AIS ชวนลูกค้า Burn Point สร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งผ่านโครงการพอยท์เพย์บนแอปฯ ถุงเงิน

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

เพราะเศรษฐกิจที่บอกได้ว่าอยู่ในยุค “ข้าวยากหมากแพง” ทำให้หลายคนพยายามมองหาวิธีประหยัด AIS เลยชวนลูกค้าประหยัดหันมาใช้คะแนนจ่ายแทนเงินสดสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบใหม่ ขณะที่ร้านค้าสามารถใช้แอปฯ “ถุงเงิน” จากโครงการคนละครึ่งมารับชำระได้ภายใต้โครงการพอยท์เพย์ ช่วยให้เกิด Engagement กับแบรนด์และสร้างความภักดี (Loyalty) ให้กับแบรนด์

เรียกว่าเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวหลังภาครัฐมีโครงการ “คนละครึ่ง” ซึ่งเป็นโครงการที่อย่างน้อยก็ช่วยให้เหล่าพ่อค้าแม่ค้าสะดวกและมั่นใจกับการรับชำระเงินผ่านแอปฯ ถุงเงิน และแม้ว่าจะไม่มีโครงการคนละครึ่งแล้วก็ตาม แม่ค้าพ่อค้าเหล่านั้นก็ยังสามารถสร้างประสบการณ์การรับชำระเงินผ่านแอปฯ ได้อย่างต่อเนื่อง

จนเมื่อทั่วโลกประสบปัญหาเศรษฐกิจที่มาของอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์โรคระบาด แถมด้วยภาวะสงครามจนทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่เงินในกระเป๋ามีแต่ลดลงไม่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP แตะระดับ 90% ทำให้หลายคนเริ่มหาวิธีการประหยัด เพราะทุกคนยังต้องกินต้องใช้แม้ว่าราคาสินค้าต่างๆ จะปรับตัวสูงขึ้น

 

AIS จับมือธนาคารกรุงไทยหนุนเศรษฐกิจฐานราก

นอกจากประชาชนทั่วไปที่เป็นกลุ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว กลุ่มพ่อค้าแม่ค้ายังถือเป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นเส้นเลือดฝอยก็มีส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศในภาพใหญ่ โดยเฉพาะ ร้านค้ารายย่อย ร้านอาหารสตรีทฟู้ด รถเข็น ตลาดสด ล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของระบบโครงสร้างของเศรษฐกิจทั้งภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ

สอดคล้องกับภารกิจการทำงานของ AIS และ ธนาคารกรุงไทย ที่มุ่งมั่นผสานจุดแข็งร่วมกันเดินหน้าแบ่งเบาภาระของคนไทยและสนับสนุนร้านค้าถุงเงินที่อยู่ในระบบของธนาคารกรุงไทย ผ่านโครงการ “พอยท์เพย์” หวังกระตุ้นการใช้จ่ายหลังจบโครงการคนละครึ่งของภาครัฐ โดยให้ลูกค้า AIS สามารถใช้คะแนน AIS Points แลกรับส่วนลดเงินสดกับร้านค้าถุงเงินกว่า 400,000 ร้านค้าทั่วประเทศ

คุณปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS ชี้ว่า ภาพรวมของประเทศเกิดภาวะชะลอตัวของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการและกำลังซื้อของผู้บริโภค นอกจาก AIS เดินหน้าพัฒนาบริการดิจิทัลสำหรับคนไทยแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนภาคธุรกิจรายย่อย รวมถึงการแบ่งเบาภาระของลูกค้าไปพร้อมๆ กัน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพลิกฟื้นระบบเศรษฐกิจฐานราก

 

พอยท์เพย์ ประสบการณ์ใหม่การช้อปปิ้ง

สำหรับโครงการพอยท์เพย์เป็นความร่วมมือระหว่าง AIS และธนาคารกรุงไทยตั้งแต่ปี 2564 ด้วยการเชื่อมต่อให้ร้านค้าที่ใช้แอปฯ ถุงเงิน ในระบบของธนาคารกรุงไทย ไม่ว่าจะเป็นร้านค้ารายย่อย ร้านค้าริมทาง ร้านอาหาร ร้านค้าในตลาด ซึ่งมีมากกว่า 400,000 ร้าน มาเป็นช่องทางเพื่อให้ลูกค้า AIS สามารถนำคะแนนสะสม AIS Points มาใช้ชำระค่าสินค้าแทนเงินสดได้

 

