จากโควิดถึงเศรษฐกิจฝืด! คนไทย “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด-ไม่มีความสุข” เจาะอินไซต์ “การใช้ชีวิต-ใช้จ่าย-เสพสื่อ” แบรนด์จะคว้าโอกาสอย่างไร ?

  • 252
  •  
  •  
  •  
  •  

GroupM Focal_Consumers Untold 2022

ในช่วงกว่า 2 – 3 ปีมานี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับคนไทย ต้องเจอวิกฤตถาโถมเข้ามาหลายระลอก ทั้งการแพร่ระบาด COVID-19 แม้เวลานี้เริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่ยังต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันแพง ทำให้คนไทย ทั้งผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ต้องประสบกับต้นทุนวัตถุดิบพุ่งสูงขึ้น ข้าวของมีราคาแพงขึ้น ในขณะที่เงินในกระเป๋าและรายได้น้อยลง สิ่งที่ตามมาคือ คนไทยแบกรับความเครียด รู้สึก “ไม่มีความสุข” และยังไม่รู้ว่าอนาคตจะมีทิศทางอย่างไร

ในงานสัมมนาการตลาด GroupM FOCAL ได้นำเสนอผลการศึกษางานวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค ประจำปี 2022 ภายใต้หัวข้อ Consumers Untold 2022 สำรวจและวิจัยแบบผสมผสานทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ผ่านการสัมภาษณ์เชิงลึกและแบบสอบถามเพื่อศึกษาถึงทัศนคติ พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่รวมถึงวิธิการเลือกซื้อสินค้าและจับจ่าย และพฤติกรรมการเสพสื่อที่เปลี่ยนไปในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยคุณณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ หุ้นส่วนผู้บริหาร และคุณแพน จรุงธนาภิบาล ผู้อำนวยการแผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) มาเผย Consumer Insights และพฤติกรรมผู้บริโภคในผลวิจัยครั้งนี้

GroupM Focal_Consumers Untold 2022
คุณณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ หุ้นส่วนผู้บริหาร และคุณแพน จรุงธนาภิบาล ผู้อำนวยการแผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย)

ผลการศึกษาครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ

– Life: การใช้ชีวิต

– Media: พฤติกรรมการเสพสื่อ และแอปพลิเคชันที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด

– Money: การเงิน ครอบคลุมรายได้ – การใช้จ่าย – ใช้เงินที่ไหน

– Move Forward: แบรนด์ – นักการตลาดจะคว้าโอกาสอย่างไร

GroupM Focal_Consumers Untold 2022

 

Life: คนไทยเจอเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เศรษฐกิจฝืด ไม่มีความสุข กลับบ้านต่างจังหวัด ลดใช้โซเชียลมีเดีย

แม้เวลานี้ชีวิตของคนไทย กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว แม้จะยังไม่ 100% ก็ตาม และผู้คนปรับตัวใช้ชีวิตอยู่กับการแพร่ระบาด ซึ่งดูเหมือนจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่กลับต้องเจอกับวิกฤตระลอกใหม่ นั่นคือ ภาวะเงินเฟ้อ น้ำมันแพง และเศรษฐกิจฝืด ส่งผลให้ข้าวของต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่เงินในกระเป๋าน้อยลง และบางคนยังต้องอยู่ในภาวะตกงาน หรือรายได้ลดลง

เพราะฉะนั้นชีวิตของคนไทยยังคงอยู่ในโหมด Survive ต่อไป นั่นคือ ทำอย่างไรให้มีชีวิตอยู่รอด!

GroupM Focal_Consumers Untold 2022

ในการสำรวจวิจัยครั้งนี้ สามารถสรุปถึงปัญหาที่ผู้บริโภคไทยกำลังเผชิญอยู่คือ

1. Repetitive Misfortune: เคราะห์ซ้ำกรรมซัด

หลังจาก COVID-19 คลี่คลาย สิ่งที่ตามมาไม่ได้จบแค่นั้น เพราะผลพวงจาก COVID-19 นำพาความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มาให้กับคนทั่วโลก รวมทั้งคนไทย และเวลานี้ยังมีปัจจัย “ราคาน้ำมัน” และ “ค่าใช้จ่าย” ที่สูงขึ้น ทำให้การจะออกจากบ้านแต่ละครั้ง ผู้บริโภคต้องคิดวางแผนถี่ถ้วนมากกว่าเดิม

ไม่เพียงแต่ประสบกับเงินในกระเป๋าน้อยลงเท่านั้น คนไทยยังต้องเจอกับปัญหา “Call Center” ที่หลอกลวงเอางเงิน ทำให้ต้องระมัดระวังตัวในการใช้ชีวิตมากขึ้นกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้เป็นเคราะซ้ำกรรมซัดที่คนไทยต้องเผชิญหน้าในโลกแห่งความจริงในปี 2022

GroupM Focal_Consumers Untold 2022

2. Recession Coming: เศรษฐกิจฝืดเคือง

สถานการณ์โลก เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลมาถึงคนไทยด้วยเช่นกัน และกระทบกับคนในทุกจังหวัด ทั้งของแพงขึ้น รายได้น้อยลง ยิ่งทำให้การใช้ชีวิตยากขึ้น และเป็นปัญหาหนักกว่าเดิม

– คนไทยขาดรายได้ และบางคนตกงาน ไม่มีเงิน

– คนไทยไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิตต่อไปจากนี้ เพราะสถานการณ์ทั้งประเทศไทย และของโลก ยังไม่แน่นอน ทำให้วางแผนไม่ถูกว่าจะใช้เงิน หรือลงทุนอย่างไร

GroupM Focal_Consumers Untold 2022

เมื่อเงินน้อยลง หรือไม่มีเงิน สิ่งที่ตามมาคือ “คนไม่มีความสุข” สะท้อนให้เห็นว่าปี 2022 เป็นปีที่คนไทย ทั้งผู้บริโภค และผู้ประกอบการไม่มีความสุข 

– คนไม่มีรายได้ หรือรายได้น้อยลง ต้องหารายได้เสริมเข้ามา โดยพบว่าอาชีพใกล้ตัวที่คนไทยใช้ในการหารายได้คือ เป็น “ไรเดอร์ส่งอาหาร” เพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว

อย่างไรก็ตามจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างพบว่า ในปีนี้ไรเดอร์ทุกคนบอกว่าเงินลดลง แม้ยังมีคนสั่งอาหาร Delivery เช่นเดิม แต่ถูกลดค่ารอบ และยังเจอน้ำมันแพงขึ้น ทำให้รายได้เข้ามาน้อยลง

– แม้เศรษฐกิจแย่ น้ำมันราคาแพงขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูง แต่พบว่าผู้ประกอบการร้านค้า-ร้านอาหารบางร้าน ยังไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ เพราะด้วยความที่กำลังซื้อคนเท่าเดิม หรือน้อยลงกว่าเดิม จึงกลัวว่าหากทางร้านปรับราคาขึ้นไปอีก จะยิ่งทำให้คนไม่มาใช้บริการ และกลัวขายไม่หมด

GroupM Focal_Consumers Untold 2022 GroupM Focal_Consumers Untold 2022 GroupM Focal_Consumers Untold 2022

เมื่อคนไม่มีเงิน รู้สึกถึงความไม่มั่นคงในชีวิต จำเป็นต้องออกไปทำงานเสริม ส่งผลกระทบให้ไม่มีเวลาในการใช้ชีวิต ไม่มีเวลาส่วนตัวของตัวเอง

นอกจากนี้ในปี 2022 พบว่าคนกลับบ้านเกิดที่ต่างจังหวัดมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เพราะมองว่าในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเองนั้น ยังมีโอกาสอยู่ ซึ่งโอกาสที่ว่านี้มาจากการใช้ “ทักษะ” ของตัวเอง บวกกับการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น แล้วเริ่มขายในหมู่บ้าน จากนั้นขยายไปขายในชุมชนต่างๆ ที่อยู่ใกล้ๆ ด้วยการนำสินค้าไปส่งเอง

พร้อมทั้งนำเครื่องมือดิจิทัลที่ช่วยในการค้าขาย คือ Social Media เช่น Facebook, Instagram, LINE โดยทำกรุ๊ปสำหรับชุมชนโดยเฉพาะ ขณะเดียวกันมีหน่วยงานภาครัฐ เข้ามาสอนทักษะต่างๆ เช่น ด้านการขาย, การใช้ Social Media ขายของ ทำให้สามารถสร้างรายได้ เลี้ยงตัวเองได้ด้วยเครื่องมือดิจิทัล

