3 กูรู แนะ SME ‘สร้างจุดต่าง-ฟังลูกค้า-เปิดสมอง’ กลยุทธ์เพิ่มความแกร่งธุรกิจยุค 4.0

  • 11.1K
  •  
  •  
  •  
  •  

ปัจจุบันโลกธุรกิจมีการแข่งขันที่รุนแรงและอยู่ในรูปแบบไร้พรมแดน รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งเทคโนโลยี และพฤติกรรมผู้บริโภค จนหลายคนอาจเกิดคำถามว่า SME ไทยจะสามารถอยู่ในสมรภูมิที่ร้อนแรงนี้ได้หรือไม่ วันนี้เรามี 3 SME ที่ประสบความสำเร็จเป็นแถวหน้าของวงการ อย่าง ศรีจันทร์, ANEE KAH และ นาสเกต รีเทล มาถ่ายทอดมุมมองและเคล็ดลับเพื่อเพิ่มความแกร่งให้ SME ไทยยืนอยู่ได้ในธุรกิจยุค 4.0

แม้ SME ไทยจะมีข้อได้เปรียบจากหลายปัจจัยที่เอื้อให้สามารถทำธุรกิจได้ง่ายเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศ ไม่ว่าเป็น ทรัพยากรในประเทศที่มีอยู่ ต้นทุนทางวัฒนธรรม และการเข้าถึงข้อมูลทางธุรกิจต่าง ๆ ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ยังมีข้อเสียเปรียบในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการออกโปรดักท์ซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน และขาดการสร้างแบรนด์ เรียกได้ว่า ถ้าตัวไหนฮิต หรือกระแสมาแรง เราจะเห็นโปรดักท์ที่เหมือน ๆ กันออกมาเต็มตลาดเลยทีเดียว

“ตอนนี้การเสรีทางการค้า เราส่งสินค้าไปขายต่างประเทศได้ เขาก็ส่งสินค้ามาขายในไทยได้ โดยเฉพาะสินค้าจากจีน ที่ได้เปรียบเรื่องต้นทุนการผลิต ยิ่งมีอีคอมเมิร์ซเข้ามาทำให้ต้นทุนถูกลงไปอีก เรื่องนี้สำหรับโปรดักท์ที่คล้าย ๆ กันไปหมด หรือไม่มีแบรนด์ จะเหนื่อยมาก เพราะไม่สามารถสู้ด้วยราคาอย่างเดียว” รวิศ หาญอุตสาหะ ซีอีโอ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัดให้ความเห็น

ขณะที่ ธีร์ปกรณ์ ชัยธีระสุเวท และ ณภัทร เพชรวิชิต เจ้าของ ANEE KAH ผลิตภัณฑ์สมุนไพรออร์แกนิค กล่าวว่า SME ไทยส่วนใหญ่เริ่มต้นทำธุรกิจจากสิ่งที่ตนเองทำได้โดยไม่รู้ว่า ลูกค้าเป็นใคร โปรดักท์ของตนมีตลาดจริงหรือไม่ และโปรดักท์ที่ออกมามักไม่มีความแตกต่าง ซึ่งเมื่อไม่มีความต่าง สุดท้ายก็จะถูกกลืนหายไป

หาความต่าง สร้างจุดแข่งขัน

ดังนั้น SME ไทยจะอยู่รอดและเติบโตได้ในระยะยาว จำเป็นต้องสร้างความแตกต่างของโปรดักท์ และนำเสนอให้ลูกค้ารับรู้

กู๋ ธีร์ปกรณ์

ธีร์ปกรณ์ เล่าว่า วันแรกที่ทำธุรกิจ ก็เหมือนกับ SME รายอื่น ที่ไม่รู้ว่าลูกค้าคือใคร ตลาดมีจริงหรือไม่ เลยใช้วิธี Leaning  by doing ลงมือทำเพื่อลองตลาด แต่การลองตลาดนั้น จะเลือกลองในงบที่มี หากล้มเหลวมาก็ไม่เสียหาย  ที่สำคัญเมื่อลองแล้วต้องฟังเสียงตอบรับ เพื่อหาจุดเด่นของเราจริง ๆ และนำจุดเด่นนั้นไปเพิ่มความแข็งแรงให้กับตนเอง

