กลยุทธ์การตลาด K-Pop

  • 12
  •  
  •  
  •  
  •  

กองทัพวัฒนธรรมเกาหลีที่หลั่งไหลออกจากแดนกิมจิ เคยสร้างกระแสในประเทศต่างๆ ทั่วทั้งเอเชีย ทั้งภาพยนตร์ ละคร และเพลง ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าจะเริ่มซบเซาลงในเวลาไม่นาน โดยเฉพาะในประเทศไทย ภาพยนตร์ที่ยังไม่มีเรื่องใดทำรายได้สูงกว่าภาพยนตร์ยุคบุกเบิกอย่าง My Sassy Girl ละครซีรีส์โทรทัศน์ แดจังกึม คือความนิยมสูงสุดที่ยากจะหาซีรีส์เกาหลีเรื่องใดทำได้อีก คงเหลือแต่เพลงที่ยังคงได้รับความนิยมอยู่เฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น จวบจนกระทั่งเสียงเพลง Nobody จากวงเกิร์ล แบนด์ วันเดอร์เกิร์ล ถูกเผยแพร่ กระแส K-Pop ที่ดูเหมือนจะจางหาย ก็กลับคึกคักขึ้นอีกครั้ง

‘Nobody น่าจะเป็นเพลงเกาหลีที่ดังที่สุดในประเทศไทย นับตั้งแต่คนไทยฟังเพลงเกาหลี ยอดดาวน์โหลดทำสถิติสร้างรายได้สูงที่สุดนับตั้งแต่เคยมีมา’ สุรชัย เสนศรี กรรมการผู้จัดการ หน่วยธุรกิจจีเอ็มเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารลิขสิทธิ์เพลงเกาหลีรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย กล่าว

wonder girls

พลิกปูมกำเนิดศิลปิน K-Pop วิกฤตสร้างโอกาสแจ้งเกิด

GMM Grammy ถือเป็นค่ายเพลงในเมืองไทยรายแรกที่สนใจเปิดตลาดเพลงเกาหลีในไทยอย่างจริงจัง ย้อนกลับไปเมื่อราว 5-6 ปีก่อน โดยร่วมมือกับค่ายเพลงอิสระรายใหญ่ในเกาหลี JYP Entertainment นำผลงานเพลงจากศิลปินเกาหลี อาทิ Baby V.O.X. และเรน เข้ามาสู่เมืองไทย จนถึงวันนี้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ถือเป็นผู้บริหารสิทธิ์ศิลปินเกาหลีรายใหญ่ ที่มีศิลปินในสังกัดทั้ง วันเดอร์เกิร์ล, ดงบังชินกิ, ซูเปอร์จูเนียร์, เกิร์ล เจเนอเรชั่น และบิ๊กแบงก์ ฯลฯ

สุรชัย กล่าวถึงจุดที่ทำให้เพลงเกาหลีสามารถเข้าถึงผู้ฟังได้ทั่วทั้งเอเชีย เกิดขึ้นเมื่อสิบปีก่อน เมื่อสถานการณ์ของวงการเพลงทั่วโลกอยู่ในภาวะวิกฤตจากปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต ทำเอาค่ายเพลงเกาหลีในยุคนั้น ที่ตลาดเพลงภายในประเทศส่วนใหญ่เป็นเพลงฟังสบาย ภาษาเกาหลี ต้องล้มครืน เพราะถูกก๊อบปี้

ในช่วงเวลาเดียวกัน กลุ่มคนเกาหลีรุ่นใหม่ที่ออกไปศึกษาเล่าเรียนนอกประเทศ เรียนรู้ศาสตร์ด้านเพลงจากฝั่งตะวันตก ทั้งยุโรป และอเมริกา ก่อนกลับสู่ประเทศ ทำเพลงในสไตล์ตะวันตก ต้องพบว่าไม่มีตลาดภายในประเทศรองรับ จึงต้องหันหน้าออกมาทำตลาดต่างประเทศตามหลังหนังและละครที่ไปก่อนหน้า

Local Partner ตัวสร้างความสำเร็จ ชี้ตลาดใหญ่มีแค่ญี่ปุ่น-ไทย

อย่างไรก็ตาม การขยายตลาดศิลปิน K-Pop ออกสู่ตลาดนอกประเทศนั้น ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จไปทุกที่ เพลง Nobody ในมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ ก็ถือเป็นเพลงฮิตทั่วไปเพลงหนึ่ง ที่คนในประเทศนั้นไม่ได้ฮือฮาเหมือนในเมืองไทย รวมไปถึงศิลปินบอยแบนด์ที่วัยรุ่นไทยคลั่งไคล้ ก็น่าจะเห็นได้เพียงที่นี่เท่านั้น

ความโด่งดังของ K-Pop ในแต่ละประเทศนั้น อยู่ที่โลคัลพาร์ตเนอร์ในประเทศนั้นๆ ว่าจะให้ความสำคัญกับการทำตลาดมากน้อยเพียงใด ซึ่งในส่วนของประเทศไทย จีเอ็มเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ ขณะที่ในสิงคโปร์ และมาเลเซีย วอร์เนอร์ มิวสิค เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ใหญ่ ซึ่งการที่เพิ่งร่วมธุรกิจกับค่ายอีเอ็มไอ ทำให้เกิดพอร์ตศิลปินเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้การโฟกัสตลาดนี้จึงลดลง ด้านอินโดนีเซีย ผู้ถือสิทธิ์เพลงเกาหลี เป็นค่ายอินดี้ที่เล็กมาก ส่วนในฟิลิปปินส์ แม้จะได้ค่ายเพลงใหญ่เป็นผู้ถือสิทธิ์ แต่ก็ไม่ได้สนใจทำตลาด ฮ่องกง และไต้หวัน ก็ถือเป็นตลาดที่ไม่คึกคัก และมีการแข่งขันรุนแรง ทำให้วันนี้ K-Pop เหลือเพียงตลาดในประเทศ ตลาดประเทศไทย และตลาดในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดใหญ่มหึมาเป็นอันดับ 2 ของโลก มีมูลค่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แต่ก็ยากที่จะสร้างความสำเร็จได้

‘ตลาดสำคัญที่ค่ายเพลงเกาหลีมองอยู่คือ ญี่ปุ่น มูลค่ามหาศาลที่รองเพียงสหรัฐอเมริกา ยั่วยวนให้ทุกค่ายพยายามส่งศิลปินเข้าไป แต่ด้วยการลงทุนที่สูง และความเสี่ยงสูง ทำให้มีศิลปินเกาหลีหลุดรอดเข้าไปได้ไม่กี่ราย ส่วนที่เหลือ ที่เข้าไปไม่ได้ หรือรอโอกาสจะเข้าไป นอกจากทำตลาดในประเทศแล้ว เมืองไทยก็เป็นอีกตลาดที่มีมูลค่าไม่เป็นรองเกาหลี จึงทำให้เราเห็นศิลปินเกาหลีเข้ามารับงานในเมืองไทยอยู่เสมอ’

การสร้างความสำเร็จของ K-Pop ในเมืองไทย เป็นความร่วมมือกันระหว่างค่ายเพลงเกาหลี และจีเอ็มเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล เพราะปัจจัยที่จะทำให้ศิลปินเกิด และได้รับความนิยมนั้น นอกเหนือจากผลงานเพลงเกาหลีที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพเทียบเท่ากับเพลงตะวันตกแล้ว ในด้านการสนับสนุน ที่จะสร้างให้ศิลปินคนนั้น หรือวงนั้นเป็นที่รู้จักมากขึ้น เช่น การมีผลงานภาพยนตร์ หรือละครมาเสนอ ได้รับความร่วมมือจากศิลปินเดินทางเข้ามาจัดกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ อาจเป็นการจัดอีเวนต์ การแสดงคอนเสิร์ต หรือการเป็นพรีเซนเตอร์ ก็จะทำให้ศิลปินกลุ่มนั้นได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เช่นที่จีเอ็มเอ็ม อินเตอร์ฯ ทำตลาดให้เกิดการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินเกาหลีอย่างต่อเนื่อง เช่น การแสดงของศิลปินค่าย SM Entertainment หรือการแสดงคอนเสิร์ตครั้งแรกของวันเดอร์เกิร์ล การเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าในประเทศไทยของซูเปอร์จูเนียร์ ดงบังชินกิ

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในวันนี้ของ K-Pop จะยืนยาวต่อเนื่องเพียงใด คงต้องดูที่ค่ายเพลงเกาหลีจะสามารถสร้างศิลปินรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาได้ดีเพียงใด จากอดีตที่เคยเห็นความล้มเหลวของเพลงจากไต้หวัน ที่เคยโด่งดังสุดขีดกับกลุ่ม F4 แต่ไม่นาน เมื่อหาศิลปินรุ่นต่อมาที่จะเข้ามาสนับสนุนได้ทัน กระแสไต้หวันก็จางลงจนถูกกระแสเกาหลีเข้ามาแทนที่

‘ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากวันเดอร์เกิร์ล กับเพลง Nobody แสดงให้เห็นว่า หากเพลงดี ทำนองเพลง ดนตรีดี ภาษาไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป การออกแบบหีบห่อ ตกแต่งแพกเกจให้มีความน่าสนใจ รวมถึงมีการทำตลาดอย่างจริงจัง และทางเกาหลีก็มีวงดนตรีรุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้น เหมือนเช่นที่ JYP มีวงเกิร์ล เจเนอเรชั่น ตามวันเดอร์เกิร์ลมา ก็คาดว่า ตลาดเพลง K-Pop จะสามารถเติบโตได้ต่อไปอีกราว 3-5 ปีเป็นอย่างน้อย’ สุรชัย กล่าว

J-Pop ในไทยเป็นได้แค่ Niche ศิลปินยุ่นเมินตลาดนอก

สุรชัย กล่าวถึงตลาดเพลงคู่แข่ง K-Pop ตัวสำคัญ นั่นคือ J-Pop ที่ดูจะคุ้นเคยกับคนไทยมาเป็นเวลานานว่า คงเป็นตลาดที่ทำได้เพียงการขายอัลบัมให้กับแฟนเพลงที่ชื่นชอบเท่านั้น แต่คงไม่สามารถจะพัฒนาตลาดให้ใหญ่เท่ากับ K-Pop ได้ เนื่องจากฟากค่ายเพลงญี่ปุ่นไม่เคยสนใจทำตลาดนอกประเทศ นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกา

ตลาดเพลงญี่ปุ่นเป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา มีมูลค่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี มียอดขายแผ่นซีดี 300 ล้านหน่วยต่อปี และแม้ตลาดแผ่นจะถูกดิจิตอลรุกราน แต่การเติบโตของตลาดดิจิตอลก็เป็นไปได้ด้วยดี มูลค่าการดาวน์โหลดเพลง 4 เหรียญสหรัฐต่อ 1 เพลง ซึ่งถือว่าสูงมาก แต่ก็ได้รับความนิยมทั่วทั้งประเทศ หากเทียบกับตลาดเพลงในเมืองไทย ราว 70 ล้านเหรียญต่อปี ก็เป็นคำตอบได้ว่าเหตุใดตลาด J-Pop จึงไม่เติบโตในเมืองไทย

‘ตลาดของเขา 120,000 -130,000 ล้านเหรียญ เทียบกับทั้งเอเชีย 200-300 ล้านเหรียญ มาแล้วจะได้อะไร เงินก็ไม่ได้ แม้จีเอ็มเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นพันธมิตรกับค่ายเพลงอิสระที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น AVEX Group มานาน แต่ก็ยังไม่สามารถนำศิลปินในสังกัดอย่าง Kudi Kumi หรือ Ayumi Hamasaki เข้ามาจัดกิจกรรมในเมืองไทยได้ คำถามของเขาคือ เราจะขายบัตรราคาเท่าไหร่ เขาขอตั๋วเครื่องบินชั้นบิสซิเนส คลาส 25 ที่ปิดห้องสวีตโรงแรมใหญ่กี่ห้อง เราจะเอาเงินที่ไหนไปทำ แค่นี้ก็จบแล้ว วันนี้ตลาดเพลงญี่ปุ่นในเมืองไทยจึงตกลงไปมาก ทาง จีเอ็มเอ็ม อินเตอร์เนชั่นแนล อยากจะดึงขึ้นมา ก็มาเจอเงื่อนไขทางธุรกิจที่ยากเกินกว่าจะทำให้ธุรกิจเกิดได้’ สุรชัย กล่าว

บอยแบนด์ K-POP ยาขนานเอกของยามาฮ่า

จักรยานยนต์ยามาฮ่า เป็นแบรนด์ที่เกาะติดกระแสความโด่งดังของศิลปิน K-POP มาโดยตลอด อาจพูดได้ว่าเป็นแบรนด์ที่บุกเบิกการใช้ศิลปิน บอยแบนด์จากเกาหลีใต้ มาเป็นพรีเซนเตอร์กับตัวสินค้า จินตนา อุดมทรัพย์ ผู้จัดการใหญ่ด้านการค้า บริษัท ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ บอกว่า ก่อนที่จะเข้ามาถึงจุดนี้ เราก็ต้องคิดกันอย่างหนัก เพราะยามาฮ่าเป็นแบรนด์จากญี่ปุ่น การหันมาใช้ศิลปิน K-POP เป็นพรีเซนเตอร์จะขัดกับความรู้สึกของผู้บริโภคหรือไม่

แต่ผลที่ออกมาก็แสดงให้ชัดว่า ผู้บริโภคกลุ่มวัยรุ่นเมืองไทยไม่มองไปถึงจุดนั้น กระแสความนิยมจากทั้งตัวศิลปิน K-POP และตัวผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ยามาฮ่าไปกันได้ดี และเพิ่มสูงมากขึ้น

dongbangshiki

อันที่จริงเป้าหมายของยามาฮ่า ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะเป็น K-POP หรือ J-POP เป้าหมายของยามาฮ่า คือ อะไรที่กลุ่มลูกค้า หรือกลุ่มเป้าหมายของเราชื่นชอบ เราพยายามตอบสนองความต้องการของเขา ช่วงเวลานี้คงต้องบอกว่าเป็นของ K-POP จริง นั่นเพราะกระแสความแรงของทั้งหนังเกาหลี ละครเกาหลี รวมถึงดารานักร้องของศิลปินเกาหลี เป็นที่ชื่นชอบของวัยรุ่นไทย และกลุ่มวัยรุ่นก็เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของ ยามาฮ่า ในตลาดรถจักรยานยนต์เมืองไทย

ชื่อของยามาฮ่า เริ่มดังเป็นพลุแตกอีกครั้งหลังจากดึงศิลปินบอยแบนด์เกาหลี ยอดนิยมอย่าง ดงบังชินกิ หรือที่เรียกในหมู่วัยรุ่นว่า เทพเจ้าแห่งตะวันออก ทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นโชว์ตัวในงานโรดโชว์ หรือคอนเสิร์ต กลุ่มวัยรุ่นที่ชื่นชอบจะตามไปให้กำลังใจ ทำให้ทุกกิจกรรมที่จัดกันขึ้น มีผู้คนเข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม

อันที่จริงก่อนหน้านี้ ยามาฮ่า เคยใช้ศิลปินนักร้องจากไต้หวัน อย่าง F4 มาเป็นพรีเซนเตอร์ในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์แบรนด์ครั้งใหญ่ ซึ่งในจังหวะนั้น F4 กำลังได้รับความนิยมสูงในหมู่วัยรุ่นเมืองไทย ทั้งงานแสดงจากภาพยนตร์ หรือละคร เช่นกัน แบรนด์ยามาฮ่า สามารถพลิกสถานการณ์ทั้งยอดขาย และการจดจำแบรนด์ของกลุ่มเป้าหมาย ต้องถือว่า การที่ยามาฮ่าสามารถกลับขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งแบรนด์เบอร์ 2 ของตลาดในวันนี้ แคมเปญสวิตช์ที่ใช้ F4 เป็นพรีเซนเตอร์ มีส่วนสำคัญอย่างมาก

ย้อนกลับมาที่ ดงบังชินกิ จากเกาหลี การโชว์ตัวและทัวร์คอนเสิร์ตในประเทศไทยแบบถี่ยิบ นอกจากบรรดาแฟนคลับที่คอยให้การต้อนรับ และตอบรับแบบถล่มทายแล้ว ปรากฏการณ์ความนิยมทำให้สื่อต่างๆ ให้ความสนใจ ทำให้แบรนด์ยามาฮ่า ติดตามกลุ่มศิลปินโดยตลอด และสร้างการจดจำในวงกว้าง

ในมุมมองของยามาฮ่านั้น อันที่จริง การสร้างการรับรู้ต่อผลิตภัณฑ์ และแบรนด์นั้น ไม่เกี่ยงว่าจะต้องเป็น K-POP หรือ J-POP เพราะอะไรก็ตามที่อยู่ในความสนใจของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย นั่นหมายถึงวัยรุ่นทั่วเมืองไทย ยามาฮ่า ก็จะสนองความต้องการของลูกค้า

แต่สำหรับ K-POP นั้น จินตนา บอกว่า ถึงตอนนี้ยังเป็นกระแสที่ได้รับความนิยมสูง และคาดว่าจะเป็นเช่นนี้อีกพักใหญ่ เพราะกระแสตอบรับ K-POP นั้น มีปัจจัยสนับสนุนทั้งในเรื่องภาพยนตร์ ละคร และศิลปินเพลง ซึ่งหากยังมีสิ่งเหล่านี้ออกมา กระแสความนิยมดังกล่าวก็ยังมีอยู่ต่อเนื่อง

ขณะที่ J-POP นั้น เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดความบันเทิงที่ใหญ่มาก เพราะฉะนั้น ดารา หรือศิลปิน จึงต้องผลิตผลงานเพื่อป้อนตลาดในประเทศเป็นหลัก และดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ทำให้กระแส J-POP ในเรื่องดารา ศิลปินเพลง จึงหลุดออกนอกประเทศไม่มากนัก

สำหรับบอยแบนด์ ซูเปอร์จูเนียร์ จากเกาหลี ซึ่งเป็นพรีเซนเตอร์กลุ่ม ให้กับผลิตภัณฑ์ จักรยานยนต์ยามาฮ่า ฟีโน่ นั้น คาดว่าจะช่วยผลักดันยอดขายให้กับยามาฮ่า โดยตั้งเป้าหมายให้รถรุ่นนี้ทำยอดขายเป็นอันดับ 1 ของเซกเมนต์รถจักรยานยนต์เอที

12 Plus ชูศิลปินเกาหลีปั๊มยอดขาย สร้าง Brand Loyalty

12 Plus นับว่าเป็นอีกแบรนด์หนึ่งที่มีความชัดเจนและต่อเนื่องในการใช้พรีเซนเตอร์จากแดนโสม โดยมีนักร้องบอยแบนด์กลุ่ม ‘ซูเปอร์จูเนียร์’ ทำหน้าที่เป็นพรีเซนเตอร์กระชากเรตติ้งจากสาวๆ บ้านเราที่เป็นสาวกมานานกว่า 2 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกความสนใจและสร้างความภักดีต่อแบรนด์ ซึ่งที่ผ่านมาสินค้าวัยรุ่นจะต้องมีการปรับเปลี่ยนตนเองตลอดเวลา เช่น บรรจุภัณฑ์ นวัตกรรม พรีเซนเตอร์ เพราะวัยรุ่นเป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่ค่อยมีความภักดีต่อแบรนด์เมื่อเทียบกับผู้บริโภควัยอื่น

super junior

‘ลูกค้าวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี มักจะเปลี่ยนแบรนด์ใหม่เฉลี่ย 6 เดือนต่อ 1 ครั้ง ดังนั้นสินค้าจึงต้องมีการปรับตัวตลอดเวลา เพื่อให้แบรนด์ตนเองอยู่ในกระแสและเข้ากับกลุ่มเป้าหมายได้’ วิเชียร สันติมหกุลเลิศ ผู้อำนวยการตลาด บริษัท โอสถสภา จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ทเวลฟ์ พลัส กล่าวในงานเปิดตัว ชอย ซี วอน เป็นพรีเซนเตอร์ รอบ 2 ให้กับแบรนด์ทเวลฟ์ พลัส กลุ่มโรลออน คู่กับศิลปินโฟร์-มด เมื่อ 2 ปีก่อน

สำหรับการนำศิลปินเกาหลีมาเป็นพรีเซนเตอร์นั้น วิเชียร อธิบายว่า แบรนด์ ทเวลฟ์ พลัส กำลังเดินกลยุทธ์ ‘Idol Advertising Strategies’ เพื่อดึงดูดกลุ่มวัยรุ่นให้เข้ามาสนใจและเลือกใช้แบรนด์ 12 พลัส ที่สำคัญเพื่อรักษาอิมเมจให้ 12 Plus เป็นแบรนด์สำหรับวัยทีนไปตลอดกาล ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวเริ่มมาได้ราว 2 ปีแล้ว โดย ชอย ซี วอน ยังถูกมอบหมายให้เป็นแม่เหล็กตัวหลักจากแดนโสม ขณะที่เพื่อนร่วมวงซูเปอร์จูเนียร์ จะทยอยมาร่วมสร้างสีสันในแต่ละไลน์โปรดักส์ของทเวลฟ์ พลัส

ทั้งนี้ แป้งเย็น 12 Plus เป็นสินค้าตัวแรกที่ถูกเลือกให้นำร่องกลยุทธ์ดังกล่าว จากความแรงและความสดของตัวพรีเซนเตอร์ในตอนนั้น ส่งผลให้ตัวเลขส่วนแบ่งของทเวลฟ์ พลัส ขยับขึ้นถึง 3% จากเดิมที่มีส่วนแบ่งประมาณ 19% จากตลาดรวมแป้งเย็น ทั้งที่เริ่มเปิดตัวพรีเซนเตอร์และลอนช์ภาพยนตร์โฆษณาได้เพียง 3-4 เดือน จากนั้นไม่นาน กลยุทธ์ดังกล่าวก็ถูกนำไปใช้กับสินค้ากลุ่มอื่นในแบรนด์ทเวลฟ์ พลัส เช่น โรลออน โคโลญจน์

น่าสนใจว่า แม้ทางค่ายโอสถสภาฯ จะเลือกใช้ศิลปินกลุ่มเดิมเป็นพรีเซนเตอร์มาต่อเนื่อง 2 ปี แต่จะสังเกตได้ว่า ‘Super Junior’ ยังสามารถเรียกเสียงกรี๊ดจากสาววัยใสบ้านเราได้ตลอดเวลา ต่างจากพรีเซนเตอร์ฝ่ายหญิงที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามสินค้า ที่เป็นเช่นนี้ ผู้อำนวยการตลาดค่ายโอสถสภาฯ บอกว่า เพื่อให้พรีเซนเตอร์ผู้หญิงช่วยสร้างความแตกต่างและป้องกันการสับสนในแต่ละกลุ่มสินค้า ต่างจากศิลปินซูเปอร์จูเนียร์ที่ทำหน้าที่เป็นแม่เหล็กดึงดูด เพราะจากการสำรวจวัยรุ่นอายุ 12 ปีขึ้นไป พบว่า ศิลปินที่อยู่ในกระแสและมีอิทธิพลต่อวัยรุ่นในยุคนี้ คือ ศิลปินจากประเทศเกาหลี และกลุ่มบอยแบนด์ที่อยู่ในใจอันดับ 1 ก็หนีไม่พ้นบอยแบนด์ซูเปอร์จูเนียร์ ที่ประกอบด้วย นักร้องชาย 13 คน

ล่าสุด เป็นความต่อเนื่องของการใช้กระแส K-POP ด้วยการนำศิลปินวงซูเปอร์จูเนียร์มาใช้อีกครั้ง ในสินค้ากลุ่มดิโอโดแรนต์ประเภทสติ๊ก ที่ครั้งนี้นำมาให้สาวๆ บ้านเราได้ตื่นเต้นถึง 4 คน คือ ชอย ซีวอน, คิม รยออุค, ฮันคยอง, โจ คยูฮยอน ซึ่งแน่นอนว่า ทเวลฟ์ พลัส หวังอาศัยความแรงของ 4 หนุ่มจากแดนโสมมากระชากใจสาววัย 12 ปีขึ้นไปอีกครั้ง และเมื่อมาผนึกความแรงกับสาวฮอตอย่าง อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ ที่เป็นไอดอลของสาวๆ วัยใสในยุคนี้เช่นกัน ทำให้ผู้บริหารค่ายนี้มั่นใจว่าสินค้ากลุ่มมินิ สติ๊กที่เปิดตัวด้วยนวัตกรรมใหม่ สูตรนาโนกับคอลลาเจน จะสามารถคว้าส่วนแบ่งได้มากกว่า 20% จากตลาดรวมสติ๊ก มูลค่า 461 ล้านบาท ขึ้นเป็นเบอร์ 2 แทนแบรนด์วีไวต์ภายในสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ดังกล่าวและการใช้ความแรงจากศิลปิน Super Junior จะยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพราะแว่วมาว่าในสิ้นปีนี้ทางทเวลฟ์ พลัสเตรียมนำหนุ่มๆ ในวงที่เหลือมาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้ากลุ่มอื่นอีก ซึ่งจะเป็นใครนั้นคงต้องติดตามกันต่อไป แต่หนุ่มๆ แห่งวงซูเปอร์จูเนียร์จะเรียกเสียงกรี๊ดและช่วย ทเวลฟ์ พลัส ปั๊มยอดขายได้ยาวนานแค่ไหน อันนี้สิน่าลุ้นกว่าเยอะ


  • 12
  •  
  •  
  •  
  •