อย่างไรก็ตามแม้คนจะออกจากกรุงเทพฯ ไปใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัดมากขึ้น แต่คนยังติดตามข้อมูลข่าวสารที่เกิดในกรุงเทพฯ เป็นหลัก เพราะเป็นศูนย์กลางของข่าวสารเหตุบ้านการเมืองต่างๆ และการกำหนดทิศทางประเทศ

เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครล่าสุด ไม่ใช่เฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่ติดตามความเคลื่อนไหวเท่านั้น คนทั่วประเทศก็ดูข่าวเลือกตั้งดังกล่าวเช่นกัน เพราะมองว่าเป็นการ Set Standard การตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดอื่นๆ รวมถึงการเลือกตั้งที่อื่นๆ เช่นกัน

GroupM Focal_Consumers Untold 2022GroupM Focal_Consumers Untold 2022

“สถานการณ์มีแต่ความกดดัน ความเครียด ไม่มีความสุข ทำให้คนแสวงหาความสุขด้วยวิธีใหม่ๆ จากเมื่อก่อนทุกคนอยู่กรุงเทพฯ เพื่อหาเงินส่งไปต่างจังหวัด แต่ตอนนี้ทุกคนพยายามหนีเมืองใหญ่ หนีกรุงเทพฯ​ ออกไปอยู่บ้านเกิด เพราะลดความเครียด ได้ความสบายใจ และโอกาสต่างๆ ไม่ได้รู้สึกกดดันมากจนเกินไป  

และอีกส่วนหนึ่งที่เจอในการทำวิจัยครั้งนี้คือ ความเครียด หรือการไม่มีความสุขของคน ส่วนหนึ่งมาจาก Social Media ด้วย เพราะ Social Media เหมือนการแข่งขันกันเอง ทุกคนพยายามแสดงด้านดีออกมาให้เยอะที่สุด พราะฉะนั้นเราพยายามแข่งกับความเป็น Social ทำให้เราเหนื่อย นจึงลดการใช้ Social Media ลง”

GroupM Focal_Consumers Untold 2022

 

Media: ปีแห่ง World of Screen และบทบาทที่เปลี่ยนไปของ Social Media

สำหรับพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคไทยในปี 2022 มีความเปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา

คอนเทนต์วิดีโอ/คอนเทนต์เคลื่อนไหว (Motion Content)

ปี 2021: คนดูคอนเทนต์วิดีโอ หรือคอนเทนต์เคลื่อนไหวผ่านนแพลตฟอร์ม YouTube, Facebook, TikTok, Netflix, TV

ปี 2022: บทบาทของ Facebook ในแง่ของคอนเทนต์วิดีโอ หรือคอนเทนต์เคลื่อนไหวน้อยลง แต่ไปอยู่ที่ YouTube TikTok, Netflix, Smart TV มากขึ้น

– เพลง (Music)

ปี 2021: คนฟังเพลงจาก YouTube, Spotify, JOOX, Radio Apps

ปี 2022: คนให้ความสำคัญกับ YouTube มาเป็นอันดับแรก และพบว่าหลายคนที่สมัคร subscribe แบบเสียค่าสมาชิกแอปพลิเคชัน Spotify, JOOX, Radio Apps ต่างๆ ได้ยกเลิกสมาชิก เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และหันไปฟังฟรีจาก YouTube แม้ต้องมีโฆษณาคั่นเป็นช่วงๆ ก็ตาม

– ข่าวสาร (News)

ปี 2021: คนไทยนิยมติดตามข้อมูลข่าวสารผ่าน Facebook, Twitter, YouTube, Google, Websites, TikTok

ปี 2022: คนไทยยังดูข่าวสารจากช่องทาง Facebook, Twitter, YouTube, Google, Websites, TikTok เช่นเดิม เพราะแต่ละช่วงวัย มีวิธีเสพข่าวไม่เหมือนกัน

– รูปภาพ และตัวหนังสือ (Still Content)

ปี 2021: คนชอบดูคอนเทนต์รูปแบบ และตัวหนังสือจาก Facebook, Websites

ปี 2022: คนยังคงชอบดูคอนเทนต์รูปแบบ และตัวหนังสือจาก Facebook, Websites แต่ที่น่าสนใจคือ ปีนี้มี Instagram เพิ่มเข้ามา โดยพบว่าคนอ่านคอนเทนต์ต่างๆ บน IG มากขึ้น

– ช่องทางสร้างการรับรู้ (What bring awareness)

ปี 2021: คนไทยบอกว่าช่องทางที่ทำให้ตัวเขาเองรู้จัก หรือค้นพบสิ่งใหม่ๆ คือ YouTube, Facebook, Instagram, TikTok

ปี 2022: TikTok กลายเป็นแพลตฟอร์มมาแรงในการทำให้คนรู้จัก หรือค้นพบสิ่งใหม่ๆ ขณะที่ Facebook คนพูดถึงน้อยลง ในฐานะ First Attraction

GroupM Focal_Consumers Untold 2022 GroupM Focal_Consumers Untold 2022
เพราะฉะนั้นสรุปภาพรวมสื่อในปี 2022 เป็นปีแห่ง Screen หรือ The World of Screen โดยแบ่งเป็น

จอใหญ่ คือ ทีวี ทุกวันนี้ทีวีเป็น Smart TV ทำให้สามารถรับชมคอนเทนต์ต่างๆ แทบไม่แตกต่างมือถือแล้ว

– ดูถ่ายทอดสดกีฬา

– ติดตามข่าวเหตุการณ์สำคัญ เช่น เลือกตั้ง, อภิปรายสภา

– ข่าวที่มีรายละเอียดมาก เช่น เศรษฐกิจ, สงคราม

– หนัง-ซีรีส์ ดูจอใหญ่ได้ประสบการณ์การรับชมทั้งภาพและเสียงที่ดีกว่า

จอเล็ก:  มือถือ

– ข่าว Breaking News เน้นเร็ว

– คอนเทนต์สั้น สนุก ไม่ต้องใช้เวลามาก เช่น TikTok, Reels

– นิยาย หรือการ์ตูนรูปแบบ Digital Books สามารถอ่านในมือถือได้เหมือนกัน

– เกม คนทุกวัยเล่นเกม เพราะเป็นเรื่องของการให้ความสุข ความบันเทิง

– อัปเดตเทรนด์เร็วๆ

GroupM Focal_Consumers Untold 2022

ขณะที่ผลสำรวจ “แอปพลิเคชัน” ที่คนไทยนิยมใช้มากสุดในปี 2022

แอปฯ ข่าวสาร: กระจายทุกแพลตฟอร์ม ทั้ง Instagram, Twitter, Facebook, TikTok, TV 

แอปฯ​ การสื่อสาร: คนไทยยังนิยมใช้ LINE, Messenger แต่ที่น่าสังเกตคือ วัยรุ่นไม่คุยกันเองใน LINE แล้ว แต่หันไปคุยกันใน Instagram ขณะที่ LINE วัยรุ่นมองว่ามันเหมือนเป็นพื้นที่ส่งการบ้านมากกว่า 

แอปฯ ความบันเทิง: อันดับ 1 มาแรงคือ TikTok และเป็นแพลตฟอร์มที่คนทุกวัยใช้ 

นอกจากนี้ผลสำรวจปีนี้ ยังพบว่ามีคนใช้แอปฯ​ เถื่อน หรือ Pirate Apps มากขึ้น เป็นเพราะทุกวันนี้เงินทุกบาททุกสตางค์สำคัญมาก เพราะฉะนั้นคนที่มีรายได้น้อย จะหันไปหาแอปฯ ที่ไม่ต้องจ่ายเงิน เพื่อดูคอนเทนต์

แอปฯ การใช้เงิน: พบว่าแอปฯ ​เป๋าตังค์ มาแรง โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลาง ถึงรายได้น้อย เพราะเป็นหนึ่งในทางที่จะมีเงินเข้ามาช่วยซัพพอร์ตการดำรงชีวิต ส่วนแอปฯ การเงินที่คนไทยนิยมใช้รองลงมาเป็นกรุงไทย,​ SCB และ Kbank

แอปฯ​ ช้อปปิ้ง: มีการแบ่งชัดเจนแอปฯ e-Marketplace Shoppe, LAZADA กับ Social Commerce เช่น Intagram, Facebook 

แอปฯ​ Delivery: Grab คนพูดถึงไม่ใช่แค่ Food Delivery เท่านั้น แต่ยังพูดถึงบริการ Quick Commerce, แอปฯ LINE MAN, 7-Eleven, Robinhood

GroupM Focal_Consumers Untold 2022

“ตอนนี้คนไม่มีเงิน เพราะฉะนั้นการ subscribe แอปฯ เขาจะสมัครแค่แอปฯ เดียว ทำให้แอปฯ Music Streaming เช่น JOOX, Spotify คนอาจฟังฟรีบ้าง แต่ไม่ได้จ่ายเงินให้ แล้วมามัคร YouTube Premium แทน ซึ่งด้วยสไตล์ของคนไทย เป็นการ sharing กันในครอบครัว ใครอยากดูตอนไหน ว่างตอนไหนก็มาดู  

ขณะเดียวกันจากการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่าในปี 2022 TikTok เป็นแอปฯ First Attraction ที่ทำให้คนสามารถเจออะไรใหม่ๆ ได้ อย่างมีน้องวัยรุ่นคนหนึ่ง บอกว่า TikTok เป็นประตูแรกที่ทำให้เจอสิ่งใหม่ๆ เพราะฉะนั้นเวลาที่เจออะไรใน TikTok จะไปเสิร์ชหาต่อที่เว็บไซต์ หรือใน YouTube เพื่อหารายละเอียดเพิ่มเติม

GroupM Focal_Consumers Untold 2022

“อีกสิ่งหนึ่งที่เซอร์ไพรซ์เรามากในปีนี้ คือ บทบาทของ Facebook ไม่เหมือนเดิม เพราะเด็กๆ หลายคนบอกว่า Facebook เป็นพื้นที่ของผู้ใหญ่ เขารู้สึกว่าเข้าไปอยู่แล้วไม่ได้รู้สึกเป็นตัวของตัวเองเหมือนเมื่อก่อน เพราะฉะนั้น Facebook ยังเก็บไว้อยู่ แต่เก็บในฐานะ Digital ID ใช้สำหรับเข้าถึงแอปฯ อื่น เช่น ซื้อของ หรือเล่นเกม หรือฟังเพลง  

เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ก็พูดเหมือนกันว่า คอนเทนต์บน Facebook อาจจะเยอะเกินไป แล้วไม่ได้ match กับเขา จึงเข้าใช้ Facebook น้อยลง แต่ยังคงใช้เป็น ID สำหรับเข้าแอปฯ​ ช้อปปิ้ง แอปฯ​ เกม หรือแอปฯ​ อื่นๆ”

GroupM Focal_Consumers Untold 2022

ขณะที่ รูปแบบคอนเทนต์ พบว่า คนไทยชอบคอนเทนต์วิดีโอสั้นแบบ TikTok, Reels, IG Story และคอนเทนต์ที่สรุปข้อมูลมาให้ย่อยง่าย แต่ถ้าเป็นคอนเทนต์ยาว และอยากให้คนดู ต้องเชื่อมโยงกับคนดู เพื่อทำให้คนดูรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเขา

เมื่อถามถึง Celeb และ Influencer ที่อยู่ในใจคนไทยในปี 2022 พบว่าปีนี้ส่วนใหญ่ตอบเป็นดารา หรือศิลปินต่างชาติ แทบไม่มีการตอบชื่อ Celeb หรือดาราไทยออกมาเลย เป็นผลพวงมาจากปีที่แล้ว ที่ผู้บริโภคใช้ชีวิตอยู่บนแพลตฟอร์มต่างๆ และดูคอนเทนต์จีน,​ เกาหลี, อินเดียมากขึ้น  เพราะฉะนั้นปีนนี้ดารา หรือ Influencer ที่คนไทยชื่นชอบจึงค่อนข้างหลากหลาย

เช่นเดียวกับนิยามความสวยความงามในปี 2022 ผู้บริโภคไม่ได้พูดถึงดารา แต่พูดถึงเรื่องสุขภาพดี การดูแลตัวเอง และนอกจาก Macro Influencer ด้านสุขภาพชื่อดังแล้ว คนไทยยังพูดถึง Micro – Nano Influencer ด้านสุขภาพด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่า Beauty Standard หรือมาตรฐานความสวยไม่มีแล้ว แต่ทุกคนมีความสวยและความมั่นใจในแบบของตัวเอง

GroupM Focal_Consumers Untold 2022 GroupM Focal_Consumers Untold 2022

 

การเงิน: คนไทยทุกวัยรับจ่ายเงินด้วย Digital Wallet

ขณะที่ผลสำรวจด้านการเงินของคนไทย ทั้งรายรับ-รายจ่ายของคนไทยใช้ไปกับอะไร (Money In & Out) และ ใช้เงินไปกับที่ไหน (Money Where)

Money In & Out

– สิ่งที่เป็นตัวเปลี่ยนรูปแบบการรับ-จ่ายเงินของคนไทยไปสู่ “Digital Wallet” เร็วขึ้น และขยายกว้างขึ้น คือ โครการคนละครึ่ง และ เป๋าตังค์ ให้คนที่ไม่คิดจะเปิดใจให้กับการใช้ Digital Wallet มาก่อน ยอมใช้ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว เช่น พ่อค้าแม่ค้า ในช่วงที่มีโครงการคนละครึ่ง ทำให้มีรายได้มากขึ้น มีเงินมาหล่อเลี้ยงครอบครัว ขณะเดียวกันเมื่อโครงการจบ คนซื้อน้อยลง รายได้ที่เข้ามาก็น้อยลงตามไปด้วย

GroupM Focal_Consumers Untold 2022

– ผลสำรวจยังพบว่าผู้บริโภคไทยบอกว่าใช้ Digital Wallet เป็นทั้งรายรับ และรายจ่าย ทั้งยังนำคะแนนสะสมต่างๆ มาเป็นส่วนลดซื้อสินค้า เช่น บางคนใช้ ShopeePay จ่ายค่าทางด่วน และค่าน้ำมัน ทั้งยังเอา Point สะสมมาเป็นส่วนลดค่าสินค้า-บริการต่างๆ

GroupM Focal_Consumers Untold 2022

– การใช้จ่ายผ่าน Digital Wallet ของคนไทยยังพบว่า กล้าที่จะเสี่ยงซื้อสินค้าราคาถูก 100 – 300 บาทใน Social Commerce เพราะมองว่าถ้าซื้อมาแล้วไม่ถูกใจ หรือสินค้าไม่ตรงปก จะไม่กลับไปซื้ออีก

แต่ถ้าสินค้าราคาสูงหน่อย ผู้บริโภคไทยจะเริ่มหาจากแพลตฟอร์ม e-Marketplace เช่น LAZADA, Shopee เพราะรู้สึกเชื่อถือได้มากกว่า และติดตามได้

GroupM Focal_Consumers Untold 2022

– แม้ประเทศจะเปิดแล้ว แต่คนไทยยังใช้จ่ายผ่าน Food Delivery เพิ่มมากขึ้น และยังขยายไปยังบริการ Quick Commerce สั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต ให้มาส่งของที่บ้าน

พฤติกรรมการใช้จ่ายดังกล่าว เป็นสิ่งที่นักการตลาดต้องจับตามอง เพราะแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบาย ไม่อยากออกจากบ้าน เพื่อเสียเวลา และเสียค่าน้ำมัน แต่สำหรับบริการ Delivery เหล่านี้ รอเพียงไม่นาน สินค้าก็มาส่งถึงบ้านแล้ว และบางครั้งมีโปรโมชั่นส่งฟรีอีก เพราะฉะนั้นนี่จึงเป็นอีกหนึ่ง “โอกาส” สำหรับแบรนด์ในการนำเสนอความสะดวกให้กับผู้บริโภค

– ไม่เพียงแต่การสร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภคเท่านั้น แบรนด์ควรสร้าง Conversation กับลูกค้า เช่นกรณีลูกค้าติดต่อ Call Center นั่นแสดงว่าลูกค้ากำลังประสบปัญหาบางอย่าง ซึ่งการสำรวจครั้งนี้พบว่าผู้บริโภคหลายคนบอกว่า การได้ติดต่อคุยกับ “คน” จริงๆ สร้างความเชื่อมั่นได้มากกว่า แต่ถ้าต้องติดต่อคุยกับ AI ระบบอัตโนมัติ แม้จะมีการตอบกลับรวดเร็ว แต่บางปัญหาไม่สามารถแก้ได้ จนกลายเป็นปัญหายืดยาว ซึ่งลดทอนความมั่นใจในการซื้อของลูกค้า ดังนั้นแบรนด์ต้องระมัดระวังการตอบกลับลูกค้าด้วยระบบอัตโนมัติ

GroupM Focal_Consumers Untold 2022

Money Where: คนใช้จ่ายสินค้าชิ้นเล็กกับร้านใกล้บ้าน ซื้อสินค้าแพ็กใหญ่กับซูเปอร์มาร์เก็ต

– คนซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคชิ้นเล็ก จากร้านใกล้บ้าน และซื้ออาหารสด เช่น ผักสด, วัตถุดิบสดกับตลาดสดใกล้บ้าน

มากกว่าจะเดินทางไปซูเปอร์มาร์เก็ต หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต เช่นเดียวกับซื้ออาหารสด เช่น ผักสด, วัตถุดิบสด เนื่องจากตอบโจทย์ความสะดวก ประหยัดเวลาเดินทาง และประหยัดน้ำมัน รวมทั้งร้านค้าขนาดเล็ก – ตลาดสดรับคนละครึ่ง และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน

ขณะที่ถ้าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่ หรือ Pack Size ใหญ่ แต่ไม่ได้ไปซื้อบ่อย ผู้บริโภคจะเลือกซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ต หรือไฮเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้บริโภคนิยมไปใช้บริการ “ห้างฯ ท้องถิ่น” เช่นกัน เนื่องจากมีโปรโมชั่นพิเศษ และสินค้าราคาถูกกว่า

GroupM Focal_Consumers Untold 2022

– ขณะที่ “ช่องทางออนไลน์” ปัจจุบันผู้บริโภคทุกวัยช้อปผ่านออนไลน์ในสินค้าเกือบทุก Category แต่การซื้อสินค้าหมวดหมู่ใดนั้น แตกต่างกันตามอายุ เช่น ถ้าเป็นวัยผู้ใหญ่ – ผู้สูงอายุ จะซื้อสินค้าด้านสุขภาพ และผักผลไม้ แต่ถ้าเป็นวัยรุ่น จะซื้ออาหารที่เป็น Fast Food และเสื้อผ้าแฟชั่น

– นอกจากนี้วันที่ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายมากที่สุด คือ “วันเงินเดือนออก” และการซื้อของเข้าบ้าน จะไปซื้อครั้งเดียวในจำนวนมาก เพื่อตุนไว้ใช้ตลอดทั้งเดือน

GroupM Focal_Consumers Untold 2022

 

Moving Forward: 4 แนวทางแบรนด์ นักการตลาดเข้าถึงผู้บริโภค

1. Think Consumer อย่ามองผู้บริโภคเป็นภาพรวมใหญ่อีกต่อไป เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคมีความหลากหลายมาก และมีความเป็นตัวเอง เพราะฉะนั้นแบรนด์ – นักการตลาดต้องมองผู้บริโภคเป็น Individual หรือปัจเจก และทำความเข้าใจว่าผู้บริโภคแต่ละคน แต่ละเซ็กเมนต์เป็นอย่างไร

2. Quick and Convenience Wins แบรนด์ต้องเข้าใจ Customer Journey และปิดการขายให้ได้เร็ว ซึ่งแบรนด์จำเป็นต้องนำเสนอสินค้ให้ถูกที่ – ถูกเวลา (Right Place – Right Time) จะเพิ่มโอกาสให้แบรนด์ชนะใจผู้บริโภค และปิดการขายได้เร็วขึ้น

3. Data is Friend, Not Foe แบรนด์ต้องเข้าใจว่า Data มีอยู่ทุกที่ เพราะฉะนั้นถ้าแบรนด์ไม่เข้าใจการใช้ Data ให้หยุด – คิด และถามผู้เชี่ยวชาญในการนำ Data ที่มีอยู่จากหลากหลายแหล่ง มา connect the dots ได้อย่างไร

4. Branding Matters แม้ว่าการขายสำคัญ​ แต่ขณะเดียวกันการทำแบรนด์ดิ้งก็สำคัญเช่นกัน เช่น เวลาคนเสิร์ชหาข้อมูลสินค้า ก็ค้นหาจากแบรนด์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการลงทุนด้านแบรนด์ดิ้ง คือ Long-term Investment ที่แบรนด์ – นักการตลาดควรให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการขาย

GroupM Focal_Consumers Untold 2022


  • 252
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE