เรียนรู้กลยุทธ์ “Customer Acquisition & Retention” ผ่านกรณีศึกษา “The Coffee Club” กับการทำ Re-engineering และรุกโมเดล Subscription

  • 290
  •  
  •  
  •  
  •  

The Coffee Club

ไม่ว่าแบรนด์ หรือผู้ประกอบการจะดำเนินธุรกิจมากี่ปี สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญและทำอย่างต่อเนื่องคือ Customer Acquisitionการหาลูกค้าใหม่ พร้อมกับ Customer Retentionการรักษาฐานลูกค้าเก่า เพราะทั้งสองสิ่งจะขับเคลื่อนธุรกิจเติบโตในระยะยาว

แต่การทำ Customer Acquisition และ Customer Retentionมีกลยุทธ์และเทคนิคของแต่ละแบรนด์ในการเปลี่ยนผู้บริโภคให้มาเป็นลูกค้า และเปลี่ยนลูกค้าให้เป็น Loyal Customer ที่มีความภักดีกับแบรนด์ โดยที่ไม่ใช่แค่บรรลุวัตถุประสงค์ด้านยอดขายเท่านั้น หากแต่ยังได้ First-party Data หรือฐานข้อมูลลูกค้าที่แบรนด์เป็นผู้เก็บเอง เพื่อใช้ต่อยอดในอนาคต

วันนี้ชวนมาเรียนรู้กลยุทธ์ Customer Acquisition และ Customer Retention ผ่านกรณีศึกษา The Coffee Club” (เดอะ คอฟฟี่ คลับ) เชนร้าน Café & Restaurant จากออสเตรเลีย ภายใต้เครือไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป โดยมีจุดเด่นเป็น All Day Breakfast ปัจจุบันมีกว่า 400  สาขาใน 9 ประเทศ หนึ่งในนั้นคือ “ประเทศไทย” ที่เครือไมเนอร์ ฟู้ดได้นำเข้ามาเปิดให้บริการเมื่อ 13 ปีที่แล้ว

แม้ The Coffee Clubเปิดในไทยมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ที่ผ่านมาเน้นเปิดโซนในเมืองและแหล่งท่องเที่ยว โดยไม่ค่อยได้ทำตลาดมากนัก แต่ในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา จะสังเกตได้ว่า The Coffee Club เดินหน้ารุกสร้างฐานลูกค้าใหม่ พร้อมกับรักษาฐานลูกค้า ด้วยการทำ Re-engineering ในกระบวนการธุรกิจ ตั้งแต่ปรับเมนูอาหารและเครื่องดื่ม, ราคา, สาขา ตลอดจน Loyalty Program ที่สามารถเพิ่มยอดสมาชิกจาก 20,000 คน เป็น 120,000 คน หรือเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า!

ในปี 2023 The Coffee Club” ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์ Customer Acquisition และ Customer Retention โดยล่าสุดได้พัฒนาโมเดล “Subscription” เมนูเครื่องดื่ม แพ็คเกจเริ่มต้น 590 บาทต่อเดือน และ 790 บาทต่อเดือน เพื่อขยายฐานลูกค้าประจำ เพิ่มความถี่ในการใช้บริการของลูกค้า และทำให้คุ้นเคยกับแบรนด์ ติดใจในรสชาติ เป็นกลยุทธ์สร้างการเติบโตทางธุรกิจทั้งในวันนี้ และระยะยาว

The Coffee Club Samyan Mitrtown

 

Re-engineering แบรนด์ The Coffee Club ครั้งใหญ่ในรอบกว่าทศวรรษ

หลังจาก คุณนงชนก สถานานนท์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เข้ามาบริหารแบรนด์ The Coffee Club ในประเทศไทยในปี 2022 ได้ศึกษาจุดเด่นของแบรนด์ และทำการ Re-engineering ทั้งสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม, ระบบ และการให้บริการของพนักงาน, ราคา ตลอดจนพัฒนา Store Format สาขารูปแบบใหม่ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคไทยมากขึ้น

