ชนหมัดต่อหมัด BENZ vs BMW ถนนสายนี้ห้ามใส่ “เกียร์ถอย”

  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

  BENZvsBMW

Mercedes Benz ก็ดี BMW ก็ใช่ … หลายคนอาจจะเคยคิดไม่ตก ไม่รู้จะเลือกแบรนด์ไหนดี 

จากการรวบรวมข้อมูลผ่านการส่องพันทิปพบว่า มีหลายกระทู้ทีเดียวที่ตั้งคำถามคล้ายๆ กันว่า “Benz กับ BMW เลือกอะไรดี” ถือว่าเป็นหนึ่งในปัญหาของคนที่กำลังมองหารถยนต์นั่งกลุ่มรถหรูสำหรับใช้งานประจำวัน ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่คนไทย เพราะต่างชาติเองก็มีการตั้งคำถามนี้ตามเพจต่างๆ เช่นกัน ถือเป็นความลังเลระดับประชาชาติก็ว่าได้  

คนส่วนใหญ่มองยังไงกับภาพลักษณ์สองแบรนด์นี้

ทุกคนรู้ดีว่า ทั้ง Benz และ BMW ต่างก็เป็นรถสัญชาติเยอรมัน แถมทั้งคู่ยังได้ชื่อว่าเป็นรถหรูในฝันของคนค่อนโลกเหมือนกัน และทั้งสองแบรนด์ยังครองส่วนแบ่งรถหรูในตลาดเมืองไทยมาอย่างยาวนาน หากมองในภาพรวมของแบรนด์ ไม่ได้เปรียบเทียบรุ่นต่อรุ่น คนไทยส่วนใหญ่มักมองว่า  

BMW ดูสปอร์ตกว่า เหมาะกับวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ ดีไซน์โฉบเฉี่ยว เรียบหรู ดูเท่ ส่วน Benz ดูหรูหรา มีระดับ เหมาะกับวัยผู้ใหญ่ ดูสุขุม มั่นคง หนักแน่น ภูมิฐาน ดูคุณชาย-คุณนาย บ้างก็ว่า “แก่”

แต่ปัจจุบัน เริ่มมีหลายคนบอกว่า เดี๋ยวนี้ Benz ดูไม่แก่แล้ว บ้างก็ว่า วันนี้ภาพลักษณ์ของสองแบรนด์เริ่มสลับกัน

BENZ-BMW

ด้านฝรั่งมักมองว่า ภาพลักษณ์ของ Benz คือ หรูหรา สง่างาม เป็นผู้นำ หนักแน่น สุขุม อนุรักษ์นิยม สะท้อนถึงความมั่นใจ ความเข้มแข็ง (Masculine) ความปลอดภัย ความเหนือชั้น ความเพอร์เฟค และการประสบความสำเร็จ ขณะที่ ภาพลักษณ์ของ BMW คือ สนุกร่าเริง ตื่นเต้นมั่นใจ มีพลัง มีเสน่ห์ ดูสปอร์ต ทันสมัย ทันเทคโนโลยี ชอบแสวงหา ชอบผจญภัย รักธรรมชาติ ง่ายๆ สบายๆ และนับถือตัวเอง

เมื่อลองเอาสิ่งที่ผู้บริโภครับรู้ ไปเทียบกับสิ่งที่ทางแบรนด์ดีโจทย์ออกมาเป็น “คาแรกเตอร์” ของแบรนด์แอมบาสเดอร์ จะว่าไปก็มีความใกล้เคียงกัน อย่างที่ผ่านมา Mercedes Benz มักเลือกใช้ “มืออาชีพ” ที่เป็นที่ยอมรับและประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพของตน มาเป็นตัวแทนแบรนด์ อย่างเช่น Roger Federer นักเทนนิสระดับตำนานโลก เป็นต้น นอกจากนี้ Benz ยังเคยใช้ ชมพู่อารยา เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์คนแรกของไทย เมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อน ขณะที่แบรนด์แอมบาสเดอร์คนล่าสุดของ BMW ได้แก่ Jackson Wang จากวง GOT7 วงบอยแบนด์เกาหลีขวัญใจชาวเอเชียครึ่งโลก ขณะเดียวกัน BMW ก็มักหยิบคนดังที่มีสไตล์ในหลากหลายวงการ มาถ่ายทอด BMWStory อยู่เสมอ

