“TikTok” ถอดรหัส “Shoppertainment” โมเดลการค้าผ่านความบันเทิง ดันแบรนด์สร้างยอดขายสุดปัง!

  • 2.8K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ในช่วงกว่า 10 ปีนี้ “Commerce Landscape” โดยเฉพาะการค้าออนไลน์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากในอดีตแบรนด์ หรือแพลตฟอร์มมุ่งตอบโจทย์ “Functional Value” เป็นหลัก นั่นคือ นำเสนอสินค้าในราคาคุ้มค่า สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคด้วยระบบชำระค่าสินค้าที่ปลอดภัย และการจัดส่งที่แม่นยำ – รวดเร็ว

ขณะที่ปัจจุบันการนำเสนอแต่ Functional Value ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้วสำหรับแบรนด์ที่ต้องการสร้าง Engagement กับผู้บริโภค และสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจมากขึ้น นั่นเพราะผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ชอบที่จะได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ และอยากได้ประสบการณ์สนุก – ตื่นเต้น – แปลกใหม่ มากกว่าซื้อ แล้วก็จบ

นี่จึงทำให้แนวคิด “Shoppertainment” (Entertainment + Commerce) หรือการค้าผ่านความบันเทิงที่ใช้ “Emotional Connection” หรือ “การเชื่อมโยงทางอารมณ์กับผู้บริโภค ด้วยคอนเทนต์ความบันเทิง-ให้ความรู้/คำแนะนำ ผสานเข้ากับการช้อปปิ้ง เพื่อสร้างประสบการณ์ผู้บริโภคมากไปกว่าการมอบคุณค่าพื้นฐานทั่วไป กำลังเป็นเทรนด์มาแรงที่จะพลิกโฉม Commerce Landscape ในเอเชียแปซิฟิก และประเทศไทย

โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าการค้ารูปแบบ Shoppertainment ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะแตะ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และในไทยจะพุ่งทะยานถึง 12.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2025

ด้วยเทรนด์ “Shoppertainment” ที่มีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ “TikTok” แพลตฟอร์ม Entertainment รูปแบบวิดีโอสั้น จึงได้จับมือกับ “Boston Consulting Group” (BCG) จัดทำรายงาน “Shoppertainment: APAC’s Trillion-Dollar Opportunity”

สำรวจและวิจัยกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคกว่า 2,000 คน พร้อมทั้งพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญกว่า 20 คน และรวบรวมผลวิจัยเกี่ยวกับผู้บริโภคต่างๆ มากกว่า 45 ชิ้นทั่วเอเชียแปซิฟิค และในไทย เพื่อสำรวจ Consumer Insights และแนวโน้ม Shoppertainment ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับแบรนด์ หรือนักการตลาดเข้าใจผู้บริโภค และโลกการค้าที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ยุค “การค้าผ่านความบันเทิง”  

 

 

เจาะลึก Insights ผู้บริโภค ชี้เบื่อโฆษณาที่ยัดเยียดแบรนด์ – เนื้อหาจนเกินไป!

ในรายงาน “Shoppertainment: APAC’s Trillion-Dollar Opportunity” พบ 4 Insights ของผู้บริโภคที่บ่งชี้ว่าประสบการณ์ออนไลน์ของผู้บริโภคกำลังถึงจุด “อิ่มตัว” แล้วในแง่ของการโฆษณา

  1. ยิ่งผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น – มีช่องทางการซื้อมากขึ้น ย่อมส่งผลให้ความสนใจ และการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคช้าลง

– 85% ของผู้บริโภคบอกว่ามีการสลับการใช้แอปพลิเคชันไปมา

– 46% ของผู้บริโภคบอกว่าจะตัดสินใจซื้อในวันอื่น

– 90% กดข้ามโฆษณา

 

 

  1. โฆษณาที่ยัดเยียดความเป็นแบรนด์มากเกินไป ทำให้ผู้บริโภคไม่ซื้อแบรนด์ๆ นั้น

ผู้บริโภคบอกว่าเวลาเห็นโฆษณา ในบางครั้งทำให้หมดความสนใจในแบรนด์ และเปลี่ยนใจไม่ซื้อสินค้าไปเลย เพราะรู้สึกว่าเนื้อหาโฆษณายัดเยียดความเป็นแบรนด์มากเกินไป ดูไม่จริงใจ และรู้สึกเข้าไม่ถึงในสิ่งที่แบรนด์สื่อสาร จึงเลือกที่จะ “กดข้าม” โฆษณา และตัดสินใจไม่ซื้อแบรนด์นั้นๆ

