เทียบฟอร์ม Luxury Outlet “สยามพิวรรธน์” – “เซ็นทรัล” เมื่อไทยมี Outlet หรูพร้อมกัน 2 ค่าย

  • 612
  •  
  •  
  •  
  •  

luxury-outlet

หนึ่งในเซ็กเมนต์ค้าปลีกสมัยใหม่ในไทย ที่ยังมี “ช่องว่าง” ของธุรกิจค้าปลีกในไทยอีกมหาศาล คือ “Outlet” ที่กล่าวเช่นนั้น เพราะถึงแม้เมืองไทยมี Outlet เปิดให้บริการอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ตามเมืองท่องเที่ยว เช่น หัวหิน พัทยา โดยมีวัตถุประสงค์สร้างขึ้นเพื่อให้แบรนด์สินค้ามาเช่าพื้นที่เปิดช้อป ใช้สำหรับเป็นช่องทาง “ระบายสินค้าตกรุ่น” หรือ “สินค้าค้างสต๊อค”

อย่างไรก็ตามด้วยโลเกชั่น และแบรนด์ที่มาเปิดช้อป ยังไม่มี Magnet Brand ที่ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคมากพอ อีกทั้งส่วนผสมภายใน Outlet ยังไม่มีองค์ประกอบที่ตอบโจทย์ “การพักผ่อน” ที่น่าสนใจ นี่จึงทำให้ค้าปลีกเซ็กเมนต์ “Outlet” ในไทย ยังไม่เป็น “Shopping Destination” ทั้งสำหรับคนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริง !!

แตกต่างจาก Outlet ในต่างประเทศ ที่เป็น Shopping Destination ทั้งของคนในประเทศนั้นๆ และนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ต้องเดินทางมาเยือน เพราะภายในเต็มไปด้วย International Brand โดยแบรนด์ระดับโลกหลายแบรนด์ พัฒนาสินค้ารุ่นที่จำหน่ายใน Outlet โดยเฉพาะ และสินค้าของ Local Brand

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามที่ตามมา “ประเทศไทย” จะมี World-class Outlet แบบเดียวกับในต่างประเทศได้หรือไม่ ?!? Resize 9 - SIHEUNG PREMIUM OUTLETS (KOREA) – 2

5 ปัจจัยดัน “Luxury Outlet” แจ้งเกิดในไทย

หากเป็นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คงเป็นไปได้ยากที่จะตั้ง World-class Outlet ที่เพียบพร้อมไปด้วยแบรนด์ระดับโลก และสามารถดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาเยือน แต่วันนี้ด้วยปัจจัยบวกรอบด้าน “ประเทศไทย” จึงมีความพร้อมที่จะมี “Luxury Outlet” เหมือนเช่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัจจัยที่ว่านี้คือ

– ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังเป็นที่หมายปองของกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมต่างๆ จากทั่วโลก และ “ประเทศไทย” คือ หนึ่งในจุดหมายปลายทางที่กลุ่มทุนใหญ่ต้องการมาลงทุน

– ประชากรในประเทศ 70 ล้านคน โดยในจำนวนนี้มีการเพิ่มขึ้นของกลุ่ม Middle Class และกลุ่ม Young Affluent ซึ่งเป็นกลุ่มกล้าใช้จ่าย และมีกำลังซื้อ แต่ถึงอย่างไรคนเราทุกคน ล้วนแล้วแต่ต้องการสินค้าคุณภาพ ในราคาคุ้มค่า นี่จึงทำให้ Outlet สามารถตอบโจทย์สินค้าคุณภาพ แบรนด์มีชื่อเสียง และราคาคุ้มค่า

– การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยเมื่อปีที่แล้วพุ่งขึ้นไปมากกว่า 35 ล้านคนที่เดินทางเข้าไทย และคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทย เติบโตโดยเฉลี่ย 15 – 20% ต่อปี

– ตลาดสินค้าแบรนด์หรูขยายตัวในไทย เนื่องจากมี Demand ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มคนเอเชีย และคนไทย ทำให้เทรนด์การเติบโตของกลุ่มคนรักสินค้าแบรนด์เนม มีแนวโน้มสูงขึ้นในเอเชีย

