ระวังโควิดเวฟ 2! “Ipsos” เผยธุรกิจไทย-คนไทยการ์ดตก พร้อมผลสำรวจแบรนด์ที่เข้ม “สุขอนามัย” มากสุด

  • 884
  •  
  •  
  •  
  •  

COVID-19-Second-Wave
Photo Credit : Norbert Braun / Shutterstock.com

ผลวิจัยของ “Ipsos(อิปซอสส์) ชี้ธุรกิจไทยยังไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัยเท่าที่ควร โดยเฉพาะ “ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต” และ “ร้านอาหารจานด่วน” (QSR: Quick Service Restaurants) ที่ปฏิบัติตามมาตรการเฉลี่ยไม่ถึง 70%

ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกเดินหน้าคลายล็อคดาวน์เพื่ออุ้มเศรษฐกิจ แต่ในเวลาเดียวกันกลับพบว่าสัญญาณการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกที่สองก็เริ่มปรากฏในบางประเทศแล้ว เช่น จีน และเกาหลีใต้

ส่วนสถานการณ์ประเทศไทย ยังคงต้องระมัดระวัง และปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระลอกใหม่ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงอยู่ จึงยังมีความเสี่ยงในการกลับมาแพร่ระบาดซ้ำ ดังนั้นภาคธุรกิจและประชาชนจึงยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้

Ipsos ได้เผยผลการศึกษา “ดัชนีสุขภาพและความปลอดภัย” (Health and Safety Index) ที่เป็นการสำรวจสถานประกอบการทั่วประเทศของกว่า 22 แบรนด์ใน 5 ภาคธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจห้างสรรพสินค้า, ธุรกิจร้านอาหาร, ธุรกิจเทเลคอม, ธุรกิจร้านอาหารจานด่วน หรือ QSR: Quick Service Restaurants, ซูเปอร์มาร์เก็ต ในระหว่างวันที่ 22 – 29 พฤษภาคม 2563

โดยคำนวณดัชนีรวมจากการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยของรัฐบาลและการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดต่าง ๆ เช่น การจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ, การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และการสวมหน้ากากอนามัย เป็นต้น

จากการศึกษาพบว่า ธุรกิจไทยถึง 99.6% ให้ความร่วมมือกับมาตรการด้านสุขอนามัยของรัฐบาล โดยมีการให้ผู้บริโภคสแกน QR CODE ผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ก่อนเข้า-ออกร้าน

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่ายังคงมีหลายมาตรการที่ภาคธุรกิจไม่ได้ปฏิบัติตามเท่าที่ควร โดยจากผลสำรวจพบว่า

  • มีเพียง 67.8% จากสถานประกอบการที่สำรวจทั้งหมดที่มีมาตรการจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ

  • และมีเพียง 79.5% เท่านั้นที่มีการตรวจวัดไข้ลูกค้าก่อนเข้าร้าน

ในขณะเดียวกันหากมองจากฝั่งของลูกค้าแล้ว พบเหตุการณ์ที่ลูกค้าไม่ได้เว้นระยะห่างกันตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในสถานประกอบการที่สำรวจมากถึง 60.7%

 

ห้างสรรพสินค้า – ร้านอาหาร” คุมเข้มมาตรการความปลอดภัยสูงสุด

หากดูจากดัชนีรวมแล้ว “ธุรกิจห้างสรรพสินค้า” เป็นธุรกิจที่เคร่งครัดเรื่องมาตรการสุขอนามัยและความปลอดภัยสูงที่สุดโดยปฏิบัติตามดัชนีชี้วัดเฉลี่ยมากถึง 87.9% ตามด้วย “ธุรกิจร้านอาหาร” 86.7%

อย่างไรก็ตามพบว่า “ธุรกิจร้านอาหารจานด่วน” (QSR: Quick Service Restaurants) และ “ซูเปอร์มาร์เก็ต” ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีผู้คนสัญจรเข้า-ออกจากร้านเป็นจำนวนมาก มีความเคร่งครัดด้านมาตรการสุขภาพและความปลอดภัยน้อยกว่า โดยหากดูจากภาพรวมแล้วปฏิบัติตามมาตรการเฉลี่ยต่ำกว่า 70%

 

5 อันดับแบรนด์ที่ปฏิบัติตามมาตรการสุขอนามัยมากสุด

แม้ก่อนหน้านี้ธุรกิจหลายแห่งจะออกมาประกาศแผนการเตรียมความพร้อมเปิดให้บริการตามข้อกำหนดหลังรัฐบาลประกาศผ่อนปรนล็อคดาวน์ แต่เนื่องด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้แต่ละแบรนด์สามารถปฏิบัติตามมาตรการเหล่านั้นได้ไม่เท่ากัน

โดยหากดูจากทุกภาคธุรกิจแล้ว 5 อันดับแบรนด์ที่ปฏิบัติตามดัชนีสุขภาพและความปลอดภัยมากที่สุด ได้แก่

อันดับ 1 ไอคอนสยาม – ICONSIAM (94.8%)

อันดับ 2 บาร์บีคิวพลาซ่า – Bar B Q Plaza (92.8%)

อันดับ 3 เดอะมอลล์ – THE MALL (89.7%)

อันดับ 4 เอ็มเค – MK Restaurants (89.4%)

อันดับ 5 เอไอเอส – AIS (88.9%)

 

เจาะลึกใน 5 กลุ่มธุรกิจ แบรนด์ไหนคุมเข้มมาตรการสุขอนามัยมากสุด

หากลองมองเจาะลึกลงไปในแต่ละภาคธุรกิจแล้ว สามารถเรียงลำดับแบรนด์ที่ปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขอนามัยตาม

ดัชนีสุขภาพและความปลอดภัยได้ดังนี้

 

ธุรกิจห้างสรรพสินค้า (ภาพรวม 87.9%)

อันดับ 1 ไอคอนสยาม – ICONSIAM (94.8%)

อันดับ 2 เดอะมอลล์ – THE MALL (89.7%)

อันดับ 3 เมกาบางนา – Mega Bangna (87.6%)

 

ธุรกิจร้านอาหาร(ภาพรวม 86.7%)

อันดับ 1 บาร์บีคิวพลาซ่า – Bar B Q Plaza (92.8%)

อันดับ 2 เอ็มเค – MK Restaurants (89.4%)

อันดับ 3 ฟูจิ – Fuji (86.1%)

 

ธุรกิจเทเลคอม (ภาพรวม 82.2%)

อันดับ 1 เอไอเอส – AIS (88.9%)

อันดับ 2 ทรู – True (82.7%)

อันดับ 3 ดีแทค – dtac (81.8%)

อันดับ 4 ซัมซุง – Samsung (78.3%)

อันดับ 5 แอปเปิ้ล – Apple (77.8%)

 

ธุรกิจร้านอาหารจานด่วน หรือ QSR : Quick Service Restaurants (ภาพรวม 69.5%)

อันดับ 1 เคเอฟซี – KFC (73.6%)

อันดับ 2 เบอร์เกอร์คิง – Burger King (67.9%)

อันดับ 3 แมคโดนัลด์ – McDonald’s (67.1%)

 

ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ต (ภาพรวม 69.4%)

อันดับ 1 ท็อปส์ – Tops (76.5%)

อันดับ 2 กูร์เมต์มาร์เก็ต – Gourmet Market (72.2%)

อันดับ 3 เทสโก้ โลตัส – Tesco Lotus (69%)

อันดับ 4 วิลล่ามาร์เก็ต – Villa Market (66.1%)

อันดับ 5 บิ๊กซี – Big C (64.3%)

ในขณะที่ความคืบหน้าของวัคซีนยังคงอยู่ในระยะการพัฒนาวิจัยมาตรการรักษาสุขภาพและความปลอดภัย จึงเป็นเกราะป้องกันเดียวที่จะช่วยไมให้เกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ซึ่งนอกจากมาตราการต่างๆ แล้ว ธุรกิจ และห้างร้านจำเป็นต้องมีระบบตรวจสอบที่มีความแม่นยำ และมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่ามาตรการต่างๆ ได้ถูกปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และเพื่อให้ธุรกิจเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ไปได้


  • 884
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