สงครามประกันชีวิตไทยเดือดแน่!!! หลัง FWD ยักษ์ฮ่องกงเร่งเครื่องโตซื้อ SCB Life ตอบเป้าหมายใหญ่  (วิเคราะห์)

  • 121
  •  
  •  
  •  
  •  

 

fwd+scb

ต้นปี อุตสาหกรรมการเงินไทยร้อนแรง ด้วยดีลสำคัญในธุรกิจการธนาคาร เมื่อ TMB และ TBANK (ธนาคารธนชาต) ประกาศควบรวมกิจการ มากลางปีไฟโหมอีกครั้ง แต่คราวนี้เกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจประกันชีวิต เมื่อ บริษัท เอฟดับบลิวดี จำกัด (มหาชน)  หรือ FWD ตกลงเข้าซื้อหุ้น บริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ SCB Life ในส่วนที่ธนาคารไทยพาณิชย์ถือทั้งหมด โดยว่ากันว่าดีนี้ถือเป็นดีลการซื้อกิจการประกันที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนเลยทีเดียว

ปรากฏการณ์ครั้งนี้ แม้จะไม่ได้พลิกโฉมหน้า “ผู้นำ” ในธุรกิจประกันชีวิตไทยโดยสิ้นเชิง แต่ก็เรียกได้ว่าทำให้บริษัทประกันชีวิตเจ้าของตำแหน่ง TOP3 ในปัจจุบัน ต้องมีสะเทือนอยู่บ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเบอร์ 3 อย่าง “ไทยประกันชีวิต” ขณะที่เบอร์ 1 และเบอร์ 2 อย่าง “เอไอเอ” และ “เมืองไทยประกันชีวิต” ก็คงไม่อาจนิ่งนอนใจ กับการประกาศเจตนารมณ์มุ่งมั่นที่จะรุกตลาดประกันชีวิตไทยอย่างจริงจังของ FWD

ถ้าข้อตกลงบรรลุผลและแล้วเสร็จตามที่ระบุไว้ในปลายปีนี้ การซื้อกิจการครั้งนี้จะส่งผลให้ FWD ก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นของธุรกิจประกันชีวิตไทย ไม่ว่าจะทั้งแง่ของขนาดของสินทรัพย์ รายได้จากเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ และกำไรสุทธิ ดังจะเห็นได้จากภาพต่อไปนี้

ธุรกิจประกันภัย(1)
บริษัทประกันชีวิตไทย 10 อันดับแรกที่มีขนาดสินทรัพย์รวมใหญ่ที่สุด ณ  สิ้นปี 2561

จะเห็นว่า หลัง SCB Life และ FWD รวมตัวกันแล้ว ขนาดสินทรัพย์จะขยายขึ้นมาเป็น “เบอร์ 3” ทิ้งห่างจาก “เบอร์ 2” อย่างเมืองไทยประกันชีวิต ไม่มากไม่น้อย เพียงประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2.1%  นั่นหมายความว่า ถ้าการเติบโตของสินทรัพย์ของ “เมืองไทยฯ” น้อยกว่าอัตราการเติบของ FWD+SCB Life อย่างต่ำ 2.5% ก็มีโอกาสสูงที่จะเสียตำแหน่ง “รองแชมป์” ทันที

ธุรกิจประกันภัย(2)
10 ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันภัยที่เป็นรายรับสูงสุดในปีที่ผ่าน

ถ้า SCB Life และ FWD รวมกันแล้วจะทำให้ขนาดของเบี้ยประกันภัยรับใหญ่ขึ้นมาเป็นอันดับ 4 เขี่ย “กรุงไทยแอกซ่า” ตกลงมาเป็นอันดับ 5 ทิ้งห่างกันมากกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 27% ซึ่งก็แน่นอนว่า กรุงไทยแอกซ่าคงไม่ยอมอยู่เฉย โดยความเคลื่อนไหวของกรุงไทยแอกซ่าที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้คือ  การเปิดตัว “พันธสัญญาแบรนด์ใหม่” พร้อมด้วยภาพยนตร์โฆษณาครั้งแรก โดยได้ “ก้อย-รัชวิน” ขวัญใจคนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่น มาเป็นแอมบาสเดอร์

ธุรกิจประกันภัย(3)
10 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีผลการดำเนินงาน (กำไรสุทธิ) ดีที่สุดในปีที่ผ่านมา

จากภาพอันดับประกันชีวิตในมิติของเบี้ยประกันภัยรับ จะเห็นว่าเมื่อ FWD+SCB Life แล้วมีศักยภาพความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นจนมาเป็นอันดับ 4 โดยตามหลัง “เบอร์ 3” ราว  1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้าเทียบเป็นสัดส่วนจะห่างกันเพียง 16% แปลว่า ถ้า FWD+SCB Life พยายามเพิ่มเบี้ยประกันภัยรับมากขึ้นจากเดิมอย่างน้อย 16%
(หรือมีสัดส่วนการเติบโตสูงกว่าอัตราเติบโตของ “ไทยประกันชีวิต” ราว 16%) พอร์ตเบี้ยประกันภัยรับจะขยับขยายมาทัดเทียมกับไทยประกันชีวิตทันที

แน่นอนว่าไม่ง่าย… แต่ก็คงไม่ยากเกินไป เพราะกฎทั่วไปของหลักการ “Synergy” คือ “1+1 ต้องได้มากกว่า 2″​

เช่นเดียวกับการจัดอันดับในมิติกำไร หลังจาก FWD+SCB Life แล้ว จะทำให้ขนาดของกำไรสุทธิรวม ห่างจากไทยประกันชีวิต​เพียง 629  ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนความต่างเพียง 10.35% ซึ่งถ้าเทียบกับค่าเฉลี่ยการเติบโตในอุตสากรรมแล้ว ต้องบอกว่ามีความเป็นไปได้ ถ้าขนาดของกำไรสุทธิในสิ้นปีนี้หรือสิ้นปีหน้าของ FWD+SCB Life มีสัดส่วนการเติบโตสูงกว่าไทยประกันชีวิต อย่างน้อย 11% เจ้าของตำแหน่ง “เบอร์ 3” เดิมก็อาจจะต้องตกบัลลังก์มาเป็นที่ 4

… ก็คงต้องจับตาดูว่า ไทยประกันชีวิตจะรับมือกับความท้าทายคราวนี้อย่างไร และจะดึงใครมาเป็น “พันธมิตรชิดใกล้” เพื่อสู้ศึกใหญ่ครั้งนี้

มากกว่ากิจการ ..ยังมีความร่วมมือจาก SCB พ่วงด้วย

ดีลซื้อขายครั้งนี้ ไม่ได้เป็นแค่การแลกเปลี่ยนระหว่างหุ้นที่ SCB ถือทั้งหมด SCB Life ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่า 94% กับค่าตอบแทนมูลค่า 9.27 หมื่นล้านบาท แต่ยังมาพร้อมเงื่อนไขความร่วมมือสำคัญจาก SCB ในการเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้กับ FWD ซึ่งที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเรื่องช่องทางเข้าถึงลูกค้าถือเป็นจุดอ่อนสำคัญข้อหนึ่งของ FWD

ตามข้อตกลงความร่วมมือระบุว่า SCB จะเป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตของ FWD ให้แก่ฐานลูกค้าของธนาคาร ซึ่งมีอยู่ถึงกว่า 16 ล้านราย เป็นระยะเวลาถึง 15 ปี โดย SCB จะได้รับค่าตอบแทนจากการขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต

ขณะที่ FWD เองมีจุดแข็งในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า และการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล เมื่อรวมกับจุดแข็งใหม่ในเรื่องช่องทางจัดจำหน่ายและการเข้าถึงฐานลูกค้าขนาดใหญ่​ และเงื่อนไขเหล่านี้เองที่ทำให้การแข่งขันในธุรกิจประกันชีวิตหลังจากนี้ยิ่งน่าติดตามมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันในกลุ่ม TOP5 ของธุรกิจประกันชีวิตไทย ซึ่ง ณ ปัจจุบัน มีบริษัทชั้นนำในธุรกิจนี้ทั้งสิ้น 23 บริษัท (ตามข้อมูลสมาคมประกันชีวิตไทย ณ ต้นเดือน ก.ค. 2562)

