ก่อนหน้านี้เราคงเคยได้ยินแอปฯ Food Delivery อย่าง “Robinhood” ที่สร้างความฮือฮาเพราะเป็นครั้งแรกที่ธนาคารหันมาให้บริการนอกเหนือด้านการเงิน โดยเฉพาะการประกาศอย่างชัดเจนว่า “ไม่มีค่า GP” ซึ่งก็เกิดคำถามตามมาอีกว่า โหลดแอปฯ ได้ที่ไหน? ใช้งานอย่างไร? เปิดใช้งานแล้วหรือยัง? ซึ่งทุกคำถามวันนี้ Robinhood มีคำตอบ
เมื่อ SCB 10X เปิดตัวอย่างเป็นทางการกับแอปฯ สำหรับ Food Delivery อย่าง “RobinHood” โดยสามารถใช้งานได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ซึ่งยังคงเน้นว่าเป็นแอปฯ ที่ไม่มีการจัดเก็บค่า GP สำหรับร้านค้า นอกจากนี้ Robinhood มีแผนในการพัฒนาระบบขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงระบบ Payment ที่เรียกได้ว่าเป็นระบบ Cashless อย่างสมบูรณ์
เป็นเพื่อนร้านเล็กช่วยสร้างโอกาสในการขาย
คุณธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) ผู้ให้บริการแอปฯ “Robinhood” ชี้ว่า จากการสำรวจตลาดพบว่า ร้านอาหารที่อยู่ใน Food Delivery มักจะเป็นร้านเชนอาหารรายใหญ่ ขณะที่ร้าน Street Food หรือร้านค้าขนาดเล็กกลับยังไม่เข้าร่วมกับ Food Delivery ทั้งที่ใจอยากเข้าร่วม
“ปัญหาใหญ่สุดของร้านเล็กๆ เหล่านี้คือเรื่องของค่า GP เพราะเป็นร้านเล็กๆ ที่ไม่ได้มียอดขายอะไรมากมาย การขายผ่าน Food Delivery แม้จะมีลูกค้าเพิ่มขึ้น แต่ค่า GP กลายเป็นตัวที่ทำให้ได้กำไรไม่เต็มที่ ขณะที่ร้านอาหารอยา่ง Food Truck ก็อยากเข้าร่วม Food Delivery แต่เพราะเป็นร้านที่ไม่อยู่กับที่แถมยังต้องพบกับค่า GP ทำให้หลายร้านค้าไม่มีช่องทางในการเข้าสู่ธุรกิจ Food Delivery ได้ Robinhood จะเข้าไปจับร้านอาหารประเภทนี้”
นอกจากนี้ยังมีการสำรวจพบว่า ช่วงเวลา 11.00 น.– 13.00 น. และช่วงเวลา 17.00 น.– 19.00 น. เป็นช่วงเวลาที่มีการใช้งาน Food Delivery มากที่สุด (Peak) ซึ่งผู้นำตลาดจะแข่งเรื่องโปรโมชั่นกันในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะที่อีก 20 ชั่วโมงที่เหลือถือเป็นช่วงเวลาของร้านเล็กๆ ที่อยู่บนแพลตฟอร์ม Robinhood เนื่องจากไม่มีค่า GP ร้านสามารถทำโปรโมชั่นในช่วงเวลาดังกล่าวได้ เช่น การลดราคา 8% ทั้งปีทุกเมนูเพื่อคืนกำไรให้ผู้บริโภค
ใครตกงานเตรียมแปลงร่างเป็น Rider
ด้าน คุณสีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Purple Ventures) เสริมว่า ไม่เพียงแต่ร้านค้าเท่านั้นที่ Robinhood ให้ความสนใจ แต่ยังรวมไปถึงผู้ขับขี่รถส่งอาหารหรือ Rider โดยปัจจุบัน Skootar ถือเป็นพันธมิตรในการให้บริการการจัดส่งอาหาร แต่แผนในปี 2564 Robinhood จะสร้างเครือข่าย Rider และจะมีการรับสมัครโดยตรงในนาม Robinhood เอง
“เนื่องจากการส่งมอบอาหารมีความซับซ้อนมากกว่าแค่การนำอาหารไปมอบให้ นั่นจึงทำให้เราต้องมีการฝึกอบรม Rider ยิ่งไปกว่านั้น Pain Point ของ Rider คือการสำรองจ่าย ซึ่งบางครั้งก็ได้เงินคืนกลับมาไม่ครบ โดยระบบของ Robinhood จะให้ลูกค้าเป็นคนจ่ายเงินเอง โดยที่ Rider ไม่ต้องจ่ายก่อน ยิ่งไปกว่านั้นเรากำลังทดสอบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ Rider นำไปใช้ เรียกว่าไม่ต้องมีรถแค่ขับได้ก็มาสมัครเป็น Rider ได้ โดยจะเป็นการเช่ารถพร้อมการจ้างงานแบบรายวัน”
นอกจากนี้ Rider ยังมีสวัสดิภาพทั้งในเรื่องประกันต่างๆ อย่างประกันอุบัติเหตุและประกันโควิด-19 ฟรีถึงสิ้นปี 2563 สำหรับรายได้นั้น Robinhood เข้าใจถึงร้านค้าขนาดเล็กที่จำเป็นต้องใช้เงินหมุนตลอดเวลา ขณะที่ Rider เองก็ต้องมีเงินไว้สำหรับเติมน้ำมัน (กรณีจักรยานยนต์ปกติ) ดังนั้นเมื่อเงินเข้าระบบรายได้ในส่วนของร้านค้าจะถูกโอนให้หลังจบออเดอร์แล้ว 1 ชั่วโมง ส่วน Rider รายได้จะเข้าทุกๆ เช้าของวันรุ่งขึ้น
แผนอนาคตและการชำระแบบ Cashless 100%
เรียกได้ว่า Robinhood เป็นแอปฯ เดียวที่รับบริการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด โดยผู้ใช้งานสามารถชำระผ่านบัตรเครดิตของทุกธนาคารได้อย่างไม่จำกัด หรือสามารถชำระเงินผ่านแอปฯ SCB Easy ได้ง่ายๆ โดยสามารถทำการชำระเงินได้โดยไม่ต้องเปิด 2 แอปฯ นอกจากนี้ยังแผนในการสร้าง Robinhood Wallet ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้งานแอปฯ ธนาคารอื่นสามารถเข้าใช้งาน Robinhood ได้
ไม่เพียงเท่านี้ Robinhood ยังมีแผนพัฒนาฟีเจอร์ใหม่และบริการเพิ่มเติมอย่าง Multiple Order ที่ลูกค้าสามารถทำการสั่งอาหารจากหลายร้านค้าได้โดยไม่ต้องรอสั่งทีละออเดอร์, Multiple Pick-Up ลูกค้าสามารถสั่งอาหารจากหลายร้านค้าในบริเวณใกล้เคียงกันในออเดอร์เดียว, การนำคะแนนสะสมในบัตรเครดิตมาใช้ในการชำระเงิน (Redemption) เป็นต้น
“สำหรับแผนการตลาดนั้นจะเป็นลักษณะปากต่อปาก (Word of Mouth) โดยมีการให้พนักงานสาขากว่า 500 สาขาในกรุงเทพฯ เป็นที่ปรึกษาให้กับร้านค้าเล็กๆ เหล่านั้น โดยร้านค้าสามารถเข้าร่วมแพลตฟอร์ม Robinhood ผ่านพนักงานของ SCB รวมถึงการถ่ายรูปภาพอาหารซึ่งได้รับการ ReSkill ก่อนหน้านี้ ” คุณธนา ชี้แจง
จุดเด่นของ Playlist แก้ปัญหา “กินอะไรดี”
สำหรับแอปฯ Robinhood เป็นแอปฯ น้องใหม่ในธุรกิจ Food Delivery โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กที่ยังไม่เข้าสู่ระบบ Food Delivery ซึ่งคุณธนานชี้ว่า ถือเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อสังคม (CSR) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการร้านค้าเล็กๆ เพิ่มช่องทางการขายและสร้างอาชีพ Rider รองรับการว่างงานที่เพิ่มขึ้น โดยงบประมาณส่วนใหญ่ถูกใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยี
ไม่เพียงแค่ในรูปแบบแอปพลิเคชันเท่านั้น Robinhood ยังอยู่ในรูปของเว็บไซต์ ซึ่งในเว็บไซต์จะเน้นคอนเท้นต์ที่เป็นบทความเกี่ยวกับร้านอาหาร เพื่อใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีการใช้ Facebook LIVE ในการสื่อสารกับกลุ่ม Rider ซึ่งถือเป็นช่องทางหลักที่ได้รับความนิยมในกลุ่ม Rider โดยจะเน้นสื่อสารเพื่อแจ้งข่าวสารโปรโมชั่นต่างๆ
แถมยังมีการออกแบบแอปฯ ให้ใช้งานง่ายและมีรูปแบบยอดนิยม โดยอิงจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Netflix หรือ Spotify เนื่องจากแอปฯ เหล่านั้นมีคอนเท้นต์เป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับ Robinhood ที่มีร้านค้าในระบบจำนวนมาก โดยจะมีการจัดรูปแบบ Playlist ในการนำเสนอร้านอาหาร โดยผ่านผ่านระบบ AI ที่จะประเมินผลว่าลูกค้าชอบสั่งอาหารประเภทไหนเป็นหลัก
ปัจจุบันแอปฯ Robinhood มีร้านค้าอยู่ในระบบแล้ว 16,000 ร้านค้าและมี Rider ในการจัดส่งอาหารอยู่ประมาณ 10,000 Rider โดยมีการตั้งเป้าว่าสิ้นปีนี้จะมีจะมีร้านค้าเข้าร่วมกับ Robinhood ถึง 30,000 ร้านค้าและจะมี Rider ประมาณ 15,000 Rider โดยมีลูกค้าใช้บริการอยู่ที่ 20,000 รายการต่อวัน โดยช่วงการทดสอบที่ผ่านมามีการใช้งานแล้วกว่า 100,000 ออเดอร์