ยุคดิจิทัลสำหรับบางคนเรียกได้ว่าค่อนข้างคุ้นเคยกัน แต่ความคุ้นเคยนี้ก็ไม่ใช่กับทุกคนและในทุกวัยของประเทศไทย หรืออาจจะในอีกหลายประเทศทั่วโลกก็เป็นได้ ไม่ว่าจะในแง่ของการเข้าถึง การทำความเข้าใจ และการปรับใช้ ทั้งนี้ sea (ประเทศไทย) ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์มชั้นนำ อย่างเช่น Garena เกมออนไลน์ที่ได้รัความนิยม, Shopee และ SeaMoney ผู้ให้บริการการเงินดิจิทัล ได้จัดงาน Sea Story 2021: Digital Visionary ในหัวข้อ “Accelerated Transitions to the Digital Nation” โดยแชร์ให้เห็นเกี่ยวกับมูฟเมนต์ของยุคดิจิทัล และการขับเคลื่อนของคนว่าเป็นอย่างไร ทั้งในแง่ของธุรกิจ และผู้คนว่าควรทำอย่างไรในอนาคต
คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ได้เล่าให้ฟังเกี่ยวกับภาพรวมของธุรกิจ ภายใต้การทำงานของ sea group จากสตาร์ทอัพในประเทศสิงคโปร์สู่ระดับโลก ด้วยมุมมองและการประเมินที่น่าสนใจหลายอย่าง
“เศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยขยายตัวต่อเนื่องและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) ส่วนอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต (Internet Penetration) ในไทยอยู่ที่ 96.5% ในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ มองว่าจะทำให้บริการดิจิทัลต่างๆ ยิ่งเป็นที่ต้องการในสังคมไทยมากขึ้น”
“โดยเฉพาะเมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนเริ่มคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น จนเกิดความคุ้นเคยมากพอสมควร และมีแนวโน้มที่จะใช้เครื่องมือดิจิทัลเหล่านี้ต่อไปในอนาคต สำหรับ sea (ประเทศไทย) พร้อมจะตอบโจทย์ Unmet Needs และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งานและพันธมิตรทางธุรกิจในไทย พร้อมส่งเสริมให้ ecosystem ในอุตสาหกรรมที่เราดำเนินธุรกิจอยู่มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น”
คุณมณีรัตน์ ได้ยกตัวอย่างแผนธุรกิจในอนาคตอันใกล้ เช่น Garena เตรียมจะนำเกมออนไลน์แนวใหม่ๆ มาเปิดประสบการณ์ผู้เล่นในไทย แผนล่าสุดจะนำเกมระดับทริปเปิ้ลเอ (AAA) อย่างเกม Undawn เข้ามาให้บริการแก่แฟนเกมชาวไทย
ส่วน Shopee ทาง sea ประเทศไทย เกริ่นไว้ว่าจะโฟกัสไปที่ data เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งาน เน้นความเป็น personalization, engagement และ social interaction เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความเป็น exploring shoppers ชอบสำรวจชอบตามหา ให้สามารถเข้าถึงสินค้าที่ตรงใจและมีตัวเลือกที่หลากหลาย
โดยฟีเจอร์ยอดนิยมของ Shopee ที่มาจากการใช้ data และวิเคราะห์ต่อยอด อย่างเช่น Shopee Prize, Shopee Live และ You Might Like นอกจากนี้ ยังมีการนำฟีเจอร์และโปรแกรมใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนให้เกิดบริการที่ครบถ้วนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Shopee Premium หรือ Shopee Mall Brand Memberships เป็นต้น
โควิดเร่งให้คนไทย re-Learn และ re-Skill ทักษะดิจิทัล
อย่างที่รู้กันว่า เทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลให้มีความครอบคลุม สะดวก และสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับเศรษฐกิจและสังคมในองค์รวม
คุณมณีรัตน์ และ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร FutureTales Lab by MQDC ในฐานะที่เป็นนักอนาคตศาสตร์ ได้มาพูดถึงมุมที่น่าเป็นห่วงของอนาคตของไทย หากคนบางกลุ่มไม่พยายามปรับและพัฒนา หากดูข้อมูลจากสำนักงานสถิติของไทยที่เคยคาดการณ์ว่า 44% ของแรงงานไทยจำเป็นต้อง re-Skill, up-Skill, re-Learn โดยด่วนก่อนที่จะถูกดิจิทัลไปดิสรัปเข้า
คล้ายๆ กับ IMD World Digital Competitiveness Ranking 2021 ที่ระบุว่า ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันเป็นอันดับที่ 38 จาก 64 ประเทศทั่วโลก โดยมีปัจจัยด้าน Technology (อันดับที่ 22) เป็นจุดแข็ง และมีปัจจัยด้าน Knowledge (อันดับที่ 42) และด้าน Future Readiness (อันดับที่ 44) เป็นจุดที่ต้องเร่งพัฒนา
2 เทรนด์หลักที่ sea ประเทศไทยคาดน่าจะเกิดขึ้นใน 10 ปีข้างหน้า