“ปีแรกที่ตนเองเข้ามาดูแลแบรนด์ The Coffee Club ได้ทำความเข้าใจ Insights ลูกค้ามองแบรนด์นี้อย่างไร และสิ่งที่เราอยากจะเป็นคืออะไร เราพบว่า ลูกค้าไม่รู้ว่า The Coffee Club เด่นตรงไหน กาแฟอร่อยหรือเปล่า อาหารที่เขาควรสั่งรับประทานที่ร้านคืออะไร หรือบางคนไม่รู้ว่ามีบริการอาหารด้วยเหรอ

เรากลับมาวิเคราะห์ตัวเอง มุมของคู่แข่ง มุมของลูกค้า มุมของเทรนด์ตลาดในไทย และต่างประเทศ จนตัดสินใจว่าเรา Re-engineering แบรนด์”

กระบวนการ Re-engineering แบรนด์ The Coffee Club ประกอบด้วย 5 แกนหลักคือ

The Coffee Club Park Silom
The Coffee Club สาขา Park Silom เพิ่งเปิดให้บริการล่าสุด
1. ปรับเมนูอาหาร ย้ำจุดแข็ง All Day Dining, All Day Breakfast พร้อมพัฒนา Local Menu โดนใจคนไทย

ที่ผ่านมาเมนูอาหาร The Coffee Club ประเทศไทยมีมากกว่า 80 เมนู แต่ในการทำ Re-engineering ได้ปรับมาอยู่ที่กว่า 40 เมนู โดยคัดสรรเมนูที่โดนใจผู้บริโภคไทยอย่างแท้จริง เพื่อตอกย้ำทั้งจุดแข็งความเป็น All Day Breakfast ควบคู่กับการพัฒนาเมนูเพื่อสุขภาพ ตอบรับ Healthy Lifestyle และอาหารท้องถิ่น (Local Menu) เช่น เพิ่มเมนูข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทย

The Coffee Club ทั่วโลก จะเป็นร้านที่ไม่ได้ขายแต่กาแฟอย่างเดียว แต่ยังมีจุดเด่น All Day Dining, All Day Breakfast และเน้น Big Breakfast เพื่อให้ลูกค้ารับประทานแล้วอิ่มอร่อยจบในหนึ่งมื้อ สำหรับเมนูอาหารเช้าที่เป็น Big Breakfast ของประเทศไทย เราเพิ่มเมนูสุขภาพเป็น Healthy Breakfast โดยไม่มีของทอด เช่น แซลมอนรมควัน แฮม ไข่ ผักและผลไม้ต่างๆ

The Coffee Club Signature Breakfast

นอกจากนี้สิ่งที่แตกต่างอีกประการของ The Coffee Club ในแต่ละประเทศมีเมนูเฉพาะของตัวเอง สำหรับประเทศไทย เรามีเมนู Local Breakfast เป็นชุดข้าวต้ม เหมือนข้าวต้มกุ๊ย และมีเครื่องเคียง 6 ชนิดให้ลูกค้าเลือก โดยใน 1 ชุด มีเครื่องเคียง 3 ชนิด ซึ่งเมนูอาหารท้องถิ่น ทำให้ร้าน The Coffee Club มีเสน่ห์แตกต่างจากร้านกาแฟอื่นๆ

ทั้งยังสามารถใช้บริการได้ทั้งวัน ตั้งแต่เช้า ถึงมืด เพราะมีอาหารครบทุกมื้อ ตั้งแต่มื้อเช้า มื้อกลางวัน และมื้อเย็น โดยมีทั้งเมนูอาหารตะวันตก เช่น แซนวิช พาสต้า และเมนูข้าว เมนูเส้นของไทย เช่น ผัดไท ข้าวผัดไก่เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ข้าวหมูกรอบกะเพรา”

The Coffee Club Kao Tom Set

 

2. กาแฟ ศึกษาความชอบคนไทย สู่การพัฒนา “Signature Blend และ Siam Blend

ไม่เพียงแต่การปรับเมนูอาหาร The Coffee Club ประเทศไทยยังได้ Re-engineering เครื่องดื่มกาแฟด้วยเช่นกัน เพราะเป็นจุดเด่นของแบรนด์ โดยปัจจุบันใช้เมล็ดกาแฟ 2 สูตรคือ

– Signature Blend เป็นสูตรที่ร้าน The Coffee Club ทั่วโลก รวมทั้งในไทยใช้ โดยเป็นคั่วกลาง (Medium Roast) ผลิตจากโรงคั่วในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียที่เครือไมเนอร์ฯ เป็นเจ้าของ และสูตรนี้ได้รับรางวัล Golden Bean Award ที่ออสเตรเลีย รวมทั้งล่าสุดคว้ารางวัลประกวดเมล็ดกาแฟที่สหรัฐฯ

– Siam Blend เมล็ดกาแฟจากเชียงราย เป็นคั่วเข้ม (Dark Roast) มาจากการศึกษาความต้องการของลูกค้าไทยพบว่า มีประมาณ 20% ที่ชอบดื่มกาแฟจากเมล็ดคั่วเข้ม ประกอบกับ The Coffee Club มีนโยบายด้าน Sustainability ต้องการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟไทยในภาคเหนือ จึงได้รับซื้อเมล็ดกาแฟจากชาวไร่กาแฟที่เชียงราย นำมาคั่วและปรับสูตร จนกลายเป็น Siam Blend

“กาแฟที่ร้าน The Coffee Club มี 2 ชนิด ขณะที่ร้านอื่นอาจมีมากมาย แต่เราเลือกตัวเด็ดสุด 2 สูตรนี้เป็นคั่วกลาง และคั่วเข้มนำมาพัฒนาเป็นเครื่องดื่มกาแฟเมนูต่างๆ ซึ่ง Signature Blend เป็นตัวยอดนิยมสุดของเรา ขณะเดียวกันเรามีสูตร Siam Blend เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ชอบกาแฟคั่วเข้ม

การมีเมล็ดกาแฟ 2 สูตร ทำให้ลูกค้าสั่งได้ง่ายขึ้น โดยเราปรับวิธีการสื่อสารกับลูกค้า โดยพนักงานจะถามลูกค้าว่าจะรับเป็นกาแฟคั่วกลาง หรือคั่วเข้ม ถ้าลูกค้าเอาคั่วกลาง จะเป็น Signature Blend ถ้าคั่วเข้ม เป็น Siam Blend ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเมื่อมาใช้บริการร้าน The Coffee Club แล้ว สั่งง่าย ไม่ซับซ้อน”

The Coffee Club-Coffee

 

3. ปรับราคาลง เพื่อเข้าถึงง่ายขึ้น

ภาพลักษณ์ของ The Coffee Club ก่อนจะทำ Re-engineering แบรนด์ ดูเป็นร้าน Café & Restaurant สไตล์ตะวันตก ที่ดูพรีเมียม ประกอบกับเดิมทีสาขาส่วนใหญ่เน้นเปิดในแหล่งท่องเที่ยว ยิ่งทำให้ไม่ connect กับผู้บริโภคไทยมากนัก ฉะนั้นเมื่อ คุณนงชนก เข้าบริหารแบรนด์ The Coffee Club จึงตัดสินใจ Re-engineering แบรนด์ หนึ่งในนั้นคือ การปรับราคาลง เพื่อให้ผู้บริโภคไทยเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

“ราคา The Coffee Club ในกรุงเทพฯ​ และต่างจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวไม่เหมือนกัน ในกรุงเทพฯ ไม่มี Service Charge 10% ขณะที่ราคานักท่องเที่ยว ยังมี Service Charge ส่วน Vat 7% รวมอยู่ในราคาอาหารและเครื่องดื่มแล้ว ไม่ได้คิดแยกต่างหาก เพราะฉะนั้นทำให้โดยรวมราคาของ The Coffee Club ลดลงจากสมัยก่อน ตอบโจทย์ความคุ้มค่าให้กับลูกค้า”

