อีกไม่กี่ปีตลาดเออีซีจะเริ่มเปิดอย่างเป็นทางการแล้วซึ่งส่งผลให้ทุกภาคธุรกิจต่างต้องเร่งพัฒนาทั้งฝีมือ แรงงาน และนวัตกรรมให้พร้อมรับกับการซื้อขายแบบไร้พรมแดนและไร้ภาษี ในมุมของเอเยนซี่ผู้ซึ่งเป็นหน่วยผลักดันให้สินค้าและบริการของแบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุดกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จึงถือเป็นโจทย์สำคัญในการจะทำอย่างไรให้ลูกค้าสามารถขยายตลาดออกไปสู่ตลาดสากลได้อย่างรวดเร็วและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ
เมื่อต้นปีที่ผ่านมาธอมัสไอเดียจับมือกับเอ็กซ์เอ็ม เอเชีย เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับทีมดิจิตอลคอมเมิร์ซในการเตรียมบุกตลาดเออีซีเพื่อก้าวไปสู่ผู้นำดิจิตอลเอเยนซี่ในเอเชีย พร้อมสร้างทีมการตลาดออนไลน์แบบครบวงจรเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ลูกค้าที่มีเป้าหมายสร้างแบรนด์จากภูมิภาคสู่ระดับโลกผ่านกลยุทธ์ดิจิตอล
สร้างเครือข่ายดิจิตอลเอเยนซี่ที่แข็งแกร่ง
ขณะนี้ประเทศในแถบเอเชียมีการเติบโตที่รวดเร็ว และเริ่มมีบทบบาทสำคัญทางเศรษฐกิจระดับโลกทำให้ต้องอาศัยสื่อดิจิตอลที่สำคัญในการสื่อสารและติดต่อการค้า ส่งผลให้แวดวงดิจิตอลเอเยนซี่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และจากนี้ไปเชื่อว่าการแข่งขันทางการตลาดต้องอาศัยช่องทางดิจิตอลเป็นสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรและสร้างรายได้ให้เกิดขึ้น
พอล ซูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็กซ์เอ็ม เอเชีย แปซิฟิก จำกัด เผยว่าการตัดสินใจร่วมมือกับธอมัสไอเดียในครั้งนี้เนื่องจากทั้งเอ็กซ์เอ็ม เอเชียและธอมัสไอเดียเองเป็นบริษัทที่ก่อตั้งมาเพื่อดำเนินงานด้านดิจิตอลเอเยนซี่โดยเฉพาะ อีกทั้งเรามีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์มายาวนานถึง 18 ปีด้วย รวมถึงวิสัยทัศน์ที่ตรงกันนั่นคือการทำงานให้กับแบรนด์ต่างๆ ที่พร้อมใช้ประโยชน์จากโลกดิจิตอลในการต่อยอดให้กับธุรกิจ
สำหรับแผนดำเนินธุรกิจของบริษัทจากนี้คือการขยายบริการของลูกค้าปัจจุบันทั้งเอ็กซ์เอ็ม เอเชีย และธอมัสไอเดียให้ตอบโจทย์การขยายตลาดสู่สากลโดยเฉพาะความพร้อมของกลุ่มอาเซียนในยุคเออีซี ขณะที่เรื่องของดิจิตอลคอมเมิร์ซกำลังเป็นเทรนด์การค้าที่กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ระดับโลกเริ่มให้ความสำคัญ ซึ่งในจุดนี้เป็นสิ่งที่มองว่าธอมัสไอเดียคือพันธมิตรที่สำคัญเพราะมีความแข็งแกร่งด้านนี้จะเข้ามาช่วยเสริมทีมเอ็กซ์เอ็ม เอเชียในการดูแลลูกค้าได้ครอบคลุมมากขึ้น
พอลกล่าวต่อว่าเอ็กซ์เอ็ม เอเชียได้ศึกษาความเคลื่อนไหวตลาดออนไลน์ในประเทศไทยมานานทำให้พบว่าเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจอย่างมากในแง่พฤติกรรมการใช้งานออนไลน์ซึ่งมีความแตกต่างและโดดเด่นกว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้นั่นคือการสร้าง Club ขึ้นมาเพื่อสื่อสารกันระหว่างกลุ่มคนที่มีความชอบหรือความสนใจคล้ายกันผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเห็นได้ในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี
พฤติกรรมการรวมกลุ่มคนขึ้นบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการเติบโตของแฟนเพจบน Facebook ที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นยิ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการใช้คอมมูนิตี้จนเกิดการสร้างธุรกิจขึ้นบนโลกออนไลน์ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีให้กับทั้งธุรกิจตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงแบรนด์สินค้าระดับโลก