ด้วยปัจจัยที่เทคโนโลยีได้เข้าในชีวิตประจำวันเราสักพักใหญ่ ขณะที่คนก็เริ่มปรับใช้ adopt เทคโนโลยีเหล่านั้นดีขึ้น ดังนั้น 2 เทรนด์ที่คาดว่าในปี 10 ปีข้างหน้าสำหรับประเทศไทย เราน่าจะเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ
- Ageing society (สังคมสูงอายุที่มากขึ้น)
ในอีกไม่กี่ปีประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (เหมือนญี่ปุ่น) แต่ด้วยความที่คนเรารู้จักและเข้าใจที่จะปรับใช้เทคโนโลยีมากขึ้นบ้าง ดังนั้น ศักยภาพของกลุ่มคนสูงอายุโดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัลถือว่ามีประโยชน์ และสร้างอานิสงส์ได้มากมายในอนาคตของไทย
ขณะที่ไทยเองจะเข้าสู่การขาดแคลนแรงงานมากขึ้น ทั้งจากคนที่ยังไม่สามารถปรับตัว และการเข้ามาดิสรัปของเทคโนโลยี ทาง sea ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับการเสริมทักษะสำคัญเพื่อเตรียมพร้อมให้กับคนไทยหลากหลายกลุ่มในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล
อย่างเช่นในกลุ่มคนสูงวัยที่มีความร่วมมือกับ Young Happy มุ่งสนับสนุนให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตอย่างมีความสุข รู้สึกมีคุณค่า และพึ่งพาตัวเองได้ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลาง โดยในปีนี้ได้ยกระดับทักษะจากผู้ซื้อสินค้าออนไลน์เป็นผู้ประกอบการออนไลน์ ด้วยการจัดเวิร์คช้อป “ขายได้ขายดีกับช้อปปี้” เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้สร้างธุรกิจจริงบนช้อปปี้ และในปีหน้าจะมีการเปิดตัว E-module ซึ่งเป็นคอร์สออนไลน์ที่ขยายผลไปสู่ Active Senior กว่า 30,000 คนบนแพลตฟอร์ม YoungHappy
- Digital Adoption (การปรับใช้ดิจิทัล)
จากข้อมูลของ sea insight พบว่า กว่า 60% ของคนไทยเริ่มใช้เทคโนโลยีได้ดีขึ้น และมีความต้องการใช้มากขึ้นในรูปแบบ digital tools มีการเปิดใจยอมรับขึ้น ดังนั้น มีโครงการต่อยอดจากเทรนด์ตรงนี้มากมายจาก sea ประเทศไทย อย่างเช่น
ความร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มุ่งกระจายองค์ความรู้ ด้านการทำธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีและอีคอมเมิร์ซในกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะได้รับการจ้างงานในอนาคต หรือสามารถต่อยอดศักยภาพสู่การเป็นผู้ประกอบการดิจิทัลได้เช่นกัน
E-Commerce 101 ช้อปปี้ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดคอร์สมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับนิสิต-นักศึกษาที่จะเป็นรากฐานที่สำคัญในการช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทยในอนาคต เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานในอนาคตและคว้าโอกาสในโลกยุคดิจิทัล
โครงการ DOTs (Digital Opportunities for Talents) โครงการประกวดแผนธุรกิจที่นำนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ มาพัฒนาทักษะด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก sea และ shopee ให้คำแนะนำ เพื่อลงมือทำแผนธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาธุรกิจจริงให้กับ SMEs
หรือจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการและเกษตรกร เช่น Shopee Bootcamp Trainers ช้อปปี้ร่วมกับหน่วยงานราชการต่างๆ ถ่ายทอดความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซให้ตัวแทนจากหน่วยงาน พัฒนาสู่ Trainers ที่จะช่วยส่งต่อความรู้และทักษะให้กับ SMEs เกษตรกร และชุมชนต่างๆ ในวงกว้าง
ชอบที่คุณมณีรัตน์ และดร. การดี พูดว่า การเพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลให้กับคนไทย ควรเริ่มตั้งแต่ระดับนักศึกษา ไม่ใช่คนวัยทำงานเท่านั้น และควรกระจายความรู้ไปยังกลุ่มคนอายุมากเพื่อสร้างศักยภาพในด้านที่พวกเขาสามารถทำได้
อย่าลืมว่าโลกทุกวันนี้ สถานที่ทำงานเริ่มเปลี่ยนไปตามยุคสมัยจากที่คนต้องทำงานในสำนักงานเท่านั้น ก็กลายเป็นทำงานแบบ workation (ทำงาน+พักผ่อน) ข้างริมทะเลก็ได้ ซึ่งหาก work place เราเปลี่ยน workfrce หรือคนทำงานก็จำเป็นต้องปรับตาม และไทยเรายังมีศักยภาพอีกมากที่จะก้าวให้ทันเพื่อนบ้านที่ตอนนี้นำเราไปก่อนแล้ว
ข้อมูลโดย sea (ประเทศไทย)