The Coffee Club Park Silom

 

4. เดินหน้าขยายสาขา และพัฒนา Store Format หลากหลาย เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น

The Coffee Club เป็นเชน Café & Restaurant ใหญ่ในออสเตรเลีย ด้วยจำนวนสาขากว่า 400 สาขา ขณะที่ประเทศไทย แม้ปัจจุบันจะยังไม่ได้มีสาขามากนัก โดยอยู่ที่ 39 สาขา ล่าสุดเปิดที่ Park Silom เครือไมเนอร์ ฟู้ดยังเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยในต่างจังหวัด โฟกัสเมืองท่องเที่ยวเป็นหลักก่อน เช่น พัทยา, หัวหิน, ภูเก็ต, กระบี่

พร้อมทั้งพัฒนา Store Format หลากหลาย เพื่อให้ match เข้ากับโลเคชันนั้นๆ

– ร้านแบบเต็มรูปแบบ เช่น สาขาสามย่านมิตรทาวน์

– Kiosk เช่น สาขาโรงพยาบาลกรุงเทพ เน้นขายรูปแบบ Grab & Go และกาแฟ – เครื่องดื่มเมนูต่างๆ

– Food Truck จะไปตั้งให้บริการตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งจุดประสงค์ของการทำ Food Truck เพื่อสร้างการรับรู้ในแบรนด์ The Coffee Club ให้ผู้บริโภคได้รู้จักและทดลอง

The Coffee Club Jungceylon

นอกจากให้บริการในรูปแบบ Dine-in, Delivery และ Take Away แล้ว The Coffee Club ได้สร้างโอกาสการขายมากขึ้น ด้วยการเปิดให้บริการ Catering เนื่องจากเห็น demand สำหรับลูกค้าที่ต้องการสั่งไปในโอกาสต่างๆ เช่น ประชุม, ทำบุญ เป็นต้น

The Coffee Club Food Truck

 

5. สร้างความแข็งแกร่ง “Loyalty Program

อีกหนึ่งแกนสำคัญของ The Coffee Club ประเทศไทยรุกมากขึ้นคือ Loyalty Program ผ่านระบบสมาชิก ซึ่งก่อน COVID-19 มีฐานสมาชิกประมาณ 20,000 คน ขณะที่ตลอดปี 2022 จนถึงครึ่งปีแรกของปี 2023 สามารถเพิ่มยอดสมาชิกได้อีก 100,000 คน เท่ากับปัจจุบันมีกว่า 120,000 คน โดยในจำนวนนี้ เกือบ 50% หรือกว่า 50,000 คน เป็น Active Member

กลยุทธ์หลักที่ทำให้ The Coffee Club ขยายฐานสมาชิกได้มากในเวลาเพียงปีครึ่ง มาจากการครีเอท “Loyalty Program” ที่นำเสนอสิทธิประโยชน์ความคุ้มค่าให้กับสมาชิก เช่น

– ทุกๆ 25 บาท จะได้ 1 คะแนน แต่ในบางเดือนจะมีการจัดโปรแกรม Double Point อย่างล่าสุดเดือนกรกฎาคม เช่น เมื่อลูกค้ามารับประทานอาหารที่ร้าน 250 บาท  ถ้าเป็นโปรแกรมช่วงปกติ จะได้ 10 พอยท์ แต่ช่วงที่จัด Double Point ลูกค้าจะได้เพิ่มเป็น 20 พอยท์ ซึ่งลูกค้าสามารถนำพอทย์ที่สะสม ไปแลกสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น เครื่องดื่มฟรี

– ในกรณีที่สมัครเป็นสมาชิกใหม่ ด้วยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน The Coffee Club จะได้กาแฟฟรี 1 แก้วทันที

– สมาชิก Silver กับ Gold ได้มีโอกาสลองเมนูพิเศษฟรี

The Coffee Club Food and Beverages

“กลยุทธ์ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เราเน้นเข้าถึงคนไทยมากขึ้น เพื่อให้คนไทยรู้จักเพิ่มขึ้น ผ่านช่องทาง CRM คือ Loyalty Program ด้วยการมอบสิทธิประโยชน์ให้กับสมาชิก เพื่อให้สมาชิกรู้สึกว่ามีอะไรพิเศษให้กับเขา ทำให้เราสามารถเพิ่มยอดสมาชิกได้ 6 เท่า เป็น 120,000 คนในปัจจุบัน

หลังจากเราโฟกัส Loyalty Program มากขึ้น เราเช็ค Brand Equity ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มี 3 คุณค่าที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนคือ Value for money หรือความคุ้มค่าคุ้มราคา, ความอร่อย และบริการดี”

ผลจากการทำ Brand Re-engineering ที่ผ่านมา ทำให้ The Coffee Club เป็นที่รู้จัก และ connect กับผู้บริโภคไทยมากขึ้น นำไปสู่การเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ ควบคู่กับการรักษาฐานลูกค้าเก่า ทว่าโจทย์ Customer Acquisition และ Customer Retention ยังต้องทำต่อเนื่อง

ขณะที่ในปี 2023 จึงเป็นปีที่ The Coffee Club รุกขยายฐานลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าประจำ พร้อมทั้งเพิ่มความถี่ในการใช้บริการมากขึ้น เพื่อทำให้แบรนด์ The Coffee Club เข้าไปอยู่ในทุกโอกาสการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มของคนไทย

The Coffee Club-Minor Food Group
คุณนงชนก สถานานนท์ ผู้จัดการทั่วไป เดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การดำเนินการของบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

 

รุกโมเดล “Subscription” สร้างฐานลูกค้าประจำ เพิ่มความถี่การใช้บริการ

ล่าสุด The Coffee Club ประเทศไทย ได้เปิดตัวโมเดล Subscriptionสำหรับเมนูเครื่องดื่ม เนื่องจากพฤติกรรมคนดื่มกาแฟ ดื่มเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว และในระหว่างวันจะดื่มเครื่องดื่มอื่นๆ ด้วย

Subscription ครอบคลุมเครื่องดื่มร้อน และเย็น ทั้งเมนูกาแฟ ชา ช็อคโกแลต และ Fizzy Drink รวมกว่า 10 เมนู มีให้เลือก 2 แพ็ค โดยสามารถซื้อแพ็คผ่านแอปฯ The Coffee Club 

– เครื่องดื่ม 10 แก้ว 590 บาทต่อเดือน (เฉลี่ยแก้วละ 59 บาท จากราคาปกติ 120 – 130 บาทต่อแก้ว)

– เครื่องดื่ม 15 แก้ว 790 บาทต่อเดือน (เฉลี่ยแก้วละ 53 บาท จากราคาปกติ 120 – 130 บาทต่อแก้ว)​

วัตถุประสงค์ของการพัฒนา Subscription The Coffee Club ต้องการใช้ในการสร้างการรับรู้ และคุ้นเคยแบรนด์ในกลุ่มผู้บริโภคที่อาจยังไม่คุ้นเคยกับแบรนด์มากนัก หรือกลุ่มที่ยังไม่ได้เป็นลูกค้าประจำ, ตอบโจทย์ด้านความคุ้มค่าคุ้มราคา เพื่อทำให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคไทยมากขึ้น นำไปสู่การทดลอง แล้วติดใจในรสชาติ จนกลายเป็นฐานลูกค้าประจำ

The Coffee Club_Coffee Subscription

คุณนงชนก เล่าว่า ช่วงทดลองทำ Subscription เริ่มจากสาขาตามย่านออฟฟิศก่อน เช่น สามย่านมิตรทาวน์, สิงห์ คอมเพล็กซ์, สาขาถนนวิทยุ ซึ่งได้การตอบรับเป็นอย่างดี ปัจจุบันได้ขยายไปยังทุกสาขา

“เหตุผลที่เราทำโมเดล Subscription เพื่อเพิ่ม frequency หรือความถี่ในการใช้บริการ The Coffee Club เพราะคนที่ดื่มกาแฟ เขาดื่มทุกวัน แต่สำหรับคนทำงาน การดื่มกาแฟแก้วละ 100 กว่าบาท อาจสูงไป เราจึงทำ Subscription ขายแพ็ครายเดือน   

สิ่งที่ The Coffee Club ได้จากโมเดล Subscription คือ

1. ลูกค้ารู้สึกว่าเราส่งมอบความคุ้มค่าให้อย่างเต็มที่

2. พอลูกค้าดื่มเครื่องดื่มเรา อย่างกาแฟ เมื่อดื่มทุกวัน เขาจะติดรสชาติ ทำให้ Brand Equity ด้านความอร่อย เพิ่มขึ้น

3. ทำให้เราได้ลูกค้าประจำ

4. ลูกค้าได้ลองเมนูเครื่องดื่มหลากหลาย มีทั้งกาแฟ ชา ชาเขียว ช็อกโกแลต และเครื่องดื่มโซดารสผลไม้ 

Subscription เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ไม่ใช่แค่ Reward Program หรือ Loyalty Program แต่เป็นการ “ขยายฐานลูกค้า” ให้เข้าถึงคนไทยมากขึ้น ให้ได้ทดลอง เมื่อได้ลองแล้ว ก็กลายเป็นลูกค้าประจำ ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าไปลงโฆษณา เพียงเพื่อให้ลูกค้ารู้จักแค่ชื่อแบรนด์ แต่ไม่รู้ว่าขายอะไร เมนูอาหาร รสชาติอย่างไร”

The Coffee Club Fizzy Floral and Fruity

 

ตั้งเป้าสมาชิก 1.5 แสนราย ปี 2023 – ต่อยอดจาก “First-party Data” สู่การพัฒนาสินค้า บริการ – Loyalty Program

เป็นที่ทราบกันดีว่าทุกวันนี้ “Customer Data” คือหนึ่งในหัวใจของธุรกิจ และยิ่งแบรนด์ไหนที่มี Data ของตัวเอง หรือที่เรียกว่า “First-party Data” ย่อมมีความได้เปรียบ ซึ่ง The Coffee Club มี First-party Data จากระบบสมาชิก โดยวางเป้าหมายฐานสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 120,000 เป็น 150,000 ภายในปี 2023

“ไม่ว่า Data จากช่องทางไหน เราต้อง utilize ทำให้เราเห็นข้อมูลการใช้บริการของลูกค้า กตัวอย่างลูกค้าสมาชิกที่ซื้อ Subscription โดยเฉลี่ยจะมาใช้คูปอง 8 – 10 แก้ว และในกลุ่มลูกค้าสมาชิกที่ซื้อ Subscription มี 30 40% นั่งรับประทานที่ร้าน แล้วสั่งเมนูอื่นเพิ่มเติม เช่น ซื้อแพ็ค 10 แก้ว (590 บาท) มี 3  ครั้งที่ลูกค้าใช้บริการ Dine-in เท่ากับว่าเราได้ additional sale เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากเครื่องดื่มใน Subscription

เพราะฉะนั้นตอบโจทย์แบรนด์ตรงที่ว่าการทำ Subscription เราไม่ได้อยากให้เขากินแค่กาแฟ แต่ให้ลูกค้าเริ่มจากกาแฟ และพอมาใช้บริการ และได้รู้จักร้าน The Coffee Club มากขึ้น  

จาก Customer Data ที่เรามี ช่วยให้เราทำงานได้ Agile มากขึ้น Action เร็วขึ้น เพื่อต่อยอดพัฒนาแคมเปญ ผลิตภัณฑ์บริการ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มอบให้กับลูกค้าและสมาชิก”

The Coffee Club-Minor Food Group

 

สร้าง “ความยั่งยืน” ในกระบวนการธุรกิจ

ไม่เพียงแต่ Re-engineering เมนูอาหาร-เครื่องดื่ม, ขยายสาขา, ปรับราคา, สร้างความแข็งแกร่ง Loyalty Program พร้อมทั้งพัฒนาโมเดล Subscription เท่านั้น The Coffee Club ยังได้ให้ความสำคัญกับ “Sustainability” สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจของเครือไมเนอร์ โดยอยู่ในกระบวนการธุรกิจ เช่น

– พัฒนาเมนู Plant-based ทั้งอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้วัตถุดิบ Plant-base เช่น ใช้วัตถุดิบของ Beyond Meat ทำเป็นเมนูอาหารต่างๆ, ผลิตภัณฑ์นมทางเลือก เช่น นมโอ๊ต, นมอัลมอนด์, นมถั่วเหลือง, นมมะพร้าว อย่างในช่วงเทศกาล World Chocolate Day ได้ออกเครื่องดื่มช็อกโกแลต Chunky Monkey ใช้นมโอ๊ต พร้อมด้วยธัญพืชต่างๆ และใส่กล้วยตาก ผลปรากฏว่าหลังจากมีเมนู Plant-base ให้บรากรลูกค้า ยอดขายกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 30%

–  ใช้ไข่ไก่ Cage Free เป็นไข่ไก่ที่ได้จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบอิสระ เพื่อให้เป็นไก่อารมณ์ดี เนื่องจาก The Coffee Club คำนึงถึง Animal Welfare โดยปัจจุบันวัตถุดิบไข่ไก่ Cage Free ใช้เฉพาะสาขาในกรุงเทพฯ ก่อน เพราะด้วยความที่ไข่ไก่ต้องสดใหม่ทุกวัน จึงยังติดปัญหาการขนส่งไปยังสาขาต่างๆ ในต่างจังหวัด

The Coffee Club Egg Benedict

– พัฒนาเมนู Piccolo Latte เสิร์ฟมาในแก้วกินได้ หรือ Edible Cup ทำมาจากธัญพืชประเภทต่างๆ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรน้ำในการทำความสะอาดแก้ว ขณะเดียวกันลูกค้าก็สามารถดื่มกาแฟไปด้วย กินไปด้วย จะเหมือนกับขนมปัง หรือคุกกี้ และหากรับประทานไม่หมด ก็สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ

– เปลี่ยนฝาแก้วเป็นฝายกดื่มได้ เพื่อรณรงค์ลดการใช้หลอด ยกเว้นบางเมนูที่ต้องดื่มจากหลอดเท่านั้น เช่น เครื่องดื่มปั่น

The Coffee Club Edible cup

จากทั้งหมดทั้งมวลที่ The Coffee Club เดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ เพื่อถึงที่สุดแล้วต้องการเป็น “Neighborhood Café” อยู่ในโลเคชั่นต่างาๆ ไม่ว่าจะในศูนย์การค้า ในคอมมูนิตี้มอลล์ โรงแรม ใกล้แหล่งที่อยู่อาศัย อยู่ในย่านออฟฟิศ

“เราอยากให้ The Coffee Club เป็น Neighborhood Café ที่มีลูกค้าประจำมาใช้บริการสม่ำเสมอ ผ่านมาก็แวะมาที่ร้านเรา มาแล้ว รู้สึกดี รู้สึกสบาย อบอุ่น และปีนี้เราเน้นฝึกอบรม Soft Skill ให้กับพนักงาน เพื่อให้บริการลูกค้าด้วย Service with heart ที่จะสื่อสารกับลูกค้าแบบ One on One ไม่ว่าจะร้านสาขา หรือผ่าน Loyalty Program” คุณนงชนก สรุปทิ้งท้ายถึงเป้าหมายของ The Coffee Club

The Coffee Club Park Silom

The Coffee Club Old Town Phuket


  • 290
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE