ถอดความคิด “ชาตยา สุพรรณพงศ์” จากบาร์บีคิวพลาซ่า ถึงเรดซัน กับ 7 กลยุทธ์สู้ศึกร้านอาหาร

  • 415
  •  
  •  
  •  
  •  

Food Passion

“อาหารการกิน” เป็นสิ่งที่คนไทยให้ความสำคัญมาเป็นลำดับต้นๆ ของชีวิต เพราะไม่ได้กิน เพื่อเอาอิ่มอย่างเดียว แต่ยังกิน เพื่อเอาประสบการณ์ กินเพื่อผ่อนคลาย หรือคลายเครียด กินเพื่อสังสรรค์ หรือแม้แต่กิน เพื่อรีวิว หรือถ่ายรูปลง Social Network

ดังนั้น สำหรับคนไทย “เรื่องกิน คือเรื่องใหญ่!” เมืองไทย จึงเป็นสวรรค์แห่งอาหารการกิน ที่มีให้เลือกมากมายหลายประเภท หลายระดับราคา หลายสถานที่ ยิ่งในกลุ่มเชนร้านอาหาร (Food Chain Restaurant) แข่งขันกันอย่างดุเดือด กลายเป็นสงครามชิงพื้นที่กระเพาะผู้บริโภค

เพราะใน 1 วัน โดยเฉลี่ยคนไทยรับประทาน 6 มื้อ คือ 3 มื้อหลัก (เช้า – กลางวัน – เย็น) และ 2 มื้อว่างระหว่างวัน เช่น ในช่วงสาย และช่วงบ่ายของวัน นั่นหมายความว่า ร้านอาหารต้องพยายามเข้าไปอยู่ในทุกโอกาสการรับประทานอาหาร ทั้งมื้อหลัก และมื้อรองให้ได้

หนึ่งใน Food Operator รายหลักของเมืองไทย “Food Passion” (ฟู้ดแพชชั่น) ที่หลังจากเปลี่ยนชื่อองค์กรจากเดิมคือ “บริษัท เดอะบาร์บีคิวพลาซ่า จำกัด” เมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว เพื่อรองรับการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารที่นับวันมีแต่จะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็น Chain Restaurant และเพื่อเติมเต็มมื้ออาหารที่หลากหลายให้กับผู้บริโภค เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน

“ตลาดร้านอาหารในไทย ใหญ่มาก เพราะสำหรับคนไทย เรื่องกิน เรื่องใหญ่ คนไทยชื่นชอบการแสวงหาอาหารอร่อย เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญของธุรกิจนี้จึงอยู่ที่ Food Operator หรือผู้ประกอบการในธุรกิจอาหาร ใครจะสามารถ Capture การเติบโตได้มากกว่ากัน บางรายมาใหม่ อาจอยู่ไม่นาน หรือผู้เล่นที่อยู่มานาน อาจถดถอย หรือผู้เล่นที่อยู่มานาน แต่ยังคงสามารถเติบโตต่อไปได้” คุณชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด” เล่าถึงสถานการณ์ทางการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารในไทยเวลานี้

และนี่คือ 7 กลยุทธ์ของ “Food Passion” ที่จะมาใช้สู้ศึกการแข่งขัน และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน ทั้ง Demand ของผู้บริโภคที่ซับซ้อน – หลากหลาย และการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม เช่น Delivery Platform ที่ทุกวันนี้กลายเป็น New Normal ของธุรกิจร้านอาหารไปแล้ว

Brand Portfolio ธุรกิจร้านอาหารของ Food Passion

 

1. “Brand Portfolio Strategy” หลายแบรนด์ สร้างโอกาสเติบโตในหลากเซ็กเมนต์ธุรกิจร้านอาหาร

Chain Restaurant ทุกวันนี้ ไม่สามารถแข่งขันได้ด้วยการอาศัยเพียงแบรนด์เดียว หรืออาหารประเภทเดียว แต่ต้องสร้าง Brand Portfolio ให้มีแบรนด์ และประเภทอาหารที่หลากหลาย เพื่อเข้าถึงทุกโอกาสการบริโภคให้ได้มากที่สุด

ภายใต้กลยุทธ์ Brand Portfolio ของ Food Passion ประกอบด้วย 3 แกนหลักคือ

1. ขยายธุรกิจด้วยแบรนด์เดิมในพอร์ตโฟลิโอ ทั้งการเปิดสาขาใหม่ พัฒนาเมนูใหม่ – แคมเปญการตลาดใหม่ เพื่อดึงคนให้ใช้บริการต่อเนื่อง ประกอบด้วย 2 แบรนด์ คือ

“บาร์บีคิว พลาซ่า” เป็นทั้งแบรนด์ต้นกำเนิดกว่าจะมาเป็น Food Passion ในวันนี้ และเป็น Flagship Brand ที่ทำรายได้ให้กับบริษัทฯ มากสุด ปัจจุบันมี 150 สาขาในไทย และ 25 สาขาในอาเซียน

“จุ่มแซ่บฮัท” แบรนด์ต้มลวกแบบชาบูไทย ปัจจุบันมี 22 สาขา

Bar B Q Plaza

2. พัฒนาแบรนด์ใหม่ขึ้นเอง เมื่อปีที่แล้ว “Food Passion” เปิดตัวแบรนด์ใหม่ 2 แบรนด์คือ

“ฌานา” (Charna) พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด “Full Flavour Healthy Meal” ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ Food Passion ใช้กระบวนการทำงานแบบ Farm to Table คือ สร้างเครือข่ายเกษตรกร ที่ปลูกวัตถุดิบคุณภาพในพื้นที่ต่างๆ ทั่วไทย และคัดเลือกวัตถุดิบตั้งแต่ฟาร์ม เพื่อเสิร์ฟให้กับผู้บริโภค

“สเปซคิว” (Space Q) ร้านปิ้งย่างชาบู ภายใต้แนวคิด “Social Grill” เปิดสาขาแรกที่ทองหล่อ เพื่อขยายฐานลูกค้าของ Food Passion จากเดิมเป็นกลุ่มแมส ให้มีกลุ่มระดับกลาง – บนเพิ่มขึ้น

Space Q

3. ซื้อกิจการร้านอาหาร ซึ่งเป็นวิธี Short cut ทำให้ได้ทั้งแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักในตลาดอยู่แล้ว เครือข่ายสาขา องค์ความรู้ และระบบการบริหารจัดการ มาเสริมทัพ

แม่ทัพใหญ่ Food Passion เล่ากลยุทธ์หลักสำหรับการเข้าซื้อกิจการ หรือการเพิ่มแบรนด์เข้ามาในพอร์ตโฟลิโอ มีหลักคิดสำคัญ คือ 1. ต้องอยู่ในตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต / 2. ศักยภาพของแบรนด์ที่จะเติบโตเป็นเบอร์ 1 ในตลาด / 3. มีคุณค่า และแนวทางการดำเนินธุรกิจไปในทางเดียวกัน ซึ่งเมื่อนำมาผสานกับความเชี่ยวชาญในการทำตลาดของ Food Passion จะเกิดเป็นสูตรลับความสำเร็จที่จะสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในระยะยาว

อย่างล่าสุด เข้าซื้อกิจการ “Red Sun” (เรดซัน) เชนร้านอาหารเกาหลี จากประเทศเกาหลีใต้ ที่มีคนไทย คือ คุณนพวินท์ รอดริน เป็นผู้นำเข้าแบรนด์ Red Sun เข้ามาในไทย ส่งผลให้ Food Passion เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน ‘บริษัท ฟู้ดซัน จำกัด’ ผู้ดำเนินธุรกิจร้าน Red Sun ด้วยสัดส่วนหุ้น 74% และทีมผู้บริหารเดิมถือหุ้น 26%

Food Passion Strategy

การซื้อหุ้น 74% รวมถึงสินทรัพย์ต่างๆ ของ Red Sun 12 สาขาในไทย และสิทธิ์การเปิดและบริการแฟรนไชส์ Red Sun ในต่างประเทศทั่วโลก ยกเว้น 3 ประเทศ คือ เกาหลี จีน และกัมพูชา ซึ่งเจ้าของแบรนด์เป็นผู้ลงทุนเอง

“Food Passion” ตั้งเป้า “Red Sun” ต้องเป็นผู้นำตลาดร้านอาหารเกาหลีในไทย และวางแผนขยายสาขา “Red Sun” ในไทยไม่ต่ำกว่า 4 – 6 สาขาต่อปี โดยคาดหมายว่าจะ Contribute ยอดขาย 5 – 10% ของรายได้รวม Food Passion

นอกจากนี้การขยายธุรกิจอาหารของ “ฟู้ดซัน” จะอยู่บน “Korean Essence” หรือแก่นของความเป็นอาหารเกาหลี ซึ่งต่อไปคงได้เห็นร้านอาหารเกาหลีประเภทต่างๆ ภายใต้การบริหารของฟู้ดซัน เปิดตัวตามมาอย่างแน่นอน

ที่สำคัญ การมี Brand Portfolio นอกจากตอบโจทย์ผู้บริโภคด้านความหลากหลาย และเติมเต็มทุกมื้ออาหารได้แล้ว ขณะเดียวกันการมีหลายแบรนด์ ที่แตกต่างกัน ทำให้สามารถเอาแบรนด์ ไป Match เข้ากับโลเกชันต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

Red Sun

Food Passion-Red Sun
คุณชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Food Passion และ คุณนพวินท์ รอดริน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Food Sun

 

2. เข้าไปในเซ็กเมนต์ที่ยังไม่มีผู้เล่นโดดเด่น เพื่อปักธงเป็นผู้นำ

จะสังเกตได้ว่าการเลือกเซ็กเมนต์ธุรกิจร้านอาหารของ “Food Passion” ไม่ได้เร่งขยาย Brand Portfolio มากมายเหมือนเช่น Major Player รายอื่น แต่จะศึกษาตลาด และเลือกเซ็กเมนต์ที่มีโอกาสจะปักธงเป็นผู้นำตลาดได้

เหตุผลที่ Food Passion เลือกเข้าตลาดอาหารเกาหลี ที่มีมูลค่าตลาด 2,000 ล้านบาท มากกว่าสนใจเข้าตลาดร้านอาหารญี่ปุ่น ที่มีมูลค่าตลาด 16,000 ล้านบาท เพราะถึงแม้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการร้านอาหารเกาหลีหลายราย มีทั้งเชนที่อยู่ในศูนย์การค้า และนอกศูนย์การค้า แต่พบว่ายังไม่มีแบรนด์ไหน “โดดเด่น” ที่เป็นเบอร์ 1 ชัดเจน

แตกต่างจากธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ถึงจะมีมูลค่าตลาดมากกว่า และคนไทยคุ้นเคยกับอาหารญี่ปุ่นมานานแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์การแข่งขันรุนแรงกว่าหลายเท่า และที่สำคัญมีเบอร์ใหญ่ ที่มีทุนหนาครองตลาด ดังนั้นการเข้าไปเบียดรายเดิมที่อยู่มาก่อน จึงยากกว่า และต้องใช้พละกำลังสูง

Red Sun Timeline

ดังนั้น “Food Passion” มองว่าศักยภาพของ “Red Sun” สามารถปักธงเป็นเบอร์ 1 ตลาดอาหารเกาหลีในไทยได้ไม่ยาก

“แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น เป็นตลาดที่น่าสนใจ แต่มีเจ้าตลาดเข้มแข็งมาก ซึ่งการเข้าไปในตลาดที่มีเจ้าตลาดอยู่แล้ว ต้องใช้พลังงานสูง และยาก ขณะที่กลยุทธ์ของเรา ต้องเลือก เพราะด้วยงบประมาณ เวลา และ Resource ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เราศึกษาว่าตลาดร้านอาหารประเภทไหน ที่มีโอกาสเติบโต

เราพบว่าตลาดเกาหลี ไม่ใช่ตลาดแฟชั่นฉาบฉวยที่มาแล้วไป แต่เข้ามาเมืองไทย 10 ปีแล้ว ทั้งอาหาร แฟชั่น บิวตี้ วัฒนธรรม ทุกอย่างมีพื้นฐานในการเติบโต และเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่มีความสำคัญกับโลกในอนาคต เราจึงเห็นโอกาสการเติบโตของตลาดนี้อย่างมาก”

Red Sun

 

3. “Power of Synergy” เมื่อ 1 + 1 มากกว่า 2

เมื่อเติมเต็ม Brand Portfolio สิ่งที่ตามมาคือ การใช้จุดแข็งของแต่ละแบรนด์มา “Synergy” ร่วมกัน
อย่างการเข้าซื้อกิจการ Red Sun ครั้งนี้ การจะเป็นผู้นำตลาดร้านอาหารเกาหลีได้สำเร็จ ต้องผสานความแข็งแกร่งทั้งสองฝ่าย คือ

ฝั่ง “Red Sun” มีความแข็งแกร่งด้านชื่อเสียงแบรนด์เป็นที่รู้จักอยู่แล้ว, ฐานลูกค้าที่เหนียวแน่น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุ 18 – 35 ปี และคนที่ชื่นชอบไลฟ์สไตล์เกาหลี บวกกับ Asset สาขา และทีมบริหาร-ทีมงาน ที่คิดเร็ว ลงมือทำเร็ว และปรับตัวเร็ว ทำให้ Speed to market เร็วตาม

ในขณะที่ฝั่ง “Food Passion” มี Know How ทั้งการบริหารจัดการ การตลาด การหาทำเลเปิดสาขา และความพร้อมของระบบปฏิบัติการหลังบ้านต่างๆ ที่นำมา support การขยายธุรกิจของ Red Sun ทั้งในไทย ที่ยังติดข้อจำกัดด้าน “โลเกชัน” การขยายสาขา และต่างประเทศในอนาคต

Red Sun

“ที่ผ่านมา Red Sun เติบโตปีละ 3 สาขา ด้วยความที่ยังเป็นแบรนด์น้องใหม่ในธุรกิจร้านอาหารในเมืองไทย ดังนั้น โอกาสการเติบโตด้านการขยายสาขา จึงยังไม่ค่อยได้พื้นที่ที่มีศักยภาพมากเท่าที่ควร แต่วันนี้เมื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของ Food Passion เราจะพา Red Sun เข้าไปในศูนย์การค้า ด้วยการสร้างความมั่นใจให้กับ Landlord ศูนย์การค้าได้ว่า Red Sun เป็นแบรนด์ที่มีมาตรฐาน มีศักยภาพ และมีความแข็งแรงในการขยายธุรกิจ

ขณะที่ “Red Sun” เก่งด้านการพัฒนาโปรดักต์ โดยสามารถออกเมนูใหม่ได้เร็ว ประมาณ 1 เดือน 1 เมนู หรือ 1 แคมเปญ ซึ่งภายใต้แคมเปญนั้น ประกอบด้วยหลายเมนู ทำให้ให้ช่วง 4 ปีที่ Red Sun ทำตลาดในไทย ออกโปรดักต์ใหม่ ไม่ต่ำกว่า 80 เมนู เพราะด้วยกระบวนการทำงานที่เร็ว คุยกัน พัฒนา ทดสอบสินค้าใหม่ หาข้อสรุปร่วมกัน แล้วออกสู่ตลาดได้เลย

แตกต่างจาก Food Operator ยุคก่อน ที่ขั้นตอนการวางแผน และพัฒนาโปรดักต์ใหม่ ไปจนถึงแนะนำสู่ตลาด ใช้เวลาตั้งแต่ 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี ไปจนถึง 18 เดือน

สมัยนี้ใช้เวลาออกเมนูใหม่ 18 เดือน ทำไม่ได้แล้ว เพราะเทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว ช่วงนี้มี Seasonal Menu อะไรฮิต ถ้าเรายังคงวางแผน และทดสอบแบบเดิม ไม่ทันต่อกระแส และความต้องการของผู้บริโภค หรือคู่แขงแล้ว เพราะฉะนั้นการพัฒนาเมนูอาหารใหม่ ต้องย่นระยะเวลาให้เร็วที่สุด

โดยเราจะเอาจุดแข็งการพัฒนาเมนูเร็ว และกระบวนการทำงานที่คล่องตัวของ Red Sun มาเรียนรู้ เพื่อ Challenge ตัวเราเองว่า เราทำดีกว่านี้ได้ไหม เร็วกว่านี้ได้ไหม และทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้าวัยุร่นที่ชื่นชอบวัฒนธรรมเกาหลี เพราะคนกลุ่มนี้ Trendy อยู่กับเทรนด์ตลอดเวลา”

คุณชาตยา ขยายความเพิ่มเติมว่า ระบบ “Membership” ที่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ระหว่างแบรนด์ในเครือด้วยกันได้ เช่น สมาชิกบัตรบาร์บีคิว พลาซ่า ที่ปัจจุบันมีฐานสมาชิก 1 ล้านคน ก็สามารถมาได้เบเนฟิตที่ร้าน Red Sun ได้ ทำให้ได้ win-win ทั้งสมาชิกบาร์บีก้อนได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น ในขณะที่ Red Sun ได้ขยายฐานลูกค้ากว้างขึ้น

รวมถึง Synergy วัตถุดิบ เพราะ Food Passion มีเครือข่ายซัพพลายเออร์จำนวนมาก การบริหารจัดการ Volume วัตถุดิบ การบริหารจัดการด้านบุคลากร

Food Passion
คุณชาตยา สุพรรณพงศ์

 

4. “Story Telling” ตอบโจทย์ Emotional Value

อาหารการกินยุคนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่รับประทานให้อิ่มท้องเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของ “ไลฟ์สไตล์” ไปแล้ว นี่จึงทำให้การทำธุรกิจร้านอาหารยุคนี้ ไม่ใช่แค่ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบด้าน “Functional Value” เช่น ความอร่อย รสชาติ ความสะอาด ความปลอดภัย หรือแม้แต่ราคา สิ่งเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานหลักที่ธุรกิจร้านอาหารต้องมี

แต่มากไปกว่านั้น ยังมีเรื่องการสร้าง “ประสบการณ์” ให้กับลูกค้าเข้ามาเป็นส่วนสำคัญด้วย

ประสบการณ์ที่ว่านี้ คือ “Emotional Value” หรือการตอบสนองคุณค่าทางด้านอารมณ์ หนึ่งในนั้นคือ “Story Telling” ซึ่งเป็นเรื่องราวต่างๆ ที่ร้อยเรียงอยู่ภายใต้แบรนด์นั้นๆ เช่น เรื่องราวของแบรนด์ เรื่องราวของวัตถุดิบ เรื่องราวของเมนูอาหาร และขั้นตอนการปรุง

เช่น แบรนด์ “ฌานา” ที่วางแนวคิดเป็น Full Flavour Healthy Meal ที่ใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรที่เพาะปลูกผัก และเลี้ยงสัตว์อย่างใส่ใจ เพื่อตอบโจทย์ “สุขภาพ” ทำให้แบรนด์นี้มี Story Telling ตั้งแต่คอนเซ็ปต์ของแบรนด์ ไปจนถึงวัตถุดิบที่นำมาปรุง

Charna Charna FARM Station

 

5. “Online Delivery” New Normal ธุรกิจร้านอาหาร

กลายเป็น New Normal ไปแล้วสำหรับแพลตฟอร์ม “Online Delivery” ที่บรรดา Tech Company พัฒนาขึ้นเพื่อให้บริการจัดส่งอาหาร ในรูปแบบ O2O (Online to Offline) โดยสั่งผ่านออนไลน์ แล้วมีพนักงานซื้ออาหารจากร้านมาส่งให้ถึงจุดหมายที่นัดไว้ เพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนในสังคมเมืองที่เร่งรีบ มีเวลาน้อย และสภาพการจราจรติดขัด

กลายเป็นว่าเวลานี้ Online Delivery กลายเป็นอีกหนึ่ง “ช่องทาง” สำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขึ้น และทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเชนใหญ่ หรืออิสระ ต่างไม่พลาดเข้ามาอยุ่บนแพลตฟอร์ม Online Delivery

“Delivery ปีนี้มาแรงมาก แต่เนื่องจาก Food Passion เป็นน้องใหม่ในวงการ Delivery และอยู่ในช่วงเรียนรู้ช่องทางการขายนี้ ทำให้สัดส่วนยอดขายจากช่องทางนี้ ยังไม่มาก โดยเมื่อปีที่แล้วมีสัดส่วน 1% ของยอดขายรวม โดยจับมือกับ “LINE MAN” จัดส่งอาหารของฌานา และ Space Q

แต่ปีนี้ เราจะพัฒนาเมนูที่เกิดมาเพื่อ Delivery โดยเฉพาะ เน้น 3 แบรนด์ที่จะมีบริการจัดส่ง คือ ฌานา, Space Q และ Red Sun โดยในส่วน Red Sun เตรียมออกเมนูข้าวหน้าต่างๆ สำหรับจัดส่งโดยเฉพาะ

การทำธุรกิจของ Food Passion พยายามหาสิ่งใหม่ ทั้งแบรนด์ใหม่ และการเติมเต็มช่องทางใหม่ ที่ต่ไปต้องมีครบทั้งรับประทานในร้าน, ซื้อกลับบ้าน จัดส่งถึงบ้าน และรับจัดเลี้ยงนอกสถานที่ เพื่อก้าวให้ทันกับผู้บริโภคยุคปัจจุบัน”

LINE MAN
Online Delivery Platform กลายเป็น New Normal ของธุรกิจร้านอาหารในทุกวันนี้ไปแล้ว

 

6. Technology Disrupt เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และร้านอาหาร

Technology Disruption ขยายวงไปทุกกลุ่มธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมอาหาร และธุรกิจร้านอาหาร ที่ “FoodTech” กำลังเข้ามามีบทบาทตลอดทั้ง Supply Chain ตั้งแต่ “Feed – Farm – Food – Fork” นั่นคือ “ต้นน้ำ (อาหารสัตว์ – ปศุสัตว์ – เพาะปลูกพืช) “กลางน้ำ” (ภาคการผลิตแปรรูป) “ปลายน้ำ” (ผลิตภัณฑ์อาหาร – ธุรกิจร้านอาหาร)

สำหรับในส่วนธุรกิจร้านอาหาร ต่อไปจะเห็นแนวโน้มของ “Digitization of Restaurants” มากขึ้น นั่นคือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในทุกกระบวนการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหาร ตั้งแต่ระบบหลังบ้าน (Restaurant Management) ไปจนถึงระบบงานหน้าบ้าน

เช่น การสั่งวัตถุดิบ, การเช็ค-นับสต็อควัตถุดิบ, การจัดการคลังสินค้า, การบริหารและควบคุมต้นทุน, การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำตลาด, การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า, การสั่งอาหาร, การชำระเงิน, การบริหารพนักงาน, การควบคุมคุณภาพสินค้า รวมไปถึงการนำ AI – Robots มาวิเคราะห์ Data ลูกค้า และเสริมงานด้านบริการ

คุณชาตยา มองว่าในปี 2562 จะเป็นปีที่ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารแต่ละร้าน จะเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล ที่ต้องการความสะดวกสบาย เช่น จะเห็นการใช้เทคโนโลยีสำหรับการจองคิว การสั่งอาหาร การชำระเงินผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น

Bar B Q Plaza

 

7. สร้างการเติบโตในน่านน้ำตลาดต่างประเทศ

ฐานตลาดในประเทศ ยังคงเป็นตลาดหลักของ “Food Passion” แต่ขณะเดียวกันก็ต้องแสวงหาโอกาสเติบโตในน่านน้ำใหม่ด้วยเช่นกัน ด้วยการขยายธุรกิจออกตลาดต่างประเทศ

โดยปัจจุบันแบรนด์บาร์บีคิว พลาซ่าออกไปใน 3 ประเทศแถบอาเซียนแล้ว ต่อไป “Food Passion” เตรียมนำ “Red Sun” ไปตลาดประเทศเช่นกัน เล็งประเทศแรก คือ มาเลเซีย

เหตุผลที่เลือกแบรนด์ “Red Sun” ไปลุยตลาดต่างประเทศ (ยกเว้น 3 ประเทศ เกาหลี จีน และกัมพูชา ที่เจ้าของแบรนด์เป็นผู้ลงทุนเอง) เพราะความเป็น “อาหารเกาหลี” ที่ทุกวันนี้วัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์เกาหลีได้ขยายในกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั่วโลก จึงมีฐานผู้บริโภคที่ชื่นชอบวัฒนธรรม – ไลฟ์สไตล์เกาหลี ที่พร้อมเปิดรับอยู่แล้ว

“นอกจากตลาดในประเทศแล้ว เราวางแพลตฟอร์ม เพื่อนำแบรนด์ “Red Sun” โกอินเตอร์ภายใน 2 ปีนี้ ด้วยโมเดลแฟรนไชส์ เพราะเรามองว่า Red Sun จะเป็น Strategic Brand ที่เรานำเข้ามาเสริมในธุรกิจ เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบอาหารเกาหลี ที่กำลังมาแรงในตอนนี้” คุณชาตยา กล่าวทิ้งท้าย


  • 415
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE