สหรัฐฯ-จีน กับสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 TRADE WAR, TECH WAR AND COLD WAR

  • 74
  •  
  •  
  •  
  •  

สหรัฐฯ-จีน กับสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 TRADE WAR, TECH WAR AND COLD WAR

เมื่อไวรัสเริ่มสงบลง สงครามเย็นก็ก่อตัวขึ้นอีกครั้ง

เป็นช่วงเวลากว่าครึ่งปีที่ทั่วโลกต่างเผชิญกับปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของแต่ละประเทศได้รับผลกระทบกันอย่างหนักหนาสาหัส และส่งผลให้เราเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบจัดเต็มของรัฐบาลและธนาคากลางต่างๆทั่วโลก ทั้งการลดดอกเบี้ยนโยบาย การพิมพ์เงินเข้ามาพยุงตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น เพื่อช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบกับภาคประชาชนและธุรกิจเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

นักลงทุนมีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้นจากมาตรการผ่อนคลายการเงิน ทำให้มีสภาพคล่องล้นระบบกลับเข้าลงทุนในตลาดหุ้น จนทำให้ตลาดฟื้นกลับขึ้นมามากเกินกว่าครึ่งทางที่เคยลดลงไปแล้ว ตัวเลข GDP ของโลกที่เคยคาดการณ์กันไว้ว่าจะลดลง -3% ปัจจุบัน มองเห็นเหลือตัวเลข -1.5% และในบางประเทศอาจเห็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ เช่นประเทศจีน ที่ยังคาดว่า GDP น่าจะเป็นบวกได้ สำหรับประเทศไทยเราเคยคาดการณ์ว่า GDP จะลดลงถึง -5 ถึง -6% แต่ประมาณการปัจจุบันลดลงเพียง -2%

อย่างไรก็ตามวิกฤติครั้งนี้ยังไม่ได้ผ่านพ้นไป เพราะนับถึงปัจจุบันเพียง 6 เดือน มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วมากกว่า 8 ล้านคน ในบางประเทศ มีทรัพยากรด้านสาธารณสุขไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการประท้วงและมีความวุ่นวายตามมา เรามีความหวังกันว่ามนุษย์จะสามารถหาหนทางหยุดยั้งภัยร้ายในครั้งนี้ได้โดยเร็ว และมีวัคซีนป้องกัน ได้ทันท่วงที ก่อนที่โอกาสความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดระลอกที่สองจะมีเพิ่มขึ้นเมื่อประเทศต่างจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวในปีนี้

ในภาพของการลงทุนตลาดเงินและตลาดทุนที่ดีขึ้น ความขัดแย้งระลอกใหม่ระหว่างสหรัฐกับจีนก็มีแนวโน้มจะกลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง การเกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ที่ประทุขึ้นมาเร็วกว่าที่คาดกันไว้ก็น่าจะสืบเนื่องมาจากประชาชนในสหรัฐมองว่าการระบาดของไวรัสเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลในการป้องกัน  ทำให้ทรัมป์เสียเสียงจำนวนไม่น้อยในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่จะมาถึงในไม่ช้านี้  จนต้องทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบันเริ่มหาหนทางในการหาเสียงและเบี่ยงประเด็นโดยผลักให้ประเทศจีนเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะต้นตอของการระบาด

ตั้งแต่การที่ สหรัฐฯ กล่าวหาจีนว่าไวรัสโควิด-19 มีต้นกำเนิดมาจากจีน และเรียกว่าเป็น “Chinese Virus” การสนับสนุนฮ่องกงโดยผ่านร่าง กฎหมายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกง ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศตึงเครียดมากขึ้น ไม่จบเพียงแค่การเป็น Trade war แต่อาจลุกลามถึงขึ้นเป็นสงครามเย็นที่กินระยะเวลานานหลายสิบปีเหมือนสมัยโซเวียตในช่วง 1950-1991 เพราะปัจจุบันนโยบายของทั้งสองประเทศเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าเป็นคู่แข่ง โดยจีนต้องการก้าวขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจผู้นำของโลกเช่นเดียวกับสหรัฐ ในขณะที่ผู้นำโลกคนปัจจุบันอย่างสหรัฐ ย่อมไม่ปล่อยให้คู่แข่งขึ้นมามีอำนาจ และมีผลต่อ international rule orders และประโยชน์ของสหรัฐในเวทีโลกได้ในอนาคต

สหรัฐฯ-จีน กับสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 TRADE WAR, TECH WAR AND COLD WAR

จีนพันธมิตรคู่ค้าคนสำคัญ กลับกลายเป็นคู่แข่งตัวฉกาจ

ย้อนกลับไปพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศนี้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาตั้งแต่สมัย ประเทศจีนต้องการปฏิรูปประเทศ เริ่มในสมัยของเติ้งเสี่ยวผิง เป็นต้นมา สมัยนั้นความสัมพันธ์ระหว่างจีน-สหรัฐฯเป็นไปอย่างราบรื่น  เอื้ออำนวยซึ่งกันและกันในลักษณะของ Strategic Alliance เพราะเมื่อประเทศจีนเปิดประเทศในช่วงแรก มีแรงงานราคาถูกจำนวนมหาศาล ที่สหรัฐฯเองก็ต้องการให้จีนเป็นฐานการผลิตสินค้าราคาถูกให้กับสหรัฐ และเป็นผู้ผลิตสินค้าป้อนตลาดทั้งโลกได้

Made in china กลายเป็นสัญลักษณ์ที่พูดถึงกันมาตลอด มีการขยายการลงทุนของบริษัทในสหรัฐและหลายประเทศเข้าไปยังประเทศจีน และ ได้นำ Technology ต่างๆ เข้าไปด้วยโดยไม่มีความกังวลหรือต้องปิดกั้น เหมือนอย่างในปัจจุบัน ต่อมาสหรัฐเองก็ได้สนับสนุนให้จีนเข้าสู่ WTO ในขณะที่นโยบายของจีนเองก็อยู่ในช่วงปรับโครงสร้างเปิดเสรีทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องพึ่งพาต่างประเทศ จึงยังไม่มีนโยบายที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นคู่แข่งหรือท้าทายอำนาจกับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ

ส่วนสหรัฐฯเองก็มองจีนในลักษณะของเศรษฐกิจต่างตอบแทนเพราะต้องการฐานการผลิตสินค้าราคาถูก และเมื่อความเป็นอยู่ของประเทศจีนดีขึ้นย่อมหมายถึงตลาดขนาดใหญ่มีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคนที่มีกำลังบริโภคที่จะสนับสนุนให้สินค้าของสหรัฐฯ เปิดตลาดได้มากขึ้นด้วย

จนกระทั่งถึงยุคของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เป็นช่วงที่ประเทศมีความพร้อมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ กำลังทหารและการเมืองภายในจีนเองมีความมั่นคงมากที่สุด ในขณะที่ชาติตะวันตกกำลัง ประสบปัญหาการบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ ยุค subprime จนถึง วิกฤติภาคสถาบันการเงินในยุโรป

สหรัฐฯ-จีน กับสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 TRADE WAR, TECH WAR AND COLD WAR

จีนจึงกลายเป็นประเทศที่โดดเด่น และมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับที่สองของโลก และมีส่วนช่วยประคับประคองเศรษฐกิจโลกในเติบโตต่อมาได้ ดังนั้นถึงเวลาที่ความฝันของจีนที่ต้องการเป็น มหาอำนาจของโลกจึงถูกประกาศออกมาให้ทุกประเทศได้ทราบ ถึง China dream ที่ต้องการขยายอิทธิพลและแสนยานุภาพของจีน และต้องการให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจของโลก เช่นเดียวกับประเทศตะวันตก และประวัติศาสตร์ในอดีตที่จีนเคยเป็นมหาอำนาจมาก่อนแล้ว

ดังนั้นท่าทีขอสหรัฐที่มองประเทศจีนในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็เปลี่ยนไปจากประเทศที่เกื้อหนุนซึ่งกัน กลับกลายมาเป็นคู่แข่งที่ต้องระวัง นโยบายการปฏิรูปประเทศของจีนต้องการเปลี่ยนไปสู่ประเทศที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงก็ย่อมจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาแสนยานุภาพทางด้านอาวุธและกองทัพ ซึ่งก็เป็นเครื่องมือที่ทรงอำนาจในการต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศและนั่นย่อมจะเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่อสหรัฐอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะทำให้จีนเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงกับสถานภาพของความอภิมหาอำนาจที่สหรัฐครอบครองมาอย่างยาวนาน ภายหลังตั้งแต่ที่สหภาพโซเวียตล่มสลาย และรัสเซียเริ่มอ่อนกำลังไป

 

สงครามเย็นยุคใหม่ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ผลลัพธ์ครั้งนี้อาจไม่เหมือนเดิม

สงครามเย็นระหว่างโซเวียตและสหรัฐฯ ในช่วงยุคศตวรรษที่ 20 นั้นจบลงที่การพังทลายของกําแพงเบอร์ลิน ส่งผลให้สหภาพโซเวียตล่มสลายและแตกออกเป็นหลายประเทศ เช่น รัสเซีย และยูเครน ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีการแซงชั่นรัสเซีย เพื่อป้องกันไม่ให้รัสเซียกลับมาเป็นมหาอำนาจได้อีกครั้ง โดยหากเรามาดูปัจจัยต่างๆที่ทำให้โซเวียตแพ้สงครามเย็นเปรียบเทียบกับจีนในยุคปัจจุบันนั้น จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันซึ่งทำให้ประวัติศาสตร์อาจไม่ซ้ำรอยเดิมเสมอไป

ปัจจัยข้อที่ 1 ระบบเศรษฐกิจและรายได้ – รายได้ของโซเวียตนั้นส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการส่งออกน้ำมันดิบเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้ช่วงปี 1980 ที่เกิดวิกฤติราคาน้ำมันลดจากระดับ 100$/Barrel เหลือเพียง 30-40$ เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ทำให้ประเทศรายได้ลดลง ซึ่งแตกต่างกับจีนที่เป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมมีรายได้มาจากหลายแห่ง และมียุทธศาสตร์ Made in China 2025 กับ Belt and Road Initiative (BRI) หรือที่รู้จักกันในนามเส้นทางสายไหมที่เป็นแผนระยะยาวเพื่อบรรลุ Chinese dream ในปี 2049

ปัจจัยข้อที่ 2 นโยบายการทำสงคราม – โซเวียตนั้นได้ก่อสงครามหลายแห่ง เช่น สงครามโซเวียต–อัฟกานิสถาน ที่กินระยะเวลายาวนานถึง 9 ปีส่งผลให้มีรายจ่ายเป็นจำนวนมาก ทำให้เมื่อเกิดวิกฤติน้ำมันเศรษฐกิจในประเทศจึงตกต่ำ แตกต่างกับจีนที่สร้างประเทศจนแข็งแกร่งก่อน โดยแม้จะมีความขัดแย้งเช่น ทิเบต ซินเจียง เกาะฮ่องกง และสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ได้มีการใช้กำลังทหารโดยตรงเท่าใดนัก

ปัจจัยข้อที่ 3 การควบคุมภายในประเทศ – สหภาพโซเวียตไม่สามารถควบคุมอาณาจักรที่ปกครองได้อย่างเด็ดขาด ส่งผลให้เมื่อผู้นำหรือประเทศที่เริ่มอ่อนแอลงก็ทำให้เกิดการประท้วงและแยกตัวออกมาจนล่มสลายในท้ายที่สุด

จากสงครามการค้าที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่า จีนเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แค้นสำคัญของสหรัฐฯ ที่ไม่สามารถใช้มาตรการอะไรที่รุนแรงโดยตรงมากนักเพราะสหรัฐฯก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน โดยสงครามเย็นในรอบนี้จีนคงไม่เพลี่ยงพล้ำซ้ำรอยเดิมเหมือนโซเวียต อีกทั้งสหรัฐฯ ยังมีศัตรูเก่าทั้ง รัสเซีย เกาหลีเหนือ และกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง รวมถึงปัญหาภายในประเทศเช่น ปัญหาสีผิวและความไม่เท่าเทียมกันอีกด้วย

 

สถานการณ์ในอนาคต และกลยุทธ์เพื่อรับมือต่อจากนี้ไป

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาในยุคของประธานธิบดีทรัมป์ สหรัฐพยายามสกัดกั้น จีนในทุกมิติ ทั้งด้านการค้า การลงทุน เงินทุนและการปิดกั้นทางด้านเทคโนโลยี เพื่อบั่นทอนขีดความสามารถของจีนให้ได้มากที่สุด โดยการกดดันจีนในหลายรูปแบบที่ปรากฏออกมา ทั้งสงครามการค้า การกล่าวหาเรื่องการขโมยเทคโนโลยี การเข้าแทรกแซงการเมือง ทั้งใน ไต้หวัน และ ฮ่องกง การกีดกั้นบริษัทเทคโนโลยีของจีน เช่น Huawei ที่ถูกมองว่ามีรัฐบาลจีนหนุนหลัง การบอกว่าจีนเป็นต้นกำเนิดไวรัสโควิด-19 เป็นต้น

เรามองว่าความขัดแย้งจะมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายหลังเลือกตั้งประธานธิบดีสหรัฐในปลายปีนี้ เพราไม่ว่าใครขึ้นเป็นประธานธิบดีสหรัฐ การที่มองว่าสหรัฐมีภัยคุกคาม ย่อมไม่สามารถยอมถอยออกมาได้ เพียงแต่ช่วงนี้ทั้งสองประเทศยังไม่เร่งความขัดแย้งให้มีเพิ่มมากขึ้นเพราะ หากดำเนินการในปีนี้ย่อมจะเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของตัวเองให้ได้รับผลกระทบอีก อย่างไรก็ตามกรณีที่แย่ที่สุดคือ หากทรัมป์รู้ตัวว่าเสียคะแนนเสียงก่อนการเลือกตั้งก็อาจจะตัดสินใจชูเรื่องความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้น เพื่อพยายามดึงฐานเสียงให้กลับมาก็เป็นได้

กลยุทธ์การลงทุนในระยะยาว

เรายังคงชอบการลงทุนในตลาดจีนในระยะยาว 3-5 ปี จากปัจจัยพื้นฐานที่มีแนวโน้มดีมากกว่าภูมิภาคอื่น กับการลงทุนในระยะยาวในกลุ่ม Thematics เนื่องจากไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะในสงครามครั้งนี้เราก็จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมที่ทั้งสองประเทศให้ความสำคัญคือกลุ่มเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นทั้งด้าน Hardware software Semiconductor หรือเทคโนโลยีใหม่อย่าง EV car และ Battery เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี

สำหรับอีกสินทรัพย์นึงที่น่าสนใจคือทองคำ ที่เหมาะกับการถือไว้เพื่อปกป้องอำนาจซื้อของเงินที่ปัจจุบันถูกลดมูลค่าลงด้วยการทำ QE ของรัฐบาลทั่วโลก ซึ่งหากความขัดแย้งระหว่าง จีน-สหรัฐยังดำเนินต่อไป การลงทุนในทองคำในช่วงเวลานี้ก็ยังเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยหากเราแบ่ง Bull Cycle ของทองคำนั้นจะมี 3 ช่วงดังนี้

สหรัฐฯ-จีน กับสงครามเย็นในศตวรรษที่ 21 TRADE WAR, TECH WAR AND COLD WAR

ช่วงที่ 1 ปี 1969-1980 ( 122 เดือน) ทองคำราคาปรับเพิ่มขึ้น +1,519% – ช่วง Nixon Shock ที่ประกาศไม่ผูกเงินดอลลาห์กับทองคำอีกต่อไป และเป็นช่วงที่สงครามเย็นระหว่าง สหรัฐ-รัสเซีย

ช่วงที่ 2 ปี 1999-2011 (145 เดือน) ทองคำราคาปรับเพิ่มขึ้น +611% –  ช่วง Dotcom Bubble และ Subprime Crisis ในสหรัฐฯ รวมถึงปัญหาหนี้ในกลุ่มสหภาพยุโรป

ช่วงที่ 3 ปี 2015- ปัจจุบัน (55 เดือน) ทองคำราคาปรับเพิ่มขึ้น +63% – ช่วง Brexit กับการที่ปธน.ทรัมป์ได้รับชัยชนะ สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ และไวรัสโควิด-19

กลยุทธ์การลงทุนในช่วงปี 2020 นี้

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงจากนี้จนถึงปลายปีนั้น ควรจะปรับกลยุทธ์การถือหุ้นให้สั้นลง เพราะ valuation ของหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมาเยอะแล้วพอสมควรจาก sentiment ในเชิงบวกของ การผ่อนคลายมากตการ lock down และเม็ดเงินที่อัดฉีดที่เข้ามาอย่างมหาศาล ดังนั้นแม้ว่าระยะสั้นตลาดยังมีช่องให้ปรับตัวขึ้นได้จากสภาพคล่องหนุน แต่ระดับราคาหุ้น ณ ปัจจุบันยังไม่ได้ price in เรื่องของความขัดแย้งว่าจะประทุขึ้นในปีนี้มากนัก หากเกิดขึ้นขายทำกำไรจะทำให้ตลาดปรับฐานลงมาได้พอสมควร ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังมากขึ้นครับ

โดยสำหรับหุ้นจีนนั้นแม้จะมีปัจจัยพื้นฐานดีแต่มีความเสี่ยงของการปรับฐานดังนั้นเราจึง แนะนำว่าควรจะรอเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นจีนเมื่อตลาดย่อตัวลงมา แล้วจึงค่อยกลับเข้าลงทุนใหม่หลังจากตลาดมีการปรับฐานครับ

 

เขียนโดย

นายศรชัย สุเนต์ตา  – กรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด


  • 74
  •  
  •  
  •  
  •