4 ยุทธศาสตร์ของฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจของ Unilever

  • 2
  •  
  •  
  •  
  •  

logo_unilever2นายบาวเค่อ ราวเออร์ส ประธานกรรมการบริหาร คนใหม่ของกลุ่ม Unilever ประเทศไทย เปิดเผยยุทธศาสตร์การทำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทยหลังเข้ามารับตำแหน่งว่า บริษัทได้วางกลยุทธ์การตลาดในระยะสั้น เพื่อรองรับกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ภายใต้ 4 แนวทางหลัก คือ

  1. การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า
  2. การบริหารต้นทุนสินค้าให้ลดลง
  3. การวางตำแหน่งตลาดและขนาดสินค้าให้เหมาะสมกับผู้บริโภค
  4. การนำเสนอราคาสินค้าสู่ผู้บริโภคที่เหมาะสม

“วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ประธานจากประเทศอังกฤษ ได้วางยุทธศาสตร์ให้ยูนิลีเวอร์ทุกประเทศโต้ตอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่ารีรอ แต่ขณะเดียวกันต้องมีความยืดหยุ่นด้วย” 

unilever3นายบาวเค่อ กล่าวว่า การทำตลาดในไทยบริษัทขับเคลื่อนโดยการกระตุ้นให้เกิดปริมาณการขายมากขึ้น แต่ไม่เน้นในเรื่องของมูลค่า ภายใต้เน้นพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย ตอบสนองทั้งตลาดบนและล่าง เพื่อรองรับกำลังซื้อของผู้บริโภคจากภาวะเศรษฐกิจผันผวน ซึ่งอาจกระทบกับเซกเมนต์ใดเซกเมนต์หนึ่งเท่านั้น อีกทั้งมีการเพิ่มขนาดสินค้าให้หลากหลาย ตั้งแต่ขนาดใหญ่สอดคล้องกับกลุ่มผู้บริโภคที่มักซื้อสินค้าเพราะคุ้มค่ากับเม็ดเงิน กระทั่งขนาดเล็กสำหรับผู้ที่มีกำลังซื้อน้อย

และยังให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพสินค้าควบคู่กับราคา เพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มองหาสินค้าทั้งคุณภาพและราคาพร้อมกัน มากกว่าเน้นราคาแต่เพียงอย่างเดียว ตลอดจนการขยายแคธิกอรี่ใหม่ การเข้าใจพันธมิตรทางการค้า โดยเฉพาะร้านค้าต่างๆ เพราะมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา อีกทั้งยังมุ่งเน้นด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่าวิกฤตเป็นโอกาส บริษัทจึงใช้งบการตลาดมากขึ้น ล่าสุดในเดือนเม.ย.นี้บริษัทเตรียมจัดแคมเปญช่วยชาติ และปีนี้ได้ทุ่มงบ 50 ล้านบาท ลงทุนระบบบำบัดน้ำเสีย ที่ โรงงานนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง

ภาพรวมตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา เติบโต 14% เพราะได้รับอานิสงส์จากเทศกาลปีใหม่และตรุษจีน แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ พบว่าตลาดโตลดลง แต่คาดว่าภาพรวมทั้งปีตลาดเติบโต 4-5% ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากนัก และเชื่อว่าผลพวงจากวิกฤตการณ์ทางการเงินสหรัฐอเมริกา ไม่ส่งผลกระทบต่อไทยในภาพรวมมากนัก เพราะมีรากฐานที่แข็งแกร่ง โดยไทยได้รับผลกระทบด้านการส่งออกเป็นหลักมากกว่า

นายบาวเค่อ กล่าวต่อว่า ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ปัจจุบันมีความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับ 110 ประเทศที่บริษัทแม่เข้าไปลงทุน จาก3 ปัจจัยหลัก คือ 1.การกระจายสินค้าไปยังร้านค้าต่างๆทั่วประเทศ 2.การบริหารด้านการจัดการและต้นทุนและบริหารตรงเวลา 3.กิจกรรมเพื่อมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคม(ซีเอสอาร์) ที่สนับสนุนให้บริษัทมีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้ 3 หมื่นล้านบาท

สำหรับการเข้ารับตำแหน่งบริหารสูงสุดในประเทศไทยครั้งนี้ ถือว่าเป็นความท้าทาย เพราะตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคแข่งขันอย่างรุนแรง จากการมีผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาทำตลาดหลายราย อย่างไรก็ตามตนเองมีประสบการณ์ด้านบริหารธุรกิจกลุ่มอาหารในอเมริกามาก่อนหน้านี้ การเข้ามาบริหารสินค้าทั้งอุปโภคบริโภคในไทย เชื่อว่า ตลาดอุปโภคไม่ได้มีความแตกต่างจากตลาดบริโภค แต่ความท้าทาย คือ การเป็นที่ 1 ชนะใจทั้งผู้บริโภค คู่ค้าและชุมชน และประการสำคัญ คือ การพัฒนาตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคไทยให้อยู่ระดับแนวหน้าในอาเซียน

Source: ASTV ผู้จัดการออนไลน์


  • 2
  •  
  •  
  •  
  •