– 48% ของผู้บริโภคมองว่าโฆษณาเกินจริง

– 38% โฆษณาดูตั้งใจให้มีความสมบูรณ์แบบจนเกินไป

– 31% ผู้บริโภครู้สึกเบื่อโฆษณา

– 23% โฆษณาทำให้อารมณ์ที่กำลังเพลิดเพลินสะดุด

 

 

  1. คอนเทนต์ที่ “สนุก” สามารถเปลี่ยนจากผู้บริโภค เป็น “ลูกค้า” ได้

หากแบรนด์นำเสนอคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาความบันเทิง จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคสนใจแบรนด์ และสินค้ามากขึ้น ไม่ว่าการเข้ามาดูคอนเทนต์นั้น จะตั้งใจซื้อสินค้า หรือไม่ได้ตั้งใจจะซื้อก็ตาม หรือเข้ามาเพื่อดูครีเอเตอร์ แต่ถ้าคอนเทนต์ความบันเทิงนั้น โดนใจผู้บริโภค ก็สามารถเปลี่ยนใจให้ซื้อสินค้าในที่สุด และกลายเป็นลูกค้าของแบรนด์

กลุ่มตัวอย่างจากการสำรวจครั้งนี้บอกว่า “ฉันซื้อสินค้าบางอย่าง หลังจากดูโฆษณาบน TikTok แล้วสนุกมาก”

หรืออีกหนึ่งความคิดเห็นเล่าว่า “ตนเองชอบดูคอนเทนต์ของ TikToker และเห็นว่ากำลังพูดถึงโทนเนอร์ สุดท้ายฉันก็จบลงด้วยการซื้อโทนเนอร์นั้น”

 

 

  1. ผู้บริโภคต้องการแบรนด์ที่สร้าง Emotional Connection หรือการเชื่อมโยงทางอารมณ์ความรู้สึกระหว่างแบรนด์ กับผู้บริโภค

แบรนด์สามารถสร้าง Emotional Connection กับผู้บริโภคได้หลากหลายวิธี เช่น เล่าเรื่องราวของแบรนด์,​ ให้ความรู้ – คำแนะนำดีๆ หรือสร้างแรงบันดาลใจบางอย่าง หรือคอนเทนต์ที่สร้างความบันเทิง – ความสุข

การซื้อขายทุกวันนี้เปลี่ยนจาก “Online Commerce” อีคอมเมิร์ซแบบเดิมที่ตอบโจทย์ “Functional Value” หรือคุณค่าการใช้งานทั่วไป เช่น ความคุ้มค่าคุ้มราคา,​ ความสะดวก, ระบบชำระเงินปลอดภัย ไปสู่รูปแบบ “Social Commerce” การซื้อขายออนไลน์ที่ผู้ขาย – ผู้ซื้อมีปฏิสัมพันธ์ (Social Interaction) ผ่านแอปพลิเคชัน Messaging และแพลตฟอร์ม Social Media ต่างๆ ประกอบด้วยบทสนทนาทางแชทระหว่างผู้ขาย กับผู้ซื้อ, การแนะนำ หรือรีวิว, เทรนด์ และคอมมูนิตี้

ทว่าทั้ง Online Commerce และ Social Commerce ยังคงมุ่งเน้นการนำเสนอด้าน Functional Value เป็นหลัก แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้ ด้วยบริบทของการแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะสงครามราคาและโปรโมชั่น แบรนด์ไม่อาจสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และไม่สามารถครองใจผู้บริโภคได้ในระยะยาว ขณะที่ผู้บริโภคมีทางเลือกหลากหลาย และมี Demand ที่ซับซ้อนขึ้น

ดังนั้นแบรนด์จะสร้างความแตกต่าง และดึงความสนใจของผู้บริโภคท่ามกลางตัวเลือกที่มีอยู่มากมาย จนนำไปสู่การปิดการขาย และบอกต่อ แบรนด์ต้องสร้างประสบการณ์ที่ beyond ไปมากกว่านั้น นั่นคือ การนำเสนอ “Emotional Value” หรือ “คุณค่าทางอารมณ์” ให้กับผู้บริโภค

การจะส่งมอบคุณค่าทางอารมณ์ได้นั้น แบรนด์ต้องสร้าง “Emotional Connection” กับผู้บริโภค นั่นคือ การเชื่อมโยงทางอารมณ์ความรู้สึก หรือสร้างความผูกพัน (Emotional Bonding) ระหว่างแบรนด์ กับผู้บริโภค

นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมการนำเสนอเฉพาะด้าน Functional ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว แต่ต้องผสานกับ Emotional Connection หัวใจสำคัญของการสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ สร้างความผูกพันและเชื่อมโยงผู้บริโภค แสดงให้เห็นว่าพัฒนาการของการค้าในปัจจุบันกำลังทรานส์ฟอร์มสู่ยุคใหม่ นั่นคือ “Shoppertainment”

 

 

ทำความรู้จัก “Shoppertainment” คาดมูลค่าตลาด 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในเอเชีย – จับตาไทยทะลุ 12.4 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2025

คำจำกัดความของ “Shoppertainment” คือ การซื้อขายที่ขับเคลื่อนด้วยเนื้อหา (Content-driven Commerce) ที่ผสานการสร้างความบันเทิง และให้ความรู้กับผู้บริโภคระหว่าง Content, Culture, Commerce อย่างไร้รอยต่อ เพื่อส่งมอบประสบการณ์การช้อปปิ้งที่สร้างความสนุกและความประทับใจให้กับผู้บริโภค ทำให้แบรนด์สามารถมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคตลอดการซื้อขาย โดยไม่ต้องนำเสนอการขายมากเกินไป

BCG คาดการณ์ว่ามูลค่าการค้ารูปแบบ “Shoppertainment” ในเอเชียแปซิฟิกเติบโตโดยเฉลี่ย 23% ต่อปี 

– ปี 2022 ตลาด “Shoppertainment” ในเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ 500 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 20% ของตลาดอีคอมเมิร์ซ

– คาดว่าภายในปี 2025 ตลาด “Shoppertainment” จะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 หรือคิดเป็น 30% ของอีคอมเมิร์ซโดยรวมในภูมิภาคนี้

 

เมื่อเจาะเฉพาะ 6 ตลาดคือ ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น พบว่าตลาด Shoppertainment จะมีอัตราเติบโตถึง 63% ต่อปี

– ปี 2022 ตลาด Shoppertainment ใน 6 ประเทศอยู่ที่ 24 พันล้านเหรียญสหรัฐ

– คาดว่าภายในปี 2025 ตลาด Shoppertainment จะเพิ่มขึ้นเป็น 100 พันล้านเหรียญสหรัฐ

 

 

สำหรับประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งตลาดที่การซื้อขายแบบ Shoppertainment ขยายตัวอย่างรวดเร็ว

– ปี 2022 ตลาด Shoppertainment อยู่ที่ 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

– คาดว่าในปี 2025 จะเพิ่มขึ้นเป็น 12.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

 

โดย Top 5 กลุ่มสินค้าขายดีจากการขายรูปแบบ Shoppertainment ในตลาดไทยคือ

– แฟชั่น และเครื่องประดับ

– ผลิตภัณฑ์ความงาม และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล

– อาหารและเครื่องดื่ม

– อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

– เครื่องใช้ในครัวเรือน

 

 

ถอดรหัส “Shoppertianment” นำด้วยความบันเทิง – ปิดท้ายด้วยการขาย

การวิจัยครั้งนี้ TikTok และ BCG ยังพบความต้องการของผู้บริโภค (Demand Space) 6 ด้านที่เชื่อมโยงกันระหว่าง “Functional Demand Spaces” และ “Emotional Demand Spaces” ความต้องการเหล่านี้ ช่วยนิยามสิ่งที่ผู้บริโภคปรารถนาจะได้รับ เมื่อต้องตัดสินใจซื้อ

“Functional Demand Spaces” ความต้องการใช้งาน ซื้อตามความเคยชิน เน้นสินค้าและบริการที่คุ้นเคย หรือใช้อยู่แล้ว แบรนด์ควรมองหาโอกาสจากผู้บริโภคกลุ่มนี้ ด้วยการตอบโจทย์ 3 ด้านหลัก

– Convenience: ตอบโจทย์ความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภค

– Improvement: พัฒนาสินค้าและบริการอยู่เสมอ

– Validation: สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าสิ่งที่เลือกซื้อไปนั้นคุ้มค่า เป็นตัวเลือกที่ถูกต้องที่สุดแล้ว