ปัจจุบันเอ็กซ์เอ็ม เอเชียมีลูกค้าหลากหลายธุรกิจ เช่น มาสเตอร์การ์ด การท่องเที่ยวสิงคโปร์ เอชพี มาเลเซียแอร์ไลน์ เอ็กซ์แอล เนสเล่ท์ แมกซิส ยูนิลีเวอร์ ฟอร์ด และไอซีไอ เป็นต้น
พอลกล่าวว่าเอ็กซ์เอ็ม เอเชียมีเครือข่ายดิจิตอลเอเยนซี่ทั้งหมด 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเชีย และไทย ซึ่งรวมแล้วมีพนักงานที่มีความสามารถและชำนาญด้านดิจิตอลโดยตรงทั้งหมด 500 คน จึงทำให้เรากลายเป็นเครือข่ายดิจิตอลเอเยนซี่ที่มีความแข็งแกร่งและพร้อมสำหรับการขยายตัวในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมดหากแบรนด์สินค้าต้องการเข้าไปทำการตลาดได้ทันทีเพราะมีเครือข่ายรองรับการทำงานประจำในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากคนในท้องถิ่นจะเข้าใจทั้งรสนิยม พฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ และภาษาในการสื่อสาร สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้การเข้าไปทำการตลาดได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
เพิ่มโอกาส และรุกตลาดได้เร็ว
ขณะนี้แนวโน้มแบรนด์ดังของโลกเปลี่ยนมุมมองใหม่จากเดิมที่เคยมองสื่อดิจิตอลเป็นเพียงเครื่องมือในการทำโฆษณาประชาสัมพันธ์เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ผ่านการสร้างแบรนด์ข้ามโลกและลงทุนกับระบบดิจิตอลคอมเมิร์ซมากขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าเริ่มมีการทุ่มงบประมาณเพื่อการแข่งขันในตลาดออนไลน์ และตอนนี้นักธุรกิจและนักลงทุนของไทยส่วนหนึ่งเริ่มมีความพร้อมในการใช้กลยุทธ์ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งเข้าไปเปิดตัวในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทดแทนตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่อยู่ในช่วงเศรษฐกิจซบเซา
อุไรพร ชลสิริรุ่งสุกล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด กล่าวว่าการร่วมมือกับเอ็กซ์เอ็ม เอเชียจะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าในภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งข้อดีในการเข้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กันครั้งนี้จะทำให้สามารถย่นระยะเวลาในการสร้างระบบ สามารถเชื่อมต่อและแชร์ข้อมูลผู้บริโภคเชิงลึกในกลุ่มประเทศที่มีอยู่มาใช้งานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อลูกค้าในการรุกตลาดอาเซียนได้รวดเร็วและมั่นใจกว่าเดิม
ปัจจุบันลูกค้าของธอมัสไอเดียที่เป็นแบรนด์ของคนไทยเริ่มออกสู่ตลาดภูมิภาคอาเซียนบางแล้ว ได้แก่ เอสซีบีเฟอร์นิเจอร์ พฤกษา เรียลเอสเตท และมหพันธ์ ซึ่งตอนนี้ธอมัสไอเดียมีเครือข่ายดิจิตอลเอเยนซี่ที่พร้อมรองรับการเข้าไปทำการตลาดด้วยการใช้สื่อดิจิตอลแล้วทั้งหมด 3 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเชีย
“สำหรับโจทย์ด้านการวางแผนกลยุทธ์ด้านมีเดียดิจิตอลเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะแต่ละประเทศจะนิยมใช้สื่อแตกต่างกัน ดังนั้นการมีเครือข่ายที่มีความชำนาญในพื้นที่จะช่วยทำให้เราประหยัดเวลาในการศึกษาตลาดได้ดีกว่าเอเยนซี่รายอื่น”
อุไรพรกล่าวต่อว่าความโดดเด่นของเอ็กซ์เอ็ม เอเชีย นั้นคือประสบการณ์การทำงานในเรื่องของการวางแผนกลยุทธ์ด้านสื่อดิจิตอลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างมาสเตอร์การ์ดที่เอ็กซ์เอ็ม เอเชียช่วยสร้างแพลตฟอร์มให้ทุกเวอร์ชั่นเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นในโลกดิจิตอลเพื่อรองรับการเก็บข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคที่เข้าร่วมกิจกรรมกับมาสเตอร์การ์ดในช่องทางดิจิตอลทั้งหมดส่งผลให้มาสเตอร์การ์ดสามารถออกแคมเปญใหม่ๆ บนแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ในระยะเวลาสั้น
สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ให้กับพนักงานของธอมัสไอเดียได้เข้าถึงแพลตฟอร์มที่ดีและได้เรียนรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยตลอดเวลา นอกจากนี้ยังเป็นความท้าทายของทีมงานในโปรแจ็กต์ระดับภูมิภาคและการได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความชำนาญระหว่างประเทศที่เป็นเครือข่ายดิจิตอลของกลุ่มเอ็กซ์เอ็ม เอเชียด้วยกันทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว
อุไรพรกล่าวว่า“ความสำคัญของการเป็นเครือข่ายดิจิตอลนี้จะช่วยให้ลูกค้าสามารถขยายผลทางธุรกิจไปในตลาดระดับภูมิภาคได้ง่ายขึ้นโดยผ่านพาร์ทเนอร์ที่เป็นเครือข่ายดิจิตอลของทางเอ็กซ์เอ็ม เอเชีย พร้อมทั้งได้รับข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์มาวิเคราะห์และวางแผนกลยุทธ์ด้านสื่อดิจิตอลในประเทศนั้นๆ”
การนำแบรนด์ไทยออกสู่ภูมิภาค
อารยา เช้ากระจ่าง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด กล่าวว่าสำหรับบทบาทของเอเยนซี่ในการสร้างแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลกผ่านกลยุทธ์ออนไลน์นอกจากแบรนด์จะได้รับผลประโยชน์แล้วผู้บริโภคด้วยเพราะต้องเกิดการสร้างความแตกต่างและมีบริการใหม่ๆ มาทำให้ข้อมูลและบริการของผู้ประกอบการสนุกขึ้นและเข้าถึงได้ทุกแพลตฟอร์มด้วย ต่อจากนี้ไปข้อมูลที่ได้จากการคลิกแต่ละครั้งคือข้อมูลสำคัญที่แบรนด์ต้องนำมาวิเคราะห์ ทำการบ้าน และคิดโปรโมชั่นอย่างฉับไวและช่วยให้กลไกการตลาดออนไลน์ของคู่แข่งจากทุกมุมโลกได้
ช่องทางการสื่อสารของแบรนด์ออกไปสู่ลูกค้าในตลาดภูมิภาคหรือระดับโกลบอลนั้นการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์จะเป็นการลงทุนที่ถูกสุดและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในวงกว้างมากกว่าสื่ออื่นซึ่งดีในแง่ของการสร้างแบรนด์ แต่ความต้องการของแบรนด์สินค้าไม่ได้หยุดแค่นั้นนอกจากการรู้จักแบรนด์แล้วยังต้องการให้ผู้บริโภคได้เข้ามามีส่วนร่วมกับพื้นที่สื่อดิจิตอลของแบรนด์ด้วย
อารยากล่าวว่าต่อว่าตอนนี้นักการตลาดไม่ได้ต้องการรู้เพียงว่ามีการเกิด Brand Awareness บนสื่อดิจิตอลเท่าไรแต่เริ่มอยากรู้พฤติกรรมของผู้บริโภคด้วยในการเข้ามาในพื้นที่สื่อดิจิตอลของแบรนด์ทั้งหมดตั้งแต่เข้ามาใช้งานจนกระทั่งออกจากการใช้งานทำอะไรบ้าง ซึ่งแพลตฟอร์มจะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกและสามารถนำมาต่อยอดทางการตลาดให้กับแบรนด์สินค้าได้รวดเร็วและดียิ่งขึ้นว่าการสร้างแคมเปญหนึ่งขึ้นมาจะประสบความสำเร็จหรือไม่
ตอนนี้ธอมัสไอเดียมีพาร์ทเนอร์ที่ดีอย่างเอ็กซ์เอ็ม เอเชียจึงทำให้มั่นใจว่าจะสามารถนำเครื่องมือมาช่วยขยายธุรกิจให้กับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้นแพลตฟอร์มการวิเคราะห์ข้อมูลถือเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับธุรกิจหรือแบรนด์สินค้าในขณะนี้ เพราะจะทำให้ทราบว่างบประมาณที่ลงทุนในสื่อต่างๆ นั้นสื่อไหนคุ้มค่ากับการลงทุนที่ใช้สื่อสารออกไปถึงลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
