เปิด 2 กลยุทธ์ ‘เนสกาแฟ’ ตอบเทรนด์ ‘รักษ์โลก’ชิงตลาดกาแฟ 6 หมื่นล้าน

  • 5
  •  
  •  
  •  
  •  

“Serhiy Chaiko _ Shutterstock.com” “nescafe”

‘กาแฟ’ ถือเป็นอีกหนึ่งในตลาดที่มีความเคลื่อนไหวรวดเร็วและมีอุณหภูมิการแข่งขันที่ร้อนแรง โดยตอนนี้ในไทยมีมูลค่าตลาดรวมราว 60,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการดื่มในบ้าน 33,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นตลาดดื่มนอกบ้าน

หากลงลึกในรายละเอียดพบว่า  นับตั้งแต่มกราคมถึงสิงหาคม 2563 ตลาดกาแฟดื่มในบ้านหรือกาแฟชงเองนั้นมีการเติบโตขึ้น 10.7% ซึ่งเป็นการเติบโตสูงต่างจากหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดกาแฟดื่มนอกบ้านมีการเติบโตลดลง 30-40% และในช่วงล็อคดาวน์ลงไปกว่า 50% สาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของคนหันมาดื่มกาแฟชงเองในบ้านเพิ่มขึ้น และลดการไปนั่งตามร้านหรือดื่มนอกบ้าน

ทิศทางของตลาดที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เจ้าของแบรนด์ ‘เนสกาแฟ’ จึงเห็นโอกาสทางธุรกิจ และเดินหน้าบุกตลาดที่ไม่เพียงจะนำเสนอโปรดักท์ที่มีนวัตกรรมและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคเท่านั้น ยังให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและรักษ์โลกด้วย เนื่องจากตรงกับเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบันที่สะท้อนจากผลการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคของกันตาร์ (Kantar) พบว่า

ขยะพลาสติกเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอันดับ 1 ในไทย โดยคนไทยกว่า 63% ระบุขยะพลาสติกเป็น 1 ใน 5 อันดับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่น่ากังวล สอดคล้องกับข้อมูลของกรมมลพิษเมื่อปี 2562 ที่พบว่า คนไทยสร้างขยะพลาสติกมากถึง 1.14 กิโลกรัม ต่อคนต่อวัน รวมทั้งมีขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยประมาณ 27.04 ล้านตันต่อปี

นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจด้านความยั่งยืนของเนสท์เล่ระดับโลกที่มีเป้าหมายเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดให้รีไซเคิลได้หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ภายในปี 2568 และสอดคล้องกับแผนการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ของภาครัฐ

โดยเนสกาแฟมี 2 กลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ การนำเสนอนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์สีเขียวออกสู่ตลาดเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคสายรักษ์โลกอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการสร้างอนาคตที่ปลอดขยะ ด้วยการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วมาอัพไซเคิลเป็นไอเท็มต่าง ๆ ซึ่งมีการนำเสนอชัดเจนในแคมเปญเนสกาแฟ เดย์

กลยุทธ์แรก การนำเสนอนวัตกรรมเพื่อโลกสีเขียว ทางเนสกาแฟมีเป้าหมายจะเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์เนสกาแฟทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ให้นำไปรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2565 เริ่มนำร่องจากกลุ่มผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรู และกลุ่มผลิตภัณฑ์เนสกาแฟพร้อมดื่ม ก่อนจะขยายไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

ยกตัวอย่าง การพัฒนาซองเนสกาแฟ โพรเทค โพรสลิมให้เป็นนวัตกรรมแบบ Mono Structure ที่มาพร้อมคุณสมบัติในการกักเก็บรสชาติ กลิ่น และความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ในซองจนถึงมือผู้บริโภคและสามารถนำไปรีไซเคิลได้เป็นครั้งแรกของโลก , กลุ่มกาแฟกระป๋องพร้อมดื่ม เนสกาแฟถือเป็นแบรนด์แรก ๆ ในตลาดที่สามารถเปลี่ยนมาใช้กระป๋องอะลูมิเนียมที่นำไปรีไซเคิลได้ 100% ทั้งหมดในเดือนตุลาคม 2563

กลยุทธ์ถัดมา การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบรรจุภัณฑ์เนสกาแฟที่ใช้แล้วด้วยการนำไปอัพไซเคิล เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากพลาสติกสูงสุด ภายใต้ธีม “เชื่อมทุกความผูกพัน ชงเพื่อความยั่งยืน” เริ่มจากการนำซองผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรูที่ส่งมาร่วมชิงโชคกับเนสกาแฟทุกปีจำนวนมากกว่า 100 ล้านซองมาอัพไซคลิ่งเป็นวัสดุรักษ์โลกอย่างไม้เทียม (Wood Plastic Composite- WPC) สำหรับทำเป็นโต๊ะอาหารมอบให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ 100 แห่ง

พร้อมกับนำไปใช้ตกแต่งเนสกาแฟฮับใน 2 สาขาใหม่ คือ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเพลินจิต และหมอชิต ก่อนจะทยอยเปลี่ยนใน 5 สาขาเดิม ได้แก่ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสชิดลม อารีย์ อนุสาวรีย์ชัย ศาลาแดง และช่องนนทรี รวมถึงจะนำวัสดุอัพไซคลิ่งจากซองเนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรู มาตกแต่งในเนสกาแฟ สตรีท คาเฟ่ อีกด้วย ซึ่งจะเป็นต้นแบบของร้านเนสกาแฟ สตรีท คาเฟ่ต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ยังได้ประกวดผลงานการสร้างสรรค์ไอเท็มใหม่ โดยได้ร่วมมือกับอาจารย์วิทยาลัยสารพัดช่าง ระยอง นำกระป๋องอะลูมิเนียมใช้แล้วมาสร้าง Prototype หุ่นยนต์สั่งการด้วยเสียงที่สามารถแจกตัวอย่างเครื่องดื่มได้ เพื่อให้เห็นว่า ขยะสามารถนำไปใช้ต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคมและส่วนรวมได้ จะเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป

เพราะเทรนด์ของธุรกิจที่กำลังมาแรงในยุคนี้ นอกจากตัวโปรดักท์ดี ทำการตลาดเก่งแล้ว แบรนด์ต้อง ‘รักษ์โลก’ ด้วย 


  • 5
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE