วิจัยสื่อเลือกตั้งผู้ว่ากทม.’51 สิ่งพิมพ์เสียเปรียบทีวี-เน็ต

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานตัวเลขประเมินในเบื้องต้นด้านการใช้จ่ายโฆษณาผ่านสื่อเพื่อการเลือกตั้งว่า สื่อสิ่งพิมพ์ที่เคยเป็นดาวเด่นหลักของการรณรงค์หาเสียงเกือบทุกสนาม แต่สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพฯที่มีขึ้นวันที่ 5 ต.ค.2551 นี้ กลับลดลง โดยแคมเปญหาเสียงจะมุ่งไปยังสื่อทีวีที่ครอบคลุมกว้างขวาง และมุ่งไปยังสื่ออินเทอร์เน็ตที่มีอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่เป็นหลัก

ทั้งนี้คาดว่า เม็ดเงินโฆษณาจากการหาเสียงจะกระจายไปสื่อสิ่งพิมพ์ประมาณ 40 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.เมื่อ 4 ปีก่อน(ปี 2547)ลดลง 30-40% โดยครั้งก่อนมีมูลค่าประมาณ 60-70 ล้านบาท

มูลค่าการซื้อสื่อสิ่งพิมพ์วิเคราะห์จาก 2 กลุ่มคือ ประเภทใบปลิว/ป้ายโปสเตอร์  และประเภทค่าโฆษณา,ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์

ในกลุ่มแรก ผู้สมัคร 1 คนหากติดตั้งป้ายโฆษณาที่ทำจากพลาสติกลูกฟูก(ขนาด1.3 คูณ  2.45 เมตร)ทั่วกรุงเทพฯจะต้องใช้ประมาณ 30,000 แผ่น ต้นทุนเฉลี่ย 200 บาท/แผ่น หรือรวม 6 ล้านบาท/คน และครั้งนี้มีผู้สมัครที่มีการแข่งขันกันจริงจัง5 คน จึงคาดเม็ดเงินที่ใช้ในส่วนป้ายโปสเตอร์ประมาณ 30 ล้านบาท

ส่วนใบปลิว คิดจากผู้สมัคร 1 คนต้องใช้ใบปลิวแนะนำตัวแจกตามอาคารบ้านเรือน ชุมชนต่างๆประมาณ 1 ล้านใบ เฉลี่ยใบละ 50-60 สตางค์ และนามบัตรแนะนำตัว 1 ล้านใบเฉลี่ยใบละ 20 สตางค์ ซึ่งรวมแล้ว 1 คนใช้งบใบปลิว/นามบัตรรวม 7-8 แสนบาท คิดจากผู้สมัครที่มีการแข่งขันจริงจัง 5 รายจึงเป็นเม็ดเงินส่วนนี้  3.5-4.0 ล้านบาท

สำหรับกลุ่มรายได้จากค่าโฆษณา ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ในครั้งนี้รวมทั้งหมดคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 5-10 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี สาเหตุที่ทำให้การโฆษณาผ่านสื่อสิ่งพิมพ์น้อยเป็นเพราะ ปัจจัยแรก จำนวนวันหาเสียงน้อยมีประมาณไม่ถึง 1 เดือนก่อนการเลือกตั้งเท่านั้น เพราะหลังจากเปิดรับสมัครเมื่อต้นเดือนก.ย.แล้วก็ยังติดพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้หาเสียงไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย หากประเมินแล้วหาเสียงได้แค่ 20 วันเท่านั้น จึงทำให้สื่อทีวีที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมได้กว้างกว่าในระยะเวลาอันสั้นเป็นที่นิยมของผู้สมัคร

อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ จำนวนผู้สมัครในครั้งนี้มีรวมเพียง 16 คน แม้จะงบประมาณในการหาเสียงต่อคนจะเพิ่มขึ้นเป็น 39 ล้านบาทเมื่อเทียบกับ 4 ปีก่อนที่ได้เพียง 37 ล้านบาทก็ตาม แต่ผู้สมัครที่โดดเด่นมีชื่อเสียงและคาดว่าจะทุ่มงบแข่งขันกันมากมีเพียง 5 คนหลัก(อภิรักษ์ โกษะโยธิน, ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์,ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, ประภัสร์ จงสงวน และลีนา จังจรรจา) จากการแข่งขันเมื่อปี 2547 มีผู้สมัครมากถึง  22 คน และมีผู้มีชื่อเสียงเป็นตัวเต็งใช้งบหาเสียงจริง ๆ 7 คนมากกว่าตัวเต็งครั้งนี้

Source: Business Thai


  •  
  •  
  •  
  •  
  •