หลังจากรอคอยกันมาอย่างยาวนานกับการประมูลคลื่นความถี่ 5G ซึ่งหมายความว่า หลังเสร็จสิ้นการประมูลจะมีผู้ให้บริการถือครองใบอนุญาตในการใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการ 5G อย่างเป็นทางการ และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของไทยให้ทัดเทียมในระดับโลก ซึ่งจะมีการจัดประมูลขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ และคาดว่ากระบวนการในการดำเนินงานจะสิ้นสุดก่อนกรกฎาคม 2563
โดยการประมูล 5G ในครั้งนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดการประมูลแบ่งออกเป็น 4 ย่านความถี่ ซึ่งประกอบไปด้วยย่านความถี่ 700 MHz, 1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz (26000 MHz) ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจยื่นซองประมูล รวมถึงการรับรองเพื่อเข้าร่วมประประมูล
Big Name ร่วมลงศึกประมูล 5G
จากผลในการยื่นซองประมูลพบว่า คลื่นความถี่ 700 MHz และคลื่นความถี่ 2600 MHz มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย ประกอบไปด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทลูกของ AIS, บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) บริษัทลูดของ true และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT
ขณะที่คลื่นความถี่ 26 GHz มีผู้เข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 4 ราย ประกอบไปด้วย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทลูกของ AIS, บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) บริษัทลูดของ true, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) บริษัทลูกของ DTAC และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ส่วนคลื่น 1800 MHz ไม่มีรายใดยื่นประมูล
รายละเอียดการประมูล 5G
สำหรับคลื่นความถี่ 700 MHz จะมีการประมูลทั้งสิ้นจำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 440 ล้านบาท ส่วนคลื่นความถี่ 1800 MHz จะมีการประมูลทั้งสิ้นจำนวน 7 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 25 ล้านบาท แถมผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 40% ของประชากร ภายใน 4 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรภายใน 8 ปี
คลื่นความถี่ 2600 MHz จะมีการประมูลทั้งสิ้นจำนวน 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 93 ล้านบาท โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรใน Smart City ภายใน 4 ปี
และคลื่นความถี่ 26 GHz (26000 MHz) จะมีการประมูลทั้งสิ้นจำนวน 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 MHz ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 22 ล้านบาท โดยต้องชำระเงินงวดเดียวภายใน 1 ปีหลังจากการประมูล
วิเคราะห์กลยุทธ์การประมูล 5G
เมื่อดูจากสถานการณ์การประมูลแล้วเห็นชัดว่า คลื่นความถี่ 700 MHz และ 2600 MHz เป็นคลื่นความถี่ที่ผู้ให้บริการเล็งเห็นแล้วว่ามีศักยภาพในการให้บริการ ทั้งคลื่นความถี่ต่ำที่จะช่วยให้กระจายสัญญาณได้ครอบคลุม ขณะที่คลื่ยความถี่สูงจะช่วยให้ Capacity ในการใช้งานอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะการรับส่งข้อมูลทำได้รวดเร็วมากขึ้น มีความหน่วง (Latency) ต่ำ
ซึ่งการที่ DTAC หนึ่งในผู้ให้บริการรายใหญ่ไม่เข้าร่วมประมูล ทำให้หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า DTAC กำลังมีปัญหาภายในองค์กร โดยเฉพาะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านผู้บริหารคนใหม่ ขณะที่การประมูลทั้ง 2 คลื่นความถี่นี้จะได้เห็นการแย่งชิงของ 2 เจ้าใหญ่อย่าง AIS และ true ที่ลึกๆ แล้วไม่ค่อยกินเส้นกันเท่าไหร่ ด้วยเหตุผลหลายประการ
การประมูลครั้งนี้จึงเป็นการแย่งชิงฐานลูกค้าของทั้ง 2 ค่าย เพราะใครที่ได้ใบอนุญาตมากกว่าจะสามารถให้บริการที่มีประสิทธิภาพกว่า และหมายถึงจำนวนลูกค้าที่จะหลั่งไหลเข้ามาใช้บริการโดยเฉพาะในกลุ่ม “ย้ายค่าย” แน่นอนว่าอีกหนึ่งตัวแปรที่สำคัญคือ CAT เพราะผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า CAT น่าจะเป็นผู้เรียกราคาประมูลให้สูงขึ้นได้ ซึ่งจะหมายถึงต้นทุนที่ค่ายใหญ่ต้องแบกรับ อย่างไรเสีย CAT ก็ต้องระวังประวัติศาสตร์ JAS จะกลับมาซ้ำรอยด้วยเช่นกัน
ขณะที่คลื่นความถี่ 1800 MHz เป็นคลื่นที่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่มีการถือครองอยู่ในปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้งาน จึงไม่มีใครลงประมูลเพื่อสร้างต้นทุนที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้น ในณะที่คลื่นความถี่ 26 GHz กลายเป็นคลื่นความถี่ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด โดย 3 ค่ายใหญ่พร้อมลงศึกประมูลกับอีกหนึ่งองค์กรอย่าง TOT นั่นทำให้คาดได้ว่า นี่คือการเตรียมความพร้อมในอนาคต เพราะคลื่นความถี่สูงระดับ GHz จะช่วยให้มี Capacity ความเร็วอินเตอร์เน็ตสูงมากขึ้นตามไปด้วย
เช่นเดียวกันการประมูลคลื่นความถี่ 26 GHz จะเป็นการแข่งขันที่ดุเดือด เพราะงานนี้จะเข้าค่ายศึก 3 ก๊กที่ต้องลุ้นกันว่า ใครจะถูกรุม? โดยมี TOT เป็นตัวเดินเกมให้การแข่งขันสูงขึ้น และอย่างที่ทราบว่า DTAC ลงประมูลเฉพาะคลื่นความถี่ 26 GHz เท่านั้นจึงชี้ให้เห็นว่า งานนี้ DTAC ทุ่มสุดตัวเพื่อคว้าใบอนุญาตนี้มาครองให้ได้มากที่สุด เพราะหากคว้าไม่ได้หรือได้น้อยจนไม่มีศักยภาพ ภาพลักษณ์ของ DTAC ก็จะสูญเสียไปเหมือนเมื่อครั้งประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ผ่านมา
งานนี้บอกเลยว่า คนแพ้การประมูลอาจไม่ใช่คนที่แพ้ราบคาบแบบไม่มีใบอนุญาตติดมือเหมือนที่ผ่านมา แต่คนที่แพ้อาจจะเป็นคนที่ได้ใบอนุญาตที่สามารถมาให้บริการได้ค่อนข้างจำกัด ซึ่งก็ต้องมาวางกลยุทธ์แผนการตลาดการให้บริการ 5G กันใหม่ และอาจต้แงใช้คลื่นความถี่เดอมในมือมาแปลงเป็นคลื่นความถี่สำหรับ 5G
Database คลื่นความถี่ 3 ค่ายใหญ่
ปัจจุบัน AIS ถือครองใบอนุญาตคลื่นความถี่จำนวน 4 คลื่นด้วยกัน ประกอบไปด้วยคลื่นความถี่ 700 MHz จำนวน 20 MHz, คลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 20 MHz, คลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 40 MHz และคลื่นความถี่ 2100 MHz จำนวน 60 MHz
ส่วน true ถือครองใบอนุญาตคลื่นความถี่จำนวน 5 คลื่นด้วยกัน ประกอบไปด้วย คลื่นความถี่ 700 MHz จำนวน 20 MHz, คลื่นความถี่ 850 MHz จำนวน 30 MHz, คลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 20 MHz, คลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 30 MHz และคลื่นความถี่ 2100 MHz จำนวน 30 MHz
ขณะที่ DTAC ถือครองใบอนุญาตคลื่นความถี่จำนวน 4 คลื่นและอีกหนึ่งความร่วมมือ ประกอบไปด้วย คลื่นความถี่ 700 MHz จำนวน 20 MHz, คลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 10 MHz, คลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 10 MHz และคลื่นความถี่ 2100 MHz จำนวน 30 MHz กับความร่วมมือในการใช้คลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวน 60 MHz