ได้ข้อสรุป! กสทช.สั่ง BTS ย้ายช่องความถี่ เคลียร์ดราม่าคลื่นกวนระบบ ให้บริการเป็นปกติ 30 มิ.ย.

  • 117
  •  
  •  
  •  
  •  

1

หลังจากรถไฟฟ้า BTS เกิดปัญหาขัดข้องถี่ๆ ในช่วงนี้ ซึ่งทาง BTS ได้ออกมาชี้แจงว่าเกิดจากระบบอาณัติสัญญาณขัดข้อง และมีการเชื่อมโยงว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากการที่คลื่นความถี่ที่ใช้ในการควบคุมและเดินรถถูกรบกวน จากการให้บริการของ dtac ที่ใช้คลื่นความถี่ของ TOT นั้น (อ่านเพิ่มเติม ที่นี่) ล่าสุด วันนี้ กสทช. (สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ได้เชิญตัวแทนจาก 3 ฝ่าย คือ dtac, TOT,BTS เข้าหารือถึงประเด็นดังกล่าว และได้ข้อสรุปร่วมกัน ว่า…

เรียก 3 รายถก เคลียร์ปัญหา

โดย คุณฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหากรณีระบบรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวขัดข้องว่า “ปัจจุบันคลื่นที่ใช้งานกับ BTS คือคลื่น 2400  MHz ขึ้นไป ส่วน dtac และ TOT ใช้งานในย่านความถี่ 2310-2370 MHz จากรายละเอียดดังกล่าว สะท้อนว่าการใช้งานระหว่าง BTS กับ dtac และ TOT นั้นมีระยะห่างกัน 30 MHz ซึ่งหากพิจารณาในทางเทคนิคก็ไม่น่าจะส่งปัญหารบกวนสัญญาณระหว่างกันได้”

image1

แนะ BTS ย้ายคลื่นความถี่ คาดเสร็จสิ้นคืนวันที่ 29 มิ.ย.

สำหรับการใช้งานคลื่นความถี่ระบบโทรคมนาคมนั้น สามารถใช้งานได้โดยมีความห่างของคลื่นเพีง 2.5 MHz แต่กรณีดังกล่าวกลับมีการรบกวนสัญญาณกัน กสทช. จึงแนะนำให้ BTS ย้ายช่องความถี่สื่อสารไปใช้งานในช่อง 2480-2495 MHz โดยระหว่างการย้าย TOT จะปิดใช้งานคลื่น 2300 MHz ตามแนวรถไฟฟ้าชั่วคราวจนกว่า BTS จะเปลี่ยนอุปกรณ์เสร็จ ซึ่งได้ระบุว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนอุปกรณ์และช่วงการใช้งานคลื่นเสร็จสิ้นภายในกลางคืนของวันที่ 29 มิ.ย.นี้

“ที่ผ่านมาถึงแม้ TOT จะปิดการใช้งานบางสถานีตามแนวรถไฟฟ้าไปแล้วแต่ก็ยังมีการรบกวนอยู่ ถึงแม้จะลดลงแต่ประชาชนก็ยังใช้งานอยู่ ดังนั้น การแก้ปัญหาระยะยาวคือ BTS ต้องย้ายคลื่นความถี่ไปย่าน 2500 MHz มากที่สุด โดยใช้ช่วง 2480-2495 MHz”

ให้รอเช้า 30 มิ.ย. BTS ใช้ได้ปกติ

คุณสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTS อธิบายว่า BTS จะติดตั้งอุปกรณ์รับ-ส่งระบบอาณัติสัญญาณ ติดตั้งฟิลเตอร์และย้ายช่องความถี่ให้เสร็จภายในกลางดึกวันที่ 29 มิ.ย.2561 และเชื่อว่าเช้าวันที่ 30 มิ.ย.2561 การให้บริการจะเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม BTS ตระหนักว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนโดยจะพยายามแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด ส่วนมาตรการเยียวยาลูกค้านั้น อยู่ระหว่างหารือว่าจะช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนได้อย่างไรบ้าง สำหรับกำหนดการเดิมในการเปลี่ยนอุปกรณ์รับ-ส่งระบบอาณัติสัญญาณนั้น BTS มีแผนเปลี่ยนจาก motorola เป็น MOXA (ม็อกซ่า) และมีการติดตั้งฟิลเลอร์อยู่แล้วในเดือน ต.ค.นี้ แต่เนื่องจากต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา dtac ได้เปิดให้บริการ dtac TURBO ซึ่งบริษัทไม่คิดว่าจะมีผลกระทบเร็วขนาดนี้เนื่องจากยังไม่เคยพบผลกระทบเช่นนี้มาก่อน

TOT ทดลองปิดสถานีฐานแล้ว 20 สถานี มั่นใจไม่กระทบลูกค้า dtac ใช้งาน

เรื่องนี้ คุณรังสรรค์ จันทร์นฤกูล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย TOT ให้ความเห็นว่า การย้ายช่องสัญญาณและเปลี่ยนอุปกรณ์น่าจะทำให้การสื่อสารระบบอาณัติสัญญาณดีขึ้น ระหว่างนี้ TOT และ BTS จะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ผ่านมา TOT ได้ปิดสถานีฐานแล้ว 20 สถานี โดยหากต้องมีการปิดเพิ่มเติมก็จะต้องพิจารณาตามความเหมาะสมอีกครั้ง

“เรื่องนี้ไม่มีใครผิดหรือถูกเราต้องแก้ปัญหาร่วมกัน ทาง BTS ก็ไม่คิดว่า dtac จะเปิดให้บริการเร็ว เพราะ BTS ก็มีแผนในการติดตั้งระบบดังกล่าวอยู่แล้ว ส่วน TOT ก็ทดลองระบบมาเป็นปีแล้วว่าไม่กระทบ ส่วนการเยียวยาของ dtac ในฐานะคู่สัญญาที่ใช้คลื่น 2300 MHz นั้น ต้องให้ กสทช. พิจารณาอีกครั้งว่าต้องทำอย่างไรหากต้องปิดเป็นเวลานาน แต่หากปิดสถานีฐานเพียง 2 วัน ก็เข้าใจว่าจะไม่กระทบกับลูกค้า dtac เนื่องจากมีคลื่นความถี่อื่นรองรับได้”

เช่นเดียวกับ คุณนฤพล รัตนสมาหาร ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ dtac ที่กล่าวว่า dtac มีหน้าที่ทำตามที่ TOT เสนอมา ส่วนลูกค้าที่ใช้งานขณะนี้ยังมีจำนวนไม่มาก จึงคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการปิดสถานีฐานดังกล่าว


  • 117
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน
CLOSE
CLOSE