ธุรกิจ Car Subscription น่าสนใจอย่างไร จนทำให้อดีตผู้บริหาร Grab – Uber ลงขันเปิดตัว Carzuno ในสิงคโปร์

  • 17
  •  
  •  
  •  
  •  

 

ก่อนเข้าเรื่องเกี่ยวกับโมเดลธุรกิจ car subscription ต้องบอกก่อนว่าไม่ใช่รูปแบบธุรกิจที่ใหม่มาก เพราะเราน่าจะเคยได้ยินคำๆ นี้ตั้งแต่ปี 2019 เพียงแต่คนไทยอาจยังไม่คุ้นเคยมากนัก ทั้งๆ ที่ในไทยก็มีบางแบรนด์ที่ให้บริการ car subscription แล้วอย่างเช่น Eazy Car ของบริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน) ที่เปิดไลน์ธุรกิจนี้ในปี 2020

และแบรนด์ Drivemate คาร์แชร์ริ่งรายใหญ่ในไทย ที่เพิ่มโมเดลธุรกิจ car subscription ในปี 2019 ซึ่งแนวคิดหลักๆ ก็มาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ชอบความอิสระ และไม่อยากผูกมัด

 

 

ธุรกิจ car subscription คืออะไร และโมเดลธุรกิจเป็นอย่างไร?

อธิบายเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายสำหรับคนที่ยังไม่รู้ ธุรกิจ car subscription ก็คือ บริการเช่ารถ ‘ระยะยาว’ จากเดิมที่เราคุ้นเคยกับคำว่า car sharing ซึ่งเป็นธุรกิจให้บริการรถเช่าแบบระยะสั้น 1 วัน/รายชั่วโมง สำหรับโมเดลของ car subscription ก็คล้ายๆ กัน เพียงแต่เป็นการทำสัญญาการเช่าที่มีระยะเวลาครอบคลุมนานขึ้น เช่น 1 ปี, 3 ปี, 5 ปี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผู้ให้บริการ (แต่ส่วนใหญ่ยิ่งเช่านาน ค่ารายเดือนก็จะถูกลง)

โดยส่วนใหญ่ car subscription ที่เปิดบริการในหลายๆ ประเทศ จะมีค่าธรรมเนียมแรกเข้า และมีค่าบริการรายเดือน ซึ่งจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแต่ระดับกลุ่มของรถที่เราต้องการเช่า เช่น รถยนต์ทั่วไป, รถหรู, ซูเปอร์คาร์ ฯลฯ โดยค่าบริการต่างๆ เหล่านี้จะรวมทุกอย่างแล้ว เช่น การต่อทะเบียนรถ, การบำรุงรักษา, การซ่อมแซม, ประกันภัย และ ภาษี เป็นต้น หรือจะพูดว่า รวมทุกอย่างยกเว้นแค่ ‘ค่าเติมน้ำมัน’ จะพูดแบบนั้นก็ถูก

 

ตัวอย่างแบรนด์รถที่มีโมเดล car subscription

ตั้งแต่ปี 2019 ที่เริ่มคุ้นๆ หูกับคำว่า car subscription จนถึงปัจจุบัน ปี 2021 ลองดูสิว่ามีแบรนด์รถค่ายไหนบ้างที่กระโดดเข้ามาเล่นกระแสนี้ กับไลน์ธุรกิจ car subscription รับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่

  • Volvo กับบริการ Care by Volvo
  • Genesis กับบริการ Genesis Spectrum
  • Jaguar Land Rover กับบริการ Pivotal by Jaguar Land Rover
  • Nissan กับบริการ Nissan Switch
  • Porsche กับบริการ Porsche Drive – Subscription
  • Hyundai กับบริการ Hyundai Subscriptions

 

และไม่ใช่แค่แบรนด์ดังที่แตกไลน์ธุรกิจกับโมเดลเช่ารถรายเดือน ยังมีธุรกิจเช่ารถอื่นๆ อีกเช่นกัน ที่เปิดตัวแพลตฟอร์ม car subscription เพิ่มจากบริการรายวันที่มีอยู่แล้ว เป็นการต่อยอดธุรกิจเพิ่มเติม เช่น Hertz My Car และ Sixt Plus

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีทั้งธุรกิจที่เพิ่งเข้ามาเล่นกับตลาดเช่ารถรายเดือน และก็มีทั้งธุรกิจที่ปิดตัวไปแล้ว อย่างเช่น BMW กับบริการ Access by BMW ซึ่งปิดตัวบริการในสหรัฐอเมริกา หลังเปิดให้บริการมาเกือบ 3 ปี มองว่าการเปิดตัวและปิดตัวในบางพื้นที่มักจะเกิดขึ้นในธุรกิจอยู่แล้ว แต่หากเราอ้างผลสำรวจในหลายประเทศ อย่างเช่นที่เยอรมนี จากผู้ที่ตอบคำถาม 7,000 คน ส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับโมเดลธุรกิจ car subscription เพราะอย่างแรกเลยคือ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย, ลดความกังวลเรื่องไม่มีเวลาดูแลรักษารถ และ หมดห่วงเรื่องการจ่ายภาษี ซึ่งในบางประเทศภาษีรถยนต์ถือว่าสูงมาก

 

 

รู้จัก Carzuno แพลตฟอร์มเช่ารถรายเดือนจากสิงคโปร์

กระแสธุรกิจ car subscription ได้รับความสนใจไปทั่วโลก แม้แต่ในสิงคโปร์ เพื่อนบ้านร่วมสมาชิกอาเซียนของไทย ที่ล่าสุดมีบริการเช่ารถแบบรายเดือนเป็นแพลตฟอร์มแรกในประเทศ โดยบริษัท Carzuno สตาร์ทอัพสัญชาติสิงคโปร์ ที่เปิดตัวเมื่อเดือน พ.ค. 2021 ที่ผ่านมา โดยเป็นการร่วมลงทุนของ 2 อดีตผู้บริหารจาก Uber (Amrt Sagar) และ Grab (Andrew Chan) ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานที่ Hertz และ ComfortDelGro มาก่อนด้วย

Carzuno เป็นบริษัทที่มีแพลตฟอร์ม car subscription และประกาศชัดตั้งแต่วันเปิดตัวบริษัทว่า เตรียมจะขยายธุรกิจไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เร็วๆ นี้ โดยโมเดลธุรกิจของ Carzuno ก็คือ ทางเลือกใหม่ของคนที่ไม่ต้องการซื้อรถและรักความสบาย โดยขั้นตอนการสมัครสมาชิกเร็วมาก น้อยกว่า 3 นาทีก็เสร็จสมบูรณ์

ทั้งนี้ บนหน้าเว็บไซต์ Carzuno จะเห็นว่ามีประเภทให้เลือกมากกว่า 40 รุ่นด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นยอดนิยมของแต่ละค่ายรถทั่วโลก ทั้งญี่ปุ่น, อิตาลี, เยอรมนี, เกาหลี ฯลฯ

 

https://carzuno.com/

 

โดยค่าบริการเช่ารายเดือน เริ่มต้นที่ 1,350 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 32,608 บาท) ซึ่งก็ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว ยกเว้นค่าน้ำมัน ซึ่งเงื่อนไขการเช่าบริการ ก็มีตั้งแต่ 1 เดือน ไปจนถึง 24 เดือน (2 ปี) ซึ่ง Carzuno จะบริการส่งรถแบบ door-to-door ถึงหน้าบ้านลูกค้าภายใน 24 ชั่วโมง

เหตุผลส่วนหนึ่งที่มีบริการ Carzuno ขึ้นมา และเห็นโอกาสทางธุรกิจในเอเชีย ข้อมูลจาก Deloitte 2021 ได้เจาะลึกไปที่ผู้บริโภคยานยนต์ทั่วโลก พบว่า ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น ประมาณ 37% ของผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชอบที่จะเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว และในปี 2021 ตัวเลขดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 52% แล้ว

ทั้งนี้ ผู้ก่อตั้ง Carzuno ทั้ง 2 ได้แชร์ว่า บริการของ Carzuno หลักๆ มุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียลส์ ที่ต้องการใช้รถส่วนตัวมากขึ้นแต่ไม่ต้องการดูแล หรือมีข้อผูกมัดกับรถ, ชาวต่างชาติ ซึ่งมีสัดส่วนที่เข้ามาทำงานข้ามประเทศมากขึ้น และกลุ่มลูกค้าแบบองค์กร

 

Credit: Carzuno

 

ที่จริงโมเดลธุรกิจแบบ subscription ก็มีให้เห็นรอบตัวเราอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนกับ Netflix, เช่าเฟอร์นิเจอร์จาก IKEA หรือจะเป็นการบริการ subscription กับสมาร์ทโฟน เพียงแต่ตอนนี้รูปแบบธุรกิจดังกล่าวกำลังเข้ามาในธุรกิจรถยนต์มากขึ้นเท่านั้นเอง

 

 

 

ที่มา: carzuno, techinasia, bcg, cnet


  • 17
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม