สื่อสารแบรนด์ เริ่มจากการสะกดจิตตัวเอง

  • 243
  •  
  •  
  •  
  •  

เจอกันต้นปีกับคอลัมน์แรก ที่ว่ากันด้วยเรื่องของ Creative Branding และวิธีในการสื่อสารแบรนด์นะคะ ก่อนอื่น คงยังไม่สายไป ที่จะกล่าวสวัสดีปีใหม่ แฟนๆ ของ Marketing Oops! ทุกคน

ต้องบอกว่า เรื่องของ Branding เรื่องของวิธีการสื่อสาร จริงๆ มีทฤษฎี มีหนังสือ มีตำรา Text book เยอะมาก ทั้งหนังสือที่มีศัพท์ยากๆ เท่ๆ สำหรับคนที่ร่ำเรียนเรื่อง Branding มาโดยตรง หรือแม้แต่หนังสือแบบ เฉพาะกิจ มือใหม่หัดขับ เจ้าของหัดทำ เรื่องของแบรนด์ เรื่องของการสื่อสารก็มีอยู่ออกมาให้เห็นกันเรื่อยๆ คอลัมน์นี้ จริงๆ เราคงไม่ได้เน้นในเรื่องของทฤษฎีจ๋าๆ แบบ 1 2 3 ในหนังสือ แต่เอาประสบการณ์ตามประสาคนทำแบรนด์มาพูดคุยมาแชร์ให้กันฟังดีกว่า

brand

สำหรับคนทำเรื่องของการสื่อสาร จริงๆ ถ้าจะเปรียบเทียบก็คงเหมือนเวลาเราชอบใครซักคนนี่แหละค่ะ ทำยังไง ให้เขาสนใจเรา จะแสดงออกยังไง แอบยิ้มให้เฉยๆ หรือจะแอบทัก แอบคุยด้วย จะพูดยังไง ใช้ประโยคแบบไหน เนียนๆ ไปทุกวัน จนเขารู้ จนเขาหันมามองเรา คอนเซ็ปต์แทบไม่ได้ต่างกันเลย กับเวลาเราอยากจะจีบใครซักคน

แต่ก่อนอื่น คุณอาจต้องถามตัวเองก่อนนะคะ ไม่ได้ถามนะว่าชอบคนๆ นั้น จริงๆ รึเปล่า แต่ต้องย้อนกลับไปถามตัวเองก่อนว่าจะทำให้เขาเชื่อได้อย่างไร ว่าเรานี่นะ มีข้อดี มีจุดแข็ง ที่จะไปเอาชนะใจเขาได้ แน่นอนค่ะ จีบใครช่วงแรก เราก็จะแสดงออกแต่เรื่องดีๆ ถึงไม่ดี ก็ต้องสร้างภาพให้เชื่อด้วยวิธีการต่างๆ นานากันล่ะ

ก็เหมือนกับการสื่อสารแบรนด์ค่ะ เราต้องเชื่อในสิ่งที่เราจะบอก ในสิ่งที่เราจะพูด แน่นอนว่ามันจะทำให้คุณสามารถสื่อสารสิ่งที่คุณลึกซึ้งกับมันออกมาได้ดี ถ้ายังไม่เชื่อ ลองสะกดจิตตัวเองให้เชื่อก่อนค่ะ นี่พูดจริงๆ นะคะ เพราะการสื่อสารที่ดี คือ หนึ่ง ลึกซึ้ง คุณจะต้องมีความลึกซึ้ง หรือว่าง่ายๆ คือ อิน กับสิ่งที่คุณจะพูด สอง เข้าใจ เรื่องที่คุณอยากจะบอกอย่างจริงจัง และสาม เลือกใช้สื่อที่คุณจะใช้สื่อสาร เพื่อเป็นช่องทางที่เหมาะสม

brand-identity

เพราะบางทีเราลืมไป เรามัวแต่วิเคราะห์ว่าลูกค้าของเราคือใคร กลุ่มเป้าหมายของเราคือใคร แต่กลายเป็นว่า เราดันลืมกลับมามองตัวเอง สร้างตัวตนให้ชัด มีคาแรคเตอร์ของแบรนด์ที่ชัดเจน อย่าเลียนแบบคนอื่นค่ะ เพราะสุดท้าย ถ้าคุณเองยังไม่แน่ใจว่า อะไรคือจุดแข็งหรือจุดขายของตัวเองแล้ว เวลาจะไปบอกให้คนอื่นเชื่อ ตอนแรกเขาอาจจะเชื่อ แต่แค่แป๊บเดียวเท่านั้นล่ะค่ะ แบรนด์คุณก็จะมาแบบวูบๆ แล้วก็จางหายไป แต่ถ้าแบรนด์คาแรคเตอร์ของคุณชัดเจน ถึงแม้ว่าคุณจะสื่อสารผ่านตัวหนังสือ แค่เขาอ่าน Content ของคุณ ก็จะรู้ว่าคุณเป็นคนอย่างไร ซึ่งมันไม่ใช่เป็นเรื่องของแบรนด์อย่างเดียวนะคะ ทั้งเรื่อง Personal Branding เรื่องการสื่อสารในองค์กร หรืองานอีเว้นท์ ก็ไม่ต่างกันเลย อย่าลืมว่าเราต้องสร้างแกนของตัวเองให้แข็งแรงก่อน และค่อยไปหาเครื่องมือในการสื่อสารค่ะ  และในยุคนี้ เครื่องไม้ เครื่องมือ ก็เยอะไปหมด แล้วเราค่อยมาว่ากันต่อนะคะ ว่าจะสื่อสารออกไปอย่างไรถึงจะดี

สิ่งที่สำคัญ เรื่องของแบรนด์ก็เหมือนกับคนค่ะ นอกจากจะบอกให้เชื่อ เรายังมีจุดยืน ไม่ลังเล และไม่โลเล  คิดง่ายๆ คนที่มีเอกลักษณ์ชัดเจน ก็จะได้รับการจดจำมากกว่าคนที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา แต่พอมีแกนแล้ว วิธีในการสื่อสารในยุคนี้ การใช้ One message fits all ไม่น่าจะใช้ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะสื่อหรือเครื่องมือก็มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น แถมลูกค้า คนฟังก็สุดแสนจะหลากหลาย แถมเก่งมากขึ้นด้วย ดังนั้นข้อความ เนื้อหา หรือที่เราชอบพูดกันว่า Content ก็ควรมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ และกลุ่มเป้าหมายด้วย Unique Value ได้ แต่ถ้าจะสื่อสาร จะต้อง Adaptable Story เรื่องราวผ่านสื่อทางการตลาดรูปแบบต่างๆ ก็ต้องสามารถปรับเปลี่ยนตามกลุ่มลูกค้าได้ แล้วคราวหน้าเราค่อยมาพูดกันเรื่อง One message fits all กันต่อนะคะ

 

เขียนโดย อุมารี ชาญณรงค์
Expertise: Creative Branding and Communications
อ่านบทความ Exclusive เพิ่มเติมได้ที่นี่

Copyright © MarketingOops.com


  • 243
  •  
  •  
  •  
  •  
Umaree Charnnarong
ตาล อุมารี ชาญณรงค์ ผู้สร้างสรรค์งานด้านการสื่อสาร กับกลยุทธ์การสื่อสาร ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร แห่ง บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กลุ่มธุรกิจที่ดำเนินงานโดยใช้ศักยภาพในด้านของความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก ให้บริการสร้างสรรค์และบริหารงานด้านการสื่อสารการตลาดอย่างครบวงจร บริษัท ครีเอทีฟ บิซิเนส อันดับ 1 ของประเทศไทย และเป็นบริษัทอีเว้นท์คนไทยบริษัทเดียวที่ติดอันดับ 7 ของโลก จัดอันดับโดยนิตยสาร Special Events Magazine ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยผลงานสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย กับการทำงานด้านการสื่อสารแบรนด์ในงาน World Expo ในปี 2010 2012 และ 2017 ด้วยความพิถีพิถัน ใส่ใจในรายละเอียดสมกับสโลแกนของบริษัทที่ว่า “Never Stop Creating”