เมื่อเด็กเกิดมากับมือถือ-เกมออนไลน์! “LEGO” ทำอย่างไรไม่ให้โดน “Technology Disrupt”

  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  

Lego

เวลานี้หลายธุรกิจก็เจอกระแส “Technology Disruption” ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรม “ของเด็กเล่น” ที่ในวันนี้เด็กรุ่นใหม่เกิดมาพร้อม “สมาร์ทโฟน” “อินเทอร์เน็ต” และ “เกมออนไลน์”

เมื่อเอ่ยถึงของเล่นยอดนิยมช่วงวัยเด็ก เชื่อว่าหลายคนมักจะหวนนึกถึง “LEGO” ตัวต่อพลาสติกหลากหลายสีสัน ที่สามารถต่อได้ตามจินตนาการ – ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคล และไม่ได้เป็นของเล่นสำหรับเด็กเท่านั้น ยังมีชุดซีรีย์สำหรับกลุ่มวัยรุ่น ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ ที่ชื่นชอบการสะสมคอลเลคชั่นพิเศษ และใช้เวลาไปกับตัวต่อพลาสติกนี้

ทว่าเส้นทางของ “LEGO” ตลอดระยะเวลากว่า 80 ปี ไม่ได้สวยงามเสมอไป เพราะต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งการแข่งขันในตลาดของเล่น ตั้งแต่ยุค Analog มาจนถึงยุค Digital เมื่อคู่แข่งของ “LEGO” ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงของเล่นดั้งเดิมเท่านั้น แต่ยังมี “อุปกรณ์เทคโนโลยี” เช่น สมาร์ทโฟน, หุ่นยนต์ หรือแม้แต่การใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ต และ “เกมออนไลน์” ที่ทำให้เด็กยุคนี้ ทิ้งของเล่นดั้งเดิมเร็วขึ้น แล้วหันไปหาอุปกรณ์เทคโนโลยี และเกมออนไลน์ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเจอปัญหา “ของปลอม” ที่วางขายกันเกลื่อน

นี่จึงทำให้ในช่วงเวลา 5 – 10 ปีมานี้ “LEGO” เจอกับ Technology Disruption คลื่นลูกใหญ่ !!! มาดูกันว่าแบรนด์ตัวต่อระดับโลก จะมีกลยุทธ์ปรับตัวให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอย่างไร ?!?

Resize lego_21
Photo Credit : nalinda117 / Shutterstock.com

 

ผลวิจัยเผย เด็กอายุ 8 ปี และต่ำกว่า 8 ปี ใช้เวลาอยู่กับมือถือ 48 นาทีต่อวัน !!

 

“Common Sense Media” องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มุ่งเน้นช่วยเด็ก พ่อแม่ และนักการศึกษาในการให้คำแนะนำการใช้สื่อ และเทคโนโลยีอย่างถูกต้อง และเหมาะสม ได้เปิดเผยรายงานจากการสำรวจเด็กและพ่อแม่ในสหรัฐอเมริกาพบว่า เด็กอายุ 8 ปี และต่ำกว่า 8 ปี ใช้เวลาโดยเฉลี่ยอยู่หน้าจอสื่อต่างๆ 2 ชั่วโมง 19 นาทีต่อวัน ในจำนวนนี้ “ทีวี” ยังเป็นสื่อหลักที่เด็กกลุ่มนี้ใช้เป็นช่องทางการรับคอนเทนต์ โดยเฉลี่ย 58 นาทีต่อวัน

แต่สิ่งที่น่าสนใจ และน่าจับตามองคือ การใช้เวลาบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือในกลุ่มเด็กอายุ 8 ปี และต่ำกว่า 8 ปี เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2011 เฉลี่ยอยู่ที่ 5 นาทีต่อคนต่อวัน จากนั้นปี 2013 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 15 นาทีต่อคนต่อวัน และปี 2017 ขยับขึ้นมาเป็น 48 นาทีต่อคนต่อวัน ขณะที่การใช้เวลาดูทีวี ลดลงมา 11 นาที

นอกจากนี้หลายครอบครัว เป็นสมาชิก Video Streaming เช่น Netflix และ Hulu มากกว่าเป็นสมาชิก Pay TV

การใช้เวลาอยู่บนหน้าจอโทรศัพท์มือถือ ซึ่งปัจจุบันคือ “สมาร์ทโฟน” สะท้อนให้เห็นว่า “สื่อมือถือ” กลายเป็นส่วนหนึ่งของเด็กยุคใหม่ และสามารถทะลุทะลวงเข้าถึงเด็กทุกระดับของสังคม

จากผลวิจัยดังกล่าว มองกลับมายังสถานการณ์อุตสาหกรรมของเล่น ถึงแม้ “พ่อแม่-ผู้ปกครอง” ยังมองว่า “ของเล่น” ในรูปแบบ Physical Toys ยังมีความสำคัญต่อการช่วยเสริมพัฒนาการเด็ก นี่จึงทำให้ “ของเล่น” ที่เน้นด้านการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเด็ก ยังสามารถเติบโตได้ ยิ่งในยุคปัจจุบัน พ่อแม่รุ่นใหม่ มีลูก 1 – 2 คนเท่านั้น ทำให้พ่อแม่ยุคนี้พร้อมทุ่มเทเงิน เพื่อให้ลูกค้าได้สิ่งที่ดี

แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “Physical Toys” กำลังถูกสื่อดิจิทัลแชร์เวลาออกไป และเด็กจะทิ้งของเล่นแบบดั้งเดิมเร็วขึ้น และไปใช้เวลาอยู่กับอุปกรณ์เทคโนโลยี และสื่อดิจิทัลต่างๆ นานขึ้น

Resize kids mobile device
Credit : Common Sense Media

 

5 กลยุทธ์ที่ทำให้ “LEGO” ยังดำรงอยู่ได้ ท่ามกลางกระแส “Technology Disruption”

 

1. “Creativity + Imagination” คือ รากฐานสำคัญของแบรนด์ “LEGO” ด้วยความที่เป็นของเล่นในกลุ่ม “Education Toys” หรือของเล่นพัฒนาทักษะ – เสริมสร้างพัฒนาการเด็ก โดยเฉพาะในด้าน “ความคิดสร้างสรรค์” และ “จินตนาการ” อย่าง กลุ่มสินค้า LEGO Classic ที่เด็กสามารถออกแบบได้เองว่าจะต่อเป็นอะไร เพื่อตอบโจทย์แนวคิด “Play & Learn”

นอกจากนี้การออกแบบชิ้นส่วนตัวต่อของ “LEGO” ต้องการให้ผู้เล่นสามารถรื้อ และต่อใหม่ได้เรื่อยๆ โดยมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า “LEGO stud-and-tube coupling system” คือ ทุกชิ้นส่วนตัวต่อพลาสติก ตรงด้านบนมีปุ่ม (Stud) และด้านล่างมีท่อ (Tube) ทำให้สามารถต่อเข้ากันได้แน่นพอดี ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้จดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 1958 ทำให้ทุกชิ้นส่วนต่อเข้ากันได้

Resize lego_12

2. ขยายตลาดมายัง “Emerging Market” ที่ผ่านมาฐานตลาดใหญ่ที่สร้างรายได้หลักให้กับ “LEGO” มาโดยตลอด คือ ยุโรป และสหรัฐอเมริกา แต่ด้วยความที่สองตลาดดังกล่าว เริ่มอยู่ในภาวะทรงตัว ไม่ได้เติบโตมากอย่างในอดีตแล้ว

ประกอบกับยุคนี้เป็น “ศตวรรษแห่งเอเชีย” โดยเฉพาะ “Emerging Country” เช่น จีน และประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่มีทั้งการเติบโตด้านเศรษฐกิจ การขยายตัวของความเป็นสังคมเมือง การเพิ่มขึ้นของประชากรประชากรเด็ก และเศรษฐีใหม่ – กลุ่มชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และพร้อมจ่ายเงิน เพื่อให้ลูกหลานได้สิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักของ “LEGO” คือ กลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไป

“เอเชียแปซิฟิค เป็นตลาดอนาคตของ “LEGO” เพราะประชากรเด็กมากกว่าครึ่งโลกอยู่ในเอเชียแปซิฟิค และประเทศในฝั่งนี้ มีเด็กอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้เล่น LEGO ดังนั้นเราจึงขยายฐานการเติบโตทางธุรกิจมายังภูมิภาคนี้ เช่น ประเทศไทย ต้องการเพิ่มฐานคนเล่น LEGO มากขึ้น ถึงแม้ปัจจุบันไทยมีอัตราการเกิดลดลง แม้จะมีผลต่อเราบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะพ่อแม่รุ่นใหม่ ยอมใช้จ่ายเงินเพื่อลูก ทำให้เด็กคนหนึ่งมีของเล่นมากกว่า 1 อย่าง จึงต้องการเพิ่มการเข้าถึงเด็กไทยให้มากขึ้น” มร.อัทสึชิ ฮาเนกาว่า ผู้จัดการทั่วไป ตลาดกำลังพัฒนา เอเชีย บริษัท เลโก้ กรุ๊ป จำกัด เล่าแผนยุทธศาสตร์ธุรกิจของ LEGO

Resize lego_10

3. มีโปรดักต์ไลน์หลากหลาย ภายใต้ชื่อธีมต่างๆ ครอบคลุมตั้งแต่เด็กเล็ก เด็กโต ไปจนถึงกลุ่มผู้ใหญ่ เช่น “DUPLO” สำหรับเด็กเล็กอายุ 1.5 – 4 ปี / “LEGO CITY” เป็นธีมหลักขายดีของ LEGO เจาะกลุ่มเด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป เหตุผลที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กผู้ชายเพราะ เป็นธีมที่มีประวัติยาวนาน และคอนเซ็ปต์ของธีมนี้ เป็นอาชีพในฝันของเด็กเช่น ตำรวจ, นักดับเพลิง

“LEGO IDEA” สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่ที่รักของเล่นตัวต่อนี้ เหตุผลที่ชื่อ IDEA เพราะคอนเซ็ปต์ของธีมนี้ ไอเดียสินค้ามาจากลูกค้า โดยหลังจาก LEGO ประกาศไปว่ากำลังจะผลิตสินค้าอะไร เพื่อเปิดให้ลูกค้าส่งไอเดียกันเข้ามา จากนั้นคัดเลือก แล้วนำมาพัฒนาเป็นสินค้าจริง วางจำหน่ายทั่วโลก / “LEGO Classic” ชิ้นส่วนตัวต่อหลายสี – หลายขนาด เป็นรุ่นนิยมในกลุ่มพ่อแม่ไทยมากที่สุด เพราะมองว่าทำให้ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนตัวต่อออกมาเป็นอะไรก็ได้ตามจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก

Resize lego_07

Resize lego_09

4. Brand Experience และ Brand Engagement อีกหัวใจสำคัญที่ทำให้ “LEGO” ยังครองใจพ่อแม่ ผู้ปกครอง และเด็ก คือ การสร้างประสบการณ์ และความผูกพันกับแบรนด์ ผ่านกลยุทธ์ต่างๆ เช่น ในช่องทาง “ดีพาร์ทเมนท์สโตร์” แผนกของเล่น จะมีพื้นที่ “Play Area” เต็มไปด้วยชิ้นส่วนตัวต่อ LEGO มากมาย ให้เด็กได้เล่นฟรีอย่างมีอิสระ เพื่อปลดปล่อยจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ถือเป็น Touch Point สำคัญของการสร้างประสบกาณ์ และความผูกพันในแบรนด์กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และเด็ก

รวมถึงการเปิด “LEGO Shop” ปัจจุบันมี 240 สาขาทั่วโลก ในจำนวนนี้อยู่ในเอเชีย 50 สาขา ความพิเศษของ “LEGO Shop” มีสินค้าครบทุกหมวด และสินค้าทุกสาขาทั่วโลกเหมือนกัน ล่าสุดเปิดสาขาแรกในไทย ที่สยามพารากอน โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง LEGO Group กับ DKSH

“การเปิด LEGO Shop ในไทยสาขาแรก เป็นก้าวสำคัญของ LEGO ในประเทศไทย เพราะช่วยให้แบรนด์มีความเข้มแข็งขึ้นในเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดที่ธุรกิจของ LEGO เติบโตอ่างรวดเร็ว เราคาดหวังว่าในช่วงปีแรกที่สาขาแรกนี้ จะมีลูกค้ากว่า 400,000 คนเข้ามาเยี่ยมชมร้าน แบ่งเป็น 60% คนไทย และ 40% คนต่างชาติ 

เนื่องด้วยกลยุทธ์การทำราคาของสินค้าชุด Exclusive ไม่ต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อหิ้วสินค้าเข้าประเทศ และสินค้าชุด Exclusive ยังวางในช่วงเวลาเดียวกับตลาดอเมริกา และยุโรป รวมทั้งยังปิดช่องว่างของตลาด Grey Market

สำหรับ LEGO Shop สาขาแรกตั้งเป้ายอดขายในปีแรกสำหรับสาขานี้ อยู่ที่กว่า 100 ล้านบาท และยังวางแผนเปิดสาขาใหม่ต่อเนื่อง ซึ่งประมาณการณ์ยอดขายในอีก 5 ปีข้างหน้า จะทำยอดขายกว่า 300 ล้านบาท”

Resize lego_02

5. ปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทั้งด้านสินค้า – การตลาด – ช่องทางจำหน่าย “LEGO Group” ให้ความสำคัญกับการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทั้งการพัฒนากลุ่มสินค้า ที่ผสานเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น “LEGO MINDSTORMS” เป็นชุดตัวต่อหุ่นยนต์ ที่ผู้เล่นต้องเขียนโปรแกรม และหลังจากออกรุ่นหุ่นยนต์ดิจิทัล เป็นที่ตอบรับจากผู้บริโภค จึงต้องการขยายฐานไปยังกลุ่มเด็ก ได้พัฒนาชุด “LEGO BOOST” เป็นชุดตัวต่อหุ่นยนต์ที่ผู้เล่นต้องเขียน coding เอง

ขณะเดียวกันในด้านการสื่อสาร และช่องทางจำหน่าย ขยายมายังแพลตฟอร์ม “ออนไลน์” เพราะเป็นช่องทางเชื่อมต่อพ่อแม่ และเด็กยุคนี้ ที่ใช้ชีวิตอยู่บนออนไลน์มากกว่า

httpv://www.youtube.com/watch?v=msR9uMztzZA&vl=en

Resize lego_06

 

ย้อนรอยกว่าจะมาเป็น “แบรนด์ของเล่น” ตำนานระดับโลกกว่า 80 ปี

 

จากกลยุทธ์ธุรกิจ “LEGO” ใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้าท่ามกลางการเกิดขึ้นของ “Technology Disruption” คราวนี้มาดูเส้นทางประวัติของ “ตัวต่อ” อายุกว่า 80 ปี และอีกไม่นาน “LEGO” กำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 9 ได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์ของเล่นที่มีอายุยาวนานมากที่สุดแบรนด์หนึ่ง ตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

และจากรายงาน “ของเล่นที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุด 25 อันดับ ประจำปี 2018” จัดทำโดย Brand Finance (Brand Finance Top 25 Most Valuable Toys Brands) ผลปรากฏ 5 อันดับแรกของปีนี้ คือ

อันดับ 1 “LEGO” จากเดนมาร์ก รักษาตำแหน่งแชมป์ไว้ได้ ด้วยมูลค่าแบรนด์ 7,751 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

อันดับ 2 “Bandai Namco” จากญี่ปุ่น มูลค่าแบรนด์ 1,038 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

อันดับ 3 “Fisher-Price” จากสหรัฐฯ มูลค่าแบรนด์ 812 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

อันดับ 4 “Barbie” จากสหรัฐฯ มูลค่าแบรนด์ 414 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

อันดับ 5 “Nerf” จากสหรัฐฯ มูลค่าแบรนด์ 368 ล้านเหรียญสหรัฐ

Resize Top 25 most valuable toys
Credit : Brand Finance

จุดเริ่มต้น LEGO ถือกำเนิดขึ้นในปี 1932 โดย “Ole Kirk Kristiansen” ช่างไม้ชาวเดนมาร์ก ที่เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในยุโรปเวลานั้น ทำให้ “Ole Kirk Kristiansen” หันเหจากอาชีพช่างไม้ สู่การเป็นผู้ผลิตสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น บันไดพับ, โต๊ะรีดผ้า, เก้าอี้นั่ง และของเล่นไม้ โดยกิจการตั้งอยู่ในเมืองบิลลุนด์ ประเทศเดนมาร์ก

ต่อมาในปี 1934 ได้ตั้งชื่อบริษัท และชื่อสินค้าว่า “LEGO” มาจากอักษร 2 ตัวแรกของภาษาเดนมาร์กคือ “leg godt” หมายถึง “play well” โดยกิจการแรกเริ่มก่อตั้ง มีพนักงานเพียง 6 – 7 คนเท่านั้น อีกทั้งลูกชายของ “Ole Kirk Kristiansen” คือ “Godtfred Kirk Christiansen” เริ่มทำงานและเรียนรู้กิจการของพ่อตั้งแต่อายุ 12 ปี

ปี 1935 ได้ผลิตของเล่น LEGO รุ่นแรกก่อนจะมาเป็นตัวต่ออย่างอย่างทุกวันนี้ คือ เป็ดไม้ LEGO หรือ “The LEGO Duck”

ปี 1949 เกิดจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของกิจการ ในช่วงเวลานั้น บริษัทสามารถผลิตของเล่นพลาสติก และของเล่นไม้ออกมาจำหน่ายได้มากถึง 200 ประเภท หนึ่งในนั้นคือตัวต่อชื่อ “Automatic Binding Bricks” ซึ่งเป็น “ต้นแบบ” ของตัวต่อ “LEGO” ในปัจจุบัน

Resize lego_18
Photo Credit : LEGO Group

ปี 1950 “Godtfred Kirk Christiansen” ในเวลานั้นมีอายุได้ 30 ปี ได้ขึ้นมาเป็น Junior Vice President และปีถัดมา กำลังการผลิตของเล่นทั้งหมดของบริษัท มากถึงครึ่งหนึ่งเป็น “ของเล่นทำจากพลาสติก”

ปี 1953 ตัวต่อ “Automatic Binding Bricks” ได้ชื่อใหม่ คือ “LEGO Mursten” หรือ “LEGO Bricks” ในกระบวนการผลิต มีการประทับตรา “LEGO” ลงบนตัวต่อทุกชิ้น และในวันที่ 1 พฤษภาคม 1954 ตราสินค้า “LEGO” ได้รับการจดทะเบียนการค้าในประเทศเดนมาร์ก

ในปีเดียวกันนี้เอง “Godtfred Kirk Christiansen” เดินทางไปอังกฤษ และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของเล่นที่นั่น ระหว่างทริปได้พบกับผู้จัดการแผนกของเด็กเล่นของห้างสรรพสินค้า Magasin du Nord พูดคุยถึงอุตสาหกรรมของเด็กเล่น จากการพูดคุยในครั้งนั้น ทำให้ “Godtfred Kirk Christiansen” พิจารณาของเล่นไม้ และพลาสติกของบริษัทกว่า 200 ชนิด แล้วเลือกตัวที่จะนำมาพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้น คือ “ตัวต่อ LEGO”

ด้วยแนวคิดที่ว่าตัวต่อพลาสติกเรียบง่าย ไม่ได้เด่นสะดุดตา แต่กลับช่วยสร้างจินตนาการให้กับเด็ก ที่สามารถนำไปต่อเป็นอะไรก็ได้ตามความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการของผู้เล่นแต่ละคน โดยเมื่อต่อเสร็จแล้ว ยังสามารถรื้อ และต่อใหม่ได้อีกเรื่อยๆ

จากแนวคิดดังกล่าว นำมาสู่การพัฒนา และเปิดตัว “LEGO System of Play” ในปี 1955 มี 28 ชุด พร้อมด้วยรถประเภทต่างๆ 8 คัน โดยให้ผู้เล่นออกแบบ “เมือง” ที่มีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เช่น บ้าน อาคารสูง ถนน สัญลักษณ์จราจร และยานพาหนะ ทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องผังเมือง และการจราจร

Resize LEGO System_in_Play_story
Photo Credit : LEGO Group

ปี 1957 ได้คิดค้นระบบเชื่อมต่อด้วย “Stud” และ “Tube” (LEGO stud-and-tube coupling system) นั่นคือ ทุกชิ้นส่วนของ “LEGO” สามารถต่อเข้ากันได้ด้วยด้านบนมีปุ่ม (Stud) และด้านล่างมีท่อยื่นออกมา (Tube)

