หลังจาก “Starbucks ประเทศไทย” (สตาร์บัคส์) ดำเนินธุรกิจครบ 25 ปี ถือเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ธุรกิจร้านกาแฟในไทยให้เติบโตและขยายตัวมาถึงทุกวันนี้
ก้าวจากนี้ไปของ “Starbucks ประเทศไทย” ได้วาง “Roadmap 2030” ทั้งเดินหน้าขยายสาขา โดยวางเป้าหมายมี 800 สาขาภายในปี 2030 ครอบคลุมทั้งโมเดลสาขาทั่วไป, โมเดลร้านกาแฟชุมชน หรือ Starbucks Community Store, ร้านกาแฟสีเขียว หรือ Greener Store, โมเดล Drive-thru ตลอดจนการพัฒนาช่องทางดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับนโยบายความยั่งยืนทั้งด้านเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
เปิดสถิติ 25 ปี “Starbucks ประเทศไทย” ตลาดยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การเดินทาง 25 ปีของ Starbucks ประเทศไทย ได้สร้างรากฐานความแข็งแกร่งทางธุรกิจ และปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้คนในแต่ละยุคสมัย ตามดูสถิติน่าสนใจของ Starbucks ประเทศไทยกัน!
– เปิดสาขาแรกที่เซ็นทรัล ชิดลมเมื่อปี 1998 (ปัจจุบันสาขานี้ปิดบริการแล้ว) ถึงปัจจุบันมีกว่า 465 สาขา แบ่งเป็น
- รูปแบบทั่วไป 396 สาขา
- ร้าน Starbucks Reserve 13 สาขา
- รูปแบบ Drive-Thru 56 สาขา
เปิดครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เปิดทั้งโลเคชันในศูนย์การค้า, คอมมูนิตี้มอลล์, สนามบิน, สถานศึกษา, โรงพยาบาล ฯลฯ
– ในจำนวนสาขาทั้งหมดปัจจุบัน มี 50 สาขาที่ให้บริการขนมอบสดใหม่ และสาขา Cashless Store จำนวน 106 สาขา
– มีจำนวนร้าน Starbucks Community Store หรือร้านกาแฟเพื่อชุมชน 2 สาขา คือ สาขาหลังสวน และล่าสุด Starbucks Reserve Chao Phraya Riverfront ICONSIAM
– มีร้าน Starbucks Greener Store หรือร้านกาแฟสีเขียวในไทย 3 สาขา
– มีพาร์ทเนอร์ (พนักงาน) กว่า 4,300 คนที่ร่วมส่งมอบประสบการณ์ Starbucks ในทุกวัน
– พาร์ทเนอร์ที่ให้บริการร้านสาขา Starbucks ในไทย ปัจจุบันใส่ Apron หรือผ้ากันเปื้อน 3 สีคือ
- ผ้ากันเปื้อนสีเขียว สำหรับพาร์ทเนอร์ทั่วไปที่ผ่านการอบรมบาริสต้าตามหลักสูตร Starbucks
- ผ้ากันเปื้อนสีดำ สำหรับพาร์ทเนอร์ที่เป็น Coffee Master
- ผ้ากันเปื้อนสีน้ำตาล ใช้สำหรับพาร์ทเนอร์ ประจำสาขา Starbucks Reserve Chao Phraya Riverfront ICONSIAM
– Starbucks Reserve Chao Phraya Riverfront ICONSIAM (สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ เจ้าพระยา ริเวอร์ฟร้อนท์ ไอคอนสยาม) เป็น Flagship Store ที่ปัจจุบันมีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย เปิดให้บริการเมื่อปี 2021 ด้วยพื้นที่ทั้งหมดกว่า 1,260 ตารางเมตร รองรับลูกค้าได้ 350 ที่นั่ง แบ่งเป็นส่วน Indoor และ Outdoor รวมทั้งมีบาร์ ทีวาน่า (Teavana™ Bar) แห่งแรกของไทย สำหรับกลุ่มลูกค้าที่มองหาประสบการณ์การดื่มชาในคอนเซ็ปต์ใหม่
– Starbucks ประเทศไทย ให้บริการลูกค้ามากกว่า 800,000 คนในทุกสัปดาห์
– กาแฟม่วนใจ๋ เบลนด์ เป็นกาแฟไทยที่ Starbucks ร่วมกับองค์กรพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน (ITDF) เข้าไปให้ความรู้ด้านการเพาะปลูกกาแฟ จนผ่านหลักปฏิบัติ C.A.F.E. เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกร และได้ผลิตภัณฑ์กาแฟเอกลักษณ์ของไทย ถึงปัจจุบันกาแฟม่วนใจ๋ เบลนด์ จำหน่ายมาแล้ว 20 ปี
– Starbucks ประเทศไทยได้ออก Merchandise คอลเลคชันสำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะ หนึ่งในนั้นคือ ในปี 2018 Starbucks ต้องการทำของที่ระลึกงานหัตถกรรม เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 20 ปี Starbucks ประเทศไทย จึงได้ออกคอลเลคชั่นพิเศษ “แก้วเบญจรงค์” ผลิตโดยปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ จังหวัดสมุทรสงคราม ถึงวันนี้ในโอกาสครบรอบ 25 ปี ได้ออกแก้วเบญจรงค์รุ่นใหม่ ให้ได้สะสมกัน
