ปี 2023 เป็นอีกหนึ่งปีที่ทั่วโลกเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจผันผวน และความไม่แน่นอนจากปัจจัยรอบด้าน ทั้งเศรษฐกิจชะลอตัวของกลุ่มประเทศขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ ยุโรป จีน, ภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส, การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่มากขึ้นกว่าเดิม เช่น AI ที่นับวันจะยิ่งมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย ภาคธุรกิจ และผู้บริโภค ทั้งยังคาดว่าหลายสถานการณ์ หลายปัจจัยยังมีผลต่อเนื่องถึงปี 2024
ดังนั้นเพื่อภาคธุรกิจ แบรนด์ และนักการตลาดเตรียมความพร้อมรับปี 2024 Marketing Oops! ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการตลาด และพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะเกิดขึ้น พร้อมทั้งเทรนด์การตลาด และธุรกิจดาวรุ่งในปี 2024
ปีแห่งความท้าทายด้านเศรษฐกิจ และเลนส์ผู้บริโภคเปลี่ยนไป – จับตา AI – IoT เทคโนโลยีมาแรง
ผศ.ดร.เอกก์ ฉายภาพรวมปี 2023 ว่าในทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์ และนักการตลาดเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจโลกมีลักษณะเป็น “เศรษฐกิจต้มกบ” เปรียบเทียบกับกบอยู่ในหม้อน้ำ จากนั้นอุณหภูมิของน้ำค่อยๆ ร้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่กบยังคงว่ายน้ำเล่นไปมาโดยไม่สนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น กระทั่ง่รู้ตัวอีกทีเมื่ออุณหภูมิน้ำถึงจุดเดือด ไม่สามารถกระโดดออกมาได้แล้ว ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในช่วงปีที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าปี 2024 จะรุนแรงมากขึ้น จากปัจจัยสำคัญคือ เศรษฐกิจโลก และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
“ข้อมูลจากสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAAT) ระบุว่าจะมีปัญหาเศรษฐกิจระดับโลกในหลากหลายแง่มุม โดยมุมที่หวั่นเกรงกันมากคือ ผลกระทบจากสงคราม ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่แค่รัสเซีย-ยูเครน แต่ยังมีอิสราเอล–ฮามาส จะส่งผลใหญ่กับเศรษฐกิจโลก
อีกปัจจัยคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED และธนาคารประเทศต่างๆ ย่อมมีผลต่อของภาคธุรกิจโดยตรง ทั้งด้านการลงทุน รายจ่าย และผลกำไร” ผศ.ดร.เอกก์ เล่าถึงปัจจัยในภาพ Macro
ขณะที่ในมิติ Micro ปัจจุบันเลนส์ของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป และมีมุมมองที่แตกต่างกันใน 3 เลนส์คือ
เลนส์ที่ 1: ของจริง กลับปลอม และของปลอม กลับจริง
เป็นภาวะสลับกันไปมาระหว่างโลกจริง กับโลกดิจิทัล หรือโลกเสมือน ทำให้เกิดความเห็นไม่ตรงกันระหว่าง Generation เช่น e-Sport คนรุ่นหนึ่งบอกว่า e-Sport เป็นโลกการแข่งขันกีฬาจริง และสามารถสร้างรายได้ให้กับนักกีฬาได้จริง ขณะที่คนอีกรุ่นมองว่า e-Sport เป็นการแข่งขันหรือการเล่นกันในโลกออนไลน์ หรือกรณีเงินจริง แลกเป็นเงินดิจิทัล และเงินดิจิทัล แลกเป็นเงินจริง ซึ่งจะส่งผลให้การทำการตลายิ่งสับสนขึ้น
เลนส์ที่ 2: ความไม่เหมาะ กับความเหมาะ
ในอดีตเรื่องบางเรื่อง หรือของบางอย่าง ถูกมองว่าไม่เหมาะ แต่ปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่เหมาะ เช่น การติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ส่วนใหญ่ลูกค้าจะชอบคุยกับพนักงานมากกว่า Bot ขณะที่ปัจจุบันเมื่อเทคโนโลยี AI Bot พัฒนาก้าวล้ำขึ้น ทำให้การสื่อสารกับลูกค้าด้วย AI Bot ที่ให้ความรู้สึกเหมือนพูดคุยกับคนจริง ลูกค้าก็แทบไม่รู้ว่ากำลังคุยอยู่กับ Bot และไม่ได้รู้สึกไม่พึงพอใจอะไร ทั้งยังนำไปสู่การตัดสินใจซื้อในที่สุด
หรือด้านเทคนิคการขาย เดิมทีร้านค้า/แบรนด์ต้องระมัดระวังการสื่อสาร และให้พูดถึงด้านดีของสินค้า แต่ปัจจุบันมีเทคนิคการขายที่แหวกแนวไปจากเดิม เช่น Live ขายของ จะเห็นเทคนิคการขายที่กระโชกโฮกฮาก หรือขายไปด่าไป แต่ยังสามารถปิดการขายได้ หรือ Live ขายชุดนอน คนขายใช้วิธีนอนยาว 8 ชั่วโมงให้คนดูรับชม แม้ไม่ได้สื่อสารถึงคุณสมบัติของชุดนอนแต่อย่างใด ทว่าสามารถขายได้เช่นกัน
เลนส์ที่ 3: ความถูก กับความผิด
มารยาททางสังคมเปลี่ยนแปลงไป เช่น การส่งดอกไม้ผ่านแชทให้กันในตอนเช้า อาจถูกมองว่าผิด เพราะเสียมารยาท เพราะเป็นการมาปลุกตั้งแต่เช้า หรืออาจทำให้คนได้รับภาพดอกไม้รู้สึกไม่พอใจ เพราะภาพนั้นกินพื้นที่จัดเก็บ data ของผู้รับ
“จาก 3 เลนส์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การทำการตลาดจะยิ่งยากขึ้น ประกอบกับภาคธุรกิจ แบรนด์ หรือนักการตลาดต้องเจอกับปัจจัยมหภาค ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่กระทบต่อเศรษฐกิจระดับประเทศ และภาวะสงครามที่ยังไม่ยุติ เมื่อมารวมกัน ส่งผลให้ปี 2024 เป็นปีแห่งความท้าทายอย่างมาก จะมีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง รุนแรง และมีอุปสรรคมากขึ้น ซึ่งมีผลต่อการกำหนดงบประมาณทางการตลาดของแบรนด์ ธุรกิจ หรือนักการตลาดในปี 2024 ด้วยเช่นกัน
สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยประกาศเทรนด์ 2024 ว่าจะเป็นปีที่งบการตลาดอัตคัดและโตยาก เพราะจากการเก็บข้อมูลผู้บริหารระดับสูงขององค์กรในไทย 121 คน เราพบว่าค่าเฉลี่ยการเพิ่มขึ้นของงบการตลาดปี 2024 อยู่ที่ 2.99% จากเดิมทีงบการตลาดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% ต่อปี เมื่องบการตลาดโตแค่กว่า 2% สุดท้ายแล้วเมื่อเงินเท่าเดิม การใช้งบจะอัตคัดมาก”
นอกจากนี้ในด้านแนวโน้มเทคโนโลยี ผศ.ดร.เอกก์ มองว่าปี 2024 จะเป็นปีแห่ง “AI” และ “IoT” เทคโนโลยีสำคัญที่จะมีบทบาทต่อภาคธุรกิจ ซึ่งหน้าที่ของ IoT เป็นตัวช่วยเก็บ Data โดยมี AI ช่วยประมวลผลข้อมูล นอกจากนี้จะเห็นการนำ AI มาช่วยวางกลยุทธ์การตลาด และด้านความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น
“ปี 2023 เราเห็นการใช้ AI ในกระบวนการทางการตลาดมากขึ้น เช่น เอามาทำแคปชั่น ทำบทความ ทำรูป ทำโพสต์บน Social Media แต่ในปี 2024 เราจะเห็น AI ช่วยในการคิดและกำหนด Strategy ด้านการตลาด ด้านไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ”
ทักษะสำคัญของนักการตลาด รับมือปีแห่ง Shock Marketing
จากปัจจัย Macro ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะสงครามที่ยังมีความไม่แน่นอน และไม่สามารถควบคุมได้ (Uncontrollable Factors) กับปัจจัย Micro เลนส์มุมมองความคิดของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง และแตกต่างกันระหว่าง Generation อีกทั้งการพัฒนาและการขยายตัวของเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของผู้คน การทำงาน และองค์กรธุรกิจมากขึ้น
จากสภาวะดังกล่าวนี่เอง ผศ.ดร.เอกก์ จึงนิยามสถานการณ์ทางการตลาดในปี 2024 ไว้ว่าจะเป็นปี “Shock Marketing” ซึ่งคำว่า Shock จะเกิดขึ้นเมื่อผิดการคาดการณ์อย่างกลับตาลปัตร ดังนั้นบางสิ่งบางอย่างที่ธุรกิจ หรือแบรนด์ตั้งเป้า หรือคาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้า ก็อาจไม่เป็นไปตามที่วางไว้ หรือคาดไว้ และบางเหตุการณ์ที่นึกว่าแย่ หรือเลวร้าย ก็อาจจะกลับกลายเป็นดีก็เป็นไปได้
เพราะด้วยปัจจัยความไม่แน่นอนสูง และมีความผันผวน เปลี่ยนแปลงตลอด ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ที่ยากแก่การคาดการณ์ ดังนั้นหัวใจสำคัญที่ธุรกิจ หรือแบรนด์ และนักการตลาดจะฝ่าความท้าทายปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ไปได้ จึงต้องมีทักษะที่จำเป็น ประกอบด้วย
– Resilient Skill: ทักษะแห่งการยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยน เพื่อพร้อมรับมือและปรับตัวกับสถานการณ์ Shock ต่างๆ ได้อยู่เสมอ
– AI Management: นักการตลาดต้องเป็น AI Manager หรือ AI Director ทำหน้าที่บริหารจัดการ AI ในฐานะเป็นหัวหน้าของ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“นักการตลาดไม่ได้เป็น Programmer หรือ AI Builder แต่นักการตลาดต้องเป็น “AI Manager” เพื่อเป็นนายของ AI ให้ได้ เพราะในขณะที่ AI กลายเป็น Strategist หรือผู้วางกลยุทธ์ เราต้องเป็น “หัวหน้า” ของฝ่ายกลยุทธ์ โดยต้องมีทั้ง “ทักษะการบริหาร AI” จากเดิมที่เรียนรู้ทักษะการบริหารคน แต่ต่อไปต้อง lead AI ให้ได้อีกด้วย และต้องมี “ทักษะ Prompt” (ป้อนคำสั่ง) อย่างมีประสิทธิภาพ จะกลายเป็นทักษะใหม่ของนักการตลาด
เมื่อ AI ช่วยวางกลยุทธ์มาแล้ว นักการตลาดไม่ควรเชื่อทุกอย่างที่ AI generate ออกมา แต่ต้องตรวจดูความถูกต้อง ดูว่ากลยุทธ์ไหนใช้ได้ ใช้ไม่ได้ ต้องปรับตรงไหน โดยในช่วงนี้นักการตลาดยังสามารถใช้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ ความเข้าใจตลาด และทักษะอื่นๆ ได้อีกสักพักหนึ่ง แต่ต่อไป AI จะพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นนักการตลาดต้องพัฒนาตัวเองอย่างรุนแรง ไม่อย่างนั้นเราจะกลายเป็นลูกน้อง AI”
ธุรกิจดาวรุ่งปี 2024 “3 ท: ท่องเที่ยว – ธุรกิจทันที – ธุรกิจเทเล”
จากแนวโน้มภาพใหญ่ เทรนด์การตลาด เทคโนโลยี เลนส์มุมมองผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง และทักษะที่นักการตลาดต้องเรียนรู้แล้ว มาต่อกันที่ “เทรนด์ธุรกิจดาวรุ่ง” ในปี 2024 ผศ.ดร.เอกก์ ได้สรุปว่าจะมีธุรกิจ “3 ท” ที่เติบโตอย่างชัดเจน
– ท่องเที่ยว: การท่องเที่ยวยังคงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยการท่องเที่ยวรูปแบบ “Economy Tourism” หรือการท่องเที่ยวเน้นความคุ้มค่า และ “Meaningful Tourism” หรือการท่องเที่ยวเน้นคุณค่า-มีความหมาย จะเป็นเทรนด์หลักในปี 2024
เพราะจากสถานการณ์เศรษฐกิจ และปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ ส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงตามมา จึงต้องประหยัด ใช้เงินกับสิ่งต่างๆ น้อยลง รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยวเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มระดับกลาง จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมากในปี 2024 ดังนั้นผู้บริโภคจะมองหา “ความคุ้มค่า” (Value for Money) มากขึ้น โดยสินค้าหรือบริการด้านการท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องลดราคา แต่ให้เพิ่มข้อเสนอ หรือสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเงินที่จ่ายไปนั้น ได้ความคุ้มค่ากลับมา
ส่วนในด้าน “การท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่า” มาจากทั้งการผลักดันของภาครัฐ และนักท่องเที่ยว ก็ต้องการการเดินทางท่องเที่ยวที่มีความหมายด้วย ไม่ว่าจะเข้าไปอยู่ในชุมชนท้องถิ่น ไปเรียนรู้วิถีท้องถิ่น – ภูมิปัญหาท้องถิ่น หรือแหล่งความรู้ของชุมชน
ผศ.ดร.เอกก์ ยกตัวอย่างการเพิ่มคุณค่า เช่น การนำเรื่อง “สุขภาพ” ซึ่งจากผลสำรวจของสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย ชี้ว่าทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตใจเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 ดังนั้นแบรนด์สินค้า – บริการ สามารถตอบโจทย์ด้านความคุ้มค่า และเพิ่มคุณภาพให้กับลูกค้าได้ด้วยการเติม “สุขภาพ” เข้าไปอยู่ในสินค้า หรือบริการ เช่น เข้าพักโรงแรม แถมคอร์ส Wellness ฟรี เข้าคลาสโยคะฟรี เพิ่มระยะเวลาเปิดบริการยิมให้นานขึ้น หรือเปลี่ยนวัตถุดิบอาหารที่ให้บริการลูกค้าโรงแรม ด้วยการใช้วัตถุดิบ Organic ในการทำอาหารเมนูต่างๆ ดีทั้งต่อสุขภาพลูกค้า ดีต่อสังคมและโลกด้วย
– ธุรกิจทันที: ปี 2024 เป็นปีแห่ง “Quick Commerce” สั่งสินค้า พร้อมจัดส่งภายใน 30 นาที จะเป็นอีกเทรนด์ธุรกิจดาวรุ่งที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าต่อไปการจัดส่งภายใน 30 นาที จะเป็นแมสเสจที่แบรนด์ในกลุ่มธุรกิจต่างๆ นำมาใช้สื่อสารมากขึ้น
ตัวอย่างเช่น เครื่องสำอาง หรือครีมมักจะหมดเมื่อเราจะใช้ ถ้าเป็นสมัยก่อนต้องเดินทางไปห้างฯ หาที่จอดรถ กว่าจะได้ซื้อต้องใช้เวลา หรือจะซื้อพวงมาลัยไหว้พระ ที่ผ่านมาต้องไปตลาด แต่ปัจจุบันมีบริการ Quick Commerce ตอบโจทย์ความต้องการสินค้าด่วน เร็ว ใช้ทันที หรือแม้แต่ร้านสะดวกซื้อ ที่ทุกวันนี้มีสาขาใกล้บ้าน แต่ปัจจุบันได้ให้บริการจัดส่งถึงบ้านเช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคถูก Spoil มากขึ้น แบรนด์สินค้า หรือบริการ จึงต้องพยายามพัฒนาบริการให้เร็วขึ้น สะดวกขึ้น
– เทเล: ธุรกิจเทเล (Tele) เป็นอีกเทรนด์ธุรกิจในปี 2024 เช่น Telemedicine, Tele Insurance ซึ่งปัจจุบันด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีการตลาด ทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำขึ้น เช่น ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือ Social Media ต่างๆ นำเสนอสินค้า หรือบริการตรงกับสิ่งที่ผู้บริโภคคนนั้นๆ กำลังต้องการ หรือมองหาอยู่พอดี นำไปสู่การคลิกเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม และตัดสินใจซื้อในที่สุด
หรือ Telemedicine ตอบโจทย์ความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ เช่น ในช่วง COVID-19 คนสูงวัยอยู่บ้านมากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงและเปราะบาง ไม่ได้อยากเดินทางออกจากบ้านไปไหนมาไหนมากนัก แต่ยังอยากพบแพทย์ เพื่อความมั่นใจและสบายใจ ดังนั้นการมีบริการทางการแพทย์ออนไลน์ ให้คำปรึกษา คำแนะนำ จึงเป็นคำตอบสำหรับกลุ่มสูงวัย หรือคนที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาล
“เพราะฉะนั้นปี 2024 มีธุรกิจ “3 ท” ที่จะโตอย่างชัดเจน คือ ท่องเที่ยว ทันที และเทเล” ผศ.ดร.เอกก์ กล่าวย้ำถึงเทรดน์ธุรกิจดาวรุ่ง
4 เทคนิคฝ่าคลื่นความท้าทาย
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสถานการณ์ในปี 2024 จะเป็นอย่างไร แต่เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินหน้าและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ผศ.ดร.เอกก์ ได้ฝาก 4 เทคนิคสำหรับธุรกิจ หรือแบรนด์นำไปปรับใช้ฝ่าคลื่นความท้าทาย พร้อมสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ๆ
1. ทิ้ง: ทิ้งเลนส์เดิมๆ ที่มองกว้าง ให้เป็นเลนส์ที่มองแคบขึ้น เพื่อเจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่มให้ชัดเจน เช่น ธุรกิจด้านการท่องเที่ยว อาจโฟกัสทำการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ Medical Tourism
2. ทำ: อย่าเอาแต่วางแผน ให้ลงมือทำเลย และในระหว่างทำ ก็พัฒนาปรับปรุงไปด้วย อย่างปัจจุบันมีการนำ Generative AI และเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยด้านการตลาดมากขึ้น ดังนั้นนักการตลาด หรือแบรนด์ต้องลงมือเอาเทคโนโลยีใหม่มาปรับใช้กับงาน พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ เพื่อพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
3. ทีม: ปี 2024 เป็นปีแห่งการ “รวมทีม” เพราะเมื่อแนวโน้มงบการตลาดในภาพรวมเพิ่มขึ้นน้อย อยู่ที่ 2.99% เท่านั้น นั่นหมายความว่าแต่ละแบรนด์ แต่ละธุรกิจ จะมีงบการตลาดจำกัดมากขึ้น เพื่อทลายข้อจำกัดดังกล่าว ควรใช้กลยุทธ์ Co-brand ผนึกกำลังพาร์ทเนอร์ เอางบส่วนหนึ่งมาใช้ร่วมกัน และทำงานด้วยกัน
4. ธรรม: การตลาดทั้งในวันนี้ และอนาคต ต้องสร้างคุณค่าอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสังคม และสิ่งแวดล้อม
“ปี 2024 นักการตลาด แบรนด์ หรือธุรกิจต้องทำตัวเป็น “ปลาหมึกยักษ์” เพราะปลาหมึกเป็นสัตว์อยู่มายาวนานมาก ตั้งแต่โลกยุคดึกดำบรรพ์ จนถึงโลกยุคปัจจุบัน ด้วยความสามารถในการปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์ และใช้สมองตลอดเวลา เพราะฉะนั้นปี 2024 คนที่จะอยู่ได้ต้องทำตัวเหมือนปลาหมึกยักษ์ ไม่ว่าจะน้ำเย็นขึ้น หรือน้ำอุ่นลง สามารถปรับตัวเองได้” ผศ.ดร.เอกก์ สรุปทิ้งท้าย
- อ่านเพิ่มเติม: สรุป 10 เทรนด์ “การตลาดไทย ปี 2024” เผชิญเศรษฐกิจโลก – แบรนด์ไม่เพิ่มงบการตลาด – ผู้บริโภคโฟกัสสุขภาพ – AI เทคโนโลยีสำคัญ