BENZ-BMW Ambassador

ทำความรู้จักประวัติของ 2 แบรนด์เก่าแก่ของโลก 

อย่างที่รู้กันว่าทั้งสองแบรนด์เป็นค่ายรถจากประเทศเยอรมนี โดยสองแบรนด์ถูกยกให้เป็น “German Big 3” ซึ่งก็คือ 3 แบรนด์รถยนต์สัญชาติเยอรมันที่ขายดีที่สุดในโลก โดยยักษ์ใหญ่อีกแบรนด์ ได้แก่ Audi ของค่าย Volkswagen AG เจ้าของแบรนด์รถหรูพรีเมี่ยมหลากหลายแบรนด์ อาทิ  Bentley, Ducati, Lamborghini, Porsche เป็นต้น และแน่นอนเป็นเจ้าของแบรนด์ Volkswagen

ครั้งหนึ่ง Volkswagen AG ได้รับการยอมรับว่าเป็นบริษัทอันดับ 1 ในเยอรมนี แซงหน้า 2 คู่แข่งเพื่อนรวมสัญชาติ แต่แล้วเมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน บริษัทเกิดสะดุดขาตัวเองครั้งใหญ่ ด้วยข้อมูลที่ระบว่า บริษัทได้มีการปลอมแปลงข้อมูลการปล่อยมลพิษให้น้อยกว่าความจริง เป็นเหตุให้บริษัทถูกฟ้องและถูกปรับเงินเป็นจำนวนมาก แต่ที่เสียหายหนักกว่าคือ ภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่สั่งสมมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานและราคาหุ้นของ Volkswagen AG ทันที

เราขอนำเสนอเรื่องของ Volkswagen พอเป็นน้ำจิ้มเพียงแค่นี้ก่อน ตอนนี้ได้เวลากลับมาสู่ 2 เมนูหลัก เรามาดูกันว่า ทั้ง 2 บริษัทรถหรูที่คนไทยคุ้นเคยดีอย่าง BENZ และ BMW มีที่มาที่ไปอย่างไร

BENZ เกิดจากการรวม 2 ผู้ผลิตรถยนต์เก่าแก่ของโลก  

Mercedes-Benz ผลิตโดยบริษัทผลิตรถยนต์ชื่อ Daimler AG ถือกำเนิดขึ้นในปี 1926 โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากการรวมตัวกันของสองบริษัท ได้แก่ บริษัท Benz & Cie เจ้าของรถยนต์แบรนด์ Benz ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 1883 โดย Carl Benz เจ้าของสิทธิบัตรรถยนต์คันแรกของโลก ได้รับเมื่อปี 1886 และ บริษัท DMG (Daimler-Motoren-Gesellschaft) ก่อตั้งโดย Gottlieb Daimler เมื่อปี 1890 ผู้เป็นเจ้าของชื่อ Mercedes และเครื่องหมายการค้าตราดาวสามแฉก

2 บริษัทนี้นับว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ก่อนการรวมบริษัท ทั้งคู่ถือว่าเป็นคู่แข่งตลอดกาลในธุรกิจรถยนต์ กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศเยอรมนีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เศรษฐกิจตกต่ำ เกิดเงินเฟ้อ ทำให้ยอดขายรถหรูย่ำแย่ ดังนั้น เพื่อความอยู่รอดทั้งคู่จึงเริ่มจับมือกันทำกิจกรรมการตลาด แต่ยังคงแข่งกันในแง่ของการดีไซน์และกลยุทธ์ธุรกิจอื่นๆ กลายเป็นที่มาของการจัดตั้งบริษัท Mercedes-Benz Automobil GmbH ต่อมาความร่วมมือระหว่างสองบริษัทมีมากขึ้น จนในที่สุดก็รวมกันตั้งเป็นบริษัทใหม่ ใช้ชื่อ Daimler-Benz AG และมีรถยนต์คันแรกออกมา ในปี 1926

BENZ-Model K
รถ BENZ รุ่นแรกๆ หลังการควบรวมกิจการ (Credit : Mercedes-Benz.com)

นอกจากแบรนด์ Mercedes-Benz กลุ่ม Daimler AG ยังมีแบรนด์ Mercedes-AMG, Mercedes-Maybach, smart, Freightliner, Western Star, BharatBenz, Thomas Built Buses, Setra, Fuso และ EQ ซึ่งเป็นระบบอัจฉริยะสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของ BENZ ตลอดจนยังมี ธุรกิจการเงิน อย่าง Daimler Truck Financial, Mercedes-Benz Financial Services และ Mercedes-Benz Bank

ปัจจุบัน Daimler AG จดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์แฟรงค์เฟิร์ตและตลาดหลักทรัพย์สตุทการ์ด (สัญลักษณ์หุ้น DAI) มูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) ณ วันที่ 1 เม.ย. 2019 ประมาณ 55,850 ล้านยูโร รายได้ปี 2018 อยู่ที่ประมาณ 167,362 ล้านยูโร ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 7,582 ล้านยูโร และมีพนักงานทั่วโลกอยูที่ 298,683 คน 

ในปีที่ผ่านมายอดขายรถยนต์นั่งแบรนด์ Mercedes Benz ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2,382,791 คันถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันขณะที่ยอดขายรถทุกประเภทของกลุ่ม Daimler อยู่ที่ประมาณ 3.4 ล้านคัน

กว่าจะเป็น BMW รถหรูชั้นนำอย่างทุกวันนี้… “เจ็บมาเยอะ”

ประวัติศาสตร์ของ BMW เริ่มต้นในปี 1917 จากการเป็นบริษัทผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน ซึ่งเกิดจากบริษัท Bayerische Flugzeugwerke ก่อตั้งโดย Gustav Otto รวมตัวกับ Rapp Motorenwerke ที่ก่อตั้งโดย Karl Friedrich Rapp กลายเป็นบริษัทที่มีชื่อว่า Bayerische Motoren Werke (BMW) 

หลังสิ้นสุดสงครามครั้งที่ 1 ผลจากการแพ้สงคราม ทำให้เยอรมนีถูกห้ามผลิตเครื่องบิน BMW ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จึงเป็นที่มาของการคิดผลิตรถมอเตอร์ไซค์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1923 ซึ่งต่อมามอเตอร์ไซค์รุ่นนั้นกลายเป็นต้นแบบการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ของ BMW Motorrad ส่วนกิจการผลิตรถยนต์เกิดขึ้นในปี 1928 จากการเข้าไปซื้อกิจการ Fahrzeugfabrik Eisenach โดยรถคันแรกที่ BMW ผลิตเกิดขึ้นในปี 1929 โดยยืมดีไซน์มาจากบริษัท Austin Motor ของประเทศอังกฤษ กระทั่งปี 1932 จึงมีรถที่ BMW ดีไซน์และผลิตเองเป็นคันแรก

แต่แล้วกิจการของ BMW ก็สะดุดอีกครั้งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะรัฐบาลเยอรมนีใช้ BMW เป็นโรงงานผลิตเครื่องบินให้กองทัพ กระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงาน BMW ถูกรื้อถอนโดยทหารฝ่ายสัมพันธมิตร นับตั้งแต่ปี 1945 โรงงาน BMW ต้องมาผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้าน เช่น กระทะ, หม้อ กว่าที่ BMW จะกลับมาผลิตรถยนต์อีกครั้งก็ปี 1951 พร้อมกับชื่อเสียงในฐานะผู้นำด้านการผลิตรถยนต์คุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยีล้ำหน้าที่คืนกลับมานับจากวันนี้มาถึงวันนี้

ด้วยประวัติศาสตร์ของบริษัทที่เริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบิน ทำให้หลายคนมักเข้าใจผิดว่าจริงๆ แล้วสัญลักษณ์ BMW นั้นมาจากใบพัดในเครื่องยนต์เครื่องยนต์ที่กำลังหมุน ความเข้าใจผิดนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 1929 และถูกเชื่อเช่นนั้นมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งบริษัทได้ทำการศึกษาที่มาของโลโก้อย่างจริงจัง จึงพบว่า จริงๆ แล้วโลโก้ของ BMW นั่นมีที่มาง่ายๆ คือดัดแปลงมาจากพื้นสีของธงประจำแคว้นบาวาเรีย (Bavaria) ที่บริษัทตั้งอยู่ ซึ่งพื้นสีของธงดังกล่าวเป็นตารางสีฟ้าขาวเพียงแต่มีการปรับองศาใหม่เพื่อให้เหมือนเป๊ะ ส่วนความเข้าใจผิดที่ว่าเป็นใบพัดหมุนมาจากหนังโฆษณาที่พยายามเชื่อมโยงกับรากเหง้าของบริษัท นั่นเอง

bmw logo
จากโฆษณาทำให้หลายคนเชื่อว่าโลโก้ BMW มาจากใบพัดเครื่องบิน ทั้งที่จริงๆ แล้วมาจากพื้นของธงของแคว้นบาวาเรียในเยอรมนี

ปัจจุบัน BMW มีแบรนด์รถหรูและกิจการในเครือ ได้แก่ BMW ซึ่งประกอบด้วย BMW i แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้า และ BMW M สำหรับรถสมรรถนะสูงหรือรถสปอร์ต, Mini และแบรนด์ย่อยอย่าง John Cooper Works, Rolls-Royce สำหรับรถระดับพรีเมี่ยมและ BMW Motorrad สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจบริการ อาทิ บริการด้านการเงินภายใต้ชื่อ BMW Group Financial Services หรือบริการออกแบบ Business Mobility Solution ในชื่อ Alphabet เป็นต้น 

BMW Group จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แฟรงค์เฟิร์ต (สัญลักษณ์หุ้น BMW) มูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) ณ วันที่ 1 เม.ย. 2019 ประมาณ 44,260 ล้านยูโร ในปี 2018 มีรายได้ของกลุ่มอยู่ที่ประมาณ 97,480 ล้านยูโร ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 7,207 ล้านยูโร และมีพนักงานทั่วโลกอยูที่ 134,682 คน 

สำหรับยอดขาย (ยอดส่งมอบ) รถยนต์นั่ง BMW ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2,125,026 คันขณะที่ยอดขายของกลุ่ม BMW (ทั้ง BMW, Mini และ Rolls-Royce) รวมกันอยู่ที่ 2,490,664 คันซึ่งทำลายสถิติสูงสุดเป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน

ย้อนหลังไปกว่า 10 ปี BMW เคยครองบัลลังก์ “ผู้นำ” ด้านยอดขายกลุ่มรถหรูในตลาดโลก แซงหน้า BENZ มานานนับ 10 ปี กระทั่งปี 2016 ที่ BENZ ยึดตำแหน่งนี้มาได้ จากความสำเร็จในการเปิดตัวรถ SUV และ Hatchback A-Class โดยปัจจุบัน ลูกค้าคนจีนคือตลาดสำคัญของทั้ง 2 ค่าย

ย้อนเส้นทาง BENZ และ BMW ในเมืองไทย

BENZ เปิดตัวเมืองไทยในฐานะ “รถเจ้านาย”

รถยนต์หรูสัญลักษณ์ดาวสามแฉกจาก ค่าย Mercedes-Benz เริ่มเข้ามาเมืองไทยในในปี พ.ศ.2447 (ค.ศ.1904) โดยตอนนั้นยังเป็น Mercedes ถือเป็นรถยนต์ชั้นยอดในเวลานั้น โดยกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ได้สั่งซื้อเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5 รถยนต์คันนี้จึงถือเป็นรถยนต์พระที่นั่งคันแรก และเป็น Mercedes-Benz คันแรกในเมืองไทย

จะว่าไปแล้ว คนไทยหลายคนก็มีโอกาสได้สัมผัสกับรถ Mercedes-Benz กันมาแล้ว ในรูปแบบของรถบัสหรือรถเมล์ โดยระยะแรก ห้าง บี.กริมม์  เป็นผู้นำเข้ารถ Mercedes-Benz มาจำหน่ายแก่เศรษฐีเมืองไทย รวมถึงรถเพื่อใช้งานในกองทัพและหน่วยงานต่างๆ กระทั่งปี พ.ศ. 2484 คุณเล็ก และคุณประไพ วิริยะพันธุ์ ได้ก่อตั้ง บริษัท ธนบุรีพานิช จำกัด ขึ้น เพื่อนำเข้าและจำหน่ายสินค้าคุณภาพดีจากยุโรปและอเมริกา รวมถึงรถหรูจากเยอรมันยี่ห้อ Mercedes-Benz นี้ด้วย โดยช่วงแรกเป็นการนำเข้ารถบรรทุกสำหรับขนส่งและรถโดยสาร และเมื่อตลาดรถเพื่อการพาณิชย์เป็นที่รู้จัก บริษัทก็ขยายสู่ตลาดรถยนต์นั่ง โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ Mercedes-Benz อย่างเป็นทางการในประเทศไทย เป็นเจ้าแรก

กระทั่งปี พ.ศ. 2541 เศรษฐกิจไทยย่ำแย่ ถือเป็นยุคตกต่ำของอุตสาหกรรมรถยนต์ในเมืองไทย แต่เพราะบริษัทแม่จากเยอรมนีเล็งเห็นถึงศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ในเมืองไทย จึงได้จัดตั้ง บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้น เพื่อดูแลตั้งแต่การนำเข้าและประกอบรถยนต์ ทั้งรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ รถไครสเลอร์ และรถจี๊ป ตลอดจนให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้าแบบครบวงจร เสียเอง

ปัจจุบัน Mercedes-Benz มีดีลเลอร์หรือผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการ 32 แห่งทั่วประเทศ และเตรียมแต่งตั้งเพิ่มอีก 4 แห่ง พร้อมทั้งมีแผนขยายศูนย์บริการสีและตัวถังที่ได้มาตรฐานของ Mercedes-Benz อีก 4 แห่ง ซึ่งจะทำให้ BENZ มีศูนย์บริการฯ รวม 15 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทย่อยคือ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) เพื่อให้บริการทางด้านการเงินแก่ลูกค้าเบนซ์ด้วย 

ปีที่ผ่านมารถยนต์นั่ง BENZ ในไทยมียอดขายสูงเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 15,785 คันเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9% โดยมร.โรลันด์โฟลเกอร์ประธานบริหารบริษัทเมอร์เซเดสเบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัดความสำเร็จดังกล่าวส่งผลให้ BENZ สามารถครองอันดับหนึ่งในตลาดรถหรูในไทยไว้ได้เป็นปีที่ 18 ติดต่อกัน

“ลีนุตพงษ์” ผู้เปิดตำนาน BMW บนท้องถนนไทย

สำหรับ ค่าย BMW ในช่วงแรก รถยนต์นั่ง BMW เริ่มเข้ามาขายในเมืองไทยผ่านการนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ โดยบริษัท เอเซีย มอเตอร์ (บางกอก) จำกัด ซึ่งบริหารงานโดยสองพี่น้องตระกูล “ลีนุตพงษ์” ได้แก่ คุณอรรถพร และคุณอรรถพงษ์ ลีนุตพงษ์ ซึ่งมีความชื่นชอบในรถมอเตอร์ไซค์ BMW เป็นพิเศษ ปรากฎว่ายอดขายรถยนต์นั่ง BMW ในไทยสูงมาก โดยช่วงแรกว่ากันว่าลูกค้ารายสำคัญคือสำนักงานตำรวจ ในปี พ.ศ.2504 กลุ่ม BMW AG จึงได้แต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย กลุ่มบริษัท “ยนตรกิจ” จึงถือกำเนิดขึ้น

ต่อมากลุ่มยนตรกิจได้จัดตั้งบริษัท ไทยยานยนต์ จำกัด ขึ้นมาทำหน้าที่นำเข้าและจัดจำหน่าย รวมถึงขายส่งรถยนต์ BMW โดยเฉพาะ ขณะที่บริษัทแม่เริ่มมีการนำเข้ารถยนต์จากยุโรปหลากหลายแบรนด์ กระทั่งปี 2540 กลุ่มยนตรกิจเริ่มประสบปัญหาเนื่องจากเศรษฐกิจไทยตกต่ำ BMW AG จึงมีแผนจะเข้ามาดูแลการตลาดและการขายเอง พร้อมทั้งจัดตั้งโรงงานในเมืองไทยเอง โดยช่วงแรกกลุ่มยนตรกิจเสนอให้เป็นการร่วมทุน แต่แล้วข้อตกลงเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นไม่ลงตัว บริษัทแม่จึงเข้ามาดำเนินการเองทั้งหมด ถือเป็นอันปิดตำนานผู้จำหน่าย BMW แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยของตระกูลลีนุตพงษ์ 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ตระกูลลีนุตพงษ์ ก็ยังคงเป็นผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการให้กับ BMW ภายใต้ชื่อบริษัท “บาเซโลนา มอเตอร์ จำกัด” ซึ่งบริหารงานโดยรุ่นลูก

ปีที่ผ่านมากลุ่ม BMW มียอดขายรถยนต์นั่ง BMW ประเทศไทยอยู่ที่ 12,036 คันโตขึ้น 20% จากปีก่อนหน้าซึ่งถือเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตสูงสุดในเครือข่ายของ BMW ทั่วโลก

bmw-benz thailand
เปรียบเทียบผลประกอบการบริษัทย่อยของ BENZ vs BMW ในเมืองไทย

ส่องทิศทางสองค่ายรถหรูจาก Motor Show ครั้งที่ 40   

BENZ เตรียมปล่อย 20 รุ่นใหม่ในปีนี้ รวมถึงรถยนต์ไฟฟ้

ในงานแถลงผลงานและทิศทางการดำเนินธุรกิจปี 2562 ของ Mercedes-Benz ช่วงเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา มร.โรลันด์ โฟลเกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลว่า ปีนี้ BENZ มีแผนจะนำเสนอรถยนต์รุ่นใหม่มากกว่า 20 รุ่น สู่เมืองไทย จากปีก่อนที่เปิดตัวไป 16 รุ่น โดยมี 4 แบรนด์หลัก ได้แก่ Mercedes-Benz, Mercedes-AMG, Mercedes-Maybach และ EQ (แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของกลุ่ม BENZ)

 “ปี 2561 รถตระกูล Mercedes-AMG ถือเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก มีอัตราการเติบโตจากปี 2560 ถึง 309% เนื่องจากมีการรุกทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ บริษัทฯ ก็ยังคงจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่ในตระกูล AMG อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเตรียมเปิดตัว “AMG Brand Center” แห่งแรกในประเทศไทย สำหรับเป็นศูนย์จำหน่ายรถ Mercedes-AMG อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีเพียง 11 แห่งจากทั่วโลก”  

นอกจากนี้ Mercedes-Benz ยังมีแผนจะรุกยนตรกรรมพลังงานไฟฟ้าต่อเนื่อง หลังจากได้เริ่มเปิดตัวรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ครั้งแรกในเมืองไทยเมื่อปี พ.ศ. 2559 ขณะที่ปีที่แล้ว บริษัทฯ ได้จัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในไทย ซึ่งถือเป็น 1 ใน 6 แห่งของ BENZ ทั่วโลก ในปีนี้ บริษัทฯ มุ่งเน้นขยายจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศ เพิ่มอีก 80 แห่งจาก 200 จุดในปัจจุบัน พร้อมนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ EQ ตลอดทั้งปี ทั้ง EQ Power รถยนต์ PHEV, รถ  EQ Power+ ที่เป็นส่วนหนึ่งในรถ Mercedes-Benz และ EQ สำหรับรถ Battery Electric Vehicles (BEV) โดยในงาน Motor Show ครั้งที่ 40 (เมื่อวันที่ 27 มี.ค.-7 เม.ย. 2562) เพิ่งมีการเปิดตัวรถ PHEV เจเนอเรชั่น 3 รุ่น Mercedes-Benz S 560 e 

“เรามุ่งมั่นนำเสนอยนตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ Mercedes-Benz ได้วางรากฐานไว้เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานไปจนถึงปี 2568 และเรายังมีความภูมิใจที่จะนำเสนอบริการ “Mercedes me connect” ซึ่งเป็นหนึ่งในบริการภายใต้แบรนด์ “Mercedes me” ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงาน Motor Show ครั้งที่ 40 นี้ด้วย ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าเชื่อมต่อกับรถ BENZ ผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการ และเข้าถึงบริการอื่นๆ ของ Mercedes-Benz ด้วย”

Mercedes Me
“Mercedes Me” ระบบอัจฉริยะที่ถูกใส่เข้าไปในรถ BENZ ตอบสนองเทรนด์ยนตรกรรมด้าน Connectivity (Photo Credit : performancedrive.com.au)

จาก 4 เทรนด์เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก อันประกอบด้วย 1) รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) 2) รถยนต์ที่มีการเชื่อมต่อกับระบบอัจริยะ (Connected Car) ทำให้สามารถควบคุมรถได้จากมือถือ หรือสั่งงานผ่านเสียงได้ 3) ยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Car) และ 4) ระบบ Car Sharing จะเห็นได้ว่ามี 2 เทรนด์แรกที่ทาง BENZ มองว่าตลาดเมืองไทยเริ่มเปิดรับแล้ว และเป็นโอกาสที่ BENZ จะรุกเข้าสู่ลูกค้ากลุ่มนี้  

BMW รุกหนักรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากว่า 25 รุ่นภายใน 5 ปีข้างหน้า

“จุดยืนของกลุ่ม BMW ทั้งบนเวทีโลกและเมืองไทย คือการขับเคลื่อนโลกยานยนต์ไปสู่อนาคตที่ดีกว่า โดยหนึ่งองค์ประกอบที่ยืนยันถึงความสำเร็จ คือยอดการส่งมอบรถยนต์ PHEV และรถยนต์ไฟฟ้า EV เพิ่มขึ้นกว่า 38.4% ทั่วโลก ขณะที่ยอดขายรถยนต์ PHEV ของเราในไทยก็พุ่งสูงขึ้นถึง 122% ในปีที่ผ่านมา” มร. คริสเตียน วิดมานน์ ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าว

BMW ให้ความสำคัญกับการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ 2555 จนปัจจุบัน รถตระกูล i ของ BMW ได้รับยกย่องว่าเป็นรถยนต์พรีเมียมในกลุ่ม BEV และ PPHEV ที่มียอดจำหน่ายรวมกันสูงที่สุดในโลก รวมกว่า 3.25 แสนคันทั่วโลก พร้อมตั้งเป้าสู่ 5 แสนคันในปีนี้ และภายในปี 2568 กลุ่ม BMW ประกาศจะออกรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากว่า 25 รุ่น โดยจะทยอยออกมามากขึ้นตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป และในจำนวนนี้จะมีถึง 12 รุ่นที่จะเป็น EV Car หรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ขณะที่โรงงาน BMW ในไทย ในปีนี้มีแผนจะขยายสายการประกอบรถ PHEV ถึง 3 รุ่น

bmw-concert
“ป็อด โมเดิร์นด็อก” กับคอนเสิร์ตเปิด Special Single ที่ทำร่วมกับ BMW

สำหรับงาน Motor Show ครั้งที่ 40 นอกจากการเปิดตัวรถยนต์ 3 รุ่น ได้แก่ The All-New BMW 3 Series, The All-New BMW Z4 ซึ่งเป็นรถสปอร์ตสไตล์คลาสสิก และ BMW X7 รถอเนกประสงค์ (SUV) รุ่นใหญ่ ในงานเปิดตัวรถครั้งนี้ BMW ยังได้เปิดคอนเสิร์ตย่อม ๆ ภายในงานจัดแสดงรถครั้งนี้ โดยใช้ศิลปินสุดแนวอย่าง “ป๊อด โมเดิร์นด็อก” “เวย์ Daboyway” และ “มาเรียม เกรย์” มาร้องเพลงสะท้อนไลฟ์สไตล์ของสาวกแฟนคลับ BMW ​ซึ่งถือเป็นการเดินหน้ากลยุทธ์ Emotional Marketing อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อตอกย้ำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกว่า “ไม่ใช่รถอะไรก็ได้ แต่ต้องเป็น BMW เท่านั้น” 

และเพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม BMW ยังได้เปิดตัวระบบ BMW Intelligent Personal Assistant ที่รับคำสั่งจากเสียงพูดเหมือนในชีวิตประจำวัน แค่ทักด้วยประโยค “Hey BMW” โดย​ความสามารถของระบบนี้จะพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ยิ่งใช้งานมาก ระบบก็จะยิ่งรู้ใจผู้ใช้มากขึ้น เช่น หากผู้ใช้คำสั่ง “Hey BMW, I’m cold” ระบบก็จะปรับการทำงานของระบบแอร์ให้เหมาะสม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี BMW ConnectedDrive ฟีเจอร์ที่จะช่วยให้เจ้าของรถสามารถควบคุมระบบต่าง ๆ ของรถได้จากระยะไกล ผ่านแอปฯ บนสมาร์ทโฟน

เห็นได้ว่า BMW ก็เลือกที่จะใช้ 2 เทรนด์สำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีเชื่อมต่อระบบอัจฉริยะ โดยเป็น 2 เทรนด์แรกที่ BMW นำเข้ามารุกตลาดรถยนต์แห่งอนาคตในเมืองไทย เช่นเดียวกับ BENZ นั่นเอง 

มาถึงตรงนี้ คงต้องบอกว่า แบรนด์รถหรูสัญชาติเยอรมนีอายุหลัก 100 ปีทั้งสองค่ายนี้ เรียกได้ว่าคงจะเป็น “คู่แข่งตลอดกาล” กันต่อไป แม้ทั้งคู่จะมีการร่วมทุนพัฒนาแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีเพื่อรองรับเทรนด์นวัตกรรมในอุตสาหกรรมยานยนต์ร่วมกัน แต่ในแง่ของการแข่งกันพัฒนาคุณภาพ สมรรถนะ ดีไซน์ นวัตกรรม ตลอดจนภาพลักษณ์ (Brand Image) ของแบรนด์ ผ่านการผลิตรถแต่ละรุ่น แฟนคลับและสาวกของทั้ง 2 แบรนด์คงจะยังได้เห็นกันต่อไป 

compare BENZ-BMW
เปรียบเทียบผลการดำเนินงานแง่มุมต่างๆ ของ BENZ-BMW (จากรายงานประจำปีของทั้งสองบริษัท)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารของ BMW Group เคยพูดไว้ว่าจะกลับมาชิงตำแหน่งเบอร์ 1 ในด้านยอดขายในตลาดรถพรีเมี่ยมโลกจากค่าย “ดาวสามแฉก” ให้ได้ภายในปี 2020 โดยความหวังสำคัญคือกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้ง  PHEV และรถ EV ซึ่ง BMW เปิดตัวอย่างจริงจังมาก่อนแต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ในตลาดรถ EV ก็ยังมีจีนเป็นอีกคู่แข่งที่น่าจับตา


  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  
Tummy
เมื่อไหร่ที่หยุดพัฒนาตัวเอง ถึงแม้เราไม่ได้ถอยหลัง แต่โลกก็จะทิ้งเราไว้ข้างหลังและหนีห่างออกไป จนวันหนึ่งเมื่อตื่นมา เราอาจรู้สึกแปลกแยก ... มาเปิดโลกทัศน์ แล้วสนุกกับทุกความเคลื่อนไหวในโลกใบนี้ไปพร้อมกันนะคะ