นอกจากโครงการพอยท์เพย์จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประจำวัน โดยเฉพาะในหมวดอาหารและเครื่องดื่มแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายให้เกิดรายได้หมุนเวียนกับบรรดาร้านค้าที่ใช้แอปฯ ถุงเงินทั่วประเทศอีกด้วย ในช่วที่ผ่านมาเรียกได้ว่าคนไทยมีความคุ้นชินกับการใช้งานแอปพลิเคชันบนมือถือผ่านการใช้จ่ายต่างๆ ช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย ปลอดภัยและเข้าถึงสิทธิพิเศษจากโปรโมชันต่างๆ ได้ง่าย ปัจจุบันมีลูกค้าที่ได้รับ AIS Points กว่า 20 ล้านคน มีคะแนนสะสมของลูกค้ากว่า 2,600 ล้านคะแนน

สำหรับตอนนี้มีเปิดให้ Burn Point ได้แน่นอนที่ตลาด อ.ต.ก โดยมองหาร้านที่มีสัญลักษณ์ป้าย “ถุงเงิน” และป้าย พอยท์เพย์ โดยลูกค้า AIS สามารถใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน My AIS (จำเป็นต้องเปิดใช้งาน GPS ด้วย) จากนั้นเลือกสแกน โดยทางร้านค้าสามารถใช้แอปฯ ถุงเงิน ในการสร้าง QR Code เพื่อใช้สำหรับชำระเงินผ่านคะแนน AIS Point โดยในอนาคตจะมีการขยายร้านค้าเพื่อให้ครอบคลุมทุกร้านค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม

ด้าน คุณธวัชชัย ชีวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริการสายงานสายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย เห็นว่า โครงการพอยท์เพย์เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ และยังเป็นการผสานจุดแข็งของ 2 องค์กรชั้นนำของประเทศ ที่มีเป้าหมายในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างรอบด้าน

 

สิ่งที่ทั้ง 2 องค์กรจะได้จากโครงการนี้

สำหรับโครงการ “พอยท์เพย์” จะใช้เทคโนโลยีของธนาคารกรุงไทยในการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มและช่องทางการรับชำระค่าสินค้าและค่าบริการภายใต้แอปฯ สำหรับร้านค้าอย่าง “ถุงเงิน” เพื่อให้การชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลสามารถทำได้คล่องตัวขึ้น ที่สำคัญยังสามารถใช้คะแนนสะสมของพันธมิตรรายอื่นๆ มาแลกเป็นคะแนนของ AIS เพื่อใช้ชำระสินค้าแทนเงินสดได้ โดยสามารถใช้ AIS Point จำนวน 2 คะแนนแทนเงินสดได้ 1 บาท

เนื่องจากที่ผ่านมาคะแนนต่างๆ มีการใช้งานน้อยเมื่อเทียบกับคะแนนที่มีการปล่อยออกไป ทำให้ต้องเสียคะแนนไปโดยใช่เหตุทั้งที่คะแนนมีมูลค่า ยิ่งไปกว่านั้นการที่ AIS เข้าร่วมโครงการดังกล่าวยังช่วยให้ลูกค้าของ AIS สามารถ Burn Point ไปกับการชำระสินค้าที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบใหม่ และยังช่วยให้ลูปค้า AIS เกิด Engagement ร่วมอีกด้วย

ขณะที่ธนาคารกรุงไทยที่มีร้านค้าใช้งานแอปฯ ถุงเงินถึง 1.6 ล้านราย โดยมี 8 แสนรายที่อยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งหรือ 4 แสนรายสามารถรับชำระเงินด้วย AIS Point ซึ่งจะช่วยให้ร้านค้าที่ใช้แอปฯ ถุงเงินมีช่องทางการชำระเงินได้หลากหลายและช่วยสร้างโอกาสการซื้อขายได้ง่ายขึ้น โดยในอนาคตจะมีการขยายรูปแบบการให้บริการผ่าน AIS Point เพิ่มเติม อาทิ การซื้อหวยบนแอปฯ เป๋าตังด้วย AIS Point

อีกสิ่งที่ทั้ง 2 องค์กรจะได้จากโครงการนี้ คือการเรียนรู้พฤติกรรมผู้ใช้งาน โดยเฉพาะสถานที่ที่ใช้งานเพื่อที่จะสามารถลงพื้นที่ในการขยายรูปแบบการให้บริการได้ และจะช่วยให้การใช้คะแนนของทาง AIS ในรูปแบบการจับจ่ายใช้สอยผ่านแอปฯ ถุงเงินของธนาคารกรุงไทย ยังคงแอคทีฟได้อย่างต่อเนื่องและช่วยให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ เข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา