วิเคราะห์เหตุผล ทำไมแบรนด์รถ EV จีน Disrupt วงการรถยนต์ ผงาดจาก National Brand สู่ Global Brand ได้

  • 163
  •  
  •  
  •  
  •  

ก่อนหน้านี้หลายคนอาจยังไม่แน่ใจว่าแบรนด์รถยนต์สัญชาติจีนจะสามารถแข่งขันกับแบรนด์รถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่างแบรนด์ญี่ปุ่นหรือแบรนด์จากชาติตะวันตกได้หรือไม่ แต่หลังจากเราได้เห็นศักยภาพการทำตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าแบรนด์รถยนต์ EV จีนไม่เพียงแต่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ EV แล้วเท่านั้น แต่กำลัง Disrupt ตลาดรถยนต์ทั่วโลกและจะก้าวแซงหลายแบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดอยู่ในอีกไม่นานนี้

ดังนั้น บทความนี้เราจะมาวิเคราะห์กันดูว่าทำไมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าของจีนจึงก้าวขึ้นมาจากการเป็น “แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ” ออกมาสู่การเป็น “ผู้นำตลาดโลก” ที่กำลัง disrupt ตลาดรถยนต์ในเวลานี้อยู่ได้

Disruption กำลังเกิดขึ้นแล้ว

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์นี้ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรก แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนหน้านี้กับตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเช่นยุคสมาร์ทโฟนที่แบรนด์จีนสามารถเข้ามาครองส่วนแบ่งตลาดแข่งกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ได้ด้วยเทคโนโลยีและราคาที่เข้าถึงได้ จากนั้นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าจีนก็เริ่มเป็นที่รู้จักไม่ว่าจะเป็น หัวเว่ย Hisense หรือ Xiaomi ที่ทำตลาดสู่ต่างประเทศ และในเวลานี้จีนก็กำลังทำแบบเดียวกันในอุตสาหกรรมรถยนต์ด้วยการสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาแข่งขันอย่างเช่น BYD ,ChangAN หรือ Aion ที่โดดเด่นขึ้นมาในช่วงหลัง และบางครั้งก็ใช้ทางลัดด้วยการซื้อบริษัทในยุโรปเสียเองอย่างเช่น GM หรือ Volvo เป็นต้น

มองย้อนกลับไปที่ตลาดประเทศจีน ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในจีนกำลังก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วโดยตัวเลขจากสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ประเทศจีน เปิดเผยว่าจำนวนรถยนต์ EV ที่ขายในประเทศเติบโตขึ้นจาก 1.3 ล้านคันกลายเป็น 6.8 ล้านคันแล้วระหว่างปี 2019 ถึง 2022 ขณะที่ตัวเลขจาก Counterpoint Research   ระบุไว้ว่าสัดส่วนรถยนต์ EV และ Plug-in Hybrid ที่ขายเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมาเทียบกับรถยนต์สันดาบ (ICE) แล้วคิดปันสัดส่วนสูงถึง 25% แล้ว

มองกว้างมาที่ตลาดโลกเวลานี้รถยนต์ EV ที่ขายทั่วโลกทั้งหมดเป็นแบรนด์จากประเทศจีนไปแล้วครึ่งหนึ่ง โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าส่วนแบ่งตลาดรถยนต์โดยรวมของจีนจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าไปเป็น 33% ในปี 2030 ในขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์จากชาติตะวันตกที่มีส่นแบ่งตลาด 81% ในปีนี้ละลดลงเหลือ 58% ในปี 2030 หมายความว่ารถยนต์ EV จากประเทศจีนจะทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปถึง 20% เลยทีเดียว

เครดิตภาพ https://www.motorexpo.co.th/news/4721

มองมาที่ตลาดไทย ในเวลานี้อาจเรียกได้ว่าการ Disruption ตลาดรถยนต์นั้นกำลังเกิดขึ้นแล้วจนกระทั้งแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนหลายแบรนด์เข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในประเเทศไทยอย่างจริงจัง หวังจะให้ไทยเป็นศุนย์กลางส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดอาเซียน ในขณะที่ตลาดในประเทศไทยพิสูจน์ชัดหลังจบงาน Thailand International Motor Expo 2023 ที่ผ่านมา แบรนด์ที่ทำยอดจองได้สูงสุด 10 อันดับแรกเป็นแบรนด์ที่ทำรถ EV จากประเทศจีนไปแล้วครึ่งหนึ่ง  ครองอันดับ 3-7 ไปได้แบบช็อกวงการ คิดเป็นสัดส่วนถึงเกือบ 40% ของยอดจองทั้งหมด

ในขณะที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในประเทศไทยเดือนพฤศจิกายน 2023 มีสูงถึง 8,982 คันสูงสุดเป็นประวัติการณ์คิดเป็นสัดส่วนถึบ 18% ของรถยนต์จดทะเบียนใหม่ทั่วประเทศ โดยในปีนี้มีรถ EV จดทะเบียนไปแล้วถึง 67,056 คัน และเชื่อว่าสิ้นปีนี้จะทะลุ 80,000 คันได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เรียกว่าสูงเกินกว่าคาดการณ์เกือบ 2 เท่า โดยศูนย์วิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่า จะสามารถทำยอดขายได้สูงระดับ 1 แสนคันได้ในปี 2025 นี้

จีนเบนเข็มสู่เทคโนโลยีใหม่จาก ICE สู่ EV

MIT Technology Review  วิเคราะห์ถึงจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดเริ่มต้นในช่วงปี 2000-2005 ช่วงเวลาที่จีนหันมาทุ่มเทให้กับการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาบอย่างเข้มข้น ในระดับที่มากเกินกว่าที่ประเทศใดจะเลียนแบบได้ อย่างไรก็ตามไม่มีรถยนต์แบรนด์จีนแบรนด์ไหนเลยที่ประสบความสำเร็จ หรือสามารถแข่งขันกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ในตลาดโลกได้ ส่วนหนึ่งเพราะแบรนด์จีนในเวลานั้นยังมีชื่อเสียงไม่ดีนักเกี่ยวกับคุณภาพสินค้าและความคงทน

รัฐบาลจีนรู้เรื่องนี้และตัดสินใจเบนเข็มจากเทคโนโลยีเดิมไปสู่เทคโนโลยีใหม่เพื่อทุ่มทรัพยากรสร้างนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อให้แข่งขันกับตลาดยานยนต์ของโลกได้และก็ตัดสินใจเลือกไปที่ “รถยนต์ไฟฟ้า” ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะนอกจากจะทำให้จีนครองส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมรถยนต์โลกได้แล้ว ยังแก้ปัญหาใหญ่ในประเทศที่เผชิญมาหลายปีอย่าง “มลภาวะทางอากาศ” ได้ด้วย

รัฐบาลทุ่มเงินอุดหนุนอุตสาหกรรม EV  8 แสนล้าน

นับตั้งแต่ปี 2001 รัฐบาลจีนก็เดินหน้าเปลี่ยนผ่าน Supply Chain ในประเทศขนานใหญ่เพื่อรองรับการผลิต EV โดยให้เทคโนโลยี EV เป็นโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ให้ความสำคัญตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะเวลา 5 ปีของรัฐบาล ยิ่งกว่านั้นการแต่งตั้งให้นาย Wan Gang วิศวกรยานยนต์และผู้คลั่งไคล้เทคโนโลยี EV เป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนในปี 2007 ก็เป็นตัวเร่งอุตสาหกรรม EV ได้แบบก้าวกระโดดเช่นกัน

ช่วยปี 2015-2019 เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนทางการเงินกับบริษัทผู้ผลิตรถ EV ทั้งผู้ผลิตรถบัส, แท็กซี่ รวมถึงรถยนต์นั่งส่วนบุคคล โดยรัฐบาลจัดสรรเงินทั้งการอุดหนุนและการลดหย่อนภาษีในช่วงปี 2009-2022 ไปคิดเป็นมูลค่าถึง 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 800,000 ล้านบาท

ไม่เฉพาะบริษัทในประเทศเท่านั้นแต่รัฐบาลจีนยังให้เงินอุดหนุนบริษัทต่างชาติด้วยเพื่อยกระดับ Ecosystem และสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Suply Chain ของรถ EV อย่างเช่นการที่รัฐบาลจีนสนับสนุนอย่างเต็มตัวให้ Tesla ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศจนสุดท้ายประสบความสำเร็จ

จีนคุม Supply Chain การผลิต “แบตเตอรี่”

ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดขอรถยนต์ไฟฟ้าก็คือ “แบตเตอรี่” ที่กินสัดส่วนต้นทุนของรถ EV ทั้งคันอยู่ที่ 40% และการที่จะประสบความสำเร็จในตลาดโลกได้คุณภาพและต้นทุนของแบตเตอรี่นั้นมีส่วนสำคัญที่สุดก็ว่าได้ และจีนก็ได้เปรียบในจุดนี้จริงๆ

ข้อมูลจาก BloombergNEF ระบุว่า จีนกำลังมีอิทธิพลกับ Supply Chain ของการผลิตแบตเตอรี่มากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุเพราะการผลิตแบตเตอรี่ 80% ของทั้งโลกนั้นผลิตในประเทศจีน นั่นทำให้จีนสามารถควบคุมการทำเหมืองและกระบวนการผลิต “แร่” ที่เป็นส่วนสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ได้เช่น ลิเทียม, โคบอลต์, แมงกานีส และแร่ Rare Earth อื่นๆได้มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้บริษัทในประเทศจีนยังมีเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ก้าวหน้ามากโดยเฉพาะการผลิตแบตฯที่เรียกว่า lithium iron phosphate (LFP) ที่ก้าวขึ้นมาแข่งขันกับแบตฯที่นิยมใช้ในยุโรปอย่าง lithium nickel manganese cobalt (NMC) ได้ และสิ่งนี้ทำให้ บริษัทผู้ลิตแบตเตอรี่ให้รถยนต์ EV 8 อันดับแรกของโลก เป็นบริษัทจีนไปแล้ว 5 บริษัท

BloombergNEF เปิดเผยผลการสำรวจในปี 2022 ที่ผ่านมาระบุว่าราคาแบตเตอรี่ Lithium-ion ในยุโรปสูงกว่าแบตเตอรี่ประเทศจีนถึง 33% ในขณะที่ราคาแบตเตอรี่สหรัฐอเมริกาสูงกว่าจีนอยู่ 24% สิ่งนี้ถึงกับทำให้องค์กรกลางของสหภาพยุโรปอย่าง คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ต้องออกมาประกาศในเดือนกันยายนว่าจะทำการสืบสวนการอุดหนุนอุตสาหกรรม EV ของรัฐบาลจีน และออกมาประกาศจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องผู้ผลิตในยุโรปและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้เพิ่มขึ้น

โลกก้าวสู่ Net Zero และ EV คือหนึ่งในทางรอดของ Climate Change

หนึ่งในตัวกระตุ้นอุตสาหกรรม EV ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือปัญหา Climate Change ที่รุนแรงมากขึ้นทุกปี และหนึ่งในวิธีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่รัฐบาลหลายๆประเทศทำได้รวดเร็วก็คือการหันมาสนับสนุนการใช้รถยนต์รถยนต์ไฟฟ้าเช่นที่รัฐบาลไทยที่มีนโยบายอุดหนุนซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสูงสุด 1.5 แสนบาทไปก่อนหน้านี้และล่าสุดกับนโยบบาย EV3.5 ที่ให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาทสูงสุดถึง 100,000 บาท ด้วย

เช่นเดียวกับในยุโรปหลายๆประเทศเองก็ประกาศนโยบายแบนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาบแล้วในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะประเทศอังกฤษที่ประกาศเป้าหมายห้ามใช้รถยนต์สันดาบทั้งหมดภายในปี 2030 ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รถยนต์ EV จีนก้าวเข้าสู่ตลาดในยุโรปได้ด้วยความได้เปรียบในการแข่งขัน จนหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอังกฤษในเวลานั้นว่าเป็นการ “ยกอุตสากรรมใหญ่ของอังกฤษให้กับจีน” ไปแบบไม่ได้อะไรเลย

ทั้งหมดนี้เป็นเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้รถยนต์ EV แบรนด์จีนก้าวจากอุตสาหกรรมในประเทศในฐานะ National Brand ไปสู่ Global Brand ได้และกำลัง Disrupt ตลาดรถยนต์อย่างรุนแรง อย่างไรก็ตามเวลานี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องจับตามองกันต่อไปว่าแบรนด์จีนจะสามารถรักษาโมเมนตั้มนี้ไว้ได้หรือไม่ เพราะแต่ละตลาดก็มีความท้าทายที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง After Sale ที่ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ในขณะที่คู่แข่งโดยเฉพาะแบรนด์ญี่ปุ่นเจ้าตลาดรถยนต์สันดาบอย่าง Toyota และ Honda เองก็เริ่มขยับตัวผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกสู่ตลาดแล้วโดยเฉพาะ Honda ที่เพิ่งตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นครั้งแรกด้วย


  • 163
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE