ทุกวันนี้คงจะต้องขอบคุณบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่เข้ามามอบความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะฝนตกแดดออก ก็สะดวกสบายได้ทุกที่ โดยเฉพาะกับผู้ที่อยู่ในตัวเมืองที่ไม่ค่อยมีเวลามากนัก แต่ถ้าพูดถึงในมุมธุรกิจ สนามแข่งขันของฟู้ดเดลิเวอรี่แพลตฟอร์มนั้นจะเรียกได้ว่าเป็น Red ocean ก็คงจะไม่ผิด เพราะแข่งขันกันดุเดือดมาก
ทว่าเมื่อช่วงเดือนมีนาคมปีที่แล้ว มี Start Up หน้าใหม่ชื่อว่า ทิฟฟินแล็บส์ (TiffinLabs) มาเปิดตัวเงียบ ๆ ในไทย เป็นสตาร์ทอัพจากประเทศจากสิงค์โปร์และมีสาขาที่มาเลเซีย นำเสนอด้วยโมเดลธุรกิจแบบ “Virtual Restaurant Brands” ซึ่งพยายามฉีกตัวออกมาจากสนามรบการแข่งขัน
ซึ่งทีเด็ดของ ทิฟฟินแล็บส์ เกิดจากการเห็น Pain Point ของผู้ประกอบการร้านอาหารว่า มีร้านอยู่แล้ว มีพนักงาน อุปกรณ์ วัตถุดิบ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการสิ้นเปลืองในการแบกต้นทุน ก็สามารถแทรก “แบรนด์ซ้อน” ไปในร้านเดิมไปเลย หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเป็น 2 in 1 ในตัว (หรือมากกว่านั้นก็ได้) โดยยังคงมีแบรนด์หลักดั้งเดิมของตัวเอง และแบรนด์รองที่สามารถเลือกจาก ทิฟฟินแล็บส์ มาลงได้ ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยร้านอาหารให้สามารถมีรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นไปในตัวด้วย โดยไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มเติมให้มากมาย
การก่อตั้งของทิฟฟินแล็บส์ ที่ต้องการดัน SME ให้ไม่เสียเปรียบ
คุณ ภูมินันท์ ตันติประสงค์ชัย ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ ทิฟฟินแล็บส์ ได้เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำทิฟฟินแล็บส์ ได้ไอเดียจากสมัยอยู่แบรนด์ฟู้ดเดลิเวอรี่รายหนึ่งแล้วพบว่า ผู้ประกอบการค่อนข้างเสียเปรียบหลายอย่าง รวมถึงต้นทุนที่ไม่เหมาะสมเพราะโดนชาร์จค่า GP จากฟู้ดเดลิเวอรี่
หากกล่าวโดยสรุปแล้วปัญหาของ SME ก็คือ:
- ไม่ถนัดการทำ Digital marketing เลยทำให้รายได้ยังคงกระจุกแค่รับผ่านหน้าร้าน
- ต้นทุนที่ไม่เหมาะสำหรับการทำดิลิเวอรี่
- ปัญหาเวลาส่งสินค้าจากแพ็คเกคที่ไม่เหมาะสม ซึ่งส่งผลต่อการซื้อซ้ำที่ลดลง
- ทิฟฟินแล็บส์ เห็นปัญหาของการทำอาหารที่ล่าช้า เพื่อเป็นการประหยัดเวลาจึงได้ทำวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปบางส่วน และทำให้รสชาติอาหารคงที่อีกด้วย
ปัจจัยหลัก ๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดการก่อตั้งบริษัทในปี ค.ศ. 2020 กับพาร์ตเนอร์ชาวสิงคโปร์ ที่ทำด้านอสังหาริมทรัพย์และ F&B ซึ่งธุรกิจของทิฟฟินแล็บส์เติบโตค่อนข้างเร็วในช่วงที่ผ่านมา และต้องการขยายไปประเทศอื่น ๆ รวมถึงประเทศไทย
ประโยชน์ของการนำ Virtual Restaurant Brands โมเดลมาปรับใช้
คุณ พีรพัฒน์ เจียประเสริฐ ผู้จัดการทั่วไปของ ทิฟฟินแล็บส์ ประเทศไทย กล่าวว่า หลายคนมีความใฝ่ฝันอยากเปิดร้านเป็นของตัวเอง แต่กลับต้องปิดตัวอย่างรวดเร็ว เพราะปัญหาของร้านอาหารส่วนใหญ่ คือ “กำไร” น้อยกว่าธุรกิจประเภทอื่น ๆ
ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้ว 60% ของร้านอาหารจะปิดตัวลงใน 5 ปี และเฉลี่ยอัตราการเผาเงินสด (Cash Burn Rate) อยู่ที่ 45 วันหากไม่มีรายได้ใหม่ ๆ เข้ามา ดังนั้นด้วยโมเดล Virtual Restaurant Brands จึงทำให้เจ้าของร้านไม่จำเป็นต้องลงทุนอะไรเพิ่ม พร้อมค่าเฉลี่ยคืนทุนที่ไวและไม่จำเป็นต้องเสียค่าแฟรนไชส์ที่แพง
กรณีตัวอย่างร้านอาหารญี่ปุ่นจากการเลือกใช้ Virtual Restaurant Brand ช่วยให้รายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 30% หรือรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนบาทต่อเดือน มีกำไรประมาณ 40,000 บาทต่อเดือน
6 แบรนด์ Virtual Restaurants ในไทยที่ทิฟฟินแล็บส์นำเสนอ
ปัจจุบันแบรด์ Virtual Restaurants ที่ทิฟฟินแล็บส์นำมาเปิดในประเทศไทย มีด้วยกันทั้งหมด 6 แบรนด์ ได้แก่
- แฟตฟิงเกอร์ (Phat Fingers): ไก่ทอดสไตล์เกาหลี
- เซาท์เทิร์นโซล (Southern Soul): ไก่ทอดสไตล์อเมริกัน
- พาสต้าเทเบิ้ล (Pasta Table): สปาเก็ตตี้สไตล์คอมฟอร์ตฟู้ด
- โปเตโต้ แล็บ (Potato Lab): เฟรนช์ฟรายส์และเมนูทานเล่นต่างๆ
- ย่างดี (Yang Dee by Phat Fingers): ข้าวหน้าปิ้งย่างสไตล์เกาหลี
- ภูมิใจไก่ทอด (Phum Jai): ไก่ทอดสไตล์ไทย
ในอนาคต ทิฟฟินแล็บส์ตั้งเป้าหมายว่าอยากขยายให้มากกว่านี้ โดยตั้งเป้าปี 2025 ให้ถึง 1,000 สาขา และอยากขยายแบรนด์ร้านอาหารให้ถึง 15 แบรนด์ ในปี 2025 ซึ่งตอนนี้มีเป้าหมายทำแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น เพราะมีเสียงเรียกร้องมาจากผู้บริโภคค่อนข้างมากนั่นเอง
สุดท้ายนี้ร้านค้าที่ต้องการนำเมนูของ ทิฟฟินแล็บส์ มาขายในร้านของตัวเองสามารถติดต่อผ่านช่องทางเว็บไซต์หรือ LINE@ โดย ทิฟฟินแล็บส์ จะเข้าไปสำรวจธุรกิจเพื่อตรวจสอบให้เป็นไปตามมาตรฐานโดยเฉพาะเรื่องของ Food Safety โดยในช่วงแรกนี้ยังไม่มีค่าแรกเข้าอีกด้วย