ถอดบทเรียน “พี่ก้อน” ใน #Clubhouse กับกลยุทธ์ Sun Marketing ลุยแบบ Pre-prototype

  • 550
  •  
  •  
  •  
  •  

 

คงไม่ต้องบอกกันแล้วว่าแพล็ตฟอร์มที่มาแรงที่สุดในตอนนี้คืออะไร แน่นอนว่าคือ #Clubhouse ซึ่งเป็นโซเชียลฯ ที่หลายคนได้ใช้ในการแบ่งปันความรู้ แชร์ประสบการณ์ และพูดคุยกันไปมา แต่จากความนิยมที่เกิดขึ้นทำให้ทั้งนักโฆษณา แบรนด์ และนักการตลาด กำลังจ้องมองอยู่ว่าจะหาวิธีสร้างโอกาสทำการตลาดกับโซเชียลมีเดียแห่งนี้ได้อย่างไร

ทว่า ในช่วงเวลาไม่กี่วันที่ฝุ่นตลบเต็มไปด้วยความงุนงงว่าจะใช้โอกาสนั้นอย่างไรดี ปรากฏว่าแบรนด์หนึ่งที่โดดเด่น และฉกฉวยโอกาสนี้ได้อย่างดี ก็คือ “บาร์บีคิวพลาซ่า” ที่เข้ามาสร้างสีสันทางการตลาดใน Clubhouse ได้ก่อนใคร เริ่มตั้งแต่สามารถ engage คนในห้องเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็น #พี่ก้อน กันจนหมด ไปจนถึงเป็นแบรนด์แรกที่เปิดแอคเคาท์ใน Clubhouse สร้างห้องให้คนมาพูดคุยพร้อมฟังเสียงฉู่ฉี่เนื้อที่จี่กระทะ

ล่าสุด กับการจัดแคมเปญ “ก้อนใจป๋าหน้าใหญ่” ให้คนใน Clubhouse ยกมือ (raised hand) แล้วกินฟรี! ไปเลย 20 บิล ซึ่งปรากฏว่าเวลา 1 ชั่วโมงมีคนจอยห้องประมาณ 800 คน และยังสามารถเพิ่มยอด followers วันเดียวจาก 700 เป็น 1,700 followers เรียกว่าได้ทั้ง Engagement และ Brand Awareness มากทีเดียว แต่เชื่อว่าสิ่งที่บาร์บีคิวพลาซ่าทำ คงไม่ได้มีเป้าหมายแค่นั้น ดังนั้น MarketingOops! ได้คุยกับ บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายสร้างโอกาสทางการตลาดกลุ่มธุรกิจอาหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด บอกถึงเบื้องหลังว่ามันคือ กลยุทธ์ที่เรียกว่า Sun Marketing ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้จาก Clubhouse นั่นเอง

 

Sun Marketing และแบรนด์ทำตัวเป็น “โซลาร์เซลล์”

บุณย์ญานุช เล่าว่า กลยุทธ์ Sun Marketing มันเกิดจากการที่เราได้คลุกคลีเข้าไปอยู่ใน Clubhouse ประมาณ 20 วัน ทำให้เรารู้จักทูลส์ตัวนี้มากขึ้น และรู้จักพฤติกรรมผู้บริโภคในนี้ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งงานแรกๆ ที่ทำไปมันคือการสร้าง awareness ให้กับแบรนด์ เราได้ส่งสัญญาณบอกกับคอนซูเมอร์ไปแล้วว่าตอนนี้เรามาอยู่ตรงนี้แล้ว แต่ชาเลนจ์ต่อไปคือเราจะลิงก์จาก Online ไป Offline ได้อย่างไร เราจะทำอย่างไรคือขั้นต่อไป

“มันคือการที่ Connecting the dot ต่อจุดไปที่ละจุด เมื่อพฤติกรรมลูกค้าเป็นแบบนี้ ธรรมชาติของ Clubhouse เป็นแบบนี้ ดังนั้นสิ่งต่อไปคือเราจะแอคชั่นกับมันอย่างไร จนมาพบว่าธรรมชาติของคนใน Clubhouse คือชอบการเซอร์ไพรส์ เข้าถึงอะไรบางอย่าง ที่สำคัญคือเรายืนยันที่จะเป็น First Mover ต่อไป แต่มากไปกว่านั้น เราอยากจะแสดงให้เห็นว่า การทำการตลาดที่ใช้เงินน้อย โดยเข้าใจทูลส์และเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าเป็นอย่างไร จนมาตกตะกอนได้ว่าคือ Sun Marketing

Sun Marketing บุณย์ญานุช บอกว่า มันคือการที่เรามองลูกค้าว่าเป็นเหมือนพระอาทิตย์ โดยเรามีหน้าที่หมุนรอบพระอาทิตย์ แบรนด์มีหน้าที่หมุนไปตามพระอาทิตย์ พระอาทิตย์หมุนไปทางไหนเราก็ต้องไปทางนั้น สิ่งที่เราเป็นคือเราทำตัวให้เป็นเหมือ “โซลาร์เซลล์” เมื่อพระอาทิตย์ปล่อยแสง เรามีหน้าที่ในการรับแสง แล้วนำแสงที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในแง่ต่างๆ เช่น ไปเป็นไฟหน้าบ้าน ไปเป็นพลังงานปั่นไฟต่อ เป็นต้น เมื่อเราเห็นว่าพระอาทิตย์ขึ้นเรามีหน้าที่ไปปักโซลาเซลล์ตรงนั้น เพื่อรับแสงจากลูกค้า ซึ่งคิดว่านักการตลาดยุคนี้ต้องทำตัวเป็นแบบนั้นให้ได้

 

แคมเปญที่สร้าง Online to Offline และสามารถ Call to Action สำเร็จ

อย่างล่าสุด เราก็ทำแคมเปญ “ก้อนใจป๋าหน้าใหญ่” ซึ่งถือเป็นแคมเปญที่แทบไม่ได้ใช้บัดเจ็ทอะไรเลย เปิดห้องก็เปิดที่บ้านของตนเอง ไม่ต้องใช้หน้าร้าน ไม่ต้องมีอินฟลูเอ็นเซอร์ จะเสียก็แค่คอสต์ค่าอาหารสำหรับ 20 บิลเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่มากถ้าเทียบกับแคมเปญการตลาดทั่วๆ ไป แน่นอนว่าน้อยกว่าทำหนังไวรัลเรื่องหนึ่งเลย

แต่สิ่งที่มันได้คุ้มค่ามากกว่า ภายใน 1 ชั่วโมง เราได้คน 800 คนเข้าห้อง ได้ Followers เพิ่มขึ้นจาก 800 เป็น 1,700 Followers ส่วนในแง่ของการสร้างแบรนด์ เราแสดงให้เห็นถึงความเป็น Move Leader ก่อนใคร และที่สำคัญมากที่สุดคือในแง่ Brand Love มันวัดมูลค่าไม่ได้ และที่สำคัญคือ ใช้บัดเจ็ทน้อยมากจริงๆ

มากไปกว่านั้น มันสามารถดรอว์คนจาก Online ไป Offline ได้สำเร็จ มีหลายคนเดินทางไปถึงหน้าร้าน ซึ่งบางคนก็อาจจะพลาดไม่ได้รับรางวัลเป็น 20 บิลแรก แต่มันก็ทำให้เราลากคนจาก Online ไปหน้าร้านได้สำเร็จ ซึ่งคนที่เขาพลาดสิทธิ์ก็บอกว่าโอเค. ไม่เป็นไรถือว่าได้ร่วมสนุกกับพี่ก้อน ซึ่งคราวหน้าเขาก็อาจจะตามกิจกรรมของเราไปเรื่อยๆ ผ่านทางโซเชียลฯ แล้วก็นำมาสู่หน้าร้านอีก มันคือการทำให้เกิด Call To Action ทั้งหมดนี้คือผลดีระยะยาวที่แบรนด์ได้อย่างแน่นอน

 

การทดลองในแบบ Pre-Prototype พลาดไม่เป็นไรโลกไม่สลาย

หลายๆ สิ่งที่ได้ลองทำในห้อง Clubhouse มันคือสิ่งที่เรียกว่า Pre-Prototype มันคือการลองทำอะไรสักอย่างที่เล็กกว่า Prototype ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแคมเปญ ซิสเท็ม หรืออีเวนต์ต่างๆ ย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อครั้งโควิดรอบแรก เราก็ได้ทดลองทำ Facebook Live ก็ประสบความสำเร็จมากและได้รับการตอบรับที่ดี แล้วเราก็ยังเป็นแบรนด์ใหญ่ที่เริ่มทำเจ้าแรกอีกด้วย

“การทำ Marketing ยุคนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว จากทุกสิ่งที่กระทบธุรกิจรุนแรงมาก และถ้าเราไม่สามารถสู้กับเขาได้ด้วยบัดเจ็ท เราไม่ใช่แบรนด์ที่มีเงินเยอะมากมาย จะต้องทำหนังสิบล้านก็คงไม่ไหว หรือถ้าไหวจริงสุดท้ายก็ขอเลือกทางนี้ดีกว่า เพราะมันสามารถเข้าไปถึงใจลูกค้าได้ มันเข้าไปนั่งในใจลูกค้าได้ สุดท้ายถ้ามันจะผิดพลาดเราก็แค่เรียนรู้กับมัน”

มันคือ Culture ที่สำคัญขององค์กรเรา และคิดว่าไม่มีใครกล้าที่จะทำแบบนี้ คือพลาดไม่เป็นไร เริ่มใหม่ มันคือจุดเปลี่ยนมากๆ และที่สำคัญคือเราก็ Inspire ให้เขาทำสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

 

“อย่ากลัวทำในสิ่งใหม่ ที่ฟู้ดแพชชั่นเราอนุญาตให้คนเฟลได้ เราอาจจะไม่รู้หรอกว่ามันจะเวิร์คไหม แต่ต้องทำก่อน ทำทันที จะมารอคอมพลีทแบบ 100% ในยุคนี้มันไม่ได้แล้ว คือถ้าพลาดในจุดที่ไม่ได้ทำให้องค์กรเสียหายหรือว่าโลกสลาย เรายอมให้ลองได้เลย ทำให้เราเริ่มจากอะไรเล็กๆ ก่อน ที่เรียกว่า Pre-Prototype คือให้เริ่มทำก่อนในสโคปที่เล็กๆ

ส่วนตัวจะบอกกับน้องๆ ในทีมเป็นภาษาของตัวเองว่า ให้ปัสสาวะรดเสาไว้ก่อน หรือบอลเข้าเท้ามาก็ให้เตะออกไปก่อน จะเข้าโกลด์หรือเปล่าไม่รู้แต่ต้องรีบเตะ พลาดไม่เป็นไรเตะใหม่จนกว่าจะเข้าโกลด์ นี่คือสิ่งที่เราทำกันมาในองค์กร”

 


  • 550
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!