– Starbucks ประเทศไทยถือเป็น Strategic Market ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
– สร้างความร่วมมือกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (Scholars of Sustenance – SOS) เพื่อรวบรวมอาหารที่ยังไม่ได้จำหน่ายจากร้าน Starbucks สาขาที่ร่วมรายการในกรุงเทพฯ หัวหิน เชียงใหม่ และภูเก็ต ส่งมอบให้กับชุมชนที่ต้องการ นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2022 ถึงปัจจุบัน อาหารกว่า 18,000 กิโลกรัมได้ถูกส่งต่อไปให้ชุมชนที่ขาดแคลน
ลุยเปิด 800 สาขาภายในปี 2030 ตอกย้ำความแข็งแกร่งการเป็น “Third Place”
ในขณะที่ทุกวันนี้ “ดิจิทัล” อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนก็ตาม และ Starbucks ประเทศไทยพัฒนาช่องทางดิจิทัล ทั้งแอปพลิเคชัน และเปิด Official Store ในแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส รวมทั้งสื่อสารผ่านโซเชียล มีเดีย แต่ Starbucks ยังคงให้ความสำคัญกับการขยายสาขาต่อเนื่อง
ตอกย้ำให้เห็นว่าสาขายังคงมีความสำคัญในฐานะเป็น “Third Place” สร้างประสบการณ์กาแฟ (Coffee Experience) ให้กับลูกค้า โดยเป้าหมายด้านสาขาของ Starbucks ประเทศไทยภายในปี 2023 จะมี 480 สาขา และตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 จะมีทั้งหมด 800 สาขาทั่วประเทศ โดยหนึ่งในโมเดลที่เน้นขยายมากขึ้นคือ Drive-thru เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และสร้างความสะดวกสบายมากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2030 จำนวนสาขา Drive-thru จะมีไม่ต่ำกว่า 100 สาขา
“เรามั่นใจการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ โดยเชื่อว่าตลาดกาแฟยังมีการขยายตัว และเรามีความพร้อมที่จะเติบโต ด้วยความสามารถในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า” คุณเนตรนภา ศรีสมัย กรรมการผู้จัดการ สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ฉายภาพถึงโอกาสธุรกิจในไทย
พลิกโฉม “Starbucks Reserve ICONSIAM” สู่การเป็น Community Store แห่งที่ 2 ในไทย
ล่าสุด “Starbucks ประเทศไทย” ได้ประกาศพลิกโฉม Starbucks Reserve Chao Phraya Riverfront ICONSIAM (สตาร์บัคส์ รีเสิร์ฟ เจ้าพระยา ริเวอร์ฟร้อนท์ ไอคอนสยาม) เป็น “ร้านกาแฟสตาร์บัคส์เพื่อชุมชน” หรือ “Starbuck Community Store” แห่งที่ 2 ในไทย ต่อจากสาขาหลังสวน ร้านกาแฟเพื่อชุมชนสาขาแรกในไทย
สำหรับ Starbucks Community Store เป็นโมเดลร้านที่สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้พาร์ทเนอร์ (พนักงาน) สามารถเป็นส่วนหนึ่งและมีส่วนร่วมกับชุมชนในรูปแบบเฉพาะ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละร้านสาขา และสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชนท้องถิ่น ผ่านรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบ “แบ่งปันรายได้” โดย 10 บาทจากการจำหน่ายกาแฟทุกแก้วจะได้รับการแบ่งปันอย่างเท่าเทียมกันให้แก่ 2 องค์กรที่ไมแสวงหาผลกำไร ได้แก่ มูลนิธิพัฒนาชาวเขาแบบผสมผสาน (Integrated Tribal Development Foundation – ITDF) และ มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (Scholars of Sustenance – SOS)
Starbucks ระดับโลกวางแผนเปิด Starbucks Community Store ให้ได้ 1,000 แห่งทั่วโลกภายในปี 2030 สำหรับในไทยตั้งเป้าว่าจะมี 8 สาขา โดยมีทั้งปรับสาขาเดิม และเปิดสาขาใหม่ให้เป็นรูปแบบร้านกาแฟเพื่อชุมชน
เตรียมขยาย “Starbucks Greener Store” ร้านกาแฟสีเขียว เพื่อความยั่งยืน
หนึ่งในนโยบายด้านความยั่งยืน Starbucks คือ ลดการปล่อยคาร์บอน น้ำเสีย และของเสีย โดยเริ่มจากการปฏิบัติตามแนวทาง “ร้านกาแฟสีเขียว” (Starbucks Greener Store)
แนวทางการดำเนินงานดังกล่าวนี้ Starbucks ได้พัฒนาร่วมกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wildlife Fund – WWF) ประกอบด้วยชุดมาตรฐานที่อิงตามผลการปฏิบัติงาน 25 ชุดที่ครอบคลุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหลากหลายด้าน เช่น ประสิทธิภาพพลังงาน การดูแลน้ำ และการแยกของเสีย ซึ่งได้รับการออกแบบมาเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่ร้านสาขาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง และสนับสนุนเป้าหมายปี 2030 ของ Starbucks ในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจากการผลิตหรือการให้บริการ (Carbon Footprint) พร้อมลดการใช้น้ำและของเสียลง 50%
ปัจจุบัน Starbucks ประเทศไทย ได้รับรองร้านกาแฟสีเขียวทั้งหมด 3 แห่งที่ดำเนินการโดยใช้ไฟฟ้าที่มีความสามารถในการตรวจสอบพลังงานที่แม่นยำ เพื่อระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management System – EMS) อย่างละเอียด ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลการใช้พลังงานแบบเรียลไทม์เพื่อรักษาประสิทธิภาพและประสิทธิผลการใช้พลังงานในระดับสูง ระบบนี้จะช่วยให้ร้านค้าสามารถระบุจุดการใช้พลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ พร้อมช่วยควบคุมและอนุรักษ์การใช้พลังงานต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ยังสนับสนุนทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นให้กับลูกค้าผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการบรรจุภัณฑ์สำหรับใช้ในร้าน (For-Here-Ware) และการรณรงค์การใช้ Reusable Cup โดยลูกค้าที่นำแก้วส่วนตัวมาซื้อเครื่องดื่มที่ร้านจะได้รับส่วนลด 10 บาท รวมถึงโครงการ Grounds for Your Garden ที่ลูกค้าสามารถรับถุงกากกาแฟไปบำรุงสวนที่บ้านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
โดย คุณเนตรนภา บอกว่าการได้รับรองร้านกาแฟสีเขียวในไทยปัจจุบัน 3 สาขา ถือเป็นก้าวแรกของการสร้างร้าน Starbucks Greener Store และเรามีแผนการเพิ่มจำนวนร้านกาแฟสีเขียวให้ได้มากที่สุด
ตามดูกิจกรรมครบรอบ 25 ปี เผยโฉมสินค้าคอลเลคชันพิเศษ
ในโอกาสครบรอบ 25 ปี Starbucks ประเทศไทย ได้จัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปีสำหรับลูกค้าสมาชิก Starbucks® Rewards จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 กรกฎาคม ณ สุราลัย ฮอลล์ ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม ชั้น 7
สมาชิก Starbucks® Rewards ที่มาร่วมงานจะได้เพลิดเพลินไปกับกิจกรรมพิเศษต่างๆ รวมถึงการชิมกาแฟสุดพิเศษอย่าง กาแฟ พรินซี เบลนด์ (Princi™ Blend), กาแฟรีเสิร์ฟ กาลาปากอส ลา ตอร์ตูกา (Reserve Galapagos La Tortuga) และของสะสมพิเศษที่มีจำหน่ายเฉพาะในงานเท่านั้น อาทิ Bling Cold Cup ในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี และสินค้าชุมชนท้องถิ่น ซึ่งประกอบไปด้วย คอลเลคชั่นเบญจรงค์ และกระเป๋าสานผักตบชวา สมาชิก Starbucks® Rewards ทุกท่านที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมโดยซื้อตั๋วเข้างานได้ที่ทางเข้างาน
“อนาคตไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการเติบโตทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการส่งต่อสิ่งดีๆ ให้แก่ครอบครัวและชุมชนชาวไร่กาแฟ การดูแลความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพาร์ทเนอร์ การรักษาสัมพันธภาพของผู้คนที่มีต่อกาแฟ การรังสรรค์กาแฟและเครื่องดื่มที่มีคุณภาพให้กับลูกค้า การส่งคืนสิ่งดีๆ มากกว่าสิ่งที่เราเคยได้รับให้กับผู้คนและโลก และการยกระดับชุมชนของเราผ่านการริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ต่อสังคม Starbucks ประเทศไทย พร้อมทำงานร่วมกับทุกคน ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ไปจนถึงพาร์ทเนอร์ ลูกค้า คู่ค้าทางธุรกิจ และชุมชนท้องถิ่นผ่านเครื่องดื่มทุกแก้ว ทุกบทสนทนา และกับทุกชุมชนท้องถิ่น” คุณเนตรนภา กล่าวปิดท้าย