ปี 1958 ได้จดสิทธิบัตรระบบ ในปี 1958 และในปีเดียวกันนี้ “Godtfred Kirk Christiansen” ในฐานะทายาทธุรกิจ ได้สืบทอดตำแหน่งแม่ทัพสูงสุดของบริษัทต่อจาก “Ole Kirk Kristiansen” ที่จากไป

Resize lego_19
Photo Credit : Twin Design / Shutterstock.com

 

เมื่อ “LEGO” เป็นมากกว่าชิ้นส่วนตัวต่อ

 

ปี 1968 ได้ขยายจากธุรกิจผลิตของเล่นชิ้นส่วนตัวต่อ ไปสู่การสร้างสวนสนุก “LEGOLAND” แห่งแรกที่เมืองบิลลุนด์ สามารถดึงดูดคนเข้าเยี่ยมชม 625,000 คนในช่วงฤดูกาลแรกที่เปิดให้บริการ ถึงปัจจุบันมี 9 แห่ง ใน 7 ประเทศ ที่เดนมาร์ก, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, เยอรมนี, ดูไบ, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2005 ธุรกิจ “LEGOLAND” ได้ขายให้กับ “Merlin Entertainment” ทำให้ไปอยู่ภายใต้การบริหารของ “Merlin Entertainment” (ปัจจุบัน “KIRKBI” เป็น Holding & Investment Company ของตระกูล “Kristiansen” ได้ถือหุ้นส่วนหนึ่งของ Merlin Entertainment)

การเปิดสวนสนุก “LEGOLAND” เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัน เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโลก LEGO ทั้งการได้สัมผัสประสบการณ์ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ (Creativity & Imagination) ซึ่งเป็นแก่นของแบรนด์ “LEGO” และได้มีส่วนร่วมกับแบรนด์

ผนวกกับการเดินหน้าขยายตลาดต่างประเทศต่อเนื่อง นี่จึงทำให้ธุรกิจ “LEGO” เติบใหญ่จนกลายเป็นอาณาจักร “LEGO Group”

Resize lego_20
Photo Credit : Lewis Tse Pui Lung / Shutterstock.com

ช่วงปี 1970s มีจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อธุรกิจ “LEGO” ถูกส่งต่อให้กับทายาทรุ่นที่ 3 “Kjeld Kirk Kristiansen” และในยุคนี้ได้สร้าง sub-brand “LEGO DUPLO” สำหรับเจาะกลุ่มเด็กเล็ก มีสัญลักษณ์โลโก้เป็นรูปกระต่าย และชิ้นส่วนตัวต่อมีขนาดใหญ่กว่า LEGO ออริจินัล เพื่อป้องกันเด็กเล็กหยิบจับเข้าปาก และตัวตัวที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เหมาะกับมือของเด็กเล็ก

ช่วงปี 1980s ได้เปิด “LEGO Education” สำหรับพัฒนาการเรียนรู้ในยุคศตวรรษที่ 21 ที่ต้องมี 4 ทักษะสำคัญ “STEM” ประกอบด้วย “Science, Technology, Engineering, Math พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับภาคการศึกษา ทั้งบุคลากรครู และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา

นอกจากนี้ยังได้จับมือกับค่ายผู้ผลิตภาพยนตร์ ทำ “LEGO Movie” ซึ่งในแต่ละครั้งที่หนังเข้าโรงฉาย ส่งผลดีให้ยอดขายตัวต่อ “LEGO” เติบโตควบคู่กัน

ถึงปัจจุบัน “LEGO Group” ทำตลาดมากกว่า 130 ประเทศทั่วโลก และมีการจ้างงานทั่วโลกกว่า 10,000 ตำแหน่ง โดยยังคงเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตชิ้นส่วนของเด็กเล่นชั้นนำระดับโลก

“เสน่ห์ของของเล่นแบบดั้งเดิม คือ เด็กสามารถเล่น Role Play ได้ ทำให้มีการสัมผัสทางกายภาพกับของเล่นจริง ส่งผลให้เกิด Physical Experience ซึ่งเป็นสิ่งที่ของเล่นดิจิทัลไม่มี”

Resize lego_05

 

Source : ประวัติ LEGO 1. LEGO Group  , 2. Thai Brick Club

Source : การใช้สมาร์ทโฟนในเด็ก 1. CNN  , 2. Common Sense Media

 


  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE