หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีอยู่เสมอคือ “วงการภาพยนตร์” ผ่านความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ สร้างความบันเทิงภายในบ้าน (Home Entertainment) มาสู่ยุค VCD, DVD กระทั่งปัจจุบันเข้าสู่ยุค “Streaming” ได้กลายเป็นช่องทาง mainstream การรับชมคอนเทนต์ความบันเทิงประเภทต่างๆ ไปแล้ว และเปลี่ยนพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์สามารถดูได้ทุกที่ ทุกเวลาตามที่ตัวเองสะดวก
เมื่อเป็นเช่นนี้ “วงการภาพยนตร์” ทั้งในมุมของธุรกิจโรงภาพยนตร์ และคนสร้างภาพยนตร์จะปรับตัวอย่างไร ?!? ไปฟังมุมมอง “คุณสุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), คุณนิ้ง – ภัทนะ จันทร์เจริญสุข โปรดิวเซอร์ซีรีส์ Hurts like Hell เจ็บเจียนตาย ฉายบน Netflix และ คุณเล็ก–คงเดช จาตุรันต์รัศมี ผู้กำกับและนักเขียนบท ผลงานล่าสุดคือ Faces of Anne
โรงหนังยกระดับ “Cinematic Experience” สร้างอรรถรสการรับชมที่แตกต่างจากจอทีวี
เมื่อเทคโนโลยี และไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นธุรกิจโรงภาพนยนตร์จึงต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โดย คุณสุวิทย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการตลาด SF Cinema ฉายภาพถึงการปรับตัว เพื่อให้โรงภาพยนตร์ยังสามารถสร้างอรรถรสการรับชม หรือที่เรียกว่า Cinematic Experience ที่สมบูรณ์แบบให้กับคนดู
ดังนั้นจึงต้องพัฒนาโรงให้ทันสมัย สะดวกสบาย และมีเทคโนโลยีใหม่ เพื่อดึงให้ผู้บริโภคยังคงมาโรงภาพยนตร์ เช่น
– สร้างโรงภาพยนตร์ระดับพรีเมียมขนาดใหญ่ (Premium Large Format) “ZIGMA CINISTADIUM” จัดเต็มเทคโนโลยีทั้งแสง สี เสียงของการฉายภาพยนตร์ พร้อมทั้งออกแบบที่นั่งให้นั่งสบาย
– สร้างโรงภาพยนตร์พรีเมียม สำหรับเจาะกลุ่มผู้ใหญ่ ที่อาจไม่สะดวกในการนั่ง ก็สามารถนอนดูได้
– จับมือกับพันธมิตรเครื่องนอน Omazz ทำโรงภาพยนตร์ The Bed Cinema by Omazz เปลี่ยนที่นั่ง เป็นเตียงปรับได้
นอกจากนี้ SF Cinema ไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่การฉายภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังได้นำโรงภาพยนตร์ และเทคโนโลยีทั้งจอขนาดใหญ่ – เทคโนโลยีเสียง มาต่อยอดเป็นสถานที่จัดอีเว้นท์ และถ่ายทอดสดคอนเสิร์ต – การแข่งขันกีฬา เพื่อทำให้โรงภาพยนตร์มีความน่าสนใจ และหลากหลายมากขึ้น เช่น
– ถ่ายทอดสดคอนเสิร์ต BTS จากที่เกาหลี มาฉายในโรงภาพยนตร์ SF
– ถ่ายทอดสดคอนเสิร์ต Coldplay
– ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอล The Match
“แพลตฟอร์ม Streaming” เอื้ออุตสาหกรรมภาพยนตร์
ทุกวันนี้แพลตฟอร์ม Streaming กลายมาเป็นอีกหนึ่งช่องทางการรับชมคอนเทนต์ความบันเทิงประเภทต่างๆ ทั้งหนัง ซีรีส์ รายการวาไรตี้ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งขยายตัวของ Streaming ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงคอนเทนต์หลากหลาย และสามารถเลือกเวลาและสถานที่ได้ตามที่ตัวเองสะดวก
ในมุมมองของ คุณภัทนะ โปรดิวเซอร์ซีรีส์ Hurts like Hell เจ็บเจียนตายที่ฉายบน Netflix แสดงความคิดเห็นว่า หลังจากที่มีบริการ Streaming เข้ามา หรือ OTT Platform ทำให้เป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตใหม่ๆ และนอกจากสร้างโอกาสที่มากขึ้นให้กับทีมผู้ผลิตแล้ว ยังทำให้คอนเทนต์ขึ้น ไม่ใช่แนวเดิม อย่างที่เห็นกัน
“เมื่อก่อนการผลิตหนัง อาจหวังกับการเข้าโรง และรายได้จากค่าตั๋วอย่างเดียว แต่พอมีแพลตฟอร์ม นอกจากรายได้จากค่าตั๋วแล้ว ก็ยังเพิ่มโอกาสที่มากขึ้นให้กับผู้ผลิต อย่างไรก็ตามการนำคอนเทนต์มาอยู่บนแพลตฟอร์ม Streaming เราไม่ได้แข่งเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่เรายังแข่งกับคนอเทนต์ต่างประเทศด้วย ซึ่งผู้ผลิตต้องยกระดับมาตรฐานคอนเทนต์เช่นกัน”
ทางด้าน คุณคงเดช ผู้กำกับและนักเขียนบท สะท้อนมุมมองว่า “ทั้ง Streaming และโรงหนัง เป็นระบบนิเวศที่เอื้อประโยชน์กันมากกว่า รวมทั้งเอื้อไปถึงคนดูด้วย เช่น หนังที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อฉายโรง ถ้าเรามองว่าเป็นการเอาสินค้าไปวางใน shelf หนึ่ง มีช่วงเวลาจำกัดประมาณหนึ่ง แต่ในที่สุดเราสามารถขยาย life cycle ของสินค้านั้นบน Streaming ได้ ขณะเดียวกันทำให้เกิดความหลากหลายมากขึ้นด้วย”
ค้นคำตอบ คนไทยยังดู “หนังไทย” หรือไม่ ?
ท่ามกลางการไหล่บ่าของข้อมูลข่าวสาร และยุคแห่งแพลตฟอร์ม (Platform Era) กำลังเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมหนังไทย ทั้งการดึงความสนใจของผู้บริโภค และด้านการแข่งขันที่ไม่จำกัดเฉพาะหนังด้วยกันเองอีกแล้ว แต่ยังต้องแข่งกับคอนเทนต์ประเภทต่างๆ อีกมากมายที่ต่างแย่งชิงเวลาของผู้คน
“ยุคนี้เป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร มีทุกอย่างอยู่บนอินเทอร์เน็ต ผู้บริโภครู้ว่าคอนเทนต์นี้ตรงเขาไหม ถูกกับเขาไหม ที่บอกว่าคนไทยไม่ดูหนังไทย ผมว่าไม่จริง เพียงแต่กระแสตอบรับจะต่างกัน และจะเห็นการทำหนังเจาะเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น ทำหนังเฉพาะกลุ่มภาคอีสานอย่างไทบ้าน ได้การตอบรับที่ดีจากคนดู หรือหนัง Mass อย่าง 4 Kings ประสบความสำเร็จอย่างสูง
ดังนั้นหนังไทยยังมีศักยภาพ และตลาดของหนังไทย ไม่ใช่แค่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังสามารถขายไปต่างประเทศ และประสบความสำเร็จมาแล้วหลายเรื่อง เช่น ล่าสุดบุพเพสันนิวาส นอกจากได้การตอบรับอย่างดีจากตลาดในประเทศแล้ว ยังประสบความสำเร็จที่เวียดนาม หรือเรื่องร่างทรง ประสบความสำเร็จมากที่อินโดนีเซีย นี่คือโอกาส ขอให้คนทำหนังไทย และหนังไทย ขอให้เราตั้งใจพัฒนาบทให้มีคุณภาพ รวมถึงการทำ production ให้ดี นี่คือสิ่งสำคัญ” คุณสุวิทย์ แสดงความคิดเห็นต่อทิศทางของอุตสาหกรรมหนังไทย
ขณะที่มุมมอง คุณคงเดช มองว่า หนังทุกเรื่องมีคนดู แต่คนสร้างหนังต้องพาไปฉายในที่ๆ เหมาะกับของหนัง เช่น หนังบางเรื่อง เหมาะกับไปตามเทศกาลหนังต่างๆ มีคนนั่งดูกันเต็ม ประกอบกับช่วงเวลานี้เป็นช่วงของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนดูไปดูผ่าน Streaming มากขึ้น
“หนังบางเรื่องรายได้จากการฉายโรงอาจไม่ดีนัก แต่เวลาไปฉายต่อที่ Streaming ได้การตอบรับดี อย่างไรก็ตามยังเชื่อเสมอว่า โรงภาพยนตร์เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (sanctuary) สำหรับการดูหนัง มอบประสบการณ์ที่ดีเสมอ แต่ก็เรียกร้องจากคนดูให้ต้องเดินทางมา และจะกด speed ก็ไม่ได้ ในขณะที่การดู Streaming ทุกอย่างอยู่ในมือของคนดู
เพราะฉะนั้นมองว่าเป็นเรื่องพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนดูมากกว่าที่ทุกวันนี้อำนาจอยู่ในมือของคนดู จะเปิดกี่โมงก็ได้ จะควบคุมความเร็ว ความช้าก็ได้ แต่แน่นอนว่าการดู Streaming จะไม่ได้ประสบการณ์อย่างที่คนทำหนัง
ต้องการให้จริงๆ เพราะในการสร้างหนัง ทั้งภาพและเสียง ถูกออกแบบเพื่อประสบการณ์แบบโรงภาพยนตร์ เมื่อไปฉายผ่านจอทีวี แน่นอนว่าคนดูได้ความสะดวก แต่คุณภาพของสีและระบบเสียงย่อมไม่ใช่แบบในโรงภาพยนตร์ และการนั่งดูที่บ้าน บางทีก็โดนรบกวนจากสิ่งรอบข้าง ซึ่งแตกต่างจากการดูในโรงภาพยนตร์
ส่วนเรื่องบทหนัง บทที่ดี คือ บทที่ถูกใจคนดู ดังนั้นถ้าจะพูดว่าแบบไหนบทดี – บทไม่ดี ขึ้นอยู่กับรสนิยมของคนดู หรือความต้องการของคนดู ถ้าถูกใจ เขาจะบอกว่าบทหนังเรื่องนั้นๆ ดี เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถเอาใจได้ทุกคน เราอาจเจอเพื่อนพูดว่าบทไม่ดี แต่ขณะเดียวกันก็มีคนที่สนุกกับหนังเรื่องนั้นๆ ความชอบของคน คละกันไปหมด”
ด้าน คุณภัทนะ แสดงความคิดเห็นว่า ด้วยความที่การรับข้อมูลข่าวสารทางอินเทอร์เน็ตเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และคนเราเสพข่าวสารมากขึ้น จึงมองว่าการทำหนัง Mass จะยากขึ้น ทำให้การทำหนัง ไม่ว่าจะเป็นหนังไทย หรือหนังต่างประเทศ จะต้องเจาะเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
“เงินทุน – การสนับสนุนจากภาครัฐ – ส่งเสริมสวัสดิภาพชีวิตคนทำงาน”
การผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้ไปสู่ระดับโลก ต้องมาจากการผนึกกำลังทั้งภาคเอกชน – ภาครัฐ และความพร้อมของงบประมาณ ตั้งแต่เงินทุนด้านการผลิต ไปจนถึงด้านการโปรโมท
“สิ่งที่คนทำหนังต้องการให้มีการสนับสนุนคือ เงินทุน เราอยู่ในอุตสาหกรรมนี้ และผลิตหนังด้วยงบประมาณที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาตลอดชีวิต คนทำหนังต่างประเทศมาเห็นวิธีการทำงานของคนไทยแล้วรู้สึก unbelievable รู้สึก amazing แม้สิ่งเหล่านี้จะสร้าง skill ให้กับคนทำหนังก็ตาม แต่จริงๆ มันไม่ดีเท่าไรในเชิงสวัสดิการ – สวัสดิภาพชีวิต เราอยากให้สวัสดิการชีวิตคนทำงานดีก่อน ถ้ามีชึวิตที่ดี จะทำให้มีแรงทำงานที่ดีออกมาได้
ส่วนการช่วยเหลือของภาครัฐ อยากให้เปลี่ยน attitude ก่อน เข้าใจ soft power อย่างถูกต้องก่อน หรือมองหนัง ไม่ใช่แค่มหรสพที่ต้องควบคุมเรทเท่าไร อันนี้จะส่งเสริมอะไรที่ไม่ดี แต่อยากให้มองหนังอย่างเข้าใจก่อน และรู้ว่าจะเข้ามาสนับสนุนในส่วนไหน จะด้านเงินทุน หรือด้าน connection หรือด้านอื่นๆ เข้ามาความช่วยอย่างถูกวิธี” คุณคงเดช กล่าว
สอดคล้องกับ คุณสุวิทย์ มองว่าหนังไทย คือ Soft Power ที่สำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจ ภาคเอกชน และคนทำหนังไทยมีศักยภาพสูง ถ้าได้ภาครัฐมาสนับสนุน และทำให้เป็นโปรเจคที่ทำได้จริง เหมือนเช่นที่เกาหลี ผลิตคอนเทนต์ เพื่อนำเสนอวัฒนธรรม
“วันนี้ภาคเอกชนทำดีที่สุดแล้ว ดังนั้น next step อยากให้ภาครัฐเข้ามาซัพพอร์ตอย่างเต็มที่ ทำอย่างจริงจัง เชื่อว่าหนังไทยไปได้แน่นอน”
Source: ข้อมูลจากเวทีเสวนา “What’s Next for Movie 4.0 ? อนาคตวงการภาพยนตร์ โลกคู่ขนาน โรงหนัง และโลกออนไลน์” ในงาน iCreator Conference 2022