– พัฒนาการค้าปลีกสมัยใหม่ในไทย ขยับสู่ความเป็น “พรีเมียม” มากขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของ Urbanization ทำให้คนไทยเปิดรับเทรนด์จากต่างประเทศ ขณะเดียวกันแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ระดับโลกเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

จาก 5 ปัจจัยดังกล่าวเป็นแรงบวกที่ทำให้ Retail Developer สองค่าย “สยามพิวรรธน์” และ “ซีพีเอ็น” มองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่ประเทศไทยมีความพร้อมในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการค้าปลีกเซ็กเมนต์ “Luxury Outlet”

“การทำ Luxury Outlet ในประเทศใดประเทศหนึ่ง ต้องมี Luxury Brand เปิดร้านในระดับหนึ่งแล้ว สำหรับประเทศไทย ในอดีต Luxury Brand ที่เข้ามาในไทยเปิดร้าน 1 สาขา แต่ปัจจุบันเราจะเห็นว่า Luxury Brand ขยายการเปิดสาขามากขึ้น โดยบางแบรนด์มี 3 สาขา นั่นเท่ากับว่าขณะนี้ประเทศไทยมี Scale ถึงระดับหนึ่งแล้วที่จะสร้าง Luxury Outlet ในไทยได้” คุณชฏาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ ฉายภาพความพร้อมของไทยต่อการปั้น Luxury Outlet Mall Resize 6 - WOODBURY COMMON PREIMIUM OUTLETS (NEW YORK)

“สยามพิวรรธน์” ผนึก “SIMON GROUP” กลุ่มพัฒนาอสังหาฯ ค้าปลีกระดับโลก ลุยเปิด 3 โลเกชั่น

ตลอดระยะเวลา 60 ปีของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการค้าปลีกในไทย “สยามพิวรรธน์” สร้างโครงการในกรุงเทพฯ ยังไม่เคยออกสู่ต่างจังหวัด ในขณะที่ทิศทางการพัฒนาของเมืองไทย นับวัน “ความเป็นสังคมเมือง” (Urbanization) ขยายตัวออกไปยังจังหวัดต่างๆ มากขึ้น ทั้งเมืองหลัก และเมืองรอง

ด้วยเหตุนี้เอง “สยามพิวรรธน์” ต้องหาโมเดลค้าปลีกที่สามารถขยายไปยังต่างจังหวัดได้ โดยหนึ่งในเซ็กเมนต์ที่ “สยามพิวรรธน์” ต้องการต่อจิ๊กซอว์ของการเป็น Retail Developer ครบวงจร และใช้เป็นโมเดลขยายออกสู่ต่างจังหวัด คือ “Outlet”

“คุณพ่อ (พลเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์) เคยพาไป “WOODBURY PREMIUM OUTLETS” เมื่อกว่า 20 ปีก่อน แล้วท่านบอกว่าสักวันหนึ่งจะต่อยอดกลุ่มสยามพิวรรธน์ที่มีศูนย์การค้า ให้ขยายไปทำ Outlet ที่สมบูรณ์แบบในไทย เพื่อให้กลุ่มสยามพิวรรธน์เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการค้าปลีกที่ครบวงจร

หลังจากนั้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เรามองเห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมแล้วที่จะพัฒนา “Outlet” อย่างที่เราเห็นกันในต่างประเทศ เราจึงตัดสินใจจะทำ “Luxury Outlet Mall” ซึ่งการเปิดโครงการแต่ละครั้งของกลุ่มสยามพิวรรธน์ ไม่ได้เปิดศูนย์การค้าปีละแห่งทั่วประเทศ แต่ทุกโครงการที่เราทำ จะสร้างความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ระดับโลก

ขณะเดียวกันเราหลีกหนีการทำ Outlet Mall ในรูปแบบหมู่บ้าน ซึ่งเป็นโมเดล Outlet แบบเดิมๆ แต่เราต้องการ “สร้างเมือง” ที่ภายในประกอบด้วย Luxury Outlet และองค์ประกอบด้านอื่นๆ เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่นำเสนอประสบการณ์การใช้ชีวิต ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ขายสินค้า ซึ่งการนำเสนอประสบการณ์การพักผ่อน หรือการใช้ชีวิต สามารถสร้าง Customer Engagement หรือการดึงลูกค้าเขามามีส่วนร่วมกับโครงการ

ดังนั้นเราได้เริ่มคุยกับ “SIMON PROPERTY GROUP” เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกระดับโลก ที่มี Outlet 96 แห่งทั่วโลก (เช่น วู้ดเบอรี คอมมอน พรีเมี่ยม เอาท์เล็ตในนิวยอร์ก, เดซเซิร์ท ฮิลส์ พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต ใกล้ลอสแอนเจอลิส) ในจำนวน Outlet ที่มีอยู่ ตั้งอยู่ในเอเชีย 15 แห่ง คือ ญี่ปุ่น (9 แห่ง เช่น โกเท็มบะ พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต), เกาหลี (4 แห่ง เช่น ยอจู พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต) และมาเลเซีย (2 แห่ง เช่น ยะโฮร์ พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต) โดยเราใช้เวลาพูดคุยกัน 12 เดือน จนได้ข้อตกลงร่วมทุนตั้ง “บริษัท สยามพิวรรธน์ ไซม่อน จำกัด” ทุนจดทะเบียน 130 ล้านบาท” คุณชฏาทิพ เล่าที่มาของการสร้าง Luxury Outlet ของกลุ่มสยามพิวรรธน์ Resize Siam Piwat - Simon_02

วัตถุประสงค์ของการร่วมทุนครั้งนี้ เพื่อพัฒนา “Luxury Outlet” ในไทย โดยวาง Business Plan เตรียมเปิด 3 แห่ง ภายใน 3 ปี แห่งแรกในกรุงเทพฯ กำหนดเปิดให้บริการเดือนตุลาคม ปี 2562 จากนั้นจะขยายต่อไปที่ภาคเหนือ และภาคใต้ รวมมูลค่าการลงทุนทั้ง 3 โครงการ กว่า 10,000 ล้านบาท

“จุดเริ่มต้นของค้าปลีก Outlet เพื่อใช้เป็นสถานที่ระบายสินค้า กระทั่งเมื่อ “SIMON PROPERTY GROUP” พัฒนา Premium Outlet เราออกแบบด้วยแนวคิด “Adventure Shopping” ที่มีแบรนด์หรูหลายแบรนด์ ซึ่งตอบสนองด้านประสบการณ์ และอารมณ์ของลูกค้า ทำให้ใครๆ ก็อยากมาช้อปปิ้งที่ Outlet” คุณมาร์ค ซิลเวสทรี Executive Vice President, SIMON PROPERTY GROUP เล่าพัฒนาการของ Outlet

สำหรับ Luxury Outlet จากการร่วมทุนของสยามพิวรรธน์ – Simon Property Group แห่งแรกในกรุงเทพฯ อยู่บนที่ดิน 150 ไร่ พื้นที่เช่า 50,000 ตารางเมตร ภายในประกอบด้วย International Brand และ Local Brand มากกว่า 200 ร้านค้า ในขณะที่ส่วนลด อยู่ที่ 25 – 70% รวมทั้งเติมกิจกรรม และแม่เหล็กด้านความบันเทิงต่างๆ Resize 7 - GENTING HIGHLANDS PREMIUM OUTLETS (MALAYSIA) – 1

“จุดแข็งของ SIMON PROPERTY GROUP คือ ประสบการณ์ความชำนาญในการสร้าง Luxury Outlet และ Connection ที่ดีกับ Luxury Brand ในขณะที่เรามีจุดแข็งด้าน Local Brand ซึ่งการพัฒนาโครงการครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการทำศูนย์การค้า แต่เป็น “Luxury Outlet”

เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญของการทำ Luxury Outlet ไม่ใช่พึ่งพาแค่กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญต้องสามารถสร้าง Traffic คนมาโครงการทุกวัน ทั้งกลุ่มลูกค้าคนไทย ซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่หล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่ได้ กับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ดังนั้นโครงการต้องมีองค์ประกอบด้านการพักผ่อนครบวงจร ทั้ง Outlet, กิจกรรม – ความบันเทิง และร้านอาหาร ขณะเดียวกันต้องอยู่บนโลเกชั่นที่ทุกคนที่เข้า-ออกกรุงเทพฯ เห็นได้ชัดเจน” คุณชฏาทิพ สรุปทิ้งท้าย Resize 8 - SIHEUNG PREMIUM OUTLETS (KOREA) -1 Resize Siam Piwat - Simon

“เซ็นทรัล วิลเลจ” Luxury Outlet แรกของกลุ่มเซ็นทรัล

ในขณะที่ฝั่ง “เซ็นทรัลพัฒนา” หรือ “ซีพีเอ็น” ใจตรงกัน! มองเห็นโอกาสของตลาด Outlet ในไทย จึงทุ่มกว่า 5,000 ล้านบาท พัฒนาโครงการ “เซ็นทรัล วิลเลจ” (Central Village – Bangkok Outlet Experience) พื้นที่โครงการ 40,000 ตร.ม. บนที่ดิน 100 ไร่ ตั้งบนทำเลใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ คาดเปิดให้บริการไตรมาส 3 ปี 2562 โดยชูจุดเด่น 4 ด้าน คือ

หนึ่ง ความหลากหลายของ Luxury Brand ทั้งไทยและเทศระดับโลก รวมทั้งความหลากหลายของสินค้า ทั้งแฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ในครัว ของเล่น อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน กว่า 235 ร้าน

สอง ราคา ปัจจัยสำคัญของการช้อปปิ้ง Luxury Outlet ด้วยส่วนลด 35 – 70% ทุกวัน Print

สาม การให้บริการที่มุ่งเน้น Customer Centric มีบริการหลากหลายครบวงจรเทียบเท่าศูนย์การค้า รวมถึง facility ที่ครบครัน อาทิ ร้านอาหาร, จุดบริการนักท่องเที่ยว, playground, โรงแรม, และซูเปอร์มาร์เก็ต

สี่ ทำเลที่ตั้งใกล้สุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นสนามบินที่มีจำนวนผู้โดยสารมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกว่า 55 ล้านคนในปี 2560 และติด 1 ใน 10 อันดับของสนามบินที่มีจำนวนผู้โดยสารมากที่สุดในเอเชีย และในปี 2563 คาดการณ์ว่า ส่วนขยายของสนามบินจะทำให้รองรับผู้โดยสารได้เป็น 60 ล้านคนต่อปี

เมื่อ Retail Developers ยักษ์ใหญ่ทั้งสองราย ต่างพร้อมใจกันขยาย Business Portfolio ไปยังกลุ่ม “Luxury Outlet” จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการพลิกโฉมภาพลักษณ์ Outlet ในเมืองไทยจากที่เคยเป็นสถานที่เพื่อ “ระบายสินค้าตกรุ่น” ไปสู่การเป็น “Adventure Shopping” ที่ภายในเต็มไปด้วยร้านค้าแบรนด์เนมชั้นนำมากมาย ทำให้ลูกค้ารู้สึกสนุก – ตื่นเต้นไปกับการช้อปปิ้ง

ผนวกกับการใส่องค์ประกอบการใช้ชีวิตที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ด้านต่างๆ เช่น ความบันเทิง และร้านอาหาร จะยิ่งดึงดูดลูกค้าทั้งคนไทย และต่างชาติ ซึ่งในที่สุดแล้วจะผลักดันให้ไทยเป็น “Shopping Destination” สำคัญแห่งหนึ่งในเอเชีย และกระตุ้นให้ทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติช้อปปิ้งในไทยเพิ่มขึ้น

Resize Central Village_02

luxury outlet-01


  • 612
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE