ปีทอง Food Delivery! เปิดตัว 6 เดือน “GET FOOD” โต 168% เร่งเครื่องขยายการรับรู้ – ฟีเจอร์ใหม่ – พรีเซ็นเตอร์คนแรก

  • 434
  •  
  •  
  •  
  •  

 

get-food

ตลาด Food Delivery กำลังกลายเป็นดาวเด่นในประเทศไทย ขนาดน้องใหม่อย่าง “GET” ที่เพิ่งเปิดบริการได้ 6 เดือน ยังยอมรับว่าบริการจัดส่งอาหารเติบโตถึง 168% ในช่วงที่ผ่านมา แซงหน้าบริการประเภทอื่นอย่างสิ้นเชิง

คุณภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GET ระบุว่า “ปีนี้ถือเป็นปีทองของธุรกิจจัดส่งอาหาร แค่ครึ่งแรกของปีตลาดก็เติบโตแล้วถึง 6 เท่าตัว” โดยหลังจาก GET เปิดตัวได้ 6 เดือน กับ 4 บริการ ได้แก่ ส่งคน (GET WIN) ส่งของ (GET DELIVERY) ส่งอาหาร (GET FOOD) และวอลเล็ท (GET PAY) ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดแอปมากกว่า 1 ล้านครั้ง และมีจำนวนผู้ใช้งานแอคทีฟราว 5 แสนคนต่อเดือน ความนิยมของบริการฟู้ดก็เติบโตแซงหน้าบริการอื่น ๆ ไปแล้วแค่ในไตรมาส 1 – 2 เติบโตถึง 168% จากจุดเด่น 3 เรื่อง คือ การมีร้านอาหารชื่อดังพร้อมให้บริการเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะสตรีทฟู้ด ค่าจัดส่งราคาเริ่มต้นเพียง 10 บาท และการมีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ดี

“Data Driven” กับภารกิจเปลี่ยนคนจาก Offline สู่ “Online”

GET ถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่ใช้ดาต้าในการขับเคลื่อนธุรกิจ ทั้งการตอบโจทย์ผู้บริโภคและผู้ขับ ในส่วนของผู้บริโภคก็เพื่อนำข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงบริการให้รวดเร็วและตอบโจทย์การใช้งานได้ดีขึ้น ส่วนของผู้ขับระบบจะรวบรวมข้อมูลเพื่อดูว่าคนขับนั้นเคยรับงานส่งอาหารบ้างหรือไม่ หรือชอบรับงานประเภทอื่นมากกว่า และระยะทางที่จัดส่งนั้นเป็นอย่างไร ทำให้ระบบสามารถประเมินและเลือกผู้ขับที่มีศักยภาพในการรับงานส่งอาหารได้จริง ไม่ใช่การสุ่มเลือกจากผู้ขับที่อยู่ใกล้ร้านอาหารที่สุดเท่านั้น

“เราอยากให้ GET ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์กับบริการสั่งอาหาร หันมาลองใช้บริการ เพราะนอกจากความสะดวก ประหยัดเวลา ก็ยังทำให้ธุรกิจร้านอาหารเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งเราพยายามตอบโจทย์ลูกค้าเป็นหลักเพื่อผลักดันการเติบโตอย่างก้าวกระโดด”

Everything at GET
“นนท์ – ธนนท์ จำเริญ” พรีเซ็นเตอร์คนแรก

เดินหน้าร่วมกับ “พาร์ทเนอร์” ต่อยอดบริการ

ปัจจุบัน GET FOOD มีร้านอาหารในระบบรวม 20,000 ร้าน ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทั่วกรุงเทพฯ และบางส่วนในจังหวัดนนทบุรี ซึ่ง GET มีความร่วมมือทั้งกับร้านอาหารเพื่อลดปัญหาต่าง ๆ ทั้งการจัดการคิว ระบบปฏิบัติการของร้าน รวมถึงเรื่องความเข้าใจระหว่างร้าน ลูกค้าหน้าร้าน และผู้ขับของ GET

ขณะเดียวกัน GET ยังมีความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ธนาคารอย่าง SCB เพื่อผลักดันบริการวอลเล็ทให้ออกมาอำนวยความสะดวกในการใช้งานด้วย เพราะปัจจุบันแอปฯ​ เปิดช่องทางชำระเงินผ่านเงินสดและ GET PAY เท่านั้น ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาให้เชื่อมโยงกับการสั่งอาหารนอกแอปพลิเคชันได้ด้วย ส่วนการเปิดช่องทางชำระเงินแบบตัดผ่านบัตรเครดิตนั้น GET มองว่ายังไม่ใช่อนาคตสำหรับบริการของ GET เนื่องจากคนไทยที่มีบัตรเครดิตยังมีจำนวนไม่มากนัก ขณะที่การเติมเงินเข้าระบบวอลเล็ทของ GET นั้นสามารถทำได้ง่ายและสะดวกกว่า

ส่วนประเด็นการลดใช้พลาสติกหรือดำเนินงานแบบรักษ์โลกนั้น GET บอกว่ามีโรดแมปเรื่องดังกล่าวเช่นกัน แต่อยู่ระหว่างมองหาแพกเก็จจิ้งและคัดเลือกร้านอาหารที่มีความพร้อมเพื่อดำเนินการ

รวมถึงรูปแบบการให้บริการ ที่มองว่าในอนาคตอาจมีการเปิดตัวการส่งสินค้าและอาหารรูปแบบใหม่ แต่ไม่ใช่ “การเดิน” เนื่องจาก GET มองว่าไม่เหมาะสมกับการให้บริการในประเทศไทยและทำให้ลูกค้าต้องรอนานเกินไป แต่ยังมีพาหนะอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับการให้บริการซึ่งเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างการเดินและการส่งด้วยมอเตอร์ไซค์ เช่น การใช้จักรยานหรือสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานจากปัจจุบันที่สามารถให้บริการเฉลี่ย 30 นาทีต่อทรานแซกชั่นได้แล้ว

GET_2
จับมือกับ 4 เชฟดัง เสิร์ฟเมนูพิเศษ มีเฉพาะสั่งผ่าน GET FOOD

จาก “User Experience” สู่ “User Engagement”

คุณวงศ์ทิพพา วิเศษเกษม ผู้อำนวยการธุรกิจ GET FOOD อธิบายว่า นอกจากการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้า GET ยังเตรียมพัฒนาฟีเจอร์ที่สามารถต่อยอดสู่การสร้าง Engagement เช่น การส่งข้อมูลระหว่างผู้ใช้งานด้วยกันเองเหมือนเป็นการแนะนำข้อมูลระหว่างนักกินด้วยกันเอง หรือเห็นว่าเพื่อนกินร้านไหน ชื่นชอบเมนูใดบ้าง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน GET FOOD แบ่งลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ “Exploere” (58%) เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ ซึ่งรู้ว่าต้องการกินอาหารแบบใด ร้านไหน นิยมเสิร์ชหาร้าน เมนูด้วยตนเอง , “Chillaxer” (18%) คือกลุ่มคนที่หิวแต่ไม่รู้ว่าจะเลือกสั่งเมนูใด ระบบจึงนำเสนอเมนูแนะนำแก่ลูกค้าโดยเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาของมื้ออาหาร เช่น ช่วงเช้าจะแนะนำโจ๊ก น้ำเต้าหู้ กาแฟ เป็นต้น, “Routine Lover” (16%) เป็นกลุ่มที่รู้อยู่แล้วว่าจะสั่งเมนูใด จากร้านใด ระบบจึงมีฟีเจอร์จำร้านอาหารที่เคยสั่งไว้แล้ว เพื่อมอบความสะดวกในการสั่งอาหารได้ในเวลาอันรวดเร็วเพียง 3 ขั้นตอน คลิกเลือกร้าน เลือกเมนูประจำ และกดสั่งอาหารได้ทันที

“เมนูยอดนิยมที่ลูกค้า GET FOOD นิยมค้นหา 3 อันดับแรก คือ ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง และส้มตำ”

ล่าสุด GET FOOD จึงอัพเดทฟีเจอร์ใหม่ อาทิ “Multi Order” ให้สั่งได้พร้อมกัน 4 ร้านโดยไม่ต้องรอจนจบการส่งทีละร้านแล้วค่อยสั่งใหม่, “Omakase” ซึ่งเป็นระบบ Personallization เรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าและแนะนำเมนูที่ตรงกับความชื่นชอบของแต่ละบุคคลออกมา, “My Voucher” ระบบจัดเก็บคูปองทั้งหมดเอาไว้ให้ลูกค้าเลือกใช้งานได้โดยไม่ต้องค้นหาหรือจดจำ

“นอกจากการปรับปรุงฟีเจอร์การใช้งาน GET FOOD ยังดูแลลูกค้าด้วยโปรโมชั่นด้วย และทุกครั้งที่จัดโปรโมชั่นก็ส่งผลให้ยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าตัวทีเดียว”

 

Menu Only At GET 01
เมนูพิเศษ Only At GET จากร้านเจ๊โอว
Menu Only At GET 02
เมนูจากร้านเลิศทิพย์
Menu Only At GET 03
อีกเมนูพิเศษของร้านเลิศทิพย์
Menu Only At GET 04
ขนมหวานจากร้าน ICI

เข้าใจ “อินไซต์” คนยุคใหม่ต้องเร็ว – อยากกินต้องได้กิน

คุณก่อลาภ สุวัชรังกูร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด GET เล่าว่า จากแท็กไลน์เดิม “GET Food อร่อยง่ายสั่งได้ทุกอย่าง” เพื่อสื่อถึงการรวมของอร่อยจากทุกย่านมาไว้ในแอปเดียว จึงต่อยอดสู่แคมเปญใหม่ “Only At GET เรื่องกินต้องเก็ท” นำเสนอคอลเลคชั่นอาหารพิเศษที่ให้บริการเฉพาะ GET FOOD เท่านั้น ระหว่าง 8 สิงหาคม – 7 กันยายนนี้ จากฝีมือของ 4 เชฟชั้นนำ ได้แก่ เชฟต้น ธิติฏฐ์ ทัศนาขจร เจ้าของร้านอาหารบ้าน (Bann), เชฟกิ๊ก กมล ชอบดีงาม เจ้าของร้านอาหารเลิศทิพย์, เชฟเปเปอร์ อริสรา จงพาณิชกุล แห่งร้าน ICI และเฮียเก๊า ศิริชัย ทวีพูลทรัพย์ แห่งร้านเจ๊โอว เพื่อเจาะกลุ่มตลาดคนยุคใหม่ซึ่งหมายถึงคนที่มีดิจิทัลไลฟ์สไตล์ ชื่นชอบความรวดเร็ว อยากกินอะไรต้องได้กิน และมองหารสชาติใหม่ ๆ ประสบการณ์ใหม่จากการกิน

ดังนั้น GET FOOD จึงเน้นความสำคัญกับ 3 รูปแบบการให้บริการ คือ

– สร้างการรับรู้ในวงกว้างผ่านพรีเซ็นเตอร์คนแรก “นนท์ – ธนนท์ จำเริญ” ศิลปินชื่อดังกับคาแรคเตอร์คนยุคใหม่ที่มีความสนุกสนาน และสื่อสารผ่านโฆษณาชุดใหม่ในแคมเปญ “อยากกินอะไรสั่ง GET เลย” ซึ่งสร้างจากอินไซต์ของคนไทยสะท้อนผ่านความสนุกสนานแบบซิทคอม โดยจะออกอากาศผ่านสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย สื่อออฟไลน์ และสื่อ OOH ทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 7 สิงหาคมเป็นต้นไป นอกจากนี้แบรนด์ยังมองหาช่องทางใหม่ เช่น วิทยุออนไลน์ และพอดแคสต์ อีกด้วย

– พัฒนาประสบการณ์การใช้งานแอป ผ่านฟังก์ชันใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

– สร้างประสบการณ์แบบเดียวกัน ทั้งบนโลกออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อทำให้ลูกค้ากลุ่มแมสเข้ามามีประสบการณ์กับการสั่งอาหารผ่านออนไลน์มากขึ้น


  • 434
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน
CLOSE
CLOSE