อย่างจุดเด่นของ ANEE KAH เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรออร์แกนิค ในคอนเซปต์ Kitchen skincare ส่วนผสมมาจากของในครัว ทำให้คนรู้จักและสนใจ นอกจากนี้ยังพยายามสร้างความต่างด้วยการเข้าไปในตลาดที่ไม่มีใครจับมาก่อน ได้แก่ กลุ่มลูกค้าที่ผิวหน้าเสียหายอย่างหนักจากสารเคมี ไม่ว่าจะเป็น ปรอท และสารสเตียรอยด์ เมื่อรวมกับคุณภาพของโปรดักท์ ลูกค้าใช้แล้วเห็นผล จนเกิดปากต่อปาก ซึ่งถือเป็นการหาปลาในตลาดใหม่ ช่วยพลิกให้ ANEE KAH จากสถานการณ์หลังชนฝากลับมาเติบโตได้อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

โฟกัสลูกค้า กลยุทธ์หลักที่ต้องมี

นอกจากสร้างความต่างและโฟกัสการสร้างแบรนด์แล้ว การล็อคเป้าหาว่า ลูกค้าของเราเป็นใคร รวมถึงฟังและเก็บข้อมูล feed back จากลูกค้า เป็นสิ่งที่ SME ต้องให้ความสำคัญ เพราะลูกค้า เป็นผู้ตัดสินใจซื้อ ซึ่ง ซีอีโอ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด บอกว่า ยิ่งฟังมาก ยิ่งได้เปรียบ

rawit3

“สิ่งที่ทุกคนต้องรู้ คือ เราไม่สามารถขายของให้กับทุกคนได้ เราต้องมีโฟกัส ไม่เช่นนั้นความพยายามของเราจะไม่มีทิศทางและสิ้นเปลืองเงินทอง เรื่องนี้ฟังเหมือนง่ายแต่จริง ๆ คือ ยาก เพราะตอนนี้หลายคนอาจไม่รู้เลยว่าลูกค้าคือใคร สิ่งแรก ต้องรู้ของที่เราทำขายให้ใคร เรื่องอื่นๆ ทั้งโปรดักท์ การทำตลาด ก็จะถูกดีไซน์ด้วยลูกค้า”

สำหรับศรีจันทร์ สิ่งที่พยายามมาก คือ หาให้ได้ว่า ลูกค้าคือใคร เมื่อรู้แล้ว ทุกอย่างจะถูกดีไซน์ตามลูกค้าทั้งโปรดักท์ การสื่อสาร แคมเปญการตลาด ฯลฯ อย่างเช่น การออกแบรนด์ใหม่ ‘ศศิ’ของศรีจันทร์ที่ต้องการจับกลุ่มเด็กมัธยมและมหาลัย เราคุยกลุ่มลูกค้าตั้งแต่การดีไซน์สินค้าว่า ต้องการแพ็กเกจจิ้ง และส่วนประกอบแบบไหน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการทดลองตลาดทั้งสิ้น

ต่อมา ต้องหาให้ได้ว่า ลูกค้าของเราอยู่ที่ไหน ซึ่งสิ่งที่รู้ ลูกค้ากลุ่มนี้อยู่บนโลกโซเชียล และส่วนใหญ่ใช้ทวิตเตอร์ ดังนั้นแคมเปญที่ออกมาจึงทำผ่านทวิตเตอร์เป็นหลัก จนเกิดกระแสปากต่อปาก ยอดขายก็ตามมา ถือเป็นการเปิดตัวแบบแทบไม่ใช้งบเลย

อีกสิ่งที่ รวิศ บอกว่า สำคัญมาก และต้องใช้เวลาในการทำ ได้แก่ การเก็บข้อมูล เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการอยากได้และมีค่าที่สุด ก็คือ feedback  เป็นของที่ยิ่งเก็บมากเท่าไร มีระบบที่ดีเท่าไร ยิ่งสร้างความได้เปรียบให้กับผู้ประกอบการ กำหนดทิศทางธุรกิจ หรือแก้เกมอย่างไร

โดยยุคนี้เรื่องดังกล่าว สามารถทำได้ง่าย เพราะทุกอย่างอยู่บนโลกออนไลน์ และมีต้นทุนต่ำ ซึ่ง SME เล็ก ๆ ไม่จำเป็นต้องลงทุนสูง 1. เพียงคุยกับลูกค้าเยอะ ๆ อัพเดทตลอดเวลา 2.มีระบบการเก็บ feedback ทางออนไลน์อย่างมีระบบ

“การค้นหาและฟังลูกค้า ไม่ใช่เรื่องไฮเทคอะไร เป็นหลักการพื้นฐานการทำการตลาดยุคก่อน เพียงเปลี่ยนแค่วิธีการเท่านั้น แต่ผลที่ได้กลับมามหาศาล”

P-Platform P-Partner C-Customer โมเดลเร่งธุรกิจโต

 ขณะที่ ผรินทร์ สงฆ์ประชา ซีอีโอ บริษัท นาสเกต รีเทล จำกัดบอกว่า SME ในปัจจุบันต้องมีแนวคิดในโมเดล PPC โดย P ตัวแรก ได้แก่ Platform ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงไอที แต่เป็นการคิดว่า เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้คนเดียว ดังนั้นเมื่อเราผลิตอะไรขึ้นมา ต้องให้คนอื่นมาร่วมใช้ และแบ่งผลประโยชน์กัน เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว เช่น กรณีผู้ผลิตเครื่องสำอางแบรนด์หนึ่ง เปิดรับตัวแทนจำหน่าย และแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ตามยอดขาย ซึ่งวิธีนี้จะทำให้สินค้ามียอดขายมากขึ้นและเติบโตเร็ว

ผรินทร์

 

“ทำธุรกิจยุคก่อน คือ ซื้อมา ขายไป ทำคนเดียว ขายคนเดียว ถามว่า ทำได้หรือไม่ ทำได้ แต่โตช้า ส่วนการคิดแบบแพลตฟอร์ม เราผลิตมา มีคนอื่นช่วยขาย กำไรอาจน้อยลง แต่โตได้เร็ว”

P ตัวที่2 Partner การทำธุรกิจในยุคนี้ นอกจากขายโปรดักท์แล้ว ยังต้องขายประสบการณ์ให้กับลูกค้า เช่น ทำธุรกิจสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ต้องมีเวบที่ดี ระบบการชำระเงินที่ดี การขนส่งที่ดี บริการหลังการขายที่ดี ซึ่งเราไม่สามารถทำเองทั้งหมดได้ หรือทำได้ อาจจะไม่ดี ไม่มีโฟกัส มีผลให้ธุรกิจมีปัญหาได้ ดังนั้น จึงต้องหาพาร์ทเนอร์เข้ามาช่วย เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

ส่วน C ก็คือ Customer ที่เราต้องรู้ว่า ลูกค้าเราคือใคร จะเข้าถึงได้อย่างไร เมื่อรู้แล้วต้องพยายามตอบสนองความต้องการให้มากที่สุดในพื้นที่ที่เราถนัดและมีโอกาสทางธุรกิจ

“หากถาม Keyword ของความสำเร็จในทุกธุรกิจ คำตอบคือ เอาลูกค้าเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เอาไอทีหรือเทคโนโลยีเป็นที่ตั้ง เพราะลูกค้าเป็นกลุ่มที่ต้องการเข้าถึง และลูกค้าไม่สนใจด้วยว่า คุณจะมีอะไรหรือล้ำสมัยแค่ไหน สิ่งที่เขาสนใจ คือ คุณแก้ปัญหาให้ได้อย่างไร  ดังนั้น ไม่ว่าคิดอะไรออกมาต้องรู้จักและตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด อย่าเอาตนเองเป็นที่ตั้ง”

‘เปิดสมอง เติมความรู้’ สิ่งสำคัญในทุกธุรกิจ

การเปิดรับความรู้ และเติมอาหารสมองตลอดเวลา เป็นสิ่งที่ผู้บริหาร SME ที่ประสบความสำเร็จทั้ง 3 คน มองเห็นตรงกันว่า มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบการในทุกธุรกิจ รวมไปถึง SME โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่โลกและพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“โลกเราเปลี่ยนเร็ว สิ่งที่เรารู้มาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนนี้อาจไม่จริงก็ได้ ดังนั้นเราต้องพัฒนาตัวเองหาความรู้ตลอดเวลา เพื่อพัฒนาตัวเองและธุรกิจให้มากที่สุด ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการแบ่งเวลาชัดเจน หากเราทำงานอย่างเดียว แล้วไม่ดูโลก จุดนี้อันตราย” รวิศ กล่าว

ขณะที่ ธีร์ปกรณ์  กล่าวว่า ถ้าเราหยุดมองหา และหยุดการเรียนรู้ จะไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีธุรกิจใดอยู่ได้ยาว ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นสิ่งสำคัญ ต้องหาความรู้ และเปิดโลกอยู่เสมอ

เช่นเดียวกับ ผรินทร์ ที่บอกว่า การเรียนรู้ และเปิดรับสิ่งใหม่เสมอเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกธุรกิจ เพื่อให้ทันกับการแข่งขันและเทรนด์ของตลาด เช่นเดียวกับการเรียนรู้ลูกค้าว่า ชอบไม่ชอบอะไร ต้องการหรือไม่ต้องการอะไร โดยสิ่งเหล่านี้ล้วนสำคัญอย่างยิ่ง

ชี้ศูนย์ให้คำปรึกษาครบวงจร เพิ่มโอกาส SME

ส่วนการหาความรู้และเติมอาหารสมองนั้น สามารถทำได้ทั้งการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการปรึกษาผู้มีประสบการณ์ ยิ่งในยุคนี้มีหลายองค์กร รวมไปถึงธนาคารต่าง ๆ เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับ SME ในรูปแบบ One stop service เพื่อเป็นโซลูชั่นให้ SME เริ่มต้นการทำธุรกิจได้อย่างมีความพร้อมมากยิ่งขึ้น ถือเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ SME ได้เป็นอย่างดี

scb1

รวิศ กล่าวว่า การเปิดศูนย์ในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นเรื่องที่ดีในการสร้างข้อได้เปรียบให้กับ SME ในการเติมความรู้และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เพราะองค์ความรู้และบริการที่นำให้นั้น มีหลายเรื่องที่ SME ยังขาดอยู่ จึงเป็นการเข้ามาเติมเต็มในการทำธุรกิจ และสร้างไอเดียใหม่ ๆ ให้ ซึ่งบางศูนย์มีการนำมืออาชีพที่มีประสบการณ์และประสบความสำเร็จมาให้คำแนะนำด้วย เป็นการช่วยเปิดมุมมองและช่วยลดความเสี่ยงในการลองผิดลองถูกให้กับ SME ได้

ด้าน ธีร์ปกรณ์ กล่าวว่า การมีศูนย์ให้คำปรึกษาสำหรับ SME นับเป็นการสร้างโอกาส และเพิ่มช่องทางในการเรียนรู้ให้กับ SME ส่วนการมีที่ปรึกษาที่เป็นมืออาชีพมาให้คำแนะนำด้วนั้น เป็นเหมือนกับบอกแนวทาง ช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ลดเวลาไม่ต้องลองผิดดลองถูกด้วยตนเองคนเดียว สุดท้ายจะนำไปปฏิบัติหรือไม่ และลงมืออย่างไร ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน

“อย่างผมไปเป็นที่ปรึกษา จะบอกเสมอให้เก็บเล็กผสมน้อย เป็นการเปิดความรู้ เมื่อรู้ เมื่อคุย มีการเปิดมุมมองใหม่ ๆ แล้วเลือกทางที่เหมาะกับตนเอง เพราะแต่ละคน แต่ละธุรกิจ มีสไตล์แตกต่างกัน”

ไม่มีโลโก้3

ขณะที่ ผรินทร์ บอกว่า ปัจจุบัน SME มีโอกาสที่ดีในการเพิ่มศักยภาพให้กับตนเอง อย่างเช่นการมีศูนย์ให้คำปรึกษาที่ให้ความรู้ ให้ข้อมูล ให้ไอเดีย ให้คอนเนคชั่น และการเปิดให้บริการแบบฟรี ๆ นับเป็นเรื่องที่ดี

แต่การที่ SME จะประสบความสำเร็จและเติบโตได้นั้น 3 ผู้บริหารจากศรีจันทร์, ANEE KAH และ นาสเกต รีเทล เห็นตรงกันว่า เมื่อได้เรียนรู้ เปิดมุมมอง และได้รับคำแนะนำไม่ว่าจากที่ปรึกษามืออาชีพหรือจากศูนย์ให้คำปรึกษา สิ่งสำคัญ คือ ต้องลงมือทำ ส่วนจะนำสิ่งที่ได้ไปปฏิบัติอย่างไร ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน

 

Copyright© MarketingOops.com


  • 11.1K
  •  
  •  
  •  
  •