“Emotional Demand Spaces” ความต้องการด้านอารมณ์ ผู้บริโภคที่มี Emotional Demand จะเปิดรับและพิจารณาผลิตภัณฑ์ หรือแบรนด์ใหม่ และมีแนวโน้มเปลี่ยนใจไปหาแบรนด์ใหม่เช่นกัน จึงเป็นโอกาสสำหรับแบรนด์ในการเข้าถึงผู้บริโภคด้วย 3 ด้านหลัก

– Recommendation: ให้คำแนะนำที่เชื่อถือได้ จริงใจ ตรงไปตรงมา เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

– Indulgence: ทำให้ผู้บริโภคสนใจแบรนด์ แล้วเปิดโอกาสให้ซื้อตามความต้องการ

– Inspiration: สร้างแรงบันดาลใจดีๆ ให้กับผู้บริโภค ไม่ว่าจะค้นพบสินค้า – แบรนด์ใหม่ หรือทำให้ผู้บริโภครู้สึกดีที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ – แบรนด์นั้นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม, ผลิตภัณฑ์ชุมชน

เพราะฉะนั้นการสร้างประสบการณ์ลูกค้าด้วย “Functional Demand Spaces” เพียงอย่างเดียว คงไม่ใช่คำตอบของยุค Shoppertainment แต่แบรนด์ต้องร้อยเรียง “Emotional Demand Space” เข้ามาอยู่ในการทำตลาด และการขายด้วย

 

 

หากถอดรหัสโมเดล “Shoppertainment” ที่ช่วยให้แบรนด์สามารถสร้าง Engagement กับผู้บริโภค และปิดการขายได้สำเร็จ ต้องใช้ “ความเป็นบันเทิง” เป็นตัวนำมาก่อน เนื่องจากความบันเทิงเปิดโอกาสให้แบรนด์เล่าเรื่องราว และเข้าถึงผู้บริโภคผ่านความสนุก การให้ความรู้ หรือคำแนะนำ หรือสามารถแสดงความเป็นตัวตนของแบรนด์ได้ โดยไม่ยัดเยียดความเป็นแบรนด์จนเกินไป และเมื่อผู้บริโภคได้รับความบันเทิงแล้ว จึงตามด้วย “การขาย” สูตรสมการนี้เรียกว่า “Entertainment first, Commerce second” 

 

องค์ประกอบของคอนเทนต์ “Entertainment First” มีอยู่ 5 แกนคือ

  1. ความสนุกและความบันเทิง

ผู้บริโภคคาดหวังว่าจะเห็นคอนเทนต์เล่าเรื่อง และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ก่อน

 

  1. คอนเทนต์วิดีโอ เพราะเข้าใจง่าย และชัดเจน

ผู้บริโภคสนใจคอนเทนต์ที่เน้นภาพเคลื่อนไหวเป็นหลัก โดยการนำเสนอในลักษณะนี้ สามารถทำได้ผ่านความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ เช่น Influencer, ช่องทางทีวีที่รองรับการซื้อขาย, การถ่ายทอดสดผ่าน Livestream หรืออีเว้นท์ออนไลน์สด พร้อมร้อยเรียงเพลง และดนตรีที่เข้ากับเนื้อหา ยิ่งดึงดูดความสนใจผู้บริโภคมากขึ้น

 

  1. คอนเทนต์น่าเชื่อถือและแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร

ผู้บริโภคต้องการข้อมูลจริง และถูกต้อง โดยแบรนด์สามารถสร้างบรรยากาศอารมณ์ที่แท้จริงเกี่ยวกับแบรนด์ได้ด้วยการนำเสนอข้อมูลรีวิวสินค้าที่น่าเชื่อถือ และสร้างพื้นที่ให้ผู้บริโภคได้สนทนากันเหมือนคนในชุมชนอย่างเปิดเผย และน่าสนใจ

 

  1. ให้อิสระผู้บริโภคในการเลือกซื้อ หรือตัดสินใจ

ผู้บริโภคคาดหวังว่าแบรนด์จะไม่บังคับให้ตัดสินใจซื้อในระหว่างที่นำเสนอเนื้อหา ดังนั้นการจะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อ แบรนด์ควรนำเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับความสนใจ และงานอดิเรกของผู้บริโภค มุ่งสร้างความรู้สึกดี หรือระลึกถึงความหลังในรูปแบบที่กระตุ้นความตื่นเต้น พร้อมสร้างความสุข

 

  1. นำเสนอเทรนด์ และคอมมูนิตี้

ผู้บริโภคอยากได้คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับแบรนด์ ดังนั้นแบรนด์ควรให้ความสำคัญกับเสียงของผู้เชี่ยวชาญใน Online Community พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกให้เพื่อนและผู้ใช้งานได้คุยกันเกี่ยวกับแบรนด์

ส่วน “Commerce second” แบรนด์ต้องให้ข้อมูลที่น่าสนใจ – ชัดเจน เพียงพอสำหรับนำไปประกอบการตัดสินใจ และมีช่องทางการขายให้ซื้อสินค้าหรือบริการ

 

 

“TikTok” จากแพลตฟอร์มความบันเทิง ต่อยอดสู่แพลตฟอร์ม “Shoppertainment”

ด้วยความที่ “TikTok” เป็นแพลตฟอร์มด้าน Entertainment ที่ผู้ใช้ไม่เพียงแค่เข้ามาดูคอนเทนต์ความบันเทิงจากหลากหลาย Category สร้างสรรค์โดยครีเอเตอร์มากมายเท่านั้น ขณะเดียวกันยังพบว่าผู้ใช้ให้ความสนใจและอยากมีส่วนร่วมกับแบรนด์ในแคมเปญการตลาดบน TikTok ซึ่งกระตุ้นให้เกิดความอยากซื้อสินค้าของแบรนด์

– 73% ของผู้ใช้ TikTok บอกว่าเป็นพื้นที่แห่งความบันเทิง

– 56% ของผู้ใช้ TikTok บอกว่าได้ค้นพบผลิตภัณฑ์ใหม่ แบรนด์ใหม่ วัฒนธรรมใหม่ หรือคนใหม่ๆ

– 48% ของผู้ใช้ TikTok มีความสนใจจะซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่ปรากฏอยู่บน TikTok และบางคนตัดสินใจซื้อทันที

– 73% ของผู้ใช้ TikTok บอกว่าพวกเขารู้สึกเชื่อมโยงกับแบรนด์ที่สื่อสารผ่าน TikTok มากกว่าแอปฯ อื่น

– 75% ของผู้ใช้ TikTok รู้สึกว่าโฆษณาบน TikTok ผสานเป็นส่วนหนึ่งของคอนเทนต์ได้อย่างกลมกลืน และลงตัว

 

 

จาก Insights ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า “TikTok” ไม่เพียงแต่เป็นแพลตฟอร์มความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นแพลตฟอร์ม “Shoppertainment” ที่สามารถสร้างการเติบโตด้านยอดขายให้กับแบรนด์ได้เช่นกัน

เนื่องจาก TikTok มี 3 องค์ประกอบของการเป็นแพลตฟอร์ม “Shoppertainment” ได้แก่

– Content: ส่วนสำคัญในการสร้างโอกาสให้แบรนด์สื่อสารไปถึงผู้บริโภค

– Culture: เป็นพื้นที่ให้แบรนด์ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมบน TikTok นำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมใหม่ ที่กลายเป็นเทรนด์ใหญ่ในสังคม

– Commerce: ความบันเทิง และความสนุกของคอนเทนต์บน TikTok สร้างโอกาสการขายให้กับแบรนด์ และทำให้การซื้อขายนั้นมีความเป็น “Shoppertainment”

เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำ Shoppertainment บนแพลตฟอร์ม “TikTok” แบรนด์ควรใช้สูตร “Entertainment first, Commercial second” นำเสนอด้วยความบันเทิงก่อน แล้วตามด้วยการขาย เพื่อส่งมอบประสบการณ์การช้อปปิ้งผ่านความบันเทิงที่สนุก ตื่นเต้น และไม่ยัดเยียดแบรนด์ หรือผลิตภัณฑ์มากจนเกินไป

 

 

จะเห็นได้ว่าโมเดล “Shoppertainment” เป็นกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรใหญ่ หรือผู้ประกอบการ SME ครอบคลุมทั้งมิติด้านแบรนด์ ทำให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภค สร้างการมีส่วนร่วม และความผูกพันระหว่างผู้บริโภค, ด้านธุรกิจ เพราะความบันเทิงสามารถกระตุ้นความสนใจผู้คนได้ นำไปสู่การตัดสินใจซื้อ ช่วยสร้างการเติบโตของยอดขายได้ในที่สุด และในส่วนของผู้บริโภค ได้ค้นพบสิ่งใหม่ อัปเดตเทรนด์ และวัฒนธรรมที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ ได้ประสบการณ์ความบันเทิง ตลอดจนได้รับการตอบสนองความต้องการของตัวเอง

 


  • 2.8K
  •  
  •  
  •  
  •