อารยาแสดงความเห็นว่าต่อไปนักการตลาดจะต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการอ่าน Dashboard มากยิ่งขึ้นเพราะต้องอ่านและวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลที่จะเกิดขึ้นจากการประมวลผลข้อมูลของแพลตฟอร์มที่จะเพิ่มตามจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในอนาคต
ถึงแม้การวางแผนสื่อดิจิตอลที่ธอมัสไอเดียได้มีการช่วยแบรนด์ประสบความสำเร็จในเรื่องของการ Engagement หรือการเข้ามีส่วนร่วมกับแบรนด์ของลูกค้าประสบความสำเร็จในเมืองไทย แต่ถ้านำโมเดลนี้ไปใช้กับสื่อดิจิตอลในตลาดต่างประเทศอาจไม่ประสบความสำเร็จ อาจเป็นการแค่รับรู้เรื่องแบรนด์สินค้าแต่ไม่ได้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างแท้จริง
ดังนั้นการมีเครือข่ายดิจิตอลที่เป็น Local Agency จะทำให้เข้าใจในเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมมากกว่าซึ่งจะทำให้แบรนด์สินค้าได้รับในเรื่องของ Brand Communication และ Brand Engagement เพิ่มขึ้นด้วย แต่ถ้าแบรนด์สินค้าใดมีความพร้อมในเรื่องของแพลตฟอร์มอีเมิร์ซด้วยจะยิ่งขยายผลทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้นอีกเพราะจะสามารถปิดการขายได้ทันที
เลือกลงทุนในสื่อดิจิตอลให้ได้ผล
อุไรพรกล่าวต่อว่าในปีที่ผ่านมาวงการดิจิตอลเอเยนซี่ไทยเริ่มมีสีสันมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากดีไวซ์ที่แพร่หลายมากขึ้นและมีโซเชียลมีเดียมากมายให้แบรนด์ต่างๆ เข้าไปใช้พื้นที่ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้บริโภคไทยเกือบทุกกลุ่มใช้ช่องทางออนไลน์เป็นสื่อหลักและเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจซื้อสินค้าและมีการซื้อผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น
ตัวเลขของงบประมาณกลยุทธ์ออนไลน์ของผู้ประกอบการและนักการตลาดไทยในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตที่ดีคาดว่าประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณการตลาด ซึ่งการลงทุนในต่างประเทศผ่านดิจิตอลคอมเมิร์ซกำลังมาแรงในการขับเคลื่อนและสร้างสรรค์ช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มูลค่าสื่อออนไลน์ปีนี้น่าจะเติบโตที่ 5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับสื่อรูปแบบต่างๆ
พอลกล่าวว่าการวางแผนกลยุทธ์ด้านการลงทุนในสื่อดิจิตอลของนักการตลาดในปัจจุบันแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.Paid Media คือการซื้อสื่อ 2.Owner Media คือมีสื่อที่แบรนด์สร้างขึ้นมาเอง เช่น แพลตฟอร์ม ปลั้กอินต่างๆ เป็นต้น และ 3.Earned Media คือสื่อที่เกิดจากการบอกต่อ ซึ่งมีช่องทางหลัก คือ โซเชียลมีเดีย
สำหรับประเทศไทยนักการตลาดยังคงให้ความสำคัญกับ Paid media ค่อนข้างมากอาจเพราะยังไม่มีความเข้าใจใน Owner Media และ Earned Media มากหนัก แต่ในตลาดภูมิภาคแบรนด์เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการสร้าง Owner Media บ้างแล้ว
พอลกล่าวต่อว่าเอ็กซ์เอ็ม เอเชียจึงพยายามอธิบายให้กับลูกค้าเข้าใจว่าหากทุ่มงบประมาณไปกับการซื้อสื่อเพียงอย่างเดียวจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กลับมาที่แบรนด์สินค้าในระยะยาวเท่ากับการสร้างสถานที่หรือพื้นที่ส่วนตัวขึ้นมาเองเพื่อดูแลลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องจนทำให้เกิดการบอกต่อไปยังเพื่อนทางโซเชียลมีเดีย ดังนั้นการวางแผนใช้มีเดียจะต้องบอกว่ามีความเป็นจำเท่ากับหมดทั้ง 3 ส่วน เพียงแต่ว่าในวันนี้อยากให้แบรนด์สินค้าหันมาใช้งบในส่วนของ Owner Media และ Earned Media เพิ่มขึ้น
ประชากรออนไลน์ในกลุ่มประเทศที่เอ็กซ์เอ็ม เอเชีย มีเครือข่ายดิจิตอลที่เป็น Local Agency ทำงานอยู่
ประเทศ |
|
ข้อมูลอื่นๆ ที่น่าสนใจ |
สิงคโปร์ |
2.8 ล้านคน อันดับที่ 56 ของโลก |
สิงคโปร์มีสัดส่วนประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในอาเซียน คิดเป็น 67 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 15 ปีทั้งหมด |
มาเลเซีย |
13 ล้านคน อันดับที่ 18 ของโลก |
มาเลเซียมีเพื่อนในเครือข่ายสังคมออนไลน์มากที่สุดในโลก โดย 1 คนจะมีเพื่อนเฉลี่ย 233 คน |
ฮ่องกง |
3.7 ล้านคน อันดับที่ 44 ของโลก |
สมาชิกไลน์ โซเชียลมีเดีย สัญชาติญี่ปุ่น ในฮ่องกงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเท่าตัว นับตั้งแต่มีภาษาจีนให้ใช้เดือนมกราคมที่ผ่านมา |
อินโดนีเซีย |
47 ล้านคน อันดับที่ 4 ของโลก |
Facebook ได้รับความนิยมเป็นโซเชียลมีเดียอันดับ 1 |
ไทย |
18 ล้านคน อันดับที่ 13 ของโลก |
ประชากรใช้ search engine คือ Google สูงถึง 99 เปอร์เซ็นต์ หรือวันละ 19.2 ล้านครั้งในการเข้ามาสืบค้นข้อมูล |
หมายเหตุ ข้อมูลจาก Socialbakers.com ณ วันที่ 25 มีนาคม 2556
อารยากล่าวเสริมว่าสำหรับ Owner media อย่างเช่นเว็บไซต์ แบรนด์สินค้าควรจะ Integrate ความสามารถของโซเชียลมีเดียต่างๆ เข้ามารวมอยู่ในเว็บไซต์ด้วยไม่ใช่แค่สร้างเว็บเพื่อให้ข้อมูลเท่านั้นแต่ควรทำให้เกิดการ engagement กับโซเชียลมีเดียด้วย ดังนั้นงบลงทุนในการสร้าง Owner Media จึงค่อนข้างเยอะเพราะต้องสร้างแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ไว้รองรับการเข้ามาของลูกค้าให้มากที่สุด
นอกจากนี้แบรนด์สินค้าใหญ่ๆเริ่มลงทุนด้านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพิ่มเข้าไปด้วยเพราะเห็นถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการหลังจากที่แบรนด์สื่อสารออกไปยังกลุ่มเป้าหมายผ่านสื่อดิจิตอลและสามารถทำให้คนเหล่านั้นกลายเป็นลูกค้าที่มีความสนใจในสินค้าที่ทำการโฆษณาออกไป ดังนั้นหากมีแพลตฟอร์มที่พร้อมรองรับการซื้อสินค้าและบริการให้กับลูกค้าในต่างประเทศด้วยถือเป็นความสำเร็จในการใช้สื่อดิจิตอลในขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศได้อย่างครบวงจร
“ตลาดอาเซียนถือเป็นตลาดใหญ่ในแง่ของการใช้สื่อดิจิตอลเพราะมีประชากรออนไลน์จำนวนมาก และการมีเครือข่ายในประเทศไทยถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ เพราะในมุมมองของลูกค้าย่อมหมายถึงโอกาสทางธุรกิจโดยใช้ความได้เปรียบของกลุ่มเอ็กซ์เอ็ม เอเชียที่มีอยู่ในภูมิภาคนี้ผนึกกำลังร่วมกันในการขยายและสร้างตลาด และด้านของเอ็กซ์เอ็ม เอเชียยังต้องการสร้างเครือข่ายรองรับความต้องการของลูกค้าจากทั่วโลกที่ต้องการชิงพื้นที่ก่อนเปิด AEC ในปี 2558 นี้ด้วย” พอล กล่าว
อุไรพรกล่าวทิ้งท้ายว่า “ในวันนี้แบรนด์สินค้าดังระดับโลกมีการทุ่มงบประมาณกันอย่างมากเพื่อแข่งขันกันในตลาดออนไลน์ จึงอยากให้นักการตลาดของไทยเราก้าวทันคู่แข่งด้วยเทคโนโลยีมากกว่าแค่พึ่งพาความสามารถพื้นฐานของสื่อดิจิตอลในเชิงโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งธอมัสไอเดียไม่ได้โฟกัสแค่การซื้อสื่อออนไลน์ให้กับลูกค้าเท่านั้นแต่มองไปยังการสร้างแพลตฟอร์มและการ Engagement จนทำให้เกิด Digital Commerce อย่างเป็นระบบขึ้นมา”
สนับสนุนโดย นิตยสาร Ecommerce ฉบับ มิถุนายน 2556