Telenor สั่งลุย!!! เดินหน้าควบรวมฝ่าเสียงค้านรอบด้าน มั่นใจ กสทช.ไฟเขียวแน่        

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

25 ปี ถือว่าไม่ใช่เวลาที่น้อยไปสำหรับ dtac ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ 1 ใน 3 รายของไทย แต่วันนี้ dtac กำลังอยู่ในช่วงยืนบนปากเหว และทางออกเดียวคือการเข้าสู่กระบวนการควบรวมกิจการกับค่ายใหญ่อย่าง true ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผลกระทบจากด้านเงินทุนของ Telenor เอง และอีกส่วนคือความเชื่อใจของผู้บริโภคหลัง dtac พลาดใบอนุญาตการประมูลคลื่น 4G และ 5G

 

ตลอด 25 ปีถือว่า dtac เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านความวุ่นวายทางการเมือง ผ่านอุบัติภัยต่างๆ มากมาย แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิก เมื่อ Telenor บริษัทแม่ของ dtac จากประเทศนอร์เวย์ประสบปัญหาด้านการเงิน จนกระทบธุรกิจที่ Telenor ถืออยู่ และนำไปสู่การควบรวมกิจการระหว่าง dtac และ true สองผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของไทย

 

ฝ่าปัญหาการควบรวมความท้าทายครั้งใหญ่

กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตระดับโลก เมื่อ dtac บริษัทในเครือ Telenor ประกาศความร่วมมือครั้งใหญ่กับ true ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมของไทย ในการประกาศควบรวมธุรกิจ dtac ชี้แจงถึงเหตุผลด้านการแข่งขันที่รุนแรงและการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ส่งผลให้การควบรวมกันจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการให้บริการและยังช่วยให้ตลาดสามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น

ขณะที่หลายฝ่ายต่างออกมาคัดค้าน อาทิ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่มองว่าการควบรวมจะทำให้การแข่งขันในตลาดเหลือเพียง 2 รายเท่านั้น และอาจจะเกิดการผูกขาดตลาดได้หรืออาจจะทำให้การแข่งขันน้อยลง ซึ่งเป็นผลเสียต่อผู้บริโภค เนื่องจากไม่มีการแข่งขันราคา รวมไปถึงการพัฒนาแพ็คเกจเพื่อดึงดูดผู้บริโภค และจะกลายเป็นการแบ่งเค้กมากกว่าแย่งชิงเค้ก!!!

 

นอกจากนี้ยังมีการอ้างถึงหลายประเทศที่ไม่ยอมให้ธุรกิจด้านโทรคมนาคมควบรวมกิจการจนเหลือเพียง 2 ราย อาทิ สิงคโปร์ที่มีผู้ให้บริการมากกว่า 3 ราย เพื่อให้ตลาดเกิดการแข่งขัน โดยกระบวนการควบรวมในปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ กสทช.ในฐานะผู้กำกับกิจการโทรคมนาคม

 

dtac ชัดเจนยังไงก็ต้องควบรวม

ด้าน dtac เองก็แสดงความชัดเจนด้วยการยืนยันว่า การควบรวมครั้งนี้กับ true จะช่วยให้ dtac สามารถพัฒนาการให้บริการกับลูกค้าได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการควบรวมครั้งนี้จะเป็นการตั้งบริษัทใหม่และจะบริหารปริษัทใหม่ร่วมกันในรูปแบบ Eco-Partnership หรือที่ dtac หมายถึงคือการนำศักยภาพของทั้ง 2 ค่ายและแบ่งงานบริหารเท่าๆ กัน ซึ่งจะช่วยให้บริษัทใหม่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้น

นายซิคเว่ เบรคเก้ President and Chief Executive Officer (CEO) Telenor Group

โดย นายซิคเว่ เบรคเก้ President and Chief Executive Officer (CEO) Telenor Group ชี้ว่า ทุกวันนี้การเข้าถึงมือถือของคนไทยอยู่ที่ 86% และมีการเชื่อมต่อมือถือจำนวน 98.5 ล้านเครื่อง การมาถึงของ 5G และนวัตกรรมอย่าง AI และ IoT ทำให้รูปแบบการแข่งขันเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่การแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม แต่เป็นการแข่งขันกับยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon Web Service (AWS), Google Cloud และ Microsoft ขณะที่อีกด้านบริษัทเหล่านี้ก็เป็นพันธมิตรที่มีศักยภาพ ซึ่งการควบรวมกับ true จะช่วยให้สามารถพัฒนาไปสู่ยุค Growth 2.0 ได้

 

นอกจากนี้นายซิคเว่ ยังมองว่าการควบรวมครั้งนี้เป็นการรวมตัวของค่ายเล็ก 2 ค่าย และจะช่วยให้สามารถสู้กับรายใหญ่อย่าง AIS ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ นายซิคเว่ยังชี้ให้เห็นว่า แม้ในต่างประเทศจะมีผู้ให้บริการมากกว่า 3 ราย แต่จะมีเพียงแค่ 1-2 รายเท่านั้นที่มีศักยภาพแข่งขัน ส่วนรายอื่นๆ แทบจะไม่มีการพัฒนา

นายซิคเว่ ยังเชื่อว่า กสทช.จะเห็นถึงประโยชน์การควบรวม ซึ่งหากไม่เป็นไปตามที่คาด เช่น กสทช.ไม่อนุมัติให้มีการควบรวม dtac ก็ต้องยอมรับการตัดสินใจนั้น ซึ่งอาจส่งผลเสียมากกว่าเนื่องจาก datc ไม่มีเงินลงทุน หมายถึงลูกค้า dtac จะได้รับการบริการแบบเดิมๆ

 

แม้ว่านายซิคเว่จะไม่บอกตรงๆ แต่ก็กำลังส่งสัญญาณว่า หากไม่สามารถควบรวมได้ เมื่อถึงจุดที่ขาดทุนจบรับไม่ได้ dtac ก็อาจถอนตัวออกจากประเทศไทย หรือที่เข้าใจง่ายๆ คือ dtac กำลังมัดมือชก กสทช.อยู่

 

ความรุ่งโรจน์ครั้งวันวานของ dtac

ในอดีต dtac เดิมชื่อว่า TAC (Total Access Communication) อยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของ UCOM ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยมรตระกูล “เบญจรงคกุล” เป็นผู้บริหาร แต่เมื่อวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 โหมหนัก Telenor ก็เข้ามาช่วยและเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “dtac” ภายใต้ภาพลักษณ์คู่หู CEO อย่าง วิชัย เบญจรงคกุล และ ซิคเว่ เบรคเก้ ซึ่งนอกจากช่วยสร้าง Awareness แล้ว ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับ dtac แม้จะเป็นฝรั่งแต่ก็เข้าถึงคนไทย

dtac ในช่วงเวลานั้นถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองอย่างมาก เนื่องสามารถท้าชนผู้นำตลาดชนิดที่ขี่คอกันแย่งชิงผู้นำตลาด จนถึงขนาดที่ว่า พื้นที่ใด AIS ไม่มีสัญญาณ dtac จะมีสัญญาณเต็ม และพื้นที่ใด dtac ไม่มีสัญญาณ AIS จะสัญญาณเต็ม จนถึงขนาดแข่งขันแย่งชิงพื้นที่ครอบคลุมสัญญาณทั้งในป่า บนเกาะหรือกลางทะเล จนผลงานซิคเว่เข้าตาบริษัทแม่ และย้ายซิคเว่ไปดูแลธุรกิจในสเกลที่ใหญ่ขึ้น ถือเป็นการปิดตำนานคู่หู CEO โดยปริยาย พร้อมๆ กับเข้าสู่ช่วงเวลาถดถอย

dtac เริ่มฉายแสงกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เมื่อ จอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ มารับตำแหน่ง CEO dtac การมาของจอน มาพร้อมกับรูปแบบการบริหารคล้ายซิคเว่ ที่ต้องการเป็นฝรั่งที่เข้าถึงและเข้าใจคนไทย จนสามารถนำ dtac ขึ้นมารั้งตำแหน่งอันดับ 2 ของตลาดชนิดที่เตรียมขี่คอผู้นำตลาด และยิ่งส่อแววรุ่งโรจน์เมื่อสามารถประมูลคว้าใบอนุญาตคลื่น 3G ได้ แต่ดันตกม้าตายเพราะต้องการโชว์ความแรง 3G ในการ LIVE แต่มันดัน “กระตุก” ซะงั้น ผลที่ตามมาคือการแสดงสปิริตด้วยการ…ลาออก!!!

 

เดินเกมพลาดพลีชีพทั้งกระดาน

เมื่อ dtac เว้นว่าง CEO ซิคเว่จึงถูกส่งมาขัดตาทัพ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ช่วยอะไรได้มาก จนกระทั่ง ลาร์ส โอเคะ นอร์ลิ่ง เข้ามาเป็น CEO dtac ในฐานะที่เคยบริหารแก้วิกฤติที่สวีเดนจนสำเร็จ แต่ที่นี่ประเทศไทย!!! ปราบเซียนมานักต่อนักแล้ว และครั้งนี้ก็เช่นกัน เมื่อ dtac พลาดท่าการประมูลคลื่นความถี่จนไม่สามารถคว้าคลื่นความถี่มาไว้ในมือได้ ทั้งคลื่น 900MHz และ 1800MHz จนเรียกว่าก่อปัญหาครั้งใหญ่ให้กับ dtac

ปัญหาใหญ่ระดับที่ CEO dtac ขอลาออกไปอีกราย และหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ dtac เกิดปัญหาใหญ่นั่นคือสภาพการเงินของ Telenor บริษัทแม่ของ dtac เริ่มส่งสัญญาณถึงปัญหาทางการเงิน และยิ่งชัดเจนมากขึ้นในการประมูลคลื่น 5G ที่ dtac ไม่สามารถคว้าใบอนุญาตคลื่นที่สามารถนำมาใช้ได้ทันทีในปัจจุบัน ซึ่งได้มาเฉพาะคลื่นความถี่ 26GHz ซึ่งเป็นคลื่น 5G ที่เหมาะกับภาคธุรกิจมากกว่า

 

จนกระทั่งปัญหาด้านการเงินของ Telenor สุกงอมได้ที่ จึงเริ่มมีการขายกิจการและควบรวมธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างในเมียนม่า (พม่า) และมาเลเซีย รวมถึงประเทศไทยด้วย และอาจเรียกได้ว่าเป็นการปิดตำนานผู้เล่นในตลาดโทรคมนาคมที่เคยยิ่งใหญ่ หลังจากนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทใหม่ หรือจะเป็นการปิดตำนานแบบกลบฝังดินต้องติดตามกันต่อไป


  •  
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา