คนกรุงมีเฮ! “บีทีเอส” เตรียมเข้าร่วม “บัตรแมงมุม” ปี ’62 เผยใช้ชื่อในตั๋วร่วมว่า “Rabbit Plus”

  • 6.2K
  •  
  •  
  •  
  •  

mangmoom
Photo Credit : Boontoom Sae-Kor / Shutterstock.com

ในประเทศที่โครงข่ายคมนาคมขนส่งมวลชน มีหลายเส้นทาง และหลายประเภท เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทาง จะใช้ “ระบบตั๋วโดยสารร่วม”  (Common Ticketing System) ในรูปแบบบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (Physical Card) และรูปแบบสแกนผ่านสมาร์ทโฟน เพื่อเป็น “e-Wallet” สำหรับชำระค่าเดินทาง และต่อยอดไปสู่การใช้จ่ายด้านอื่นๆ เช่น ใช้กับร้านอาหาร, ซูเปอร์มาร์เก็ต

“ฮ่องกง – สิงคโปร์” สองต้นแบบตั๋วโดยสารร่วมอิเล็กทรอนิกส์

ก่อนจะลงรายละเอียดแผนบีทีเอสเข้าร่วม “บัตรแมงมุม” เราอยากชวนคุณผู้อ่านไปดูประเทศที่ประสบความสำเร็จกับโมเดลตั๋วโดยสารร่วมอิเล็กทรอนิกส์ (Common Ticketing System) ในภูมิภาคเอเชีย คือ “ฮ่องกง” และ “สิงคโปร์”

สำหรับ “ฮ่องกง” เริ่มต้นใช้ระบบ Contactless Smart Card ในชื่อ “บัตร Octopus” ในปี 1993 โดยผู้พัฒนาคือ MTR Corporation Limited (MTRC) ผู้ให้บริการระบบรถไฟในฮ่องกง 

ปัจจุบันมีทั้งรูปแบบออฟไลน์ (Physical Card) และออนไลน์ (สแกนผ่านสมาร์ทโฟน) เป็นบัตรเดียวใช้ชำระค่าเดินทางทุกระบบ ครอบคลุมทั้งรถไฟฟ้า, รถโดยสารสาธารณะ, รถบัส, แท็กซี่ ไปจนถึงเรือข้ามฟาก และจากจุดเริ่มต้นเพื่อชำระค่าเดินทางขนส่งมวลชนระบบต่างๆ ต่อมาได้ต่อยอดให้สามารถใช้จ่ายค่าสินค้า-บริการต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน ไม่ว่าจะจ่ายค่าสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร รวมไปถึงเครื่องขายของอัตโนมัติ ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวที่มาเยือนฮ่องกง ก็จะซื้อบัตรนี้ติดตัวไว้ใช้ระหว่างทริป

โดย 99% ของประชากรฮ่องกงใช้บัตร Octopus ขณะที่จำนวนบัตรหมุนเวียนอยู่ในระบบ (ทั้งใช้ประจำ และไม่ได้ใช้ประจำ) รวมทั้งสิ้น 35 ล้านใบ มูลค่าการใช้จ่าย 208 ล้านดอลลาร์ฮ่องกงต่อวัน / มีจำนวนรายการการใช้จ่ายประมาณ 15 ล้านรายการ / จำนวนร้านค้าที่รองรับการใช้งานบัตร Octopus มากกว่า 23,000 ร้านค้า

Resize BTS_Octopus-card_01
Photo Credit : Facebook OctopusHongKong

เช่นเดียวกับ “สิงคโปร์” รัฐบาลมีนโนบายผลักดันประเทศเข้าสู่ยุค Cashless Society โดยระบบขนส่งมวลชน ริเริ่มใช้บัตร “EZ-Link” มานานกว่าทศวรรษ บริหารโดย Land Transport Authority (LTA) บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 2002 อยู่ภายใต้การควบคุมของธนาคารกลางสิงคโปร์ และสภาขนส่งสาธารณะ

ในระหว่างปี 2002 – 2008 มีผู้ใช้บัตร “EZ-Link” (Physical Card) มากกว่า 10 ล้านใบ ขณะที่ทุกวันนี้นอกจากรูปแบบบัตรแข็งแล้ว ยังมีแอปพลิเคชัน “My EZ-Link Mobile” สำหรับชำระค่าเดินทาง ค่าสินค้า-บริการต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟน

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน “EZ-Link” มากกว่า 17 ล้านใบ และเป็นมากกว่าการชำระค่าเดินทางขนส่งมวลชนแล้ว เพราะสามารถนำไปจ่ายค่าสินค้า-บริการอื่น โดยมีการขยายจุดการใช้งานมากกว่า 33,000 จุดรอบเกาะสิงคโปร์ รวมถึงร้านค้า ร้านอาหาร – เครื่องดื่ม, การให้บริการของภาครัฐ, บริการด้านสาธารณประโยชน์ รวมถึงระบบ ERP หรือการชำระเงินเสียภาษีค่าเข้าเมือง และที่จอดรถที่ใช้ระบบการจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์

Resize BTS-EZ-Link
Photo Credit : Facebook EZ-Link

“บีทีเอส” พร้อมเข้าร่วม “บัตรแมงมุม”

เมื่อมองกลับมายัง “ประเทศไทย” มีระบบขนส่งมวลชนหลากหลายประเภท ยิ่งต่อจะมีการขยายการขนส่งมวลชนทางรางอย่าง “รถไฟฟ้า” อีกหลายเส้นทาง ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ด้วยความที่ระบบขนส่งมวลชนในไทย แต่ละระบบมีผู้ได้รับสิทธิสัมปทานคนละเจ้ากัน ทำให้ที่ผ่านมาคนไทยที่เดินทางโดยระบบขนส่งมวลชน ต้องถือบัตรโดยสาร 2 ใบขึ้นไป และในระบบดั้งเดิม เช่น รถประจำทาง และเรือ ต้องจ่ายเป็นเงินสด

สิ่งที่ตามมา ทำให้การเดินทางของระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ไม่เกิดการเชื่อมต่ออย่างแท้จริง !!

หากย้อนรอยเส้นทาง “ระบบตั๋วร่วม” ในประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐมีแนวคิดพัฒนามาได้สักระยะแล้ว โดยในรายงาน “ระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing System) ของประเทศไทย” จัดทำขึ้นโดย “สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร” ระบุว่า (โดยสรุป) ด้วยกรุงเทพฯ มหานครเป็นเมืองใหญ่ เกิดการขยายตัวจากในเมืองไปสู่ชานเมือง จึงเกิดสภาพการเดินทางของประชาชน จากชานเมือง เข้าสู่เขตเมืองด้วยยานพาหนะต่างๆ และการเดินทางต้องเปลี่ยนสายการเดินทางมากกว่าหนึ่งเส้นทางขึ้นไป

จากสาเหตุข้างต้น “สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” (สนข.) มีแนวคิดพัฒนา “ระบบตั๋วร่วมอิเล็กทรอนิกส์” มาได้สักพักแล้ว เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางทุกระบบ เช่น รถไฟ รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ รถไฟใต้ดิน รถโดยสารสาธารณะ เรือโดยสารสาธารณะ และทางการพิเศษ เพื่อสร้างความสะดวกแก่ประชาชนในการเชื่อมต่อการเดินทางแต่ละระบบ ไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนในการเดินทางมากกว่าหนึ่งเส้นทางขึ้นไป ลดระยะเวลาการซื้อตั๋ว และลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง

นี่จึงเป็นที่มาของ “บัตรแมงมุม” ที่เริ่มใช้งานแล้วเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยในช่วงแรกใช้ได้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน กับสายสีม่วงก่อน จากนั้นเดือนตุลาคม จะขยายใช้ร่วมกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และรถเมล์ ขสมก. นอกจากนี้มีแผนจะให้ครอบคลุมเรือด่วนเจ้าพระยา และรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ที่กำลังดำเนินการก่อสร้าง

แต่ปรากฏว่ายังไม่สามารถใช้ร่วมกับ “บีทีเอส” ได้ !! เท่ากับว่าเวลานี้คนไทยที่เดินทางทั้งรถไฟใต้ดินเอ็มอาร์ที และ รถไฟฟ้าบีทีเอส ยังคงต้องถือบัตรไม่ต่ำกว่า 2 ใบเหมือนเดิม

Resize BTS_02
Photo Credit : 1000 Words / Shutterstock.com

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด “คุณเนลสัน เหลียง” ประธานกรรมการบริหาร VGI Global Media” บริษัทในเครือบีทีเอส กรุ๊ป และเป็นบริษัทแม่ที่ดูแลระบบการชำระเงิน “Rabbit” ได้เปิดเผยกับ MarketingOops! ถึงความคืบหน้าแผนร่วมกับบัตรแมงมุมว่า

“บีทีเอสเป็นผู้ Provide ระบบหลังบ้านให้กับบัตรแมงมุมอยู่แล้ว ขณะนี้เราทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลในการทำอย่างไรให้บัตรแมงมุม และ Rabbit สามารถใช้ร่วมกันได้บนบัตรแมงมุมใบเดียว ซึ่งการมีบัตรแมงมุม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการสร้างมาตรฐานตั๋วเดินทางร่วมในประเทศไทย อย่างไรก็ตามการทำงานร่วมกันครั้งนี้ เป็นความร่วมมือในระยะยาว และมีหลายฝ่าย จึงต้องใช้เวลาในการพูดคุย ไม่สามารถพูดคุยและตกลงได้ทันทีทันใด”

พร้อมทั้งขยายความเพิ่มเติมว่า “ด้วยคุณลักษณะของบัตรแมงมุมเป็นการรวมเครือข่ายการเดินทางไว้บนบัตรเดียว และในเครือข่ายประกอบด้วยผู้ให้บริการระบบการเดินทางที่หลากหลาย ดังนั้นเมื่อ Rabbit เข้าร่วม เราจะใช้ชื่อว่า “Rabbit Plus” เป็นหนึ่งในเครือข่ายของบัตรแมงมุม ขณะเดียวกันในการเข้าร่วม เราจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบบนรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อให้รองรับบัตรแมงมุมได้ โดยคาดว่าในปีหน้าอาจจะได้เห็น Rabbit Plus เนื่องจากขณะนี้เรากำลังทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อทำให้ Rabbit สามารถใช้งานกับบัตรแมงมุมได้ในใบเดียว”


  • 6.2K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