ทำไมคนไทยดูหนังโรงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลก?! เปิดยุทธวิธี “เมเจอร์ฯ – เอสเอฟ” ดึงคนไทยดูหนังโรง

  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  

major-sf

รู้หรือไม่… คนไทยดูหนังที่โรงภาพยนตร์ เพียงแค่ 0.78 เรื่องต่อคนต่อปี !! ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่อุตสาหกรรมบันเทิงขยายตัว อย่างเกาหลีใต้ อุตสาหกรรมบันเทิงสร้างชื่อและรายได้ให้กับประเทศ ทำให้คนที่นั่นเข้าโรงภาพยนตร์ดูหนังโดยเฉลี่ย 4 เรื่องต่อคนต่อปี หรือประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ เข้าโรงภาพยนตร์ดูหนังโดยเฉลี่ย 3 เรื่องต่อคนต่อปี (ข้อมูลจากเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์)

ข้อมูลดังกล่าวใกล้เคียงกับ “TDRI” จัดทำรายงาน “เศรษฐศาสตร์โรงหนัง” เผยว่า ในประเทศแถบเอเชีย พบว่าคนไทยดูหนังที่โรงภาพยนตร์เกือบน้อยที่สุดในภูมิภาคนี้ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.5 เรื่องต่อคนต่อปี เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น 1.5 เรื่องต่อคนต่อปี / มาเลเซีย 2.1 เรื่องต่อคนต่อปี / อินเดีย 2.5 เรื่องต่อคนต่อปี / เกาหลีใต้ 3.3 เรื่องต่อคนต่อปี / ฮ่องกง 3.4 เรื่องต่อคนต่อปี / สิงคโปร์ 4.3 เรื่องต่อคนต่อปี รวมไปถึงประเทศที่ผลิตและส่งออกหนังอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ดูหนังโดยเฉลี่ย 4.8 เรื่องต่อคนต่อปี

เจาะเหตุผลคนไทยดูหนังที่โรงภาพยนตร์น้อย ?!?

สาเหตุหลักที่ทำให้คนไทยดูหนังที่โรงภาพยนตร์น้อย เมื่อเทียบกับหลายประเทศในแถบเอเชีย มาจาก

– ที่ผ่านมา “โรงภาพยนตร์ในไทย” ยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองหลัก เช่น กรุงเทพฯ – ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ ยังไม่กระจายครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้โอกาสการเข้าถึงโรงภาพยนตร์ในไทยมีจำกัด

– คอนเทนต์ “ความบันเทิง” มีอยู่รอบตัวผู้บริโภค สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง ยิ่งเวลานี้แพลตฟอร์มการให้บริการดูซีรีย์-ภาพยนตร์บนออนไลน์รายใหญ่เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เช่น “Netflix” ซึ่งเป็น Streaming ยักษ์ใหญ่ของโลก และกลายเป็นแพลตฟอร์มทรงอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมบันเทิง และพฤติกรรมผู้บริโภคในสหรัฐฯ ถึงกับทำให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ – ผู้ผลิตหนังใน Hollywood ไม่อาจมองข้ามไปได้ และต้องหาทางรับมือ เพราะเข้ามา Disrupt ธุรกิจ และเปลี่ยนพฤติกรรมการรับชมความบันเทิงของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ไม่น้อย

แม้ธุรกิจ “Netflix” ในไทยอยู่ในสเต็ปเริ่มต้นของการสร้างฐานสมาชิก จึงไม่กระทบต่อธุรกิจโรงภาพยนตร์ในไทย โดยเฉพาะเวลาที่มีหนังฟอร์มยักษ์เข้ามา ผู้บริโภคยังคงอยากไปดูที่โรงภาพยนตร์มากกว่า เพื่อรับชมได้เต็มอรรถรส แต่ทว่าต้องจับตาดูในระยะยาว เพราะเมื่อฐานสมาชิก Nextflix มากถึงในระดับ Mass Scale สิ่งที่ตามมาคือ “การช่วงชิงเวลาของผู้บริโภค” ในการรับชมความบันเทิงจากสื่อประเภทต่างๆ

Resize Netflix_02 (Cr. Netflix)
Photo Credit : Netflix

– ปัญหาการดาวน์โหลดของเถื่อนบนอินเทอร์เน็ตที่ปล่อยออกมา ยังคงอยู่คู่กับสังคมไทย

– สถานการณ์ “หนังไทย” ไม่คึกคักเหมือนในอดีต ที่ผลิตปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 100 เรื่อง แต่ทุกวันนี้กลับลดจำนวนเหลือหลักสิบเรื่องเท่านั้น ซึ่งความสำคัญของ “หนังไทย” คือ Local Content ที่สามารถตอบโจทย์รสนิยม หรือถูกจริตคนไทยได้ดี ดังนั้นนอกจากการเพิ่มปริมาณแล้ว “คุณภาพ” ของหนังก็เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยที่จะดึงคนไทยเข้าโรงดูหนัง

เพราะฉะนั้น หัวใจของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ในไทยที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท ให้เติบโตมากกว่านี้ จึงอยู่ที่การกระตุ้นให้คนไทยมาโรงภาพยนตร์ เพื่อขยายตลาดให้ใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะคนที่ดูหนังที่โรงภาพยนตร์อยู่แล้ว เพิ่มความถี่ในการมาชม ไปพร้อมการสร้างพฤติกรรมการดูหนังให้กับคนไทย ผนวกกับการสร้างรากฐานธุรกิจให้แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มโรงภาพยนตร์, การพัฒนาเทคโนโลยีภาพ-แสง-เสียง และการตลาด รวมถึงการคัดสรรคอนเทนต์ที่ตอบความต้องการของลูกค้าแต่ละเซ็กเมนต์

นี่จึงเป็นความท้าทายของทั้ง “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” (Major Cineplex) และ “เอส เอฟ” (SF Cinema) สองผู้เล่นรายหลักในตลาด ที่ต้องงัด 5 ยุทธวิธีดึงคนไทยดูหนังที่โรงภาพยนตร์มากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มความถี่ในการมาดูหนังที่โรงภาพยนตร์ในกลุ่มผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมดูหนังโรงเป็นประจำอยู่แล้ว พร้อมไปกับการยกระดับความบันเทิงในโรงให้เหนือขึ้นไปกว่า Home Entertainment

Resize Paragon Cineplex
Photo Credit : Major Cineplex

“ผู้บริโภคแบ่งเป็นสองกลุ่มกว้างๆ คือ กลุ่มหนึ่งดูหนังที่โรงภาพยนตร์ กับอีกกลุ่มไม่ดูหนังโรงเลย ซึ่งโอกาสในการดึงคนที่ไม่ดูหนังที่โรงภาพยนตร์ ให้มาดูหนังที่โรง ยากกว่าการเพิ่มความถี่การมาโรงภาพยนตร์ของลูกค้าที่มีพฤติกรรมดูหนังอยู่แล้ว

เช่น จากเดิมความถี่ในการมาดูหนังที่โรงภาพยนตร์อยู่ที่ 1 ครั้งต่อเดือน กระตุ้นให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้มาดูหนังทุกอาทิตย์ หรือ 2 ครั้งต่อเดือน เพราะฉะนั้นการเพิ่มความถี่การดูหนังของลูกค้าเดิม ง่ายกว่าการสร้างฐานลูกค้าใหม่” คุณนิธิ พัฒนภักดี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจสื่อโฆษณา บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เล่าถึงโอกาสการเพิ่มฐานคนดูหนังโรง

ขยายโรงภาพยนตร์ จากเมืองหลัก สู่เมืองรอง

ปัจจุบันในประเทศไทยมีจำนวนโรงภาพยนตร์ประมาณ 1,100 โรง โดยหลักมาจากสองราย คือ

“เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ปัจจุบันมีโรงภาพยนตร์ในไทย 134 สาขา 703 โรงภาพยนตร์ รวมกว่า 160,000 ที่นั่ง (อีก 5 สาขา 25 โรง อยู่ในลาวและกัมพูชา) และตั้งเป้าขยายสาขาภายในสิ้นปีนี้ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ 800 สาขา

“เอส เอฟ” มี 57 สาขา 371 โรงภาพยนตร์ รวมกว่า 81,300 ที่นั่ง และปีนี้เปิดเพิ่มอีก 6 สาขา ขณะที่ภายใน 3 ปีข้างหน้า ตั้งเป้ามีโรงภาพยนตร์ 500 โรง

Resize SF Cinema_05

ยุทธศาสตร์ทั้ง “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” และ “เอส เอฟ” ยังคงเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง ทั้ง “เมืองหลัก” และกระจายการเปิดสาขาใน “เมืองรอง” มากขึ้น ตามการเปิดตัวศูนย์การค้า และไฮเปอร์มาร์เก็ตในจังหวัดรอง ซึ่งไฮเปอร์มาร์เก็ต ได้ปรับตัว ไม่เป็นแค่สถานที่ช้อปปิ้งสินค้าในชีวิตประจำวันเท่านั้น ยังเติมเต็ม Magnet ด้านไลฟ์สไตล์ต่างๆ ให้มีความครบวงจรมากขึ้น เพื่อสร้าง Traffic และรายได้จากพื้นที่เช่า โดยแม่เหล็กที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตอยากได้ หนึ่งในนั้นคือ “โรงภาพยนตร์” ด้วยการจัดสรรพื้นที่เช่าส่วนหนึ่ง สำหรับให้เป็นโซนโรงภาพยนตร์ และชักชวนค่ายใดค่ายหนึ่งไปลง 

อย่างเมื่อปีที่แล้ว “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” เปิดตัวโมเดลการขยายสาขาโรงภาพยนตร์ในระดับ “อำเภอ” ทั้งในจังหวัดใหญ่ และจังหวัดรอง ด้วยการไปกับพันธมิตรทั้งเทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี และโรบินสัน เช่น อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี, อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, อำเภอสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี, อำเภอศาลายา และ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม, อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

อำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร, อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก, อำเภอแกลง จังหวัดระยอง, อำเภอศรีมหาโพธิ์ จังหวัดปราจีนบุรี, อำเภอนาดี จังหวัดอุดรธานี, อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม, อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น, อำเภอหาดใหญ่ และ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา, อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช, อำเภอพิมาย และ อำเภอปักธงชัย จ.นครราชสีมา

Resize Major Cineplex สาขาสามแยกปักธงชัย_01

เช่นเดียวกับ “เอส เอฟ” มีแผนเปิด 6 สาขาในปีนี้ โดยผนึกไปกับศูนย์การค้า โดยในจำนวนนี้มี 5 สาขาที่อยู่ในต่างจังหวัด คือ เอส เอฟ ซีเนม่า สาขาท็อปส์ พลาซ่า พะเยา ที่เปิดไปแล้วเมื่อต้นปี และช่วงครึ่งปีหลังเตรียมเปิดที่โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ เซ็นเตอร์ ชลบุรี, บิ๊กซี สระแก้ว, บิ๊กซี สมุทรสงคราม, เทอร์มินอล 21 พัทยา และอีก 1 สาขาในกรุงเทพฯ ที่บิ๊กซี เพชรเกษม

ในต่างจังหวัด “ระบบสายหนัง” หรือ “ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์” ยังมีบทบาทต่อธุรกิจภาพยนตร์ และโรงภาพยนตร์ในไทย ซึ่งปัจจุบันสายหนัง แบ่งเป็น ภาคเหนือ มี “ธนารุ่งโรจน์” ดูแลภาคนี้ / ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วย 3 รายคือ “ไฟว์สตาร์เน็ทเวอร์ค” “Nevada” “เทียนทอง” / ภาคกลาง “ธนารุ่งโรจน์” / ภาคตะวันออก “เอส เอฟ” / ภาคใต้ “โคลีเซียมฟิล์ม”

Resize SF Cinema_02

“คอนเทนต์หนัง” พื้นฐานสำคัญ ชี้วัดคนจะมาดู-ไม่ดูหนังโรง

องค์ประกอบหลักสำคัญที่จะทำให้คนมาดูหนังที่โรงภาพยนตร์ หรือไม่มา อยู่ที่ “คอนเทนต์” นั่นคือภาพยนตร์ที่เข้าโรง เพราะถือเป็น “คุณค่าหลัก” ของธุรกิจภาพยนตร์ และโรงภาพยนตร์

ฉะนั้นช่วงไหนที่มีหนังฟอร์มใหญ่ จะเป็นแม่เหล็กชั้นดีที่กระตุ้นให้คนมาดูหนังที่โรงภาพยนตร์ เมื่อบวกกับพลังการตลาดที่โหมโรงทั้งก่อนหนังฉาย และระหว่างหนังฉาย ยิ่งสร้างกระแส Talk of the town ให้คนอยากมาดูที่โรงมากขึ้น

อย่างในปีนี้มี line up หนังแข็งแรงตั้งแต่ไตรมาสแรก เช่น Black Panther จากนั้นไตรมาส 2 มี Aventers Infinity War, Deadpool, น้อง.พี่.ที่รัก และล่าสุด Jurassic World ส่วนครึ่งปีหลัง ยังมีหนังฟอร์มใหญ่ทยอยออกมาต่อเนื่อง เช่น Ocean’s 8, Incredibles 2, Ant-Man and The Wasp, Mission Impossible 6, Bumblebee, Aquaman ที่จ่อคิวกวาดรายได้ให้กับธุรกิจภาพยนตร์

Resize Movie (Cr.SF)
Photo Credit : SF

สร้างประสบการณ์ “Movie Experience”

สิ่งหนึ่งที่ยังทำให้ไม่มีอะไรมาแทนที่การดูหนังที่โรงภาพยนตร์ได้ คือ การสร้าง “Movie Experience” ที่เกิดจากบรรยากาศภายในโรงภาพยนตร์, เทคโนโลยีหน้าจอ ความคมชัดของภาพ แสง สี เสียง ที่มาครบทุกมิติอย่างที่ “Home Entertainment” ไม่สามารถตอบโจทย์ได้

“นับตั้งแต่เกิดวิดีโอเทปครั้งแรก ที่ทำให้การดูหนังที่บ้านเกิดขึ้น และหลังจากนั้น Home Entertainment มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง จากวิดีโอเทป เป็นซีดี, ดีวีดี, บลูเรย์ จนมาถึงออนไลน์ (Streaming) ในปัจจุบัน แต่ถึงอย่างไรการดูภาพยนตร์ผ่านทางออนไลน์ ไม่ถือเป็นคู่แข่งของธุรกิจโรงภาพยนตร์ เพราะโรงภาพยนตร์ขายความเป็นไลฟ์สไตล์ ความเป็น Movie Experience” คุณสุวัฒน์ ทองร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อธิบายถึงความแตกต่างระหว่างการดูภาพยนตร์ที่บ้าน (Home Entertainment) กับโรงภาพยนตร์

นอกจากโรงภาพยนตร์ธรรมดาแล้ว สองค่ายโรงภาพยนตร์ยังได้พัฒนา “โรงภาพยนตร์ระบบพิเศษ” ในโลเกชั่นที่มีกำลังซื้อสูง เช่น ศูนย์การค้าย่าน CBD และเมืองท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศ 80% เป็นโรงธรรมดา และอีก 20% เป็นโรงระบบพิเศษ

Resize Paragon Cineplex_03
Photo Credit : Major Cineplex
Resize Major Bangkok Airways Blue Ribbon Screens
Photo Credit : Major Cineplex

เหตุผลสำคัญที่ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” และ “เอส เอฟ” พัฒนาโรงระบบพิเศษ เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง ที่ยอมจ่ายค่าตั๋วสูงขึ้น เพื่อให้ได้ประสบการณ์การชมภาพยนตร์ที่สมบูรณ์แบบ และการให้บริการที่พิเศษกว่าโรงธรรมดา ขณะเดียวกันเป็นการสะท้อนภาพลักษณ์แบรนด์ของทั้งสองค่าย ในด้านความล้ำหน้าของเทคโนโลยี

ล่าสุด “เอส เอฟ” เตรียมเปิดตัวโรงภาพยนตร์รูปแบบพิเศษ “Zigma CineStadium” จากก่อนหน้านี้มีให้บริการ First Class Cinema, Happiness Screen, MX4D ฯลฯ ไม่ต่างจากฝั่ง “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ที่พัฒนาโรงภาพยนตร์ระบบพิเศษเช่นกัน

นอกจากนี้การสร้างประสบการณ์ที่ดีในทีนี้ ต้องรวมถึง Customer Journey ตั้งแต่ขั้นตอนการซื้อตั๋ว ถ้าเป็นในอดีตผู้บริโภคต้องไปซื้อตั๋วที่เคาน์เตอร์ขายตั๋ว ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต เจ้าของโรงภาพยนตร์ก็ได้พัฒนาช่องทางการซื้อตั๋วผ่านระบบออนไลน์ เพื่อความสะดวก – รวดเร็ว และนอกจากบนออนไลน์แล้ว ขณะนี้ยังมีตู้ขายตั๋ว Kiosk ตั้งอยู่หน้าโรงภาพยนตร์ สำหรับบริการตัวเอง

Resize SF Kiosk_01
ตู้ Kiosk ที่โรงภาพยนตร์เอส เอฟ

สอดคล้องกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ Gen Y – Gen Millennials ซึ่งเป็น Core Target ของธุรกิจโรงภาพยนตร์ โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้ไม่ชอบความยุ่งยาก ชอบทำอะไรด้วยตัวเอง การมีจุดให้บริการตัวเอง จึงตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้

โดยเมื่อปีที่แล้ว “เอส เอฟ” ลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการขายบัตรชมภาพยนตร์ ผ่านระบบออนไลน์ และตู้ Kiosk เพราะเล็งเห็นแนวโน้มผู้บริโภคหันมาจองตั๋วผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น จากปี 2559 อยู่ที่ 7% ต่อมาปี 2560 เพิ่มขึ้นมาเป็น 15% และคาดว่าในปีนี้ยอดจำหน่ายตั๋วที่มาจากช่องทาง Non-box office (ออนไลน์ – ตู้ Kiosk) จะกระโดดไปที่ 30% ของยอดจำหน่ายตั๋วเอส เอฟตลอดทั้งปีนี้ที่ตั้งเป้าไว้ 20 ล้านใบ

Resize SF Cinema_04

“Price Strategy” ตั๋วราคาพิเศษ ดึงลูกค้า

“กลยุทธ์ราคา” เป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักของการทำตลาดโรงภาพยนตร์ ทั้งโปรโมชั่น “ตั๋วหนังลดราคา” ที่โรงภาพยนตร์ทำขึ้นเอง และแคมเปญโปรโมชั่นที่ทำร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ CRM แบรนด์พันธมิตรในการรักษาฐานลูกค้า

สำหรับกลยุทธ์ราคา ที่สองค่ายโรงภาพยนตร์ ทั้ง “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” และ “เอส เอฟ” พร้อมใจกันทำโปรโมชั่นราคา คือ “Movie Day” ดูหนังวันพุธ ราคาพิเศษ 100 บาท เนื่องจากช่วงกลางสัปดาห์ เป็นวันคนมาเดินศูนย์การค้า และมาดูหนังที่โรงภาพยนตร์น้อยอยู่แล้ว ดังนั้นเพื่อเพิ่ม Traffic ลูกค้าในวันพุธ จึงต้องใช้ “โปรโมชั่นราคา” มาเป็นแม่เหล็กดึงลูกค้า และยังเป็นกลยุทธ์ใช้ขยายฐานลูกค้า

ขณะเดียวกันทั้งสองผู้เล่น ยังได้จับมือกับพันธมิตรธุรกิจในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ร่วมกันทำแคมเปญโปรโมชั่นตั๋ว นำเสนอ “ตั๋วราคาพิเศษ” ให้กับลูกค้าของตนเอง เพื่อรักษาลูกค้ากลุ่ม Customer Loyalty และเป็นการสร้าง Value Added ให้กับแบรนด์นั้นๆ เช่น ทั้งเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ และ เอส เอฟ ต่างจับมือกับค่ายโอเปอเรเตอร์ ทำตั๋วราคาพิเศษให้กับลูกค้า หรือแม้แต่สินค้า FMCG และสินค้ากลุ่มอื่นๆ ทำส่วนลดค่าตั๋วหนัง

Resize Major Cineplex สาขาสามแยกปักธงชัย_02

สร้างฐาน “Customer Loyalty” ด้วยการทำ “Segmentation”

หนึ่งในวิธีรักษาฐานลูกค้าในระยะยาวของธุรกิจโรงภาพยนตร์ คือ การทำบัตรสมาชิก ซึ่งเป็น CRM สำหรับเก็บข้อมูล (Big Data) ลูกค้า และนำเสนอสิทธิพิเศษให้กับผู้ถือบัตร

โดยนับจากนี้ทั้ง “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” และ “เอส เอฟ” เริ่มนำคลังข้อมูลลูกค้าสมาชิกบัตร มาวิเคราะห์ เพื่อต่อไปจะได้สื่อสาร และนำเสนอโปรโมชั่น หรือสิทธิพิเศษได้แบบ Personalization เพื่อในระยะยาวฐานลูกค้าสมาชิกบัตร จะเป็น Customer Loyalty ที่ผูกพันกับเชนโรงภาพยนตร์ที่ตนเองใช้บริการบ่อย และมีโอกาสสูงในการเพิ่มความถี่การดูหนังที่โรงภาพยนตร์

ภายใต้การทำ CRM ผ่านบัตรสมาชิก ทั้งสองค่ายจะแบ่ง Segmentation ชัดเจน อย่างกรณีของ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” มีบัตร “M Generation” ประกอบด้วย M Gen IMAX สำหรับคนที่ชอบการชมภาพยนตร์โรง, M Gen Kids, M Gen Student, M Gen Freedom สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป, M Gen Regular สำหรับบุคคลทั่วไป และกลุ่มบัตร M Gen ระดับพรีเมียม ได้แก่ M Gen First Class, M Gen Platinum Class, M Gen Gold Class

ขณะที่ฝั่ง “เอส เอฟ” มีบัตรสมาชิก “SF Movie Club” ได้แก่ บัตร SF Movie Club Kids, Student, Generation หรือบุคคลทั่วไป และ SF Movie Club Senior สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป

Resize Major Cineplex_02

ทั้ง 5 กลยุทธ์นี้ ครอบคลุมตั้งแต่ “การขยายจำนวนโรงภาพยนตร์” รวมถึงให้ความสำคัญกับ “คอนเทนต์หนัง” ที่ต้องมาพร้อมกับการสื่อสารการตลาด เพื่อผลักดันให้เกิดการรับรู้ภาพยนตร์ที่เข้าโรงฉาย และ “ลงทุนด้านเทคโนโลยี – พัฒนาการให้บริการ” เพื่อสร้างประสบการณ์การดูหนังที่โรงภาพยนตร์ ตลอด Customer Journey ตั้งแต่การซื้อตั๋ว ไปจนถึงเข้าโรง

ขณะเดียวกันต้องใช้ “กลยุทธ์ราคา” เพื่อดึงคนมา และการรักษาฐานลูกค้าเดิม ด้วยการใช้ “บัตรสมาชิก” ที่จะทำให้ได้ Big Data นำมาประมวลผล และวิเคราะห์ สำหรับเจาะลึกพฤติกรรมการดูหนัง และความต้องการของลูกค้าแต่ละเซ็กเมนต์ แต่ละคนได้แม่นยำขึ้น เพื่อต่อไปจะได้นำเสนอสิทธิประโยชน์ และสื่อสารได้แบบรายบุคคล

Resize SF Cinema_03

Resize Paragon Cineplex_02

 


  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