได้เห็นข่าวคราวของการหลอกลวงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รู้ทันกลโกงมิจฉาชีพ
จากสถิติการแจ้งความออนไลน์ ของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ถึง เดือนพฤษภาคม 2566 พบว่าปัจจุบันความเสียหายที่ประชาชนได้รับจากมิจฉาชีพหลอกเงินมีมูลค่าเกินกว่า 38,000 ล้านบาทไปแล้ว
อย่างหนึ่งที่ชัดเจน คือ เหล่ามิจฉาชีพจะเล่นกับ “ความกลัว” อย่างส่ง SMS มาบอกว่า มีคนกำลังเข้าสู่ระบบธนาคารของคุณ ให้รีบติดต่อด่วน หลังจากนั้นจะหลอกเหยื่อให้ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์มือถือ แล้วก็อาศัยจังหวะที่เหยื่อยังไม่ทันรู้ตัว โอนเงินออกจนหมดบัญชีก็มี หรือบางครั้งก็เล่นกับ “ความโลภ” ที่มักจะเห็นอยู่บ่อยๆ เช่น ชวนทำงานออนไลน์ ทำภารกิจง่าย ๆ แต่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง โดยมิจฉาชีพจะหลอกให้โอนเงินก่อนเริ่มทำภารกิจ แรกๆ เหยื่อจะได้เงินคืนพร้อมผลตอบแทน หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะบอกให้โอนเงินมากขึ้นเพื่อทำภารกิจที่ได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น เมื่อเหยื่อรู้ตัวว่าโดนหลอก มิจฉาชีพก็จะตัดการติดต่อและหายไป
และเล่นกับ “ความไม่รู้” ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เหยื่อหลงเชื่อกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพได้ ที่พบเจอบ่อยๆ ก็หลอกให้เปิดบัญชีม้า ที่เหยื่อไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย หรือไม่ก็ หลอกให้กู้เงินจากนายหน้าเถื่อนโดยบอกว่าให้วงเงินสูง และไม่ต้องใช้หลักฐานอะไรเลย แต่ดอกเบี้ยก็สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหนักกว่านั้นอาจได้แต่หนี้ไม่มีเงินมาให้ก็มีให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ
อัปเดตสติป้องกันสตางค์ เรื่องง่ายๆ ใครก็ทำได้
เพื่อให้รอดจากภัยมิจฉาชีพที่เปลี่ยนมุกหลอกเหยื่ออยู่เรื่อยๆ เราจึงต้องมีสติและอัปเดตข่าวกลโกงของมิจฉาชีพอยู่เสมอ ซึ่ง ธนาคารกสิกรไทย (KBank) เห็นว่าการป้องกันภัยคุกคามทางการเงินเป็นวาระสำคัญที่ต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน จึงได้จัดทำแคมเปญ #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ และออกคลิปเตือนภัย 3 กลโกงที่ยังมีเหยื่อโดนหลอกต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อมูลและความรู้ถึงกลเม็ดกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพที่สรรหาเรื่องราวหลอกลวงเหยื่อ พร้อมวิธีป้องกันตนเองที่จะสร้างเกราะป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ
3 กลโกงที่ใครๆ ก็ป้องกันได้
โดยคลิปแรกจะเป็นเรื่องการหลอกให้เปิดบัญชีม้า ซึ่งมิจฉาชีพมักจะมาในรูปแบบนายหน้ารับซื้อบัญชีธนาคารในราคาสูง โดยส่งข้อความเชิญชวนในโซเชียลมีเดีย ซึ่งบางคนอาจคิดว่าการขายบัญชีของเรา ไม่เป็นไร ไม่เสียอะไรแถมได้เงินอีกด้วย แต่ที่จริงการขายบัญชีให้บุคคลอื่น หรือรับซื้อบัญชีของบุคคลอื่น มีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งมิจฉาชีพอาจจะนำบัญชีของเราไปกระทำความผิดต่าง ๆ เช่น ฟอกเงิน รับเงินผิดกฎหมาย รับเงินจากการหลอกลวงหรือโกงผู้อื่น และเราจะกลายเป็นขบวนการของมิจฉาชีพโดยไม่รู้ตัว
ขณะที่อีกคลิปจะพูดถึงการหลอกให้โหลดแอปพลิเคชันดูดเงิน โดยมิจฉาชีพมักจะส่ง SMS มาพร้อมระบุให้กดลิงก์ที่แนบมาเพื่อรับเงินรางวัลหรือของรางวัล ทันทีที่กดลิงก์ดังกล่าวอาจจะนำคุณไปพูดคุยกับมิจฉาชีพ หรือดาวน์โหลดโปรแกรม ซึ่งจะกลายเป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้เหล่ามิจฉาชีพสามารถเข้าสู่บัญชีการเงินของเหยื่อ และนั่นหมายถึงการโอนเงินออกจากบัญชีได้ เรียกว่าอยากจะได้ตังค์เพิ่มแต่กลายเป็นต้องสูญเสียเงินจนหมดตัว ซึ่งวิธีป้องกันง่ายๆ อย่ากดลิงก์ที่ไม่รู้จัก หรือลิงก์จากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือโดยเด็ดขาด
และคลิปสุดท้ายที่พูดถึง การกู้เงินเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เอกสารนั่นต้องมีเอกสารนี่ หรือหากไม่มีสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนั้นจะกู้เงินไม่ได้ นั่นคือช่องทางที่เปิดโอกาสให้มิจฉาชีพแฝงตัวมาเป็นนายหน้ากู้เงินเถื่อนที่มักจะเสนอวงเงินกู้สูง โดยขอหลักฐานเพียงเล็กน้อยและแทบจะไม่มีข้อแม้ใดๆ เลย ซึ่งสิ่งที่ตามมาส่วนใหญ่คือดอกเบี้ยมหาโหด หรือที่เลวร้ายกว่านั้นคือการเป็นหนี้กับธนาคาร แต่ไม่ได้เงินกู้จากนายหน้ากู้เงินเถื่อน วิธีป้องกันง่ายๆ แค่ติดต่อธนาคารแล้วปรึกษาเพื่อขอกู้เงิน ท่านทำได้เองโดยไม่ต้องผ่านนายหน้า ซึ่งในปัจจุบัน มีเงินกู้หลากหลายรูปแบบเหมาะสำหรับคนทำงานทุกประเภท
นอกจาก 3 เรื่องนี้แล้ว ธนาคารกสิกรไทยยังมีการจัดทำ #สารานุโกง ที่อัปเดตกลโกงใหม่ๆ หลากหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง อย่างการหลอกลวงในรูปแบบ Romance Scam ที่หลอกให้รักแล้วลวงเอาเงินไปจนหมดตัว หรือการรับสมัครงานที่วันๆ ไม่ต้องทำอะไรแค่นั่งเล่นโซเชียลหรือลองใช้สินค้าก็ได้รับเงิน หรือการปลอมเป็นธนาคารแล้วส่ง SMS แบบแนบลิงก์มาให้ ก็บอกได้เลยว่าของปลอมชัดๆ เพราะเดี๋ยวนี้ธนาคารยกเลิกการส่ง SMS แบบแนบลิงก์แล้ว
สามารถศึกษา #อัปเดตสติป้องกันสตางค์ ได้ที่ #สารานุโกง โดยสามารถดาวน์โหลดคลิปและส่งต่อให้คนที่รู้จัก เพื่อรู้เท่าทันเคสกลโกงต่างๆ และวิธีป้องกันตนเองที่ ยิ่งโหลดยิ่งส่งต่อมากก็ยิ่งช่วยกันลดโอกาสและความเสี่ยงที่จะถูกเหล่ามิจฉาชีพหลอกลวงได้มากเช่นเดียวกัน