dtac จัดทำ White Paper 6 ยุทธศาสตร์ หวังร่วมมือรัฐบาลเปิด เส้นทางสู่ดิจิทัลไทยแลนด์

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

dtac8B0A5373

ช่วงนี้รัฐบาลให้การสนับสนุนเศรษฐกิจและธุรกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง จึงมีข้อเสนอจำนวนไม่น้อยที่ภาคเอกชนนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้มีแนวทางพัฒนาประเทศไปในทิศทางเดียวกัน เช่นเดียวกับ dtac ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมอันดับ 2 ของไทย และมีเครือข่ายจาก Telenor อีกหลายประเทศ ซึ่งครั้งนี้ได้ทำ White Paper เสนอให้กับประเทศไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสู่ระดับสากล

รายงานดังกล่าวอยู่ในหัวข้อ“เส้นทางสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ อินเทอร์เน็ตเพื่อทุกคน” นำเสนออย่างเป็นทางการในงาน Asia Pacific Digital Societies Policy Forum 2016 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 เมษายน 2559 โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและ สมาคม GSMA โดย dtac ได้จัดทำ 6 ยุทธศาสตร์หลัก

ลาร์ส  นอร์ลิ่ง CEO ของ dtac บอกว่า White Paperเป็นคำมั่นสัญญาและแผนระยะยาวที่ดีแทคจะสนับสนุนประเทศไทยไปสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงร่วมผลักดันและส่งเสริมความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่เป็นผู้ออกกฎหมายและกำหนดนโยบาย ภาคเอกชน และภาคสังคมต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ ประชาชน เศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันทางธุรกิจในภูมิภาค เพื่อจะนำประเทศไทยไปสู่สังคมดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบภายในปี พ.ศ. 2563

dtacw1

รายงานฉบับนี้เป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และการสนับสนุนจาก dtac เพื่อให้สังคมไทยก้าวไปสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัลได้สำเร็จ ซึ่งเศรษฐกิจดิจิทัลมีผลต่อการเติบโต GDPการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม และผลิตผลของตลาดแรงงาน การจ้างงานและความสามารถทางการแข่งขันในสังคมเศรษฐกิจอาเซียนและประเทศอื่นๆ และเพื่อปฏิบัติตามร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล พ.ศ. 2559 เพื่อการสร้างเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในประเทศไทย และเป็นผู้นำด้านดิจิทัลในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งดีแทคได้กำหนด 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ พร้อมข้อเสนอดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1: โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure)

อุปสรรคหนึ่งคือ การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งเครือข่ายดิจิทัลแบบพื้นฐาน (Fixed Infrastructure) และโมบายล์ (Mobile Infrastructure) ที่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะในเทคโนโลยี 4G ดังนั้น รัฐบาลจะต้องพิจารณากำหนดแผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) และจัดการประมูลคลื่นความถี่คลื่น 700, 850, 1800, 2300 และ 2600 MHz เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรทั้งแบบโครงสร้างพื้นฐานและอินเทอร์เน็ตบนมือถือในราคาที่เหมาะสม นำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์สู่ 30,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ รวมถึงสนับสนุนภาครัฐสำหรับการจัดทำกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมในการสร้างเสาสถานีฐานในพื้นที่ห่างไกล และพัฒนาโครงสร้างเครือข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำร่วมกัน

ยุทธศาสตร์ที่ 2: ระบบนิเวศเชิงนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation Ecosystem)

เทคโนโลยีดิจิทัลจะต้องเข้าถึงภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SME ซึ่งถือเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 99 ของธุรกิจในประเทศไทย มุ่งเน้นส่งเสริมระบบนิเวศดิจิทัลของธุรกิจสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการโดยความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง dtac มีโครงการ dtac accelerate ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพต่างๆ และแอปพลิเคชั่นชั้นนำเช่น แอปพลิเคชั่นสำหรับจัดการด้านการเงินจาก Piggipo แอปพลิเคชั่นเคลมประกันรถยนต์จาก Claim Di และอุปกรณ์ช่วยดูแลรถยนต์ผ่านสมาร์ทโฟนจาก Drivebot  ตั้งเป้าปี พ.ศ. 2563  จะผลักดันเหล่าสตาร์ทอัพไทยให้มีมูลค่า 2,000 ล้านบาท และก้าวสู่อันดับ 1 ของสตาร์ทอัพกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

dtac_2610

ยุทธศาสตร์ที่ 3: เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสังคมที่เท่าเทียม (Digital Technology for an Equitable Society)

ปี 58 คนไทย 48 ล้านคน ยังไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ต เป้าหมายคือต้องลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรในเมืองและชนบท เพิ่มรายรับของประชากรในชนบทโดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร นอกจากการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ของโครงการ Internet For All เชื่อมต่อคนไทยจากการดำเนินงานทั้งภาครัฐและเอกชนสู่บริการด้านสุขภาพ การศึกษา การเงิน และการเกษตร ด้วยการส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม

ยุทธศาสตร์ที่ 4: บริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ (eGovernment Services)

ปัจจัยหลักของโครงการดิจิทัลไทยแลนด์คือ ข้อมูลที่โปร่งใสและทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลและบริการสาธารณะผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังคงตามหลังประเทศพัฒนาแล้วในด้านบริการสาธารณะออนไลน์พื้นฐานต่างๆ โดยข้อมูลสาธารณะส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้รับการปรับเปลี่ยนไปสู่รูปแบบดิจิทัลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ในส่วนของ  “เครือข่ายซูเปอร์ไฮเวย์” แห่งชาติ (Government Information Network – GIN) หรือ Super GIN กำลังอยู่ระหว่างการจัดตั้งเพื่อเชื่อมต่อระบบข้อมูลรัฐที่มีอยู่เดิม ซึ่งต้องร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งมีทรัพยากรที่จำเป็นต่อการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐเพื่อขยายบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

dtacw2

ยุทธศาสตร์ที่ 5: ทุนมนุษย์ (Human Capital)

ช่องว่างในระบบการศึกษาและความพร้อมเชิงดิจิทัลของแรงงาน ประเทศไทยต้องเสริมความแข็งแกร่งทั้งด้านความรู้ดิจิทัลและภาษาอังกฤษเพื่อให้แรงงานไทยสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในโลกที่เชื่อมต่อ การศึกษาระดับสูงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง และต้องเริ่มจากการสร้างเสริมทักษะพื้นฐานไอซีทีแก่ประชากรทั้งหมด ซึ่งภาคเอกชนสามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในส่วนนี้ด้วยการจัดหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญและทรัพยากรบุคคลที่สามารถให้คำแนะนำที่เกี่ยวข้องและทันสมัย

ยุทธศาสตร์ที่ 6: กรอบการทำงานองค์รวมเพื่อดิจิทัลไทยแลนด์ (Holistic Frameworks for a Digital Thailand)

ประเทศไทยต้องการกรอบการทำงานองค์รวมที่สนับสนุนสำหรับกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อกำหนดที่จะกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล ต้องปรับปรุงร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านกระบวนการที่โปร่งใสและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันที่เป็นธรรมทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงความเป็นอิสระของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ที่จะจัดสรรคลื่นความถี่ผ่านการประมูลแข่งขันที่โปร่งใสควรเป็นสิ่งที่ได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ


  •  
  •  
  •  
  •  
  •