‘ยูนิโคล่’ ต่อจิ๊กซอว์สร้าง ‘Seamless Experience’ ลุยเปิดสาขาทั้งในห้าง-โรดไซด์ และเร่งทำ O2O หวังครองใจผู้บริโภค

  • 232
  •  
  •  
  •  
  •  

ยุคปัจจุบัน Seamless Experience หรือ การสร้างประสบการณ์แบบไร้รอยต่อ กลายเป็นหนึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดที่หลายแบรนด์ในหลายธุรกิจพูดถึงและให้ความสำคัญ เพราะหากใครสามารถทำได้ และทำได้ดี นั่นหมายถึงมีโอกาสสูงในการเข้าไปพิชิตใจผู้บริโภค และเพิ่มยอดขาย

 

รวมถึง ยูนิโคล่ (Uniqlo) แบรนด์ Fast Fashion ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ซึ่งได้ประกาศชัดเจนในเรื่องนี้ โดยการสร้างประสบการณ์ดังกล่าว จะดำเนินการผ่านการขยายสาขาแบบ Physical Store ทั้งในห้าง และ โรดไซด์ สโตร์ (Roadside Store) ร้านสแตนอโลนในทำเลติดถนน ควบคู่ไปกับการขยายทาง Online Store ที่จะมีการทำ O2O (Online to Offline) มากขึ้นต่อจากนี้

การให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โอกุริ โทโมโยชิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ยูนิโคล่ (ประเทศไทย) อธิบายว่า 1. มาจากปรัชญาของแบรนด์ คือ LifeWear  การเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้ในทุกวันสำหรับทุกเพศทุกวัยและในราคาที่จับต้องได้ ทางยูนิโคล่ จึงต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตแต่ละวันของผู้บริโภค 2. เป็นการตอบเทรนด์ของผู้บริโภคยุคนี้ที่ต้องการความสะดวกสบาย

ลุยเปิดสาขาทั้งในห้าง-นอกห้าง

สำหรับการสร้าง Seamless Experience ของยูนิโคล่ ผ่านการขยาย Physical Store นั้น จะมีทั้งการเปิดในห้าง ซึ่งในเดือนมีนาคม 2562 ได้เปิดสาขาใหม่ที่เซ็นทรัล แอมบาสซี และเซ็นทรัล เชียงราย ส่วนในเดือนพฤษภาคมที่จะถึง เตรียมจะเปิดที่เซ็นทรัล ภูเก็ต

รวมถึง โรดไซด์ สโตร์ ที่มีการเปิดใน 4 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น , เกาหลี , ไต้หวัน และไทย โดยสาขาในรูปแบบนี้ ทำเลต้องติดถนนใหญ่มีทราฟฟิคการสัญจรผ่านไปผ่านมาจำนวนมาก มีประชากรโดยรอบไม่ต่ำกว่า 100,000 คน และต้องมีพื้นที่ใหญ่ เพราะนอกจากจะต้องมีพื้นที่ขาย1,000 ตารางเมตรขึ้นไป เพื่อให้สามารถมีสินค้าครบไลน์ ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่แล้ว สิ่งสำคัญต้องมีพื้นที่จอดรถด้วย เนื่องจากโมเดลนี้ จะเน้นความสะดวก และความสบาย

ปัจจุบันสาขาแบบโรดไซด์ สโตร์ มีอยู่ 3 สาขา ได้แก่ สาขาแรกบนถนนพัฒนาการ , สาขา 2 ที่ลาซาล อเวนิว , สาขา 3 บุญถาวร ปิ่นเกล้า มีพื้นที่ 805 ตารางเมตร และในเดือนเมษายนนี้เตรียมเปิดสาขาที่ 4 ย่านมีนบุรี รวมถึงมีแผนขยายไปตามต่างจังหวัดตามหัวเมืองใหญ่ แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า จะเกิดขึ้นเมื่อไรและที่ไหน

“ตอนนี้เรามี 48 สาขา และเราก็ยังเดินหน้าขยายต่อไป ถามว่าโมเดลในห้างและโรดไซด์ ผู้บริโภคที่ไปต่างกันอย่างไร คือ โรดไซด์ เป็นกลุ่มที่ตั้งใจไปซื้อ และส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มครอบครัว ส่วนสาขาในห้างอาจจะไปทำอย่างอื่น แต่เมื่อเห็นก็เข้าไปดูหรือซื้อ ยอดใช้จ่ายต่อบิลต่างกันหรือไม่ เราบอกไม่ได้”

เร่งเครื่อง O2O เพิ่มการเข้าถึงและยอดขาย

ขณะที่ช่องทาง Online Store ได้ดำเนินการผ่าน UNIQLO ONLINE STORE ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2559 สำหรับเป็นช่องทางที่ให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ชอบซื้อสินค้าออนไลน์ และตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยังไม่มีร้านยูนิโคล่

แม้ตอนนี้ยังมีสัดส่วนในการสร้างยอดขายอยู่ที่เลขหลักเดียว แต่ก็ถือเป็นช่องทางที่สำคัญตามเทรนด์ของยุคนี้ ซึ่งที่ผ่านมามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดบริการใหม่ ๆ อาทิ Click & Collect ให้สามารถคลิกซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์แล้วมารับสินค้าที่สาขาของยูนิโคล่ ฯลฯ โดยในอนาคตเตรียมจะพัฒนา O2O ให้มากขึ้น เช่น ให้สามารถไปรับสินค้าในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจาอยู่

“ความท้าทายของยูนิโคล่ คือ การเข้าถึงลูกค้า เพื่อเป็นแบรนด์ที่ครองใจพวกเขา และเรามองว่า Seamless Experience เป็นเรื่องสำคัญ นอกเหนือจากสินค้าที่ดี มีคุณภาพ มีราคาจับต้องได้ ตามปรัชญาของเรา ก็คือ  LifeWear”

สำหรับยูนิโคล่ เป็นแบรนด์ใหญ่ที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัทแม่อย่าง Fast Retailing บริษัทโฮลดิ้งสัญชาติญี่ปุ่นที่เป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ระดับโลกของธุรกิจรีเทลเครื่องแต่งกาย ที่มีแบรนด์หลักอยู่ 6 แบรนด์ ซึ่งแบรนด์ที่เหลือ ได้แก่ GU , J Brand , Theory , Comptoir des Cotonniers และ Princesse tam.tam

โดย Fast Retailing มียอดจำหน่ายทั่วโลกประมาณ 2.13 ล้านล้านเยนในปีบัญชี 2018 สิ้นสุด ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2018 (ประมาณ 19,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน 1ดอลลาร์ ต่อ 111.1 เยน ณ. สิ้นเดือนสิงหาคม 2018) และปัจจุบันยูนิโคล่ มีสาขากว่า 2,000 แห่งใน 21 ประเทศทั่วโลก


  • 232
  •  
  •  
  •  
  •