อาการแย่ๆ ของโฆษณาไทยไตรมาสแรก

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

advertising2อุตสาหกรรมโฆษณาเป็นอีกดัชนีบ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจว่ามี “อาการ” เป็นอย่างไร  ตัวเลขการใช้งบโฆษณา 2 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ก.พ.) ที่รายงานโดย Nielsen Media Research (ประเทศไทย) มีมูลค่า 12,774 ล้านบาท  ลดลง 1.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 

ไพจิตร เทียนทอง นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) กล่าวว่าการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อลดลงในช่วง2 เดือนแรกปีนี้ เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน  ทิศทางการทำกิจกรรมการตลาดของสินค้าและบริการปีนี้  จะเน้นการใช้สื่อและกิจกรรมที่เห็นผลด้าน “ยอดขาย” ทันที  การสื่อสารรูปแบบ “บีโลว์ เดอะ ไลน์”  และการจัดอีเวนท์  จึงเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการใช้แมส มีเดีย

ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองที่ไทยเผชิญอยู่ในปีนี้  เป็นปัจจัยทำให้ภาพรวมโฆษณาไตรมาสแรกปีนี้อยู่ในสภาพถดถอย  และหากประเมินทั้งปีอย่างดีที่สุดจะอยู่ในสภาพไม่เติบโตเมื่อเทียบกับปีก่อน ที่มีมูลค่า 8.9 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ วรรณี รัตนพล ประธานบริหาร บริษัท อินิชิเอทีฟ จำกัด มีเดีย เอเยนซี  มองว่าแนวทางการใช้งบโฆษณาและการจัดกิจกรรมการตลาดของผู้ประกอบการในปีวิกฤติเศรษฐกิจนี้  ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่าสถานการณ์เศรษฐกิจครึ่งปีแรกน่าจะดีกว่าครึ่งปีหลัง เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกยังเผชิญกับปัจจัยลบ ยากต่อการฟื้นตัวในปีนี้

“พฤติกรรมการทำตลาดของผู้ประกอบการหลายราย จะเร่งทำรายได้เข้ากระเป๋าครึ่งปีแรกให้ได้สัดส่วน 60% เพราะไม่รู้ว่าครึ่งปีหลังจะเลวร้ายไปกว่านี้หรือไม่”

ทิศทางอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้กลุ่มผู้ประกอบการในประเทศ หรือ โลคอล แบรนด์  และภาครัฐ จะเข้ามามีบทบาทในการใช้งบประมาณ แทนกลุ่มอินเตอร์เนชั่นแนล แบรนด์  ที่มีนโยบายควบคุมค่าใช้จ่าย อันเป็นผลจากบริษัทแม่ในต่างประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งน่าจะช่วยให้ตัวเลขการเติบโตของภาพรวมอุตสาหกรรมในปีนี้ไม่ทรุดหนักมาก  และจะช่วยพยุงให้ภาพรวมปีนี้น่าจะลดลง 7-8% จากปีก่อน  แต่หาก 2กลุ่มนี้ไม่ใช้เงิน อาจจะติดลบถึง 15% 

ด้านธุรกิจบันเทิงในไตรมาสแรกปีนี้ ในกลุ่มโรงภาพยนตร์ ได้รับแรงกดดันจากปัจจัยลบภาวะเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของกลุ่มผู้บริโภคเช่นกัน   

อย่างไรก็ตาม วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) มองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ธุรกิจโรงภาพยนตร์และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ที่เป็น “บันเทิงราคาถูก” และพึ่งพา Local Consumption ยังมีโอกาสเห็นตัวเลขเติบโตได้ปีนี้ เนื่องด้วยผู้บริโภคน่าจะเลือกจับจ่ายเพื่อคลายเครียด หรือเป็นการหาความบันเทิง แทนเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน ที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า

ยอมรับว่าการทำตลาดปีนี้ “ไม่ง่าย” และต้องออก “แรง” มากกว่าปกติ  ด้วยไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอีก 3-6 เดือนข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น

ในวิกฤติเศรษฐกิจปีนี้  เมเจอร์ฯวางยุทธศาสตร์การบริหารใหม่ด้วยการหันมาเน้นเรื่องกลยุทธ์  “ราคา” การจัดโปรโมชั่นกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภครายกลุ่ม ด้วยความถี่ของกิจกรรมเพิ่มขึ้น โดยได้เพิ่มงบการตลาดจาก 100 ล้านบาทในปี 2551 เป็น 150 ล้านบาท ในปีนี้ เพื่อทำการตลาด “เชิงรุก” ทั้งกระตุ้นกำลังซื้อในลูกค้าเดิม และการขยายฐานลูกค้าใหม่

กิจกรรมการตลาดปีนี้จะมุ่งตอบสนองทุกกลุ่มลูกค้าแบบ Segmentation  ทั้งกลุ่มนักเรียน นักศึกษา วัยรุ่นที่เป็นฐานลูกค้าหลัก  โดยเสนอราคาตั๋วพิเศษ Student Price ที่นั่งละ 60-80 บาท ในทุกเรื่อง ทุกรอบ ทุกสาขา แบบไม่กำหนดระยะเวลา ,ตั๋ว  Senior Price ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ราคา 80 บาท  เพื่อกระตุ้นให้คนสูงอายุออกมาดูหนังมากขึ้น กลยุทธ์ต่างๆ ที่นำใช้ในปีนี้ เมเจอร์ฯ มั่นใจว่ารายได้จากตั๋วหนังมีโอกาสเติบโต 10-15% หรือกว่า 30 ล้านใบ ในปีเศรษฐกิจท้าทายเช่นนี้

Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์


  •  
  •  
  •  
  •  
  •