เปิดแอปฯ เรียกรถ “Bolt” ส่องกลยุทธ์ Pricing ราคาที่คุ้มค่ากับข้อจำกัดในไทย

  • 115
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ในช่วงที่เร่งรีบแท็กซี่ก็ไม่รับ แอปฯ เรียกรถจึงเป็นคำตอบสำหรับผู้บริโภคไม่ว่าเส้นทางจะไกลหรือใกล้ก็สามารถไปส่งถึงที่หมายได้ หรือถ้าหากอยู่ในซอยลึกไม่จำเป็นที่ต้องเดินตากแดดร้อน ๆ ออกมาโบกรถ เพียงแค่ใช้นิ้วจิ้มบนสมาร์ทโฟนก็มีรถมารับคุณถึงที่ ทำให้ตอนนี้มีแอปฯ เรียกรถมากมายมาเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค

 

มูลค่าตลาดโดยรวมของแอปฯ เรียกรถหรือบริการ Ride-Hailing สูงถึง 21,000 ล้านบาท และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 6-10% ต่อปี โดยประเทศไทยเองอยู่ใน Top 5 ที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมใช้บริการแอปฯ เรียกรถมากที่สุด เพราะตอบโจทย์ความสะดวกสบาย โดยในบ้านเราเองมีแอปฯ เรียกรถเข้ามาเปิดให้ใช้บริการมากมาย เช่น Grab Lineman muvmi ซึ่งแต่ละแอปฯ ก็จะมีจุดเด่นแตกต่างกันไป แต่ถ้าหากนึกถึงแอปฯ เรียกรถที่ราคาถูกและใช้งานง่าย ก็คงหนีไม่พ้น Bolt (โบลท์) กับคอนเซ็ปต์ที่ทำให้คนไทยต้องดาวน์โหลดมาใช้เดี๋ยวนี้

 

จุดเริ่มต้นของ Bolt แอปฯ เรียกรถสัญชาติเอสโตเนีย สู่ความสำเร็จและขึ้นแท่นเป็น Decacorn

ย้อนกลับไปในปี 2013 ได้มีแอปฯ เรียกรถชื่อ Taxify ก่อตั้งโดยเด็กหนุ่มมัธยมปลายสัญชาติเอสโตเนีย (Estonia) มาร์คัส วิลลิก (Markus Villig) ซึ่งในขณะนั้นเขามีอายุแค่เพียง 19 ปี และเริ่มมองเห็นถึงปัญหาการเรียกรถแท็กซี่ที่ต้องใช้เวลาในการรอนานอีกทั้งยังราคาสูง

 

 

มาร์คัสได้ดรอปเรียนและเริ่มต้นขอทุนจากที่บ้าน 5,000 ยูโร หรือประมาณ 180,000 บาท เพื่อสร้างแอปฯ ตัวต้นแบบ ในการทดลองก่อนจะนำไปใช้จริง จนในปี 2018 ได้มีการเปลี่ยนชื่อแอปฯ เป็น Bolt มาจนถึงทุกวันนี้ ในเวลาเดียวกันก็ได้มีการเพิ่มโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่นอกเหนือจากการให้บริการ Ride-Hailing อย่างบริการจัดส่งอาหารและสกูตเตอร์ไฟฟ้า

 

Bolt กลายเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จและขึ้นแท่นเป็น Decacorn ที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ มีผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านคน และมีพาร์ทเนอร์คนขับอยู่ในระบบกว่า 3 ล้านคน จาก 45 ประเทศ

 

Pricing strategy กลยุทธ์ที่ Bolt เลือกใช้บุกตลาด Ride-Hailing ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด

การตั้งราคาที่ถูกกว่าแอปฯ เรียกรถเจ้าอื่น นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาที่มาร์คัสพบเจอแล้ว ยังกลายเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ Bolt สามารถดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการ เป็นที่รู้จักในวงกว้างและติดตลาดได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็ก ต้องการตีตลาดเทียบกับคู่แข่งมีความแข็งแกร่งและหลากหลาย

 

นอกจากนี้ในมุมมองของ Bolt มองตัวเองเหมือนเป็นตัวกลางระหว่างคนขับและผู้บริโภค ดังนั้นจึงมีความต้องการที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับทั้งสองฝ่าย โดยในส่วนของคนขับจะมีการเก็บค่าคอมมิชชั่นอยู่ที่ 10-15% และในส่วนของการคิดอัตราค่าโดยสารกับลูกค้าถูกกว่าเจ้าอื่นประมาณ 20% เรียกได้ว่าเป็นการใส่ใจทั้งลูกค้าและคู่ค้าของธุรกิจ

 

 

Bolt กับการเข้าสู่ตลาดในประเทศไทย

Bolt ประสบความสำเร็จในประเทศตัวเองและในฝั่งยุโรป หลังจากนั้นได้มีการขยายตลาดไปตามประเทศต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยได้มีการเปิดให้บริการอย่างไม่เป็นทางการในปี 2020 ปัจจุบันมีรถให้เลือกถึง 7 ประเภท ดังนี้

 

– Taxi (รถแท็กซี่) : ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 35 บาท

– Motorbike (รถมอเตอร์ไซค์) : ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 25 บาท

– Economy (รถทั่วไปราคาประหยัด) : ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 40 บาท

– Ladies (รถทั่วไปสำหรับผู้หญิง) : ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 45 บาท

– Bolt (รถทั่วไปเรียกใช้บริการได้ไวที่สุด) : ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 45 บาท

– Comfort (รถยนต์รุ่นใหม่) : ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 100 บาท

– XL (รถไซส์ใหญ่) : ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 100 บาท

 

โดยราคาค่าโดยสารและค่าคอมมิชชั่นก็ยังคงคอนเซ็ปต์เดิมที่ต้องการสร้างความพึงพอใจจากคนขับและผู้บริโภครวมถึงหน้าตาของแอปฯ คล้าย ๆ กับ Google Maps นั่นทำให้การใช้งานค่อนข้างง่าย และสะดวกตอบโจทย์ผู้บริโภคในไทยเป็นจำนวนมาก กลายเป็นแอปฯ ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้แอปฯ เรียกรถเจ้าดังอย่าง Grab เลย

 

ทว่าค่าครองชีพในประเทศไทยสูงขึ้น ทำให้ค่าคอมมิชชั่นของคนขับอาจจะยังไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่ ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงราคาค่าโดยสารให้สูงขึ้นอีกก็คงไม่ถูกใจผู้บริโภคเช่นกัน และอาจส่งผลให้ผู้บริโภคเปลี่ยนไปใช้บริการแอปฯ เรียกรถเจ้าอื่นแทนได้ เนื่องจากในตอนนี้ Bolt ยังไม่ได้รับการรับรองแอปฯ สำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายของประเทศไทย แต่อยู่ระหว่างการแก้ไขเอกสารยืนยันขอรับรองและการปรับปรุงระบบให้สอดคล้องตามเงื่อนไข บวกกับยังไม่มีการตั้งบริษัทในเมืองไทย ทำให้การติดต่อศูนย์ความช่วยเหลือค่อนข้างลำบากและล่าช้า นี่อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดอ่อนของแอปฯ ที่ต้องปรับปรุงและพัฒนากันต่อไป

 

อย่างไรก็ตามคงต้องรอดูกันต่อไปว่า Bolt จะสามาถเติบโตในธุรกิจอย่าง Ride-Hailing ที่ดุเดือดในประเทศไทยและครองใจผู้บริโภคได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การตลาดและการตัดสินใจของผู้บริโภค สุดท้ายเราได้รวบรวมการให้บริการของแต่ละแอปฯ มาช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกใช้บริการ

 

Source : https://bit.ly/3L7HvfY

https://bit.ly/3n2Mfvi

https://bit.ly/442ZTc7

https://bit.ly/41yWjVL

https://bit.ly/3L2J7RR

https://bit.ly/41z0bpy

 


  • 115
  •  
  •  
  •  
  •