ไทยสมาร์ทการ์ด เร่งเครื่องปีหน้า โฟกัสกลุ่มองค์กรและนักศึกษา หวังเป้ายาว 5 ปี มีผู้ถือบัตร 5 ล้านราย จุดรับบัตร 30,000 จุด พร้อมเร่งหาพันธมิตรบัตรโคแบรนด์เพิ่มขึ้น อุบไต๋อีก 3 รายทยอยเปิดตัวสิ้นปีนี้
นายฉัตรไชย ฉัตรชัยกนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานธุรกิจและปฏิบัติการ บริษัท ไทยสมาร์ทการ์ด จำกัด ผู้บริหารบัตรสมาร์ทเพิร์ส เปิดเผยว่า ในปีหน้าบริษัทมีแผนที่จะรุกตลาดเพิ่มฐานผู้ถือบัตรมากขึ้น โดยมีเป้าหมายหนึ่งที่จะให้ความสำคัญ ก็คือ แผนขยายไปยังกลุ่มที่เป็นองค์กรและนักศึกษามากขึ้น รวมทั้งแผนการทำบัตรโคแบรนด์เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งตามเป้าหมายระยะยาวภายใน 5 ปี ของการดำเนินธุรกิจจะต้องมีผู้ถือบัตรให้ได้จำนวน 5 ล้านราย และมีจุดรับบัตรประมาณ 30,000 จุด
ทั้งนี้ หลังจากที่ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 3 ปีแล้ว ปัจจุบันบริษัทมีฐานผู้ถือบัตรกว่า 1.9 ล้านใบ และมีจุดรับบัตรสมาร์ทเพิร์สแล้วมากกว่า 15,000 จุด (โดยแบ่งเป็นร้านค้าในเครือเซเว่นอีเลฟเว่นประมาณ 12,000 จุด และเป็นร้านแบรนด์เนมอื่นอีกกว่า 400 ราย จำนวนรวมกว่า 3,000จุด ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีผู้ถือบัตรรวมประมาณ 2 ล้านราย และจะมีมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรรวมอยู่ที่ 4,800 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้วที่มี 4,300 ล้านบาท
นายฉัตรไชย กล่าวยอมรับว่า ในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองปีนี้อาจจะพลาดเป้าหมายไปเล็กน้อยในแง่การหาถือบัตรเพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี แต่ในแง่ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
สำหรับงบการตลาดที่ใช้ไปแล้วในแต่ละปีนั้น ปีแรกอยู่ที่ 150 ล้านบาท ปีที่แล้วอยู่ที่ 80 ล้านบาท และปีนี้อยู่ที่ 60 ล้านบาท รวมแล้วมากกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งปีหน้าคาดว่าไม่น่าจะต่ำกว่า 60 ล้านบาท
ส่วนบัตรโคแบรนด์นั้น ปัจจุบันมีจำนวน 15 ราย ซึ่งปีที่แล้วมีประมาณ 8 ราย และในปีนี้เพิ่มอีก 7 ราย โดยล่าสุด คือ การเปิดบัตรโคแบรนด์ร่วมกับร้านกาแฟดิโอโร่ของบริษัท โกลเด้นครีม จำกัด ธุรกิจของคนไทย และจากนี้จนถึงสิ้นปีนี้จะมีการเปิดตัวบัตรโคแบรนด์กับอีก 3 รายเป็นธุรกิจ เอนเตอร์เทนเมนต์ ธุรกิจรถโดยสาร และธุรกิจเพิร์สออนไลน์ ส่วนปีหน้าจะมีธุรกิจในเครือซีพีคือ ซีพีอัลลายแอนซ์เข้ามาเป็นพันธมิตรด้วย
อย่างไรก็ตาม สัดส่วนผู้ถือหุ้นในขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยแต่จำนวนผู้ถือหุ้นยังเท่าเดิม โดยกลุ่มซีพีถือหุ้นใหญ่รวม 80% ส่วนที่เหลืออีก 20% เป็นของ แบงก์กรุงศรีอยุธยา แบงก์กรุงไทย แบงก์นครหลวงไทย แบงก์ออมสิน และธุรกิจรายเล็กอีก 2 ราย ซึ่งสาเหตุที่กลุ่มซีพีถือหุ้นเพิ่มขึ้นนั้นเนื่องจากว่า ธุรกิจอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ต้องลงทุนจำนวนมากและลงทุนเร็วดังนั้นทางซีพีจึงต้องลงทุนมากก่อน แต่ยืนยันว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นทุกรายยังร่วมมือกันอยู่อย่างดี
“ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจระยะยาว ไม่ได้หวังผลกำไรในช่วงแรกๆ ที่ผ่านมาลงทุนไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาทแล้ว และเรายังต้องลงทุนต่อเนื่องอีก ทั้งการติดตั้งเครื่องในจุดรับบัตรที่มีราคาประมาณ 8,000 กว่าบาทต่อเครื่อง จากอดีตที่สูงถึง 15,000 บาทต่อเครื่อง ถูกลงเพราะว่าธุรกิจเริ่มมีประสิทธิภาพ แต่ว่าถ้าจะให้การซื้อสินค้าผ่านบัตรทั้งหมด 100% คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่เราจะพยายามให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในร้านค้าแบรนด์เนมดังๆ มีประมาณ 50-60% ส่วนร้านค้าธรรมดาประมาณ 30-40% ของปริมาณการขายเราก็พอใจแล้ว” นายฉัตรไชย กล่าว
Source: ผู้จัดการ