ในฝั่งของ SCB ในช่วงเช้าที่มีการแถลงข่าวใหญ่ครั้งนี้ ราคาหุ้น SCB เดินหน้าทำจุดสูงสุดใหม่ (New High) ในรอบ 9 เดือน เพิ่มขึ้นถึง 6 บาท หรือ 4.30% ขณะที่ปริมาณการซื้อขายจนปิดตลาดเช้าวันนั้นเพิ่มขึ้นถึงกว่า 200% เทียบค่าเฉลี่ยกับ 5 วันก่อนหน้า ส่งผลให้ SCB กลายเป็นหุ้นที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดในช่วงเช้าวันนั้น

ย้อนดูความพยายามขายกิจการ SCB Life

fwd-scb2
Photo Credit : เว็ปไซต์ SCB Life

จุดกำเนิด SCB Life เรียกว่ายาวนานกว่า 40 ปี นับตั้งแต่ยังเป็นปี  2519 จัดตั้งในนาม “มหานครประกันชีวิต” กระทั่งปี 2531 ที่ SCB และกลุ่มบริษัทในเครือร่วมถือหุ้นใหญ่ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ไทยพาณิชย์ประกันภัย”

ในปี 2543 SCB  และ “นิวยอร์คไลฟ์อินเตอร์เนชั่นแนล อิงค์” จากอเมริกา ได้ลงนามร่วมทุนใน SCB Life เพื่อขยายธุรกิจประกันชีวิตในประเทศไทย และมีการเปลี่ยนชื่อเป็น “ไทยพาณิชย์นิวยอร์คไลฟ์ประกันชีวิต”​ ในปี 2554 SCB  ซื้อหุ้นทั้งหมดของนิวยอร์คไลฟ์ฯ และบริษัท พีเอ็มซีซี (ประเทศไทย) จำกัด ทำให้ SCB มีสัดส่วนถือหุ้นทั้งหมด 94.66% พร้อมกับเปลี่ยนชื่อกลับไปเป็น SCB Life กระทั่งมาลงนามขายกิจการให้กับ FWD ครั้งนี้

ความพยายามขายหุ้นครั้งนี้เกิดตั้งแต่ต้นปี 2560 โดยผู้เข้าร่วมประมูลมีทั้งบริษัทประกันท่ียักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ใหญ่ในไทยแล้ว อย่าง AIA Group รวมถึง “ยักษ์” ที่ยังเล็กในเมืองไทย อาทิ กลุ่ม Manulife, Prudential รวมถึง FWD นอกจากนี้ยังมี “ยักษ์” ที่ยังไม่เคยเข้าในตลาดไทย อย่าง Great  Eastern ของสิงคโปร์ เป็นต้น

มีการคาดเดาสาเหตุ (ที่แท้จริง) ที่ SCB ยอมขายธุรกิจประกันชีวิตที่ทำกำไรได้ปีละกว่า 6.7 พันล้านบาท จากหลากหลายมุมผู้บริโภค … บ้างก็ว่าต้องการทำให้ SCB เป็น LEAN Organization บ้างก็ว่าเพื่อเอาเงินไปทุ่มกับการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) บางกลุ่มมองว่า SCB ต้องการโฟกัสกับธุรกิจ Wealth Solution ดังจะเห็นจากการจัดตั้ง SCB Julius Baer เพื่อให้บริการลูกค้าความมั่งคั่งสูง (AUM) ตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป

ขณะที่ในมุมผู้บริหาร SCB บอกว่าเพียงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการมอบประสบการณ์และบริการที่ตรงความต้องการลูกค้าผ่านผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและดิจิทัลแพลตฟอร์มได้ดียิ่งขึ้น โดยลูกค้าที่ถือกรมธรรม์ SCB Life จะยังได้รับผลประโยชน์ด้านความคุ้มครองและบริการที่ต่อเนื่องเหมือนเดิม​ โดย FWD เป็นผู้ดูแลต่อ

FWD  “ผู้เล่น” หน้าเก่าในร่างใหม่ที่จะใหญ่และแกร่งขึ้น​

richard li
Richard Li ผู้ก่อตั้ง Pacific Century Group เจ้าของ FWD ผู้อยู่เบื้องหลังการไล่ซื้อกิจการประกันทั่วเอเชีย (Photo Credit : PCG-Group)

FWD ไม่ใช่ “หน้าใหม่” ในตลาดประกันชีวิตไทยแต่อย่างใด FWD ก่อตั้งขึ้นในเอเชียเมื่อปี 2556 โดยเป็นบริษัทประกันภัยในกลุ่มลงทุน Pacific Century Group โดยทายาทของ Li Ka-Shing ได้แก่ Richard Li นักธุรกิจชาวฮ่องกง ซึ่งได้รับการจัดอันดับจาก Forbes เป็นบุคคลที่รวมที่สุดในโลกประจำปี 2562 เป็นอันดับที่ 413 และรวยเป็นอับดับที่ 21 ของฮ่องกง ด้วยมูลค่าความมั่งคั่ง 4.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ​ (4 ก.ค.)

ในปี 2555 กลุ่ม Pacific Century ได้ไล่ซื้อกิจการประกันชีวิตของ ING ทั้งในฮ่องกง มาเก๊า รวมถึงประเทศไทย เป็นมูลค่ากว่า 6.4 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้นจึงเปลี่ยนชื่อจาก ING มาเป็น FWD

ก่อนหน้าการประกาศซื้อ SCB Life เพียงไม่กี่วัน FWD เพิ่งมีข่าวซื้อกิจการในฮ่องกงของ MetLife บริษัทประกันชีวิตสัญชาติอเมริกัน ในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา FWD ก็เพิ่งจบดีลการซื้อหุ้น HSBC Holdings 49% เพื่อร่วมหุ้นในกิจการประกันชีวิตในประเทศมาเลเซีย ปีที่แล้ว FWD ยังได้ซื้อหุ้นใหญ่ใน PT Commonwealth Life ซึ่งเป็นธุรกิจประกันชีวิตในอินโดนีเซีย และปีก่อนนั้น ก็ซื้อกิจการ AIG Fuji Life Insurance ในญี่ปุ่น

กล่าวได้ว่า FWD เอาจริงเอาจังอย่างมากในการรุกตลาดประกันชีวิตในภูมิภาคเอเชีย โดยปัจจุบัน ดำเนินธุรกิจครอบคลุมหลากหลายประเทศในแถบเอเชีย ทั้งฮ่องกง มาเก๊า ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น และมาเลเซีย โดยเป้าหมายของบริษัทคือ การเป็นบริษัทประกันชีวิตชั้นนำในเอเชียที่เปลี่ยนมุมมองที่ผู้คนมีต่อการประกันชีวิต และมุ่งสร้างเครือข่ายธุรกิจครอบคลุมเอเชีย

ทั้งนี้ มีข่าวลือหนาหูว่า ในช่วง 3-4 ปีมานี้ เหตุที่ FWD ไล่ซื้อกิจการประกันชีวิตไปทั่วเอเชีย อาจเป็นเพราะบริษัทมีแผนจะนำบริษัทเข้า IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงภายในปีหน้า … ซึ่งก็คงต้องจับตาต่อไป แต่รับรองได้ว่าจะยิ่งทำให้ธุรกิจประกันชีวิตไทยคึกคักและร้อนแรงเพิ่มขึ้นแน่นอน!!!

โฉมหน้าบริษัทประกันชีวิตในตลาดไทยทั้ง 23 ราย (ณ ปัจจุบัน)

 


  • 121
  •  
  •  
  •  
  •  
Tummy
เมื่อไหร่ที่หยุดพัฒนาตัวเอง ถึงแม้เราไม่ได้ถอยหลัง แต่โลกก็จะทิ้งเราไว้ข้างหลังและหนีห่างออกไป จนวันหนึ่งเมื่อตื่นมา เราอาจรู้สึกแปลกแยก ... มาเปิดโลกทัศน์ แล้วสนุกกับทุกความเคลื่อนไหวในโลกใบนี้ไปพร้